Identity

The Labour of Glamour: บนเส้นทางแดรกควีน และแรงงานศิลปินของ ‘Gawdland’

ท่ามกลางความหวือหวา เสียงเพลง และแสงไฟในโลกของ ‘Drag Queen’ พื้นที่แห่งการแสดงตัวตน และความคิดสร้างสรรค์นี้มีศิลปินแดรกหนึ่งคนที่เราอยากแนะนำให้ชาว EQ ได้รู้จัก เธอคือ ‘Gawdland’  แดรกควีนไฟแรงที่จะพาทุกคนไปส่องเส้นทางของศิลปินสายเพอร์ฟอร์ม พร้อมทั้งทำความเข้าใจมุมมองของแดรกควีนในฐานะคนทำงาน ว่าศาสตร์แห่งการแปลงโฉมนี้จะผูกโยงอยู่กับเรื่องของตัวตน บรรทัดฐานทางสังคม และแรงงานได้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้วเราไปเจาะเบื้องหลังเลื่อมระยับ ขนนก และความแกลมนี้กันเลย

‘Gawdland’ ในเมืองเทพสร้าง

“ชื่อภาษาไทยเราชื่อ ‘ธราเทพ’ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ ‘who is god of the land’ เลยกลายมาเป็น ‘Gawdland’ ก็คือใส่จริตเข้าไป (หัวเราะ)” 

ศิลปินแดรกวัย 21 ปีเล่าที่มาของชื่อแสนติดหูให้เราฟัง ก่อนจะเริ่มเปิดประเด็นบนเส้นทางของตัวเองว่า เธอเพิ่งเข้าสู่วงการแดรกอย่างเต็มตัวเมื่อเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ การได้เข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่เป็นเหมือนความฝันที่ทำให้เจ้าตัวได้ใกล้ชิดกับคอมมูนิตี้แดรกควีนมากขึ้น

“เรามาจากภาคเหนือ มาจากเชียงใหม่ แล้วมันก็เป็นความฝันของเราตั้งแต่เด็กแล้วว่า อยากเป็นแดรก อยากเป็นเพอร์ฟอร์เมอร์ อยากแสดงในบาร์ ในคลับ” Gawdland เล่า ก่อนอธิบายต่อว่า เธอมีโอกาสได้ไปแข่งในรายการ ‘Meet&กรี๊ด’ เพื่อชิงรางวัลบัตรคอนเสิร์ต และ Meet & Greet ศิลปินระดับโลกอย่าง ‘Dua Lipa’ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก่อนที่เธอจะเริ่มไปแคสต์เป็นนักแสดงที่ร้าน ‘Silver Sand Silom’ 

“เราก็เดินเข้าไปที่ร้านแล้วบอกว่า พี่ขาหนูอยากเป็นเพอร์ฟอร์เมอร์ พี่เขาก็ให้ลองแคสต์ ลองออดิชั่นดู จนมาเป็นทุกวันนี้”

จากตอนนั้นกระทั่งตอนนี้ Gawdland ยึดอาชีพแดรกควีนมาเป็นเวลาหนึ่งปีเต็มแล้ว เราก็อดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า ในวันที่เธอตัดสินใจทำงานในฐานะศิลปินแดรก คนรอบตัวของเธอมีปฏิกิริยาอย่างไร? ซึ่งเธอก็ตอบเราทันทีว่า กลุ่มเพื่อนๆ ของเธอจะรู้อยู่แล้วว่า เจ้าตัวจะต้องมาเดินบนเส้นทางนี้แน่นอน แต่คำตอบที่ทำให้เราประหลาดใจเล็กๆ คือ ครอบครัวของเธอยังไม่รู้เลยว่า แดรกควีนที่ชื่อ Gawdland ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว

“กับเพื่อนเราก็เต็มที่ เรื่องแฟชั่น เรื่องแต่งหน้า เพื่อนก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์เท่าไรกับการที่เราเป็นแดรก แต่ถ้าครอบครัวก็คือ เขาไม่รู้ ไม่ได้ Come out แล้วก็ไม่ได้บอกเลยว่า ทุกวันนี้เราเป็นแดรกนะ”

ก้าวแรกในตลาดแรงงานคือ การเป็น Drag Queen

แน่นอนว่าทุกวันนี้แดรกควีน ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในสังคมอีกแล้ว แต่เราก็ยังอยากรู้ว่า ในมุมมองของคนที่ยึดถือมันเป็นอาชีพอย่าง Gawdland เธอจะนิยามสิ่งนี้ว่าอย่างไร? ซึ่งเธอก็ตอบเราได้อย่างน่าสนใจว่า แดรกควีน คือ ศิลปินที่ทำศิลปะ ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นอีกเพศหนึ่ง เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการหาเงิน, การเอนเตอร์เทนคนอื่น, การสื่อสารประเด็นทางสังคม ไปจนถึงการค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเลยก็ยังได้ 

“แดรกควีนเป็นพื้นที่กว้างให้สำรวจความหลากหลายของตัวเอง สำหรับเราแดรกเป็นแบบนั้น และเราใช้แดรกในการหาเงินด้วย”

เจ้าตัวเล่าให้เราฟังต่อว่า การเป็นแดรกเปิดโอกาสหลายๆ อย่างให้เธอ ทั้งเปิดโอกาสให้คนอื่นได้รู้จักเธอ และทำให้เธอได้รู้จักคนอื่นๆ ในวงการ ได้เห็นคนที่ตนเองนับถือมาอยู่ตรงหน้า ล้วนเป็นเพราะว่า แดรกนำพาให้เธอมาถึงจุดนี้ ก่อนจะบอกต่อว่า “มันเปิดประตูหลายบานให้กับเรา มันสร้างอาชีพ สร้างชื่อเสียง สร้างเงินทอง สร้างทุกอย่างที่เป็นเราทุกวันนี้ แล้วเราก็เรียนรู้อะไรจากมันเยอะมาก ทั้งประสบการณ์ ความผิดพลาด และความสำเร็จ มันเกิดขึ้นเพราะแดรกทั้งหมด”

แม้ว่าทุกวันนี้วงการแดรกควีนในบ้านเราจะเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งทำให้ศิลปินแดรกไม่ถูกมองว่าเป็น ‘ตัวประหลาด’ อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางการเป็นแดรกของ Gawdland จะมีแต่ความราบรื่น เพราะนอกจากอาชีพแดรกควีนแล้ว ตอนนี้เธอยังควบอีกหนึ่งบทบาท อย่างการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ด้วย นั่นทำให้เธอเหนื่อย และแทบจะไม่ได้พักผ่อน จากชีวิตนักศึกษาในตอนเช้า และการทรานส์ฟอร์มเป็นศิลปินแดรกในตอนกลางคืน ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังเชื่อว่า เธอสามารถจัดการเวลา และตารางชีวิตได้ดี (ซึ่งเจ้าตัวก็แอบกระซิบมาว่า คีย์หลักคือ การมีความรับผิดชอบต่องานที่เธอทำอยู่ในทุกบทบาทให้ดีที่สุดก็พอ)

“Work life Balance ก็คือไม่มี ไม่มีเลย มันหาเวลาพักผ่อนได้ยากมาก แล้วก็เหนื่อยมาก ไม่ต้องให้คำแนะนำใครเลย เพราะว่าตัวเองก็ทำไม่ได้เหมือนกันค่ะ ตอนนี้ก็ซัฟเฟอร์อยู่ สุดๆ (หัวเราะ)”

ถึงสิ่งที่กล่าวมาจะดูเป็นเรื่องตลกร้ายในชีวิตจริงของคนทำงาน แต่ Gawdland ก็ยังคงมีความสุขกับงานนี้ และมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าแดรกควีนสามารถเป็น ‘อาชีพหลัก’ ของใครหลายๆ คนได้ เพราะเธอเองก็ยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพหลักของเธอเช่นกัน ซึ่งเธอยังบอกอีกด้วยว่า เธอคือ หนึ่งในแดรกควีนเจนใหม่ที่ก้าวเข้าสู่วงการนี้ในฐานะ First Jobber (เรียกว่าก้าวแรกในตลาดแรงงานก็ทำอาชีพแดรกควีนเลย) ก่อนจะย้ำกับเราต่อว่า “มันทำได้จริงๆ แต่มันก็ต้องอาศัยทักษะ และการบริหารจัดการที่ดี ต้องทำให้ตัวเองอยู่ให้ได้ เพราะว่ารายได้มันไม่ได้คงที่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลา”

เมื่อได้ยินเธอพูดถึงการเป็นแดรกควีนเจนเนอเรชั่นใหม่แบบนี้ หนึ่งประเด็นที่เราอยากรู้คงหนีไม่พ้น ทุกวันนี้คอมมูนิตี้แดรกควีนของบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง?

เมื่อ Drag Community กำลังสตรองขึ้นในบ้านเรา

“คอมมูนิตี้แดรกในไทยตอนนี้ เราพูดเลยว่ามันสตรอง หมายถึง มีคนเก่งๆ เข้ามาในคอมมูฯ ได้เยอะขึ้น แล้วมีจำนวนมากขึ้นด้วย” Gawdland พูดถึงคอมมูนิตี้แดรกในปัจจุบัน ก่อนจะเล่าต่อว่า คอมมูนิตี้ที่ว่านี้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เริ่มมีบาร์แดรกเกิดขึ้นอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคมแดรกที่กำลังเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ 

“มันก็เพิ่งกลับมาบูมช่วงนี้แหละค่ะ ช่วงที่เริ่มมีม็อบ มีงานไพรด์ ที่มันทำให้แดรกอย่างเราได้ออกไปไชน์มากขึ้น มีพื้นที่ มีแพลตฟอร์มมากขึ้น ถ้าเราได้ทำตรงนั้นจนเริ่มเป็นกระแสที่จุดติดขึ้นมาได้ก็จะดี รวมถึงในไทยก็มีบาร์แดรกจริงๆ ที่ไม่ใช่ร้านอาหารที่เอาแดรกไปใส่ ไม่ใช่ร้านเหล้าแล้วเอาแดรกไปโชว์ ก็ดูเป็นนิมิตหมายอันดี ที่จะได้เห็นความสำเร็จของคอมมิวนิตี้เราในอนาคต” 

พอพูดถึงม็อบ และไพรด์พาเหรด คำถามที่ผุดขึ้นมาทันทีคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก คอมมูนิตี้แดรกยังต้องการการสนับสนุนอะไรบ้าง? ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบเรากลับมาว่า อยากให้มีเงินอัดฉีดสำหรับศิลปินแดรก เพราะเธอรู้สึกว่า แดรกควีนก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ต้องใช้เงินเยอะมาก แต่เมื่อเทียบกับรายได้ที่กลับมา เธอยังมองว่า ‘มันยังไม่คุ้มค่ากันเท่าไร’

“มันไม่เหมือนต่างประเทศอย่างอเมริกา ที่เขา crazy วัฒนธรรมแดรกมาก แต่ไทยยังไม่ถึงจุดนั้น คัลเจอร์คนไทยก็ยังไม่รู้จักการทิปปิ้ง ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปกันฉ่ำมาก เลยรู้สึกว่า รายได้กับสิ่งที่ลงแรงลงเงินไป มันยังไม่คุ้มกันเท่าไร เราในฐานะศิลปินก็ต้องการการสนับสนุนเม็ดเงิน ในการต่อยอดการทำศิลปะของเรา ให้มันเป็นที่รู้จักมากขึ้น ดียิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ Gawdland ยังบอกเราอีกด้วยว่า การมีบาร์แดรกเยอะๆ เป็นเรื่องที่ดีกับคอมมูนิตี้แดรกควีน เพราะมันสร้างเงิน สร้างอาชีพให้กับพวกเธอ และเธอยังอยากสนับสนุนให้มี ‘Drag Mall’ มากขึ้นในบ้านเรา เพื่อเป็นพื้นที่ให้เหล่าแดรกควีน สามารถซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น คุยกันมาถึงจุดนี้เราก็เริ่มอยากรู้แล้วว่า ในฐานะศิลปิน อะไรคือแรงบันดาลใจที่ซ่อนอยู่ในงานของเธอ?

แพชชั่น และความต้องการท้าทายบรรทัดฐานสังคม

“เราจะชอบสไตล์ที่มีความเป็นแฟชั่น avant-garde เซ็กซี่ ท้าทายเรื่อง gender เรื่อง norm ในสังคม หรือว่าเรื่องความโป๊เปลือย เรารู้สึกว่า เราชอบชาเลนจ์กับมาตรฐานบางอย่างในสังคม ซึ่งก็อยากให้งานของเราในฐานะศิลปินมันมีการตั้งคำถาม และสร้างบทสนทนาให้กับคนในสังคม”

สิ่งที่ Gawdland กล่าวมาคือ แรงบันดาลใจ และสิ่งที่เธอพยายามจะสื่อสารในผลงานของเธอ แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังเปิดใจกับเราว่า ทุกวันนี้เธอยังทำแดรกควีนเป็นอาชีพ (เรียกง่ายๆ ว่า ทำเพื่อเงิน) ดังนั้นเธออาจจะไม่สามารถตอบสนองความชอบของตัวเองได้ 100% เนื่องจากเธอต้องทำโชว์ตามกระแสสังคม และความชอบของคนดูมากกว่า

“น้อยมากที่จะเจอศิลปินที่กล้าเป็นตัวเองโดยไม่สนกระแสหลัก ไม่สนว่าจะได้เงินหรือไม่ คนที่อยากจะทำเพื่อส่งสารบางอย่างของตัวเอง ด้วยความชอบจริงๆ อันนั้นเรานับถือเขามาก นับถือความซื่อสัตย์ในตัวเองของเขา แต่สำหรับเรา เรายังไม่ได้รวยถึงขั้นที่จะซื่อสัตย์กับผลงานของตัวเองได้ขนาดนั้น”

แม้ว่าเธอจะเปิดใจกับเราแบบนั้น แต่เธอก็บอกกับเราว่า ทุกครั้งที่มีโอกาสเธอก็จะใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไปเสมอ เพราะ แดรกสร้างทุกความฝันที่อยู่ในหัวของเธอมาตลอดให้เป็นจริงได้ และเธอมีแพชชั่นให้กับสิ่งนี้มากจริงๆ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อศิลปินคนหนึ่งมีแพชชั่นในงานของตัวเองมากขนาดนี้ เธอจะวาดภาพอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร?

อนาคตที่วาดไว้สำหรับ Drag Queen เจนใหม่

“เราอยากเห็นแดรกควีนเป็นซูเปอร์สตาร์ เป็นดาราได้เหมือนนางงาม” ศิลปินแดรกไฟแรงอธิบายภาพฝัน ก่อนที่จะเล่าต่อว่า กระแสนางงามในประเทศไทยฟีเวอร์มากๆ ซึ่งจริงๆ แล้ววัฒนธรรมการดูนางงามในบ้านเรา เทียบได้กับวัฒนธรรมแดรกของอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ที่แดรกได้รับความนิยมสูงๆ ซึ่งในประเทศเหล่านั้น แดรกควีนคือ คนดัง ในระดับซูเปอร์สตาร์ มีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่ มีโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย ทำให้เธออยากเห็นวัฒนธรรมแดรกในไทยไปถึงจุดนั้นในสักวันหนึ่ง 

“มันต้องการเวลาแหละ ต้องการเวลาในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์นี้ต่อไปเรื่อยๆ คนในคอมมูนิตี้เองก็ต้องช่วยกันทำให้มันบูมขึ้นมาให้ได้ การมีรายการประกวดก็สำคัญ แล้วเราก็รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องความพร้อมของคนในสังคม เพราะเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มันข้องเกี่ยวกันหมด อย่างความเข้าใจในเรื่อง gender หรือแม้แต่เศรษฐกิจที่ดี ที่ทำให้คนพร้อมจะออกไปใช้จ่าย พร้อมทิปเยอะๆ นักการเมืองที่มีโลกทัศน์ก็สำคัญ นโยบายของรัฐที่จะสนับสนุนพวกเราในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ ในฐานะศิลปิน หรือศิลปะอย่างหนึ่ง ที่มันจะสร้างเม็ดเงินได้ เหมือนกับที่ต่างประเทศเขาทำมาแล้ว”

ซึ่ง Gawdland มองอนาคตของวงการแดรกในไทยไว้ว่า วงการนี้จะต้องเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีบาร์แดรกเยอะขึ้น และแดรกรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีในตอนนี้ จะเริ่มเติบโต แล้วเข้ามารันวงการให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งเธอมองว่ากลุ่มแดรกรุ่นใหม่จะกระตุ้นให้คนรู้จัก และเข้าใจวัฒนธรรมแดรกในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งสร้างพื้นที่สื่อ และพื้นที่ในการแสดงความสามารถให้กับเจเนอเรชั่นต่อๆ ไป 

“ตอนนี้ก็กำลังจะมี Yelohaus เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแดรกเอเจนซี่ที่แรกของไทย เรารู้สึกว่า แดรกเอเจนซี่จะมีส่วนสำคัญเหมือนกันในการผลักดันให้คนที่เป็นแดรกควีนได้เข้าสู่อุตสาหกรรมบันเทิงที่เป็นป๊อปคัลเจอร์มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า ในอีก 5 ปี เราจะเห็นแดรกตามบิลบอร์ด ตามป้ายโฆษณาข้างทางเยอะมากขึ้นแน่นอน” 

แล้วอนาคตของ Gawdland ล่ะ?

“ก็คงทำแดรกไปเรื่อยๆ ก่อน ยังไม่ได้รู้สึกว่า จะมีอาชีพอะไรมาเทียบได้”

นี่คือ คำตอบที่เราได้จากการชวน Gawdland คุยถึงอนาคตของเธอ ซึ่งจริงๆ เธอก็มีความฝันที่อยากจะเป็น Creative director ของแบรนด์แฟชั่น แต่เธอก็พับมันลงเสียก่อน เพราะเธอตัดสินใจมุ่งหน้าไปในวงการแดรกอย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้เธอก็กำลังสนุกกับการเป็นเพอร์ฟอร์เมอร์ มันสะท้อนให้เราเห็นถึงแพชชั่นที่ชัดเจนของเจ้าตัวจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยอมรับกับเราว่า ภาพอนาคตของเธอไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย เนื่องจากสภาพสังคมที่ยังไม่พร้อมซัพพอร์ตอาชีพศิลปินจริงๆ เธอเลยเห็นภาพตัวเองได้เฉิดฉายในต่างประเทศมากกว่า

“มันน่าเสียดายมากเลยนะ ที่ประเทศไทยกำลังเสียคนมีความสามารถ เสียศิลปินที่มีคุณภาพมากๆ คนหนึ่งไปให้กับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพมากๆ ในสายอาชีพนี้ แต่ก็ต้องถอดใจกับการอยู่ในประเทศไทย”

ก่อนลากัน เราก็ต้องให้ Gawdland ฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจก้าวเข้าสู่วงการแดรกสักหน่อย ซึ่งเธอได้บอกเราว่า การอยู่ในวงการนี้มันเหนื่อย และยากมาก ต้องอาศัยทักษะ และต้องเป็นคนที่รอบด้านมากๆ แต่ถ้าคิดว่าเราทำได้ ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวเลย 

“แค่ก้าวเข้ามา ก็แค่ทำ เริ่มได้เลย อย่างเราก็เริ่มจากการแต่งหน้า แต่งตัว พอเข้ากรุงเทพฯ ก็เริ่มพัฒนาจนเป็นอาชีพขึ้นมา ทุกคนจะมีเรื่องราว มีเส้นทางแดรกเป็นของตัวเอง ไม่มีใครซ้ำกัน แล้วรู้สึกว่า คุณสามารถครีเอทเรื่องราวของคุณได้เลย”

สำหรับใครที่อยากชมผลงานของ Gawdland เพิ่มเติม สามารถติดตามต่อได้ที่

Instagram : gawdland 

Twitter : gawdland 

Tiktok : Gawdland 

YouTube : Gawdland