Auto

ชาร์จช้า ชาร์จไว สำคัญแค่ไหนในการใช้รถไฟฟ้า?

หนึ่งประเด็นที่ทำให้ตลาดรถ EV บ้านเรายังเติบโตเทียบเท่าหลายๆ ประเทศที่เน้นให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้ คือเรื่อง ‘สถานีชาร์จไฟ’ ที่ตอนนี้อยู่ในลักษณะเป็น ‘กระจุก’ ให้คนขับรถไฟฟ้าเลือกใช้งานได้แค่เฉพาะบริเวณหัวเมือง ไม่กระจาย ไม่แพร่หลาย จนกลายเป็นว่าไม่ช่วยส่งเสริมให้คนหันมาขับรถพลังงานสะอาดนี้สักเท่าไหร่

Photo credit: InsideEVs

นอกจากเรื่องสถานีชาร์จไฟที่ยังมีให้บริการไม่ครอบคลุมมากพอ ทำให้ผู้ใช้งานต้องวางแผนหนักขึ้นกว่าตอนใช้รถน้ำมันแล้ว เรื่องระยะเวลาในการชาร์จต่อครั้งก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องวางแผนให้ดีด้วย เพราะระยะเวลาที่ใช้นั้นไม่ไวเหมือนขับรถเครื่องยนต์สันดาปวิ่งเข้าปั้ม เติมน้ำมันแล้ววิ่งต่อได้เลย แต่มันคือการต้องใช้เวลา ‘สักระยะ’ ให้การเพิ่มพลังไฟในสถานีชาร์จ สำหรับการชาร์จไวหรือเสียบชาร์จยาวทั้งคืนที่บ้าน ตื่นขึ้นมาไฟเต็มที่เป็นแบบชาร์จช้า EQ จะพาคุณไปทำความเข้าใจความต่างของการชาร์จรถไฟฟ้าทั้ง 2 แบบนี้ว่าเป็นอย่างไร ตามไปดูกันเลย

Photo credit: พลังงานออนไลน์

ชาร์จรถ EV ที่เขาเรียกตามสเปคว่า AC, DC คืออะไร?

การชาร์จรถไฟฟ้าที่เป็นรถแบรนด์พอมีชื่อสักหน่อย และมีระบบชาร์จไวรองรับ ชาร์จช้าได้เป็นมาตรฐาน วลีที่ว่า ชาร์จ AC, DC คุณน่าจะเคยผ่านหูมาบ้างผ่านการรีวิวรถไฟฟ้าค่ายต่างๆ ไปดูความหมายกันก่อนว่าคืออะไร 

ชาร์จ AC (ชาร์จช้า) - เรียกเต็มๆ ว่า Alternating Current เป็นการชาร์จไฟแบบกระแสสลับกับระบบไฟฟ้าแรงดัน 220 โวลต์ เทียบเท่ากับการชาร์จผ่าน Wall Charger ที่บ้านทั่วไป โดยตัวประจุไฟจะผ่าน On Board Charger ก่อน เพื่อแปลงไฟกระแสสลับเป็นกระแสตรงก่อนเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ จำง่ายๆ คือจะใช้เวลาชาร์จนานหลายชั่วโมง

ชาร์จ DC (ชาร์จไว) - ชื่อเต็มๆ คือ Direct Current เรียกกันติดปากว่า Fast Charge เป็นการชาร์จไฟกระแสตรงแบบอัดประจุเข้าไปในแบตฯ ระบบไฟที่ใช้จะมีเฉพาะที่สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น เป็นการชาร์จนำไฟเข้าตรงสู่แบตเตอรี่ ไม่ผ่านบอร์ดเพื่อแปลงกระแสไฟ ใช้เวลาในการชาร์จน้อยกว่า

Photo credit: Versinetic

เมื่อรู้แล้วว่าการชาร์จหลักๆ ของรถ EV จะมี 2 รูปแบบ คือชาร์จไวและชาร์จช้า มุ่งเป้าไปที่เรื่องพลังงานทดแทน การชาร์จไวยังไม่สามารถทำเวลาให้รถไปต่อได้เร็วเท่าเติมน้ำมันในเครื่องยนต์สันดาป กับสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หากไม่วางแผนเรื่องพลังงานแบตเตอรี่ให้ดี คุณอาจต้องเสียเวลาอยู่ที่สถานีชาร์จไฟต่ำๆ 30-40 นาทีเพื่อให้รถสามารถใช้งานต่อได้

ชาร์จไวได้แค่ไหน ดูจากอะไร?

ไม่ใช่รถทุกคันที่จะชาร์จไวได้ตามกำลังไฟของสถานีชาร์จ แม้จะเข้าไปสถานีชาร์จไฟมี Fast Charge แรงๆ ระดับ 120 kW แต่ถ้ารถรับไม่ไหว ก็จะชาร์จได้ไวเพียงแค่ความสามารถขั้นต่ำของตัวรถเท่านั้น ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวรถของคุณว่า ‘รับไฟ’ ได้แรงแค่ไหน

  • อาทิ MG ZS EV ตัวรถมีระบบชาร์จไว (DC Fast Charge) แบบ 3 เฟส ที่ขนาด 11 kW ต่อให้คุณขับรถคันนี้เข้าไปสถานีชาร์จไฟ EleX ที่มีบริการ Fast Charge 125 kW ก็ไม่ได้ทำให้คุณชาร์จได้ไวขึ้น เพราะตัวรถระดับนี้รับได้แค่ 11 kW เท่านั้น ต้องใช้เวลาราว 30-40 นาทีเพื่อให้ไฟขึ้นมาอยู่ระดับ 80% ตามสเปกของรถอยู่ดี
  • เช่นเดียวกับ ORA Good Cat ซึ่งมีระบบชาร์จไวที่ระดับ 30-80% รองรับการชาร์จสูงสุด 60 kW หากไปเข้าสถานีชาร์จช้า หรือสถานีชาร์จ PEA ที่รองรับระบบชาร์จไวแค่ 50 kW ความไวที่ได้ก็จะอยู่ที่ ‘ขั้นต่ำ’ ของสถานีชาร์จเท่านั้น คือ 50 kW
Photo credit: B.GRIMM

ทำไมคุณถึงไม่ควรชาร์จแบตแบบ DC Fast Charge บ่อยๆ

แม้จะดีกว่า ไวกว่า ไม่ต้องรอนาน แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ผลิตรถยนต์ EV แนะนำว่า การชาร์จกระแสตรง DC บ่อยๆ จะทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของตัวรถสั้นลง เสื่อมสภาพเร็วกว่า ค่า SOH แย่ลงอย่างมีนัยยะ เมื่อเทียบกับการชาร์จแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปอย่างระบบชาร์จช้า  

“เพราะว่าการชาร์จแบบไวจะเป็นการอัดประจุไฟเข้าไปในแบตฯ อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘ความร้อน’ อย่างที่รู้กันว่า แบตเตอรี่กับความร้อนสูงๆ เป็นของแสลงที่ไปด้วยกันไม่ได้ หากแบตฯ เกิดความร้อนสูงขึ้นบ่อยๆ ย่อมส่งผลให้แบตเตอรี่เสื่อมลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเอง” 

Photo credit: Renewables Now

คำแนะนำคือ การชาร์จแบบกระแสสลับ AC ที่บ้านควรเป็นการชาร์จหลักให้กับรถของคุณ ค่อยๆ ชาร์จให้ประจุไฟค่อยๆ เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ไม่ทำให้เกิดความร้อนในตัวแบตฯ แล้วใช้การชาร์จไวเป็นตัวเลือกเฉพาะกิจน่าจะดีที่สุด เพื่ออายุการใช้งานในแบตฯ ที่ยั่งยืนของรถคุณ

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นตัวอย่างการใช้งานและบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับผู้ที่สนใจในการใช้รถไฟฟ้าก็คงจะหนีไม่พ้นคุณอู๋ - อติชาญ เชิงชวโน หรือ อู๋ spin9 จับมือกับภรรยา คุณซู่ชิง - จิตต์สุภา ฉิน ขับรถบีเอ็มดับเบิลยู iX3 ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าบนเส้นทางกรุงเทพฯ – สิงคโปร์ – กรุงเทพฯ รวม 4,100 กิโลเมตร ที่ต้องศึกษาข้อมูลและเส้นทางอย่างรอบคอบและมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ใครที่อยากรู้ว่าทั้งคู่วางแผนการเดินทางละเอียดขนาดไหน และในการเดินทางไกลข้าม 3 ประเทศแบบนี้จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ติดตามเรื่องราวทั้งหมดไปพร้อมกัน

Dear Meher Please embed this VDO in content 

https://www.youtube.com/watch?v=TROS8e_8frA