'แม่ฮ่องสอน' จังหวัดที่ได้สมญานามว่า 'เมืองสามหมอก' รายล้อมไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อน คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติ สัตว์ป่านานาชนิด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของ 'กลุ่มชาติพันธุ์' และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของผู้คน จนเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ ‘พี่ปุ๊’ – สมภพ ยี่จอหอ นักพัฒนา และผู้ริเริ่มทำกลุ่ม ‘ดอยสเตอร์’ (DoiSter) เล็งเห็นความสำคัญ และเสน่ห์ของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ จากภูมิปัญญาที่มี จึงเลือกที่จะสื่อสารเรื่องราวผ่านการท่องเที่ยวในทุกๆ มิติ เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ในกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น
ขับเคลื่อนกลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสไตล์ฮิปสเตอร์
ก่อนที่จะมาทำดอยสเตอร์ เราก็ทำประเด็นการท่องเที่ยวชุมชนกันมา จริงๆ ทำทั่วประเทศในยุคก่อน ตั้งแต่สมัยยังไม่เบ่งบาน หรือเฟื่องฟูเหมือนในยุคนี้ ตอนนั้นผมทำงานอยู่สถาบันการท่องเที่ยวชุมชน เป็นอาสาสมัครเต็มเวลา ทำหน้าที่สื่อสารกับชุมชนในทุกๆ มิติ จนกระทั่งการท่องเที่ยวชุมชนได้รับเสียงตอบรับจากภาคประชาสังคม และภาครัฐเข้ามา ช่วงนั้นททท.น่าจะกำลังโปรโมตเรื่อง 'ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง' ทำให้ทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทย มีการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน มีทั้งหน่วยงาน อาจารย์ นักวิชาการ และนักพัฒนา เข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญเต็มไปหมด พี่ที่เคยดูแลเราเขาก็เกษียณอายุงาน พอทำงานมาหลายปีก็นั่งวิเคราะห์กับตัวเองว่าจะทำอะไรต่อไป ทำอะไรที่สามารถใช้ศักยภาพหรือทักษะของเราในการทำงานได้
เราทำงานทั่วประเทศ แต่ออฟฟิศจะอยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก ทำให้มีโอกาสขึ้นดอย และทำความรู้จักกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหลายๆ หมู่บ้านก็ทำการท่องเที่ยวชุมชนกับเราอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนในสังคมควรได้รับข้อมูลข่าวสาร ที่ผ่านมาเราทำงานกับทุกกลุ่ม เลยรู้สึกว่า ยังมีตรงนี้ที่น่าสนใจ และตอนนั้นยังไม่มีคนทำ เราเลยเลือกทำงาน 'ประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์' โดยใช้พื้นที่การท่องเที่ยวในชุมชนที่เราทำงานอยู่แล้ว พอมาวิเคราะห์เราก็เห็นว่า 'จังหวัดแม่ฮ่องสอน' ค่อนข้างยากลำบาก ทั้งในแง่ Physical การเดินทางหรือขนส่งก็ยาก หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ค่อยเข้าไป เลยบุกเบิกหมู่บ้านชาติพันธุ์ที่ทำการท่องเที่ยวกับเราอยู่แล้ว
“พอเราอยากขับเคลื่อนประเด็นชาติพันธุ์กับพี่น้องที่เราทำงานร่วมกัน ก็คิดว่าจะใช้คำไหนดี ยุคนั้นฮิปสเตอร์กำลังมา เลยคิดว่าแล้ว ดอย…จะอย่างไรต่อดี? เพราะอยากใช้คำตรงๆ ง่ายๆ เพื่อสื่อสารกับคนไทย เลยนำคำว่า 'ดอย' ไปสมาสสนธิกับคำว่า 'เตอร์' กลายเป็น 'ดอยสเตอร์' (DoiSter) เพื่อให้ฟังแล้วรู้ว่าหมายถึงอะไร ซึ่งเป็นคำที่ติดหู“
8 ปี กับการบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์
ตอนแรกเราไม่ได้คิดว่าจะเป็นกลุ่มแบบนี้ เวลาเราโพสต์ประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ เราจะติดแฮชแท็กว่า #กลุ่มดอยสเตอร์ พอโพสในสังคมออนไลน์ ในแวดวงเพื่อนที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน แกเห็นเราติดแฮชแท็กนี้ก็ชมว่าเก๋ดี น่าทำเป็นแคมเปญรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยว เพราะคอนเทนต์ที่ลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพี่น้องชาวแม่ฮ่องสอนเยอะ แกเลยชักชวนให้ไปทำงานด้วยกันครับ เลยเริ่มคุยกัน และทำคอนเทนต์เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีความเป็นมาอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์มีหลายเผ่าพันธุ์ กลุ่มที่ทำการท่องเที่ยวกับเรา ได้แก่ ลั้วะ, ไทยใหญ่, ลาหู่, ลีซู, ม้ง และพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาว ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวนำร่องที่ค่อนข้างเข้มแข็ง และทำมานาน จึงเป็นที่มาที่เราทำงานร่วมกับททท. เหมือนเป็นการ Official ชื่อนี้เข้าไปในโลกของการท่องเที่ยวช่วงปี 2559 ทำกันมาจนถึงวันนี้ก็ 8 ปีแล้วครับ
“เราใช้เรื่องการท่องเที่ยวในชุมชน และเรื่องอื่นๆ ทั้งงานหัตถกรรม อาหาร เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ เพื่อสร้างความเข้าใจ”
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเพื่อนตีนดอย และแก๊งบนดอย
เราแบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม คือ 'เพื่อนตีนดอย' นำโดยผม และเพื่อนๆ มี จุฑามาศ ประมูลมาก (คนวาดการ์ตูน) ‘อาจารย์เอ’ – จรรยวรรธ สุธรรมา (นักวิจัย) กับอีกทีมคือ 'แก๊งบนดอย' ซึ่งเป็นพี่น้องในชุมชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนกับเรา
เราเป็นนักพัฒนา ซึ่งเรื่องนี้บุกเบิกทำมา 20 กว่าปีแล้ว เราเป็น Gen 2 ในการสานต่อ ซึ่งเราพัฒนาเรื่องนี้ได้ทุกๆ มิติ แต่พอเวลาผ่านไปเราก็อัพเวอร์ชั่นตัวเองไปเรื่อยๆ จนมีคนเข้ามาร่วมทำหลากหลายมิติ ช่วงที่ทำ CBTI เราเน้นทำเรื่องการสื่อสาร เพราะหัวใจการท่องเที่ยวในชุมชนคือการแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การทำอย่างไรให้คนต่างวัฒนธรรมได้รู้จักกัน พอมาทำดอยสเตอร์เราก็ยังยึดหลักตรงนี้ เน้นเรื่องการสื่อสาร และควรรู้ก่อนการท่องเที่ยว แต่เป้าหมายสูงสุดของเราคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คุณมาเที่ยวในชุมชน ซึ่งคุณจะได้สัมผัสวิถีชีวิตจริงๆ แต่ระหว่างที่คุณลังเลหรือไม่ได้มา เราจะทำหน้าที่สื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม และโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ เพื่อเชิญชวนให้คนมาเที่ยวที่นี่
“รู้จักกันไว้แล้วไปด้วยกัน คือสโลแกนของเรา เราต้องการสื่อสารให้เขารู้จัก ทั้งการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ หรือ ผ่านการสัมผัสด้วยตนเองจากการท่องเที่ยว พอเขารู้จักกันเขาจะไม่ดูถูกเหยียดหยาม และเข้าใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน จึงเป็นที่มาของสโลแกน และได้นำมาตียุทธศาสตร์ว่าจะทำอย่างไรให้รู้จักกันไว้”
ศูนย์รวมเพื่อนร่วมงานแสนหลากหลาย
ตอนนั้นเราไปร่วมงานกับไทยพีบีเอส ทำรายการที่นี่บ้านเรา อันไหนที่ทำเองไม่ได้ก็ชวนเพื่อนเครือข่ายเข้ามาช่วยทำ และมี Blogger, Influencer เข้ามา ได้ทำงานกับททท. เขาก็ช่วยดึงกลุ่มคนเหล่านั้นเข้ามา ทำให้ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ททท.ก็ได้โปรโมตเรื่องท่องเที่ยวในแม่ฮ่องสอน ส่วนเราก็ได้ทำงานสื่อสาร
แต่งานที่ใหญ่กว่าการท่องเที่ยวชุมชนคือ 'งานพัฒนาชุมชน' กับ 'งานขับเคลื่อนสังคม' ถ้าโฟกัสที่แม่ฮ่องสอน เราทำงานกับเครือข่ายการท่องเที่ยวในชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวร่วมกันประมาณ 16 ชุมชน ซึ่งพวกเขาก็มารวมตัวเป็นเครือข่ายประมาณ 20 กว่าปีแล้ว จากเครือข่ายเล็กๆ จนเติบใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะมีพี่เลี้ยงที่มีความถนัดคือ คนทำงานพัฒนา อย่าง ‘พี่เก้ง’ – ธนันชัย มุ่งจิต เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย ตอนนี้วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนมาแบ็กอัพในการทำงาน ทั้งในแง่ของการให้ทรัพยากร และทุนจัดประชุม จัดฝึกอบรม อีกส่วนคือ พี่ปณต ประคองทรัพย์ มาจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเคยช่วยชุมชนทำการตลาด ทำมา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ริเริ่ม ทุกวันนี้ช่วยชุมชนเรื่องการเสริมทักษะทางการตลาด และการทำทัวร์ ส่วนของผม จะอยู่ในพาร์ทงานสื่อสาร งานการตลาด งานสร้างสรรค์ กับหน่วยงานหลักๆ อย่างททท. ที่ช่วยหาช่องทางทางการตลาดให้
“Holistic Development หรือ การพัฒนาโดยองค์รวม เราทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นชาติพันธุ์ และอยากสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนกลุ่มชาติพันธุ์ ในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งมี 5 ส่วน ได้แก่ ที่พัก อาหาร กิจกรรมท่องเที่ยว การขนส่ง และของฝาก ของที่ระลึก ซึ่งเป็นงานหลักเรื่องการท่องเที่ยว ทำให้ดึงงานหัตถกรรม กิจกรรมการท่องเที่ยว ตัวอาหาร มาศึกษา
เราเป็นคนโคราช มารู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ตอนอายุ 30 กว่าๆ รู้สึกว่ามีแพชชั่น และน่าสนใจ เหมือนเป็นเรื่องที่เราอยากรู้โดยส่วนตัว ฉะนั้น การที่เราอยากรู้ มันมีอะไรให้เราเข้าไปรู้ได้บ้าง ถ้าเราเอางานมาไว้ข้างหลัง และเอาความอยากรู้อยากเห็นของเรา มันน่าจะทำให้เราทำงานนี้ได้ยาวนาน และไม่เหน็ดเหนื่อย”
ความสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์
พอเราทำงานกับพวกเขานานๆ เรารู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง เรารู้สึกอยากทำงานกับเพื่อน อยากขับเคลื่อนกับเพื่อน อยากใช้ทักษะที่เรามีไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อน แต่พอทำไปสักพัก มีคนเล่นสนามนี้เยอะ ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จในแง่การผลักดัน แต่ก็คิดว่าจะอยู่ตรงไหนในสนาม หรือเวทีนี้ เพราะเราก็ไม่สนุกในการแข่งขัน และทำงานกับประเด็นนี้ เลยมองหาประเด็นที่ยังไม่มีคนทุ่มเทพลังกับเรื่องนั้น 'ประเด็นชาติพันธุ์' ที่คุยกันมาหลายสิบปีแต่ยังไม่มีความก้าวหน้า ยังต้องสื่อสารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องขับเคลื่อน และหาคนเข้ามาทำงานซึ่งมีน้อย ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือการถูกเพิกเฉยจากสังคม ทำให้อยากขับเคลื่อนเรื่องนี้
ชุมชนห้วยตองก๊อ กลุ่มปกาเกอะญอ ที่ทำเรื่องผ้าทอเข้มข้น
หมู่บ้านห้วยตองก๊อเป็นหมู่บ้านที่ค่อนข้างอยู่ไกล ทุกวันนี้เด็กๆ ที่มาเรียนหนังสือหลายคนก็ไม่ได้กลับไปหมู่บ้าน ทำให้เงียบเหงาลง ผู้นำชุมชนกลัวหมู่บ้านร้าง ถ้าเราไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ กลับมาอยู่ในหมู่บ้านได้ งั้นเราลองมาหาอะไรสักอย่างที่จะมากระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชนเพื่อจูงใจให้เด็กๆ กลับมาอยู่บ้าน เลยคิดหาโปรเจกต์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมานั่งคิดวิเคราะห์กันว่าในหมู่บ้านมีอะไรที่ทำได้บ้าง เราก็เห็นว่างานผ้าทอมีความเป็นไปได้สูง และมีสมาชิกที่ทำได้เกือบทุกหลัง เลยตัดสินใจทำงานผ้าทอ แล้วมาคิดต่อว่างานผ้าทอกะเหรี่ยงมีคนทำเยอะมาก ชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือทำก็เยอะ เราจะหนีเขาได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ของเราขายได้ จึงจำเป็นที่จะต้องแตกต่าง
เมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครเล่นสนามนี้ พอเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำก็ถูกมองเห็นได้ง่าย เข้าถึงผู้คนได้ง่าย เพราะเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มหรืองานสิ่งทอ เป็น 1 ในปัจจัย 4 จริงๆ พอทำงานผ้าก็มีเครือข่ายอาจารย์เข้ามาช่วย ทำให้ได้ทุนวิจัยช่วยขับเคลื่อน อย่างราชภัฏเชียงใหม่ที่เข้ามาช่วย ล่าสุดปีที่แล้ว ผมได้ทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อสร้างสรรค์แคมเปญใหม่ๆ ให้แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีการท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เข้ามาช่วยเราด้วย
“แต่งานของดอยสเตอร์ที่โดดเด่นคือ 'งานหัตถกรรม' คนที่ไม่ได้มาเที่ยวก็ซื้อได้ เลยเกิด Engagement ในสิ่งนี้ จากการที่เราโพสต์ขายในโซเชี่ยล หรือ ไปออกงานอีเวนต์ต่างๆ โดยแฝงประเด็นหลักเข้าไปในนั้น คือ เรื่องการท่องเที่ยว”
เจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สนใจสินค้า และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
พอมาทำงานหัตถกรรมเรื่องเศรษฐกิจเราก็ยังมีวาระเดิม คือ เราต้องการให้งานหัตถกรรมที่เราทำเป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนในสังคม เราก็มานั่งวิเคราะห์ต่อว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการสื่อสารหรือเป็นกลุ่มลูกค้าของเรา เราคงต้องไปโซนกรุงเทพฯ หรือ ตลาดส่วนกลางที่ไม่ใช่เชียงใหม่หรือแม่ฮ่องสอน รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองที่เราอยากให้เขารู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ คนที่ไม่รู้อาจจะมองว่าเป็นคนดอย ไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ได้รับการศึกษา หรือสกปรก อะไรประมาณนี้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกปลูกฝังมาจากละคร
แล้วคนเหล่านั้นเขาต้องการสินค้าแบบไหน เขาน่าจะสนใจเรื่อง Eco ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องรักษ์โลก จริงๆ ภูมิปัญญาของเราสมัยก่อนเคยย้อมสีธรรมชาติ อยู่กับป่าเขา และมีพืชพันธุ์ที่ให้สีจากธรรมชาติมากมาย เลยสรุปกันว่าจะทำผ้าทอมือ เพื่อสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ในเมืองซึ่งมีความสนใจประเด็นสังคม และสิ่งแวดล้อม
DoiSter CRAFT STAY
ปีที่ 2 เราทำ CRAFT STAY เราเริ่มจับเรื่องผ้าชัดเจนแล้ว และทำ Booklet กับททท. ชื่อว่า DoiSter CRAFT STAY เป็นปีที่เราชัดเจนในการนำเสนองานด้านหัตถกรรมบอกเล่าวิถีชีวิต และงานผ้าก็ค่อนข้างโดดเด่น ตอนเราทำงานผ้าเราทำกับ 2 ชุมชนคือ ห้วยตองก๊อเป็นปกาเกอะญอ กับ ป่าแป๋ซึ่งเป็นชาวลั้วะ ซึ่ง 2 ชุมชนนี้สามารถทำสีธรรมชาติกับเราได้ ซึ่งเรารีวิวเรื่องนี้หลายรอบมาก ทำให้เราโดดเด่นในวงการนี้ ทำให้พี่น้องบนดอยกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ บ้านเริ่มมาทำสีธรรมชาติ จนเราได้ทุนมาทำงานวิจัยด้านนี้ มีการทำ Knowledge Management (การจัดการความรู้) กับชาวบ้าน และได้ทำหนังสือสีสันจากขุนเขาขึ้นมา ซึ่งสะท้านสะเทือนวงการอีก 1 ระลอก ตัวหนังสือ Sold out ไปแล้ว ก็มีแผนจะพิมพ์ครั้งที่ 2 ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากเสียงตอบรับที่ดี
ที่มาที่ไปหนังสือภาพ 'สีสันจากขุนเขา' และ 'ตาบึ๊ต่าทา'
'สีสันจากขุนเขา' เราอยากให้คนทั่วไปเห็นว่า ในป่าที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ เขาไม่ได้ทำลายป่านะแต่เขาดูแลป่า ฉะนั้น จึงมีต้นไม้หลากหลายที่รายล้อมอยู่รอบๆ เขา จึงได้สีจากธรรมชาติของต้นไม้ วัตถุประสงค์ต่อมาคือ เราอยากสนับสนุนเรื่อง Eco Friendly ผ่านโมเดลของพี่น้องชาติพันธุ์ ว่าไม่ว่าจะคนภาคไหนๆ เขาก็ขับเคลื่อนเรื่องนี้กันอยู่ผ่านบริบทของตัวเอง วัตถุประสงค์สุดท้ายคือ เราอยากโชว์ภูมิปัญญาของพี่น้องชาติพันธุ์บนดอย เราก็พรีเซนต์ว่าพี่น้องเป็นคนเก็บข้อมูล ทั้งในด้านการทดลอง หรือ การทดสอบ เป็นเรื่องการ Empower ผู้คน ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีผลผลิตของกลุ่มชาติพันธุ์ของพี่น้องบนดอยช่วยกันทำกับเรา
อีกเล่มคือ 'ตาบึ๊ต่าทา' เป็นเล่มที่ 2 ที่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องราวบนผืนผ้าปกาเกอะญอ ห้วยตองก๊อ เราได้ทุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เขาให้ทุนชาวบ้านทำงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลเรื่องผ้าทอภายใต้คลังข้อมูลชุมชนของห้วยตองก๊อ เป็นการ Empower พี่น้อง ทั้งเรื่องการเป็นผู้ผลิต ลงมือทำ และเก็บข้อมูลภูมิปัญญา ทีมดอยสเตอร์เป็นคลังที่พี่น้องรวบรวมเก็บข้อมูล เพื่อนำมาทำเป็นหนังสือ เราพยายามจะสร้าง movement และความชอบธรรมในงานประเด็นผ้าชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำหนังสือเรื่องผ้าของคนกลุ่มชาติพันธุ์ พอเราทำก็เหมือนเป็นงานของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเล่มแรกที่ชุมชนเป็นคนทำขึ้นมา ทำให้เห็นในเชิงมานุษยวิทยาด้วย เพราะเราเล่าตั้งแต่ประวัติชุมชน วิธีการสร้างสรรค์ วิธีการ move ของพี่น้องในการสร้างกระแสเรื่องผ้าชาติพันธุ์ ทั้งการสร้างสีสัน ลวดลาย การออกตลาด ทำเวิร์กช็อป หรือไปต่างประเทศ เพราะอยากจะขยี้เรื่องเหล่านี้ไปกับการท่องเที่ยว
“คนรู้จักกลุ่มดอยสเตอร์จากงานสื่อสารของเรา (งานการ์ตูนชาติพันธุ์) โดยภาพวาดของอาจารย์จุฑามาศ ประมูลมาก เล่มแรกที่เราทำออกมาคือ ท่องเที่ยวเก๋ไก๋สไตล์ดอยสเตอร์แม่ฮ่องสอน ค่อนข้าง Impact มาก”
ความท้าทายในการทำงานร่วมกับชุมชนปกาเกอะญอของกลุ่มดอยสเตอร์ (DoiSter)
ผมจะอยู่ที่เชียงใหม่เป็นหลัก ส่วนเพื่อนๆ ก็อยู่กระจายตามจังหวัดอื่นๆ ความท้าทายจึงเป็นเรื่องของระยะทางในการสื่อสาร เวลาเราจะพัฒนางานหรือติดตามงานมันอาจจะช้า ตอนเริ่มทำแรกๆ เราจะทำอย่างไรให้งานของเรามันสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ ทำให้เราต้องวิ่งหาหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเพื่อทำงานกับเรา
ในยุคหลังผู้คนเริ่มเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ผู้คนเริ่มขายของได้เองแล้ว งานเราก็เดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่เรามีส่วนร่วมในการสร้างกระแส เกี่ยวกับความงดงามทางศิลปวัฒนธรรมกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ จนผ้าของชาวชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มทำให้ผู้คนสนใจในการบริโภค และการจัดซื้อ ความท้าทายต่อไปคือ เราจะขับเคลื่อนประเด็นชาติพันธุ์ในมิติไหนต่อไป เราจะทำงานกับกลุ่มคนชาติพันธุ์รุ่นใหม่ที่เริ่มจะสื่อสารประเด็นเองได้แล้วต่อไปอย่างไร เริ่มมีคนลุกขึ้นมาทำการท่องเที่ยวของตัวเอง แต่ทำแบบเดี่ยวๆ เริ่มมีผู้ประกอบการที่หันมาทำเรื่องผ้าทอ เริ่มทำสีธรรมชาติ และเริ่มลงตลาดเยอะขึ้น แล้วเราจะทำงานกับกลุ่มคนพวกนี้อย่างไร ให้เขาทำงานได้อย่างงดงาม และสง่างาม เพราะเราก็เริ่มพบปัญหาว่าพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เริ่มก๊อปงานกันเอง มีการสื่อสารที่ไม่ตรงกัน
พอชุมชนห้วยตองก๊อเริ่มมีชื่อเสียง และมีคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาในหมู่บ้านที่จะมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ งานที่เราต้องทำกับกลุ่มรุ่นผู้ใหญ่ก็ยังต้องทำต่อ แล้วคนรุ่นใหม่เราต้องใช้ทักษะการเท่าทันเทคโนโลยี และเขาต้องมาแข่งในสนามใหญ่อย่างมีศักดิ์ศรี เขาจะสามารถทำธุรกิจอย่างมืออาชีพได้อย่างไร นี่คือความท้าทาย
“งานต่อไปของเราคือ ทำอย่างไรให้เห็ดต่างๆ ที่งอกขึ้นมาในฤดูฝน สามารถขับเคลื่อนเติบโตอย่างงอกงามและงดงาม มีเกียรติและศักดิ์ศรี นี่คือความท้าทาย และเป็น Misson ของเรา ในการวางยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เครือข่าย เพื่อรักษาอัตลักษณ์ การค้าขายของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น การขยับไปเป็นธุรกิจเพื่อสังคม”
หลังจากทำงานร่วมกับชุมชน และกลุ่มชาติพันธุ์ ผลตอบรับเป็นอย่างไร
เราสามารถปลุกกระแสผ้าชาติพันธุ์ และสีธรรมชาติขึ้นมาได้ ลวดลายที่เราออกแบบกับชุมชนซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของที่นั่น และถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้มีกำลังซื้อ และมีความต้องการ และทำให้พี่น้องมีรายได้เสริมพอสมควร มีกลุ่มก้อนจากหมู่บ้านต่างๆ เซ็ททีมขึ้นมาทำงานผ้า ประเด็นงานสื่อสารเมื่อก่อนที่ทำโดยนำร่องจากคนนอก ตอนหลังคนในเริ่มทำเอง และสื่อสารเรื่องชาติพันธุ์อย่างแพร่หลาย ผ่านแพลตฟอร์มที่ทุกคนเข้าถึงได้ มันก็เป็นสิ่งสะท้อนการทำงานของเรา
ส่วนการทำงานกับชุมชน จริงๆ ชุมชนมีพลวัตซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราทำงานกับกลุ่มผู้ใหญ่ ตอนหลังเราต้องทำงานกับคนรุ่นใหม่ซึ่งมีทัศนคติที่แตกต่างกัน ในขณะที่เราเองมีอายุ และเริ่มมีความคิดแบบคน Gen X ต้องไปคุยกับคน Gen Y Gen z ประมาณนี้ มีเรื่องความท้าทายต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง เพราะเราเป็นคนนอกที่ไปทำงานกับกลุ่มคนชาติพันธุ์ เราจึงต้องสร้างการยอมรับกับคนรุ่นใหม่
“เราในฐานะคนนอกที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอีกรอบในการผลักดันคนใน เพื่อขับเคลื่อนประเด็นนี้กันต่อไป และงานพัฒนายังต้องอาศัยเรื่องทรัพยากร และเรื่องเงินทุนต่างๆ อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคนทำงานอิสระ เราก็ต้องหาทุนในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่เราคิดว่ามันจะต้องขับเคลื่อน”
ทำงานร่วมกันแบบ Co-Creation เก่า – ใหม่
เราทำงานแบบ Co-creation ครับ ผมจบสถาปัตย์ด้านการออกแบบ พี่น้องเราจะมีทักษะสูงในเรื่องการผลิต และการทอ ส่วนเราจะมีทักษะเรื่องการออกแบบ โดยใช้แต้มต่อของการเป็นคนนอกของเราลองมองเข้ามาว่าชุมชนมีอะไรดี อะไรคือจุดเด่น ในขณะที่คนในเขาอยู่กับสิ่งนั้นทุกวันเขาก็เฉยๆ เลยต้องใช้สายตาของคนนอกเพื่อดึงจุดเด่นต่างๆ ออกมา และใช้ทักษะการออกแบบของเราเข้าไปช่วยทำงานกับเขา ใช้ความเป็นคนทำงานพัฒนาเพื่อเชื่อมต่อ และช่วยประสานเรื่องทุนให้ชุมชนได้พัฒนาตัวเอง
ในเฟสแรกเราอยากสื่อสารวิถีชาติพันธุ์ เรายังทำงานตามแพทเทิร์นเก่าๆ อยู่ในเฟสที่ผ่านมา เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้สีธรรมชาติ คิดและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่โดยมีพื้นฐานมาจากลวดลายเก่า มีการตีความลวดลายต่างๆ เพื่อแสดงอัตลักษณ์บางอย่าง เพื่อใช้ทักษะการ Branding หรือ การสื่อสาร ไปช่วยพี่น้อง
“พอได้ไปทำงานกับคนรุ่นใหม่เขาอยากทำงานแปรรูปผ้า เราจะทำอย่างไร จะสื่อสารอย่างไร ให้ยังคงมีเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ในเสื้อผ้า ซึ่งเป็นอีกโจทย์ใหม่ของเรา”
ผลักดันผลิตภัณฑ์ และสินค้าของชุมชน ทั้งแบบ Offline และ Online
พอเราทำงานด้านการสื่อสาร เหมือนหน้าร้านของเราเป็นหน้าจอทีวี ให้คนได้เห็นเรื่องที่เราอยากสื่อสาร เพราะฉะนั้น เวลาเราไปออกร้านจะมี 2 วัตถุประสงค์คือ เราจะไปโม้ และเล่าเรื่องราวของพี่น้องชาติพันธุ์ผ่านการออกบูธ บางคนมาคุยกับเราเป็นชั่วโมงแต่ไม่เคยซื้อของเราก็ไม่เป็นไร แต่เราได้เล่า คนไหนที่รู้สึกว่ามีสินค้าที่เหมาะกับเขา เขาก็ซื้อ บางคนก็เห็นเราสื่อสารผ่านเฟสบุ๊กจากการโพสต์อัพเดตในการออกงานต่างๆ และเขาก็จะตามมาซื้อ แต่เมสเสจต่างๆ เขาเสพไปล่วงหน้าแล้ว จากหนังสือที่เราทำ จากโพสในโซเชี่ยล เราก็จะใช้ช่องทางเหล่านี้ในการค้าขาย และสื่อสารออกไป
ยุคก่อนที่สินค้าเรามีไม่เยอะมาก งานบางชิ้นใช้เวลาทำนาน ก็มีบ้างอย่างช่วงปลายปีที่จะโพสเพื่อขายของโดยเฉพาะ DoiSterShop จะโพสประมาณ 2-3 โพสก่อนวันคริสต์มาส หรือปีใหม่ เพื่อให้คนได้ซื้อของขวัญหรือของที่ระลึก เราจะมีทั้งช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ซึ่ง 80% เราจะพาพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ของเราไปขายด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ทักษะการขาย ให้เขาได้พูดคุยกับลูกค้า ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต หรือการทอ และกระบวนการต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนกับลูกค้าเพื่อจะได้ทราบถึงความต้องการของเขาว่าเขาอยากได้สินค้าแบบไหน เราก็เอาสิ่งเหล่านั้นกลับมาคุยกันเพื่อพัฒนาสินค้าต่อไป เป็นลูปงานพัฒนาครับ
“ยุคหลังๆ หลานๆ เริ่มเล่น Tiktok เริ่มมีคนทำเพจ ทำให้ยุคนี้มีช่องทางการขายออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รอดูต่อว่ามันจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในยุคต่อจากนี้ไปบ้าง”
เสน่ห์ของกลุ่มชาติพันธุ์
ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์คือเสน่ห์ แม้เราจะเป็นคนเหมือนกัน แต่เรามีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน ทำให้วิธีปฏิบัติของเราไม่เหมือนกัน จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เหมือนกับที่เราทำงานผ้า และงานท่องเที่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่ม เพราะแต่ละคนเชื่อ และมีทักษะไม่เหมือนกัน ผ้าที่ออกมาจึงแตกต่างกัน แต่ละกลุ่มก็มีการเพาะปลูกพืชที่เอามาใช้ทำเส้นใยผ้าไม่เหมือนกัน ทั้งกัญชง หรือ ฝ้าย ทำให้มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเทคนิคการทอ การทำ และการย้อมสีที่แตกต่างกัน ความหลากหลายเหล่านี้จึงทำให้เราเกิดการแลกเปลี่ยนกัน ทำให้ชีวิตมีทางเลือก มีความสนุก และมีความมั่นคง หากเราโอบรับความหลากหลายเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตมีทางเลือก และมีสีสัน และสูตรความสุขในชีวิต ยิ่งหลากหลาย ยิ่งงดงาม
“เราทำงานกับคน และค่อนข้างจะเชิดชูพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงมันมีทุกมุม ทั้งความงดงาม ความท้าทาย”
เพราะการทำงาน คือ การเรียนรู้ และสร้างโอกาสให้ผู้คน
เราพาตัวเองเข้าไป เหมือนได้ไปเรียนรู้ด้วย ไม่ใช่แค่การโปรโมตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว แต่เราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วย หลายครั้งที่พี่น้องสอนปรัชญาชีวิตเรา เราให้เขาทำงานตัวนี้ แล้วให้เขาปรับราคาขายในชุมชน ก็มีเสียงทักท้วงจากผู้ใหญ่หลายๆ คนว่าถ้าทำแบบนี้อาจมีผลกระทบ พอเราไปเพิ่มมูลค่าของทำให้คนชุมชนเก็บของชิ้นนั้นไว้ และไม่อยากขาย เราไปไม่ใช่แค่พัฒนาเขา แต่เขาก็พัฒนาเรา ทำให้เรามองอะไรรอบด้าน และเห็นปรัชญาชีวิตมากยิ่งขึ้น เราก็ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเขา ทุกวันนี้เลยกลายเป็นคนชิล ชิลกว่าเขาซะอีก (หัวเราะ) เราเลยต้องปรับชีพจรเราไปพร้อมๆ กับเขา เราจะใช้ตรรกะของคนเมืองไม่ได้
เราทำงานกับคน เราต้องเจอความเป็นมนุษย์ของเราเอง และคนที่ทำงานด้วย ช่วยให้เรารับมือ และพัฒนากับสิ่งต่างๆ ได้ ทั้งตัวเราเอง และคนที่เราทำงานด้วยได้ ได้เติบโตไปด้วยกันทั้งในแง่งาน และชีวิต ทำให้เราได้มีโอกาสชวนเพื่อนฝูงขึ้นมาเรียนรู้กับเรา นอกจากเราที่เป็นตัวหลักในการขึ้นดอย เพราะตัวเราได้ขึ้นตลอดอยู่แล้ว แต่พอมาอยู่ตรงนี้ ทำให้มีอาสาสมัครตามเราไปเรียนรู้ และทำงานกับเรา ทำให้สร้างโอกาสให้คนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้งานกับเราด้วย ดอยสเตอร์อาจเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้คนได้เข้ามาเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกันนอกจากเรื่องการท่องเที่ยว
“การเรียนรู้ โดยเราเอากระบวนการเข้าไป ทำให้พี่น้องบนดอยได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ การประกอบการ การพัฒนา เราเข้าไปก็ได้เรียนรู้ คนซื้อสินค้ากับเราก็ได้เรียนรู้ เราไม่ยอมให้เขาซื้อเพราะแค่สวยอย่างเดียว”
กระแสที่มาสู่แม่ฮ่องสอน
ส่วนหนึ่งที่แม่ฮ่องสอนเป็นกระแสขึ้นมา และเป็นหมุดหมาย ภาพจำที่คนนึกถึงแม่ฮ่องสอนคือ 1,864 โค้ง นึกถึงภูเขา นึกถึงคนภูเขา และกลุ่มคนชาติพันธุ์ เราก็เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเราเป็นภาคีหลักของททท.แม่ฮ่องสอน ถึงแม้จะเปลี่ยนผู้บริหารไปแล้ว เราก็ยังมีการขับเคลื่อน และมีการนัดหมาย ทำงานแฟร์ร่วมกัน อย่างสิงหาฯที่จะถึงนี้ก็มีงานเที่ยวทั่วไทย เราก็วางยุทธศาสตร์กันว่าจะเอาอะไรไปนำเสนอ เราจะเอาสินค้าหรือแคมเปญอะไรไป เราก็เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่จะผลักดัน สร้างเศรษฐกิจ การรับรู้ และอีกเรื่องคือสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นวาระของเรา เนื่องจากถูกมองเป็นจำเลยของสังคมเรื่องการเผาหรือ PM 2.5
กลุ่มดอยสเตอร์ (DoiSter) ก้าวต่อไป และในอนาคต
เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราเลยคิดว่า ดอยสเตอร์ยังจะขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า ซึ่งเป็นช่วงที่เรากำลังทบทวนตัวเอง ส่วนประเด็นชาติพันธุ์เรายังคงขับเคลื่อนต่อไปดอยสเตอร์อาจจะไม่ใช่คนทำงานผ้าก็ได้ในอนาคต เพราะทุกวันนี้มีพี่น้องลุกขึ้นมาทำเยอะแล้วเราไม่อยากไปเป็นคู่แข่งกับพี่น้อง แต่ถ้ายังทำเรื่องผ้าอยู่ เราจะใช้เรื่องนี้สร้าง Movement ชาติพันธุ์ พยายามสร้างเครือข่าย ไปจีบพี่น้องให้ลุกขึ้นมาทำผ้าทอเยอะๆ เราจะแข่งขันกันเองระหว่างหมู่บ้านอย่างไรแบบไม่ทำร้ายกัน เราจะโกอินเตอร์อย่างไร เราอยากให้เขาขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ด้วยตัวของเขาเอง ยุคนี้เป็นยุคที่มีการศึกษา มีคนรุ่นใหม่ และมีบทบาทในสังคม ซึ่งน่าภาคภูมิใจ และสง่างามถ้าเขาขับเคลื่อนได้ แต่เรายังไม่อยากทิ้ง Connection ในการทำงานร่วมกัน เป็น Co-Creation ระหว่างคนในสังคมพหุวัฒนธรรม มีความเป็น Unity แล้วไปด้วยกันพร้อมกับความหลากหลายอย่างงดงาม