Auto

“State of Health (SOH)” สุขภาพแบตฯ รถไฟฟ้า มาตรฐานรถยนต์ไฟฟ้าที่ให้มาไม่เท่ากัน

Photo credit: TUV Sud

รู้หรือไม่ว่าในรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากเรื่องความจุของแบตเตอรี่ที่เปรียบเสมือน ‘ขนาดถังน้ำมัน’ ที่จะกำหนดให้รถคันนั้นๆ วิ่งได้ไกลแค่ไหน จากความสามารถในการกักเก็บปริมาตรกระแสไฟเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งแบตเตอรี่ที่ ใช้จะเป็นแบบลิเทียมไอออน ซึ่งเหมาะที่สุดสำหรับการนำมาใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้คุณสมบัติแง่บวกมากมาย

จากรถเติมน้ำมันสู่ยานยนต์พลังงานสะอาดขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ที่คนทั่วไปอาจมองว่ายากต่อทำความเข้าใจ แต่เชื่อเถอะว่าอีกไม่นานเกินอึดใจ รถไฟฟ้าจะกลายมาเป็น ‘รถส่วนมาก’ บนท้องถนนไม่ว่าไทยหรือทั่วโลก นำไปสู่ความเข้าใจในการทำงานของรถประเภทนี้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับตัวรถ และหนึ่งส่วนสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือเรื่องของ ‘แบตเตอรี่’ ที่ใช้สำหรับส่งพลังงานเพื่อการทำงานในทุกระบบของตัวรถ วันนี้ EQ จึงอยากพาคุณมาทำความรู้จักกับเรื่องแบตเตอรี่รถไฟฟ้าและสุขภาพของมันให้มากขึ้น เพราะอาจมีผลในระยะยาวต่อการใช้รถคันต่อไปของคุณก็ได้ 

Photo credit: J.D. Power

ว่าด้วยเรื่องของสุขภาพแบตฯ SOH

ท้าวความจากที่ผู้เขียนได้ไปเห็นบทความหนึ่งเกี่ยวกับรถไฟฟ้าหนึ่งรุ่นจากแดนมังกร ซึ่งเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของปัญหาต่างๆ ในตัวรถ ที่ผู้ใช้งานจริงได้ประสบพบเจอแล้วนำมาตั้งเป็นโพสต์ในเฟซบุ๊ก  หนึ่งประเด็นในบทความที่น่าสนใจคือ รถรุ่นนั้นๆ ค่า ‘SOH’ หรือ ‘State Of Health’ ที่สะท้อนถึงคุณภาพแบตเตอรี่ ได้เสื่อมลงเป็นอย่างมากภายในระยะเวลาการใช้รถไม่นาน ทำให้เกิดคำถามในหัวของผู้เขียนเองว่า รถ EV แต่ละรุ่นที่ขายกันอยู่ในบ้านเรานี้ มาตรฐานของตัวแบตฯ จะวัดได้จากแค่เรื่องระยะทางรถที่วิ่งได้ไกลเท่านั้นหรือ?  

เพราะนอกจากเรื่องระยะทางที่หลายคนให้ความสำคัญ อยากให้รถไฟฟ้าวิ่งได้ไกลๆ ต่อการชาร์จเต็ม 

“เรื่องคุณภาพแบตฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการใช้งาน ภาพรวมของตัวรถในระยะยาวก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และอยากให้ผู้ซื้อทุกคนมองมันเป็นอีกปัจจัยสำคัญด้วย”

Photo credit: EV Car Thailand Community

แม้กระแสความใหม่ในนวัตกรรมอาจจะนำให้เรามองข้ามปัจจัยความสำคัญตรงนี้ไป มันก็อาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาวของคุณได้เหมือนกัน หากซื้อรถไฟฟ้าไปใช้ในสักวันหนึ่ง

รถ EV แบตฯ เสื่อม อาการเป็นอย่างไร?

ใครใช้มือถือไอโฟนก็น่าจะรู้ดีในเรื่องของสุขภาพแบตฯ ว่ามีผลอย่างไรในการใช้งาน เพราะสามารถดูคุณภาพของแบตฯ ได้จากส่วนของ “Battery Health” ค่า SOH ในรถยนต์ไฟฟ้าที่ว่านี้ก็ไม่ต่าง เพราะมันสะท้อนถึงคุณภาพแบตเตอรี่ในรถยนต์เช่นกัน และถ้าใช้รถ EV ไปนานๆ จนสุขภาพแบตฯ แย่ จะมีผลเป็นอย่างไร ลองไปดูกัน 

  • วิ่งได้ในระยะทางที่น้อยลง เพราะตัวแบตฯ เก็บประจุไฟได้น้อยกว่าเดิม
  • ใช้เวลาในการชาร์จนานกว่าปกติ เพราะความสามารถในการเก็บไฟลดลง
  • สมรรถนะและการทำงานของตัวรถแย่ลง เนื่องด้วยแหล่งพลังงานทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
  • ค่าบำรุงรักษามาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เพราะแบตฯ เสื่อมคุณภาพและต้องทำการเปลี่ยน 
Photo credit: Electrek

แบตฯ มือถือก็เหมือนแบตฯ รถไฟฟ้าที่ต้องดูแล

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สุขภาพแบตฯ รถยนต์ที่ใช้เป็นอย่างไรบ้าง? ส่วนนี้สามารถเช็กได้ แต่ต้องผ่านการเสียบช่อง OBD (On Board-Diagnostics) เท่านั้นถึงจะรู้ หรืออีกนัยยะก็คือต้องแวะเข้าศูนย์รถเพื่อตรวจเช็ก  

“จะเห็นว่าเมื่อแบตฯ เสื่อม การทำงานต่างๆ ก็แย่ลง ไม่ต่างกับใช้มือถือปีสูง ที่ใช้งานไม่นานแบตฯ ก็หมด ต้องเปลี่ยนแบตฯ หรือซื้อเครื่องใหม่! แต่ประเด็นนั้นคงไม่ง่ายนักกับรถยนต์ EV ที่ราคาเริ่มต้นแตะล้าน”

ทางที่ดีที่สุดเมื่อเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าและต้องการใช้รถไปนานๆ เต็มประสิทธิภาพจากคุณภาพแบตฯ คือการดูแลสุขภาพแบตฯ ให้ได้ การป้องกันแบตฯ ก็ทำได้ไม่ยาก 

  • ให้แบตฯ อยู่ในความร้อนระหว่าง 25-40 องศาเซลเซียสจะดีที่สุด
  • การชาร์จนานสามารถช่วยป้องกันแบตเสื่อมได้ เพราะแบตฯ จะไม่ร้อน 
  • การฟาสชาร์จ ชาร์จไว แบตฯ เต็มไว แต่จะร้อนด้วย ไม่ควรทำบ่อยๆ 
  • ไม่ควรปล่อยให้ไฟในแบตฯ เหลือ 0% แล้วค่อยชาร์จ เพราะจะทำให้แบตฯ เสื่อมจากการต้องเข้าไปกระตุ้นประจุในตัวแบตฯ 
Photo credit: Way

แบตฯ ลิเทียมไอออนที่ไม่เหมือนกัน 

แม้จะขึ้นต้นว่าเป็นแบตฯ ลิเทียมไอออน (Lithium Ion) แต่คุณรู้หรือไม่ว่าประเภทของแบตฯ ลิเทียมไอออนยังแบ่งประเภทจากภายในได้ออกเป็น 4 ประเภทที่นิยมใช้ในแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 

  • Lithium Iron Phosphate (LFP) : MG EP, ORA Good Cat
  • Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide (NMC) : Audi e-tron 
  • Lithium Titanate (LTO)
  • Lithium Nickel Cobalt Aluminum Oxide (NCA) : Tesla

ซึ่งคุณสมบัติของแบตฯ แต่ละประเภทนั้นจะแตกต่างกัน โดยพิจารณาจากค่าต่างๆ ที่วัดออกมาได้เมื่อประกอบมาเป็นแบตฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ ค่าความจุพลังงานจำเพาะ (specific energy), ค่ากำลังจำเพาะ (specific power), ต้นทุน (cost) เป็นต้น

“ในการเลือกแบตฯ ลิเทียมประเภทต่างๆ ไปใช้ของผู้ผลิต ก็ต้องพิจารณาตามคุณสมบัติให้เหมาะกับตัวรถและต้นทุน เช่น แบตฯ LFP ในรถบ้านอย่าง MG, ORA ราคาถูกกว่า ทนกว่า แต่มีน้ำหนักมากกว่าหากเทียบปริมาตรไฟฟ้าที่เก็บได้เท่ากัน อาจไม่เหมาะกับรถสปอร์ตอย่าง Audi e-tron ที่เน้นสมรรถนะและต้องการน้ำหนักรถที่เบากว่า เป็นต้น”

Photo credit: EIT RawMaterials

ดังนั้น ในตอนที่คุณซื้อรถไฟฟ้าและเห็นว่าเป็นแบตฯ ลิเทียม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิเทียม) ก็อย่าลืมสอบถามรายละเอียดภายในแบตฯ นั้นด้วยว่าเป็นแบบไหน อย่างน้อยก็จะได้รู้ประเภทของแบตฯ และเข้าใจในตัวรถ EV ที่ซื้อมาได้มากขึ้น 

มาตรฐานรถ EV ยังถือว่าใหม่มาก และจะเห็นว่าแค่มาตรฐานการทดสอบการวิ่งได้ไกลเท่านั้นเท่านี้อาจจะยังเชื่อมั่นได้ไม่มากพอ บางรุ่นเคลมได้ 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม เมื่อใช้จริงๆ และผ่านสภาพแวดล้อม อาจเหลือแค่ 300-350 กิโลเมตร อาจต้องรออีกสัก 5-10 ปี ความเป็นมาตรฐานจะยิ่งสูงขึ้น กับยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งสำคัญที่ต้องตามให้ทัน และพอถึงวันนั้น การเลือกรถ EV ของคุณอาจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป