Identity

พฤติกรรมของ Gen Z บนโลกโซเชียล ที่ดันไปเอี่ยวกับ ‘Digital Footprint’

ถ้าพูดถึง Instagram แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เอาไว้แชร์รูปภาพ และวิดีโอ ภาพที่หลายๆ คนเห็นก็คงเป็นภาพของเหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์ และ KOL ที่ใช้พื้นที่นี้ในการอัพเดตเทรนด์ หรือไลฟ์สไตล์ต่างๆ ถ้าเป็นคนทั่วไปแบบเรา ก็อาจจะอัพเดตชีวิตประจำวัน หรือโมเมนต์พิเศษๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว หรือเก็บไว้เป็นความทรงจำ แต่เราเชื่อว่าต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่เคยเห็นหน้าโปรไฟล์โล่งๆ ที่อาจจะมีรูปภาพลงเอาไว้เล็กน้อย โดยที่ในบรรดาภาพเหล่านั้นแทบจะไม่มีใบหน้าของเจ้าของแอ็กเคานต์อยู่เลย ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ 

ส่วนหนึ่งมาจาการที่ชาว Gen Z ตระหนักรู้เรื่อง ‘Digital Footprint’ มากขึ้น จึงพยายามรักษาความเป็นส่วนตัว และวางกรอบข้อมูลที่จะเปิดเผยบนพื้นที่ออนไลน์ของพวกเขา วันนี้ EQ เลยอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นว่า ทำไมการตระหนักรู้เรื่อง Digital Footprint จึงสำคัญกับชาว Gen Z, พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่นในตอนนี้เป็นอย่างไร และมีอะไรที่เราต้องทำความเข้าใจพวกเขาบ้าง

Photo Credit: Workpoint Today

ทำความรู้จัก ‘Digital Footprint’ ร่องรอยที่จะตามติดเราไปนานแสนนาน

เริ่มกันที่ ‘Digital Footprint’ หรือ ‘รอยเท้าดิจิทัล’ มันก็คือ ข้อมูลต่างๆ ที่เราทิ้งเอาไว้บนโลกดิจิทัล จากการใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือโลกออนไลน์ต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกติดตามได้ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ที่เราใช้งานด้วย ซึ่งมันสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ การใช้เพื่อเป็น ‘เครื่องมือทางการตลาด’ ที่หลายๆ คนน่าจะเคยเห็นว่า สิ่งที่เรากำลังสนใจอยู่ ณ ขณะหนึ่ง มักจะถูก suggest ให้เราเห็นผ่านเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มต่างๆ โดยที่เราไม่ต้องมองหาเลย นี่แหละการนำ Digital Footprint มาใช้

แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม พฤติกรรมบนโลกดิจิทัลต่างๆ เหล่านี้จะยังสามารถถูกติดตามได้อยู่ และมันไม่ได้หมายถึงแค่ รูปภาพ, วิดีโอ, สเตตัส หรือข้อความต่างๆ ที่เราโพสต์เท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงข้อมูลการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต และการคลิกเข้าชมสิ่งต่างๆ ด้วย

Photo Credit: Phone Arena / @somenerdliam

จากข้อมูลของเว็บไซต์ TechTerms ให้คำนิยามของ Digital Footprint เอาไว้โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ‘Passive Digital Footprint’ เป็นร่องรอยของข้อมูลที่เราทิ้งเอาไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ได้รู้ตัว เช่น IP Address หรือประวัติการค้นหาต่างๆ ของเราที่ถูกบันทึกเอาไว้ และอีกรูปแบบหนึ่งคือ ‘Active Digital Footprint’ หรือข้อมูลที่เราตั้งใจทิ้งร่องรอยไว้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นรูป หรือข้อความต่างๆ ที่เราตั้งใจโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงอีเมลต่างๆ ของเราอีกด้วย 

สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้เกี่ยวกับ Digital Footprint นี้ก็คือ ยิ่งเราทิ้งร่องรอยไว้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีข้อมูลให้ติดตามตัวเราเยอะเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสเตตัสเฟสบุ๊ก รูปในไอจี หรือสิ่งต่างๆ ที่เราทวีต นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาเรายังสามารถเห็นกระแสบนโลกออนไลน์ที่เหล่าคนดังหลายๆ คน โดนผลกระทบจาก Digital Footprint (หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถูกขุดพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ในอดีตออกมาแฉ มาโจมตีนั่นแหละ) เรียกได้ว่าเป็นอดีตที่จะตามหลอกหลอนไปอีกนานแสนนานเลยทีเดียว 

รู้อย่างนี้แล้ว พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่ดูแปลกๆ ลึกลับ และรักษาความเป็นส่วนตัวของเหล่าวัยรุ่น Gen Z ก็คงจะดูเมกเซนส์ขึ้นมาบ้างแล้วสิ

Photo Credit: University of Oxford

ที่พฤติกรรมบนโลกออนไลน์เปลี่ยนไป ก็เพราะใส่ใจกับ Digital Footprint มากขึ้น 

ถ้าจะพูดว่าเหล่า Gen Z เป็น ‘Digital Native’ ก็คงไม่ผิด เนื่องจากพวกเขาคือ กลุ่มคนที่เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีทุกอย่างเจริญแล้ว เรียกได้ว่าเติบโตมาคู่กับเทคโนโลยี และโลกดิจิทัลเลยแหละ จึงไม่แปลกที่วิถีชีวิตของคนในเจนนี้จะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทคโนโลยี และสื่อสังคมออนไลน์ 

ข้อมูลจาก Wunderman Thompson ระบุว่า ความเป็นส่วนตัวของเหล่า Gen Z นั้นถูกตีความผ่านวิจารณญาณของวัยรุ่นมากขึ้น และซับซ้อนมากขึ้นด้วย โดยพวกเขาตระหนักว่า โซเชียลมีเดียไม่ใช่แค่พื้นที่ของกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัว, นายจ้าง, บริษัท และภาครัฐคอยสอดส่องอยู่อีกด้วย ซึ่ง 2 ใน 3 (64%) ของชาว Gen Z กังวลว่า ครอบครัว และนายจ้างในอนาคต จะคิดอย่างไรกับโพสต์ของพวกขา โดยวัยรุ่นเหล่านี้รับมือกับสถานการณ์ (ที่ดูเหมือนจะคุกคาม) นี้ด้วยการปกปิด และแบ่งพื้นที่ในโลกออนไลน์ให้เป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น โดย 65% ของวัยรุ่นระบุว่า พวกเขาชอบใช้อวตารบนโซเชียลมีเดียมากกว่าการระบุตัวตนจริงของพวกเขา และยังมีอีกหลายๆ คนที่กำลังมองหาพื้นที่ปลอดภัย ที่มาพร้อมกับสังคมที่ควบคุมได้ และได้รับการดูแลอย่างเข้มงวด

เช่นเดียวกับรายงานของ Pew Research Center ที่ระบุว่า Gen Z เป็นเจนเดียวที่มีการใช้งานโซเชียลมีเดียน้อยลง โดยจากรายงานระบุว่าทุกๆ แพลตฟอร์มมีการใช้งานลดลง (ยกเว้น TikTok) นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า เหล่า Gen Z เริ่มหันไปใช้แอพลิเคชั่นเฉพาะกลุ่ม หรือแอพลิเคชั่นเล็กๆ แทน เช่น Twitch, Discord, BeReal หรือ Poparazzi เป็นต้น

ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันสังคมกำลังให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และคนรุ่นใหม่เริ่มจริงจังกับการนำเสนอตัวตนผ่านโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน ‘Stories’ หรือโพสต์แบบชั่วคราว จึงถูกนำมาใช้ในแทบจะทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งการแชร์เนื้อหาเฉพาะกลุ่มเล็กๆ หรือ ‘Close friends’ เอง ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ชาว Gen Z ใช้นำเสนอตัวตนบนโลกโซเชียลอีกด้วย

จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราเห็นพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เปลี่ยนไปของชาว Gen Z ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาใส่ใจกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น

Photo Credit: @shoomew

นอกจากนี้ยังมีกรณีของ@shoomew ติ๊กต่อกเกอร์ Gen Z ที่เธอออกมาแชร์ว่า Digital Footprint นั้นได้สร้างผลกระทบกับอนาคตการทำงานของเธอแล้ว เนื่องจากเธอสมัครงานในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งการสัมภาษณ์งานผ่านไปได้ด้วยดี แต่เธอกลับมาตุ้บ ในขั้นตอนของ ‘การตรวจสอบประวัติ’ โดยโพสต์ของเธอมีใจความว่า “Me realizing the digital footprint is real because when called for a job interview they loved me but when they did a background check they said they didn’t want to hire me anymore”

ซึ่งวิดีโอนี้ของเธอมียอดผู้รับชมไปกว่า 4.6 ล้านครั้งเลยทีเดียว ทำให้เกิดการถกเถียง และพูดคุยกันเป็นวงกว้างถึงประเด็นของ Digital Footprint ที่ตามมาหลอกหลอน และกระทบกับอนาคตได้จริงๆ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเหล่าวัยรุ่นถึงกังวลกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะนอกจากร่องรอยที่ตั้งใจจะทิ้งเอาไว้แล้ว วัยรุ่นในสมัยนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหา Digital Footprint ที่ถูกสร้างไว้โดย ‘ผู้ปกครอง’ อีกด้วย

ร่องรอยที่ (ต้องยินยอม) ทิ้งไว้ อย่างไม่ตั้งใจ

เมื่อพูดถึงประเด็นของร่องรอยต่างๆ บนโลกออนไลน์แล้ว เราคงต้องพูดถึงประเด็นที่ผู้ปกครอง (หรือแม้แต่ครูอาจารย์) เป็นฝ่ายสร้าง Digital Footprint ของลูกหลานเอาไว้ตั้งแต่วัยเยาว์ (ซึ่งประเด็นนี้เราคงต้องกังวลไปถึง Gen Alpha ด้วยเลย) เพราะในปัจจุบัน เราจะสามารถพบเห็นคลิปวิดีโอ รูปภาพ หรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่พ่อแม่ตามถ่ายกิจกรรมของลูกๆ เพื่อโชว์ความน่ารัก น่าเอ็นดูลงบนโลกออนไลน์ ซึ่งนี่คือ Digital Footprint ที่เด็กๆ ต้องรับเอาไว้ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนสร้าง

สิ่งที่น่าสนใจคือ การทำคอนเทนต์เหล่านี้ผ่านการคิด และตัดสินใจโดยพ่อแม่ ซึ่งหลายๆ ครั้งเราจะพบเห็นได้ว่าเด็กๆ ไม่ได้เต็มใจ หรืออยากทำสิ่งนั้นเลย หรือบางกรณีที่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งอาจจะบอกว่าเด็กๆ ชอบ และตกลงที่จะทำ แต่จริงๆ แล้วเด็กเหล่านั้นอยู่ในวัยที่เข้าใจเรื่องผลกระทบจาก Digital Footprint และความเป็นส่วนตัวแล้วหรือ? (เอาจริงๆ พวกเขาเข้าใจเรื่อง consent หรือการยินยอมแล้วหรือยังก็ไม่รู้)

Photo Credit: @justlivingmyjesslife

นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นของการกรูมมิ่ง และ Child Porn อีก ซึ่งมันเกิดจากการที่พ่อแม่ผู้ปกครองพยายามเตรียมให้เด็กคุ้นเคยกับคอนเทนต์อนาจาร และสร้างความชินชาต่อการละเมิดสิทธิ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะคอนเทนต์เหล่านี้มีให้เห็นอยู่ไม่น้อยทั้งการที่พ่อแม่จับลูกๆ มาแต่งตัววาบหวิวโชว์เนื้อหนังในแบบผู้ใหญ่ หรือโพสท่าในเชิงเย้ายวน เป็นต้น ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่จะกลายเป็นร่องรอยบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นร่องรอยบาดแผลในใจพวกเขาได้อีกด้วย

คุยกันมาถึงจุดนี้ เราเชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเข้าใจแล้วว่าทำไมวัยรุ่นถึงมีพฤติกรรมการใช้โซเชียลที่ดูส่วนตั๊ว ส่วนตัว แต่นอกจากเรื่องของ Digital Footprint แล้ว ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกนิดหน่อยที่เราอยากชวนชาว EQ มาคุยกัน นั่นก็คือเรื่องของ ‘Generation Gap’ นั่นเอง

Photo Credit: Linkedin / krungsri

หรือความต่างของพฤติกรรมเหล่านี้ จะเป็นที่ Generation Gap  

สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจคือ แม้ว่าวัยรุ่น Gen Z เกิดมาพร้อมโซเชียลมีเดีย และ Influencer ในโลกออนไลน์ที่มีอิทธิพลกับพวกเขามากๆ ก็จริง แต่เมื่อเทียบกันกับ Gen Y หรือ Millennials ความต่างของช่วงวัยก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่า ทำไมหน้าโปรไฟล์ของเหล่าวัยรุ่นช่างดูว่างเปล่า และไม่มีคอนเทนต์เท่าไรนัก 

นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่า ชาว Gen Z คือคนในช่วงอายุ 13-26 ปีโดยประมาณ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงมัธยมต้น ไปจนถึง First Jobber ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่ได้มีเงินมาก หรือมีกำลังซื้อมากเท่ากับ Gen Y และ Millennials ที่ทำงานเก็บเงินได้สักระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ไลฟ์สไตล์ของคนในสองกลุ่มนี้จึงต่างกันอยู่พอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลว่า ทำไม หน้าไอจีของวัยรุ่น Gen Z จึงไม่ค่อยมีโพสต์อะไรเท่าไรนัก (จะเรียกว่า พวกเขายังไม่ได้อยู่ในช่วงวัยที่จะมี Achievement อะไรให้อวดมากนักก็ได้)

Photo Credit: TripZilla

แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้าพูดถึง TikTok ก็ช่างดูเหมือนว่าจะเป็นเมืองลับแล หรือเป็นอีกโลกหนึ่งไปเลย เพราะเหล่าวัยรุ่น TikTok นั้นก็จะมีพฤติกรรมการเสพ และสร้างคอนเทนต์ที่เฉพาะตัว ต่างออกไปจากแพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างชัดเจน แถมยังใช้แพลตฟอร์มนี้กันเยอะขึ้นด้วย (ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นลดลง) แต่จุดสังเกตหนึ่งที่น่าจะเป็นจุดร่วมกันได้คือ แม้ Gen Z จะเป็นติ๊กต่อกเกอร์กันเยอะแค่ไหนก็ตาม แต่การสร้างคอนเทนต์ก็ยังคงเป็นคอนเทนต์ไวรัลต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ หรือท่องเที่ยวอย่างติ๊กต่อกเกอร์ Gen Y อยู่ดี 

สุดท้ายนี้ การที่เรานำประเด็นเรื่อง Gen Z และ Digital Footprint มาชวนให้ชาว EQ ได้พูดคุยกัน ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อจะตัดสินว่า ไลฟ์สไตล์แบบไหนถูกหรือไม่ถูก ควรหรือไม่ควร ดีหรือไม่ดี เพียงแต่เราเห็นว่านี่คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามแต่ละ Generation และโลกของเราก็เปลี่ยนไปทุกวัน การทำความรู้จัก ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนที่เป็นอนาคตของสังคม ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้แลกเปลี่ยนทัศนคติระหว่างกัน เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเจนไหน ทุกคนก็ต้องอยู่ในสังคมนี้เหมือนกัน ในวันหนึ่งเราอาจจะต้องใช้ชีวิตคาบเกี่ยวกัน และแชร์ประสบการณ์ร่วมกันก็ได้ การทำความเข้าใจกันไว้ก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

อ้างอิง

The Matter
TechTerms
Tech Sauce
Fore Today
Wunderman Thompson
Axios
New York Post