Photo credit: Shaojie
“สตรีนิยมไม่ใช่แค่องค์ความรู้ แต่ต้องนำมาสู่การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลง”
“การเป็นเพศที่สองของผู้หญิงเป็นผลมาจากสังคม” ซีมอน เดอ โบวัวร์ นักปรัชญาและทฤษฎีชาวฝรั่งเศสกล่าว ความเป็นเพศที่สองสร้างความแตกต่างอย่างมากระหว่างชายและหญิงตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ สิทธิในการแสดงความคิดเห็น หน้าที่ที่ต้องแบกรับ การถูกเลือกปฏิบัติ ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย การถูกกดทับหลายรูปแบบทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “เฟมินิสต์ (feminist)” หยิบเอาแนวคิดสตรีนิยมออกมาเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ พร้อมโค่นล้มระบบปิตาธิปไตย
สตรีนิยมคืออะไร? สตรีนิยม (feminism) คือ แนวคิด (perspective) และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement) ที่วิพากษ์ระบบปิตาธิปไตยและความไม่เท่าเทียมทางเพศทุกรูปแบบ รวมถึงเรียกร้องให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มระบบปิตาธิปไตย ทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียมทางเพศ การเกิดขึ้นของแนวคิดสตรีนิยมได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) ที่เน้นความเป็นอิสระของปัจเจกและความเท่าเทียม แต่! ความหมายของสตรีนิยมนั้นไม่หยุดนิ่งเพียงแค่นี้ การเคลื่อนไหวแต่ละช่วงได้เติมเต็มความหมายให้สตรีนิยมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 1 ช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1848 - 1920) สังคมตะวันตกช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้หญิงชนชั้นล่างและเด็กถูกจ้างเป็นแรงงานราคาถูกในระบบอุตสาหกรรม ส่วนผู้หญิงชนชั้นสูงและชนชั้นกลางมีโอกาสในการศึกษามากขึ้น เริ่มตระหนักถึงการกดขี่ที่เกิดขึ้น ผนวกกับในยุคนั้นผู้หญิงไม่สามารถในการถือครองทรัพย์สินเป็นของตนเองได้ และไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ผู้หญิงกลุ่มนี้จึงกลายเป็นแรงสำคัญในการออกมาเรียกร้องสิทธิต่างๆ นำไปสู่ขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีเป็นรูปธรรมครั้งแรกในตะวันตก เป็นการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งทางการเมือง เหตุการณ์ Women’s Suffrage ทั้งในอเมริกาและอังกฤษ
Photo credit: History
สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1960 - 1980) เกิดสตรีนิยมสายต่างๆ เรียกร้องให้หยุดความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าปัญหาของผู้หญิงมีความเป็นสากล ผู้หญิงทุกคนจะต้องเผชิญอะไรเหมือนๆ กัน เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนออกมาเรียกร้องสิทธิให้ตัวเอง ปี ค.ศ. 1968 เกิดเหตุการณ์ Miss America protest เป็นการทิ้งของใช้ของผู้หญิงลงในถังขยะเพื่อเป็นการประท้วงเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศและการกดขี่ผู้หญิง
Photo credit: History
สตรีนิยมคลื่นลูกที่ 3 ช่วงปลายค.ศ. 1980 มีการตั้งคำถามในความเป็นสากลของปัญหาผู้หญิง ที่มองว่าผู้หญิงมีความแตกต่าง เช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา ชนชั้น และรสนิยมทางเพศ มีการเข้าร่วมของนักสตรีนิยมผิวดำ (black feminists) และกลุ่มหญิงรักหญิง (lesbian) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว นอกจากนี้การเคลื่อนไหวมีมากกว่าแค่การเดินประท้วงบนถนนเพียงเท่านั้น ดนตรีกลายเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหว Riot Grrrl วงดนตรีพังก์ร็อกที่ชูประเด็นเรื่องผู้หญิงมาพร้อมวลี “Girl Power” คลื่นลูกนี้สร้างความสะสะเทือนให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงการกดขี่จากระบบปิตาธิปไตยมากขึ้น
Photo credit: the Guardian
การพัฒนาสตรีนิยมในสังคมไทย เริ่มต้นช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 กรณีของอำแดงเหมือน ที่ลุกขึ้นสู้ไม่ยอมให้ตัวเองถูกคลุมถูกชน ทำให้เกิดกฎหมายบังคับห้ามซื้อขายภรรยาและบุตร ผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะมีสิทธิในร่างกายและการเลือกคู่ครองของตัวเอง แต่การเรียกร้องส่วนใหญ่มาในรูปแบบของปัจเจก ผู้หญิงยังคงอยู่ในพื้นที่ในส่วนตัว ไม่มีสิทธิทางการเมือง มาถึงช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 - 7 กลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางได้รับการศึกษา เริ่มออกมาเรียกร้องให้ผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษาสามารถประกอบอาชีพที่เท่าเทียมกับผู้ชาย และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นระบบผัวเดียวเมีย เพิ่มความเสมอภาคให้แก่ชายและหญิง
วารสารกุลสตรี
การเคลื่อนไหวในสังคมไทย ช่วงแรกปรากฏผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมต่างๆ วารสาร “กุลสตรี” เป็นวารสารรายเดือน ฉบับแรกตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2449 วารสารนี้วิพากษ์ระบบหลายเมียและสังคมชายเป็นใหญ่ สร้างการถกเถียงเรื่องสิทธิและเพศสภาพของผู้หญิงในสังคม และเป็นเสียงให้แก่ผู้หญิงชนชั้นต่างๆ ในสังคม หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2547 มีการจัดตั้งองค์กรผู้หญิงเป็นครั้งแรก ชื่อว่า สมาคมสตรีไทยแห่งกรุงสยาม ขบวนการเคลื่อนไหวในสังคมไทย ส่วนใหญ่เน้นการส่งเสริมสถานภาพผู้หญิง มีการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายโดยใช้ฐานคิดแบบเสรีนิยม สู้เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและความเท่าเทียมทางเพศเป็นหลัก
มาถึงปัจจุบัน ขบวนการเคลื่อนไหวของ เฟมมินิสต์ปลดแอก กลุ่มที่มองว่าเพศเป็นเรื่องของการเมือง ขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศพร้อมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ประเด็นในการเคลื่อนไหวหลักคือ ความรุนแรงทางเพศ สมรสเท่าเทียม สวัสดิการของผู้หญิง และการยกเลิกมาตรา 112
ท้ายสุดเห็นได้ว่า ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของสตรีนิยมและขบวนการเคลื่อนไหวแต่ละยุคสมัย แม้การให้ความหมายของสตรีนิยมมีการถกเถียงอยู่ตลอดเวลา แต่การเคลื่อนไหวทุกครั้งก็สร้างความตระหนักแก่ผู้คน ความหมายที่ไม่หยุดนิ่งของสตรีนิยมนี่ล่ะ จะเป็นสิ่งที่เขย่าความคิดของผู้คน และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม!
อ้างอิง
https://www.vox.com/2018/3/20/16955588/feminism-waves-explained-first-second-third-fourth
https://www.womenshistory.org/exhibits/feminism-third-wave
https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/13364-20170526.pdf