Life

Time to Unplug! เมื่อเหล่า Gen Z เริ่มหลีกหนีโลกออนไลน์ หันไป ‘Digital Detox’

ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ในปี 2024 มาได้สักพักแล้ว เราคิดว่าหลายๆ คนน่าจะได้ยินเทรนด์เรื่องสุขภาพอยู่ในชีวิตประจำวันกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเองผ่านอาหารการกิน การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพจิต ซึ่งหนึ่งเทรนด์ในการสร้างสภาวะทางจิตใจที่แข็งแรง ลดความเครียด และทำให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้นก็คือ ‘Digital Detox’ ที่หมายถึงการยอมให้ตัวเองมีช่วงเวลาหนึ่งที่ตัดขาด หรือหยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อดิจิทัลต่างๆ และเทรนด์นี้เองก็กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ Gen Z วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับ Digital Detox และ Gen Z ให้มากขึ้น ทำไมพวกเขาถึงสนใจการตัดขาดจากชีวิตดิจิทัล และในปัจจุบันเราทำ Digital Detox ได้จริงไหม

Photo Credit: UserTesting

เชื่อว่าก่อนหน้าสัก 5 ปี หลายๆ คนคงมองว่ากลุ่ม Gen Z น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ติดอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ และโซเชียลมีเดียชนิดที่ขาดไม่ได้ แต่ในปี 2023 รายงานเรื่อง เทรนด์ของวัยรุ่นจาก Voxburner ระบุว่า 54% ของวัยรุ่นช่วงอายุ 16-24 ปี กังวลเรื่องเวลาที่พวกเขาใช้ไปกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ความคิดนี้จะทำให้พวกเขาอยากหนีออกจากโลกออนไลน์บ้าง

เพียงแค่การแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดียแอปฯ เดียว อาจนำไปสู่การไถฟีดที่ไม่รู้จบ จากแอปหนึ่งสู่อีกแอปหนึ่ง และอีกแอปหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงเวลาที่เรากำลังเสียไป (และอาจจะหมายถึงการเสพติดโซเชียลมีเดียด้วย) นี่เป็นแค่หนึ่งสิ่งที่เหล่า Gen Z กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งมันก็พ่วงมาด้วยปัญหาเรื่องความ ‘หิวแสง’ กระหายความสนใจ หนีไม่พ้นสภาวะวิตกกังวล และปัญหาสุขภาพจิตที่ตามมาอีกมากมายหลายหลาก (ยังไม่รวมปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกความจริงหลังจอมือถืออีกนะ)

ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า ทำไม Gen Z ถึงอยาก Digital Detox

Photo Credit: Penn Medicine

สารพัดเหตุผลที่ Gen Z หนีไป Digital Detox

  • ปัญหาสุขภาพจิต: จากที่เราพูดไปข้างต้นว่า การใช้ชีวิตอยู่ในโซเชียลมีเดีย และโลกออนไลน์มาก สร้างปัญหาสุขภาพจิตมากมายให้กับเหล่าวัยรุ่น ทั้งปัญหาเรื่องความต้องการความสนใจ, ภาวะวิตกกังวล, ภาวะซึมเศร้า, โรคเครียด และปัญหาการนอน ซึ่งเกิดจากการอยู่กับหน้าจอมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสภาวะที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของเราในทุกๆ ด้าน การ Digital Detox จึงเป็นสเต็ปสำคัญที่จะปกป้องเราทั้งทางร่างกาย และจิตใจ
Photo Credit: CyberTalk.org
  • ความเหนื่อยหน่ายโลกโซเชียล: อย่างที่เรารู้กันว่าชีวิตในโซเชียลมีเดียไม่ใช่ภาพความจริงทั้งหมด ซึ่งเหล่า Gen Z เองก็รู้ถึงข้อนี้เช่นกัน และความเหนื่อยหน่ายภาพสวยหรูของชีวิตในโลกออนไลน์ก็เป็นสิ่งหนึ่งทำให้วัยรุ่นอยาก Digital Detox ออกตามหาตัวตน และประสบการณ์ในแบบของตัวเองกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกลับมาพร้อมให้เราออกไปสำรวจ และเข้าสังคมอีกครั้งแบบนี้
Photo Credit: The Conversation
  • สมาธิ และประสิทธิภาพที่ลดลง: การแจ้งเตือนของโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นเสียง หรือการสั่น ล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่รบกวนสมาธิของเรา ซึ่งนั่นก็ทำให้เหล่า Gen Z โฟกัสการเรียน และการเข้าสังคมได้น้อยลง จากข้อมูลของ Barna ระบุว่าวัยรุ่น Gen Z มีความตระหนักรู้เรื่องผลด้านลบของการใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป กว่า 53% ของวัยรุ่นบอกว่า เทคโนโลยีทำให้พวกเขาผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ทำการบ้าน หรือกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้พวกยังบอกว่า เทคโนโลยีทำให้พวกเขารู้สึกถูกรบกวน (50%) และไม่มีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่างๆ (36%)

นี่คือ 3 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เหล่าวัยรุ่นสนใจ Digital Detox มากขึ้น แต่นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างความต้องการกลับสู่โลกจริงๆ และประสบการณ์ที่สัมผัสได้ด้วยเช่นกัน แต่ในปัจจุบันที่ทุกอย่างรอบตัวพึ่งพาเทคโนโลยี เราจะทำ Digital Detox ได้จริงหรือ?

Photo Credit: Kauvery Hospital

Digital Detox ในแบบที่เราเลือกได้

การทำ Digital Detox ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเราสามารถเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ และความต้องการของเราได้ ซึ่งเราจะขอแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • The Complete Detox: การดีท็อกซ์โดยสมบูรณ์นี้ คือการตัดขาดจากเทคโนโลยี และสื่อออนไลน์ทั้งหมดในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เรากำหนดไว้ ซึ่งอาจจะเริ่มที่ 1-2 วันก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาได้ แต่ความยากของรูปแบบนี้คือ ปัจจัยโดยรอบของเราล้วนมีเทคโนโลยีอยู่ หากเราจะตัดขาดจากเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์ เราอาจจะต้องเดินทางไปในสถานที่ธรรมชาติ หรือที่ๆ จัดทำไว้เพื่อการ Digital Detox โดยเฉพาะ ซึ่งการจะ Castaway แบบนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คนเท่าไรนัก
Photo Credit: San Diego Union-Tribune
  • The Partial Detox: การดีท็อกซ์แบบสมบูรณ์อาจจะยากเกินไปลองปรับมาทำในสิ่งที่ง่ายขึ้น และปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวันดูอาจจะดีกว่า การดีท็อกซ์รูปแบบนี้มีหลักอยู่ที่การหาบาลานซ์ในการใช้เทคโนโลยี และสื่อออนไลน์ เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการกำหนดลิมิตให้ตัวเอง เช่น ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะอยู่กับหน้าจอนานเท่าไรในแต่ละวัน, จะใช้โซเชียลมีเดียได้เฉพาะเวลาใดของวัน และนานเท่าไร ซึ่งรวมไปถึงการเช็กอีเมล และฟีดต่างๆ ด้วย หากเราเริ่มทำด้วยวิธีการนี้ก่อน เราอาจจะไม่ได้ตัดขาด 100% แต่ก็ยังสามารถจำกัดการใช้ลงได้ ถือเป็นการเตรียมตัวสู่การ Digital Detox แบบสมบูรณ์
  • The Mindful Detox: ถ้าหากการกำหนดเวลายังยากเกินไป การดีท็อกซ์โดยการมีสติในการใช้เทคโนโลยี และโลกออนไลน์ก่อนอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เช่น การเข้าใจอยู่เสมอว่าเราอยากรับรู้ข้อมูลอะไรจากโซเชียลมีเดีย และพยายามตัดการเสพสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป หากเรายังมีกิจกรรม หรือหน้าที่อื่นๆ ให้ทำ การรู้อยู่เสมอว่าเรากำลังเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์จากการใช้โซเชียลมีเดียหรือไม่ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดีท็อกซ์ที่น่าสนใจ
Photo Credit: ธนาคารกสิกรไทย

สุดท้ายแล้วการได้ถอดปลั๊กจากโลกโซเชียลมีเดียที่วุ่นวาย กลับมาอยู่กับตัวเอง ได้ออกเดินทางตามหาตัวเองบ้างก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ยากในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นการ Digital Detox ผ่านการจำกัดการใช้ และการมีสติอยู่เสมอก็อาจจะเป็นจุดที่เหมาะสมกว่า และทำได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น รักตัวเองมากขึ้น และทำให้เราเป็นคนที่แข็งแรงทั้งร่างกาย และจิตใจอีกด้วย