ผู้อ่านหลายๆ คนน่าจะเคยรู้สึกเหนื่อยล้าจากการ ‘นอนไม่พอ’ กันมาบ้าง แต่ใครจะไปคิดว่าในปี 2023 ที่ผ่านมา ‘การนอน’ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนในปัจจุบัน งานวิจัยจาก Calm แอปพลิเคชั่นสำหรับการนอนหลับ และการทำสมาธิ ระบุว่า ในหมู่ชาวอเมริกัน และอังกฤษกว่า 10,000 คน (อายุระหว่าง 18-65 ปี) กว่า 90% รู้สึกเหนื่อยล้า หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่ง 78% ของพวกเขาบอกว่า ประสิทธิภาพในการนอนของพวกเขามีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาด้วย และ 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังระบุอีกว่า พวกเขาต้องการนอนหลับมากกว่า 7 ชั่วโมงในหนึ่งคืน เพื่อสุขภาพจิตที่ดีขึ้น แต่มีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้นอนอย่างเพียงพอ ซึ่ง 42% ของผู้เข้าร่วมวิจัย ไม่สามารถนอนได้ ถ้าไม่มี ‘ตัวช่วย’ ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับ แอลกอฮอล์ หรือกัญชา
ปัญหาการนอนเหล่านี้เอฟเฟกต์ในกลุ่ม Gen Z มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับความเหนื่อยล้าจาก ‘โซเชียลมีเดีย’ ผลสำรวจจาก American Academy of Sleep Medicine พบว่า 93% ของ Gen Z นอนไม่พอ เพราะพวกเขาใช้โซเชียลมีเดียจนเลยเวลานอน ซึ่งมันทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนของพวกเขาลดลง ทั้งที่จริงๆ พวกเขาถูกเรียกว่าอยู่ใน ‘วัยเรียน’ แต่ถ้าจะพูดว่าการให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์เหนือการนอนเป็นปัญหาในกลุ่ม Gen Z อย่างเดียวก็คงจะไม่ถูก เพราะจริงๆ กว่า 80% ของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ในปัจจุบัน กำลังสูญเสียการนอนให้กับการกดไลก์ ไถฟีดอยู่ในโลกออนไลน์
หลากเหตุผลที่คน Gen Z ไม่หลับไม่นอน
มีเหตุผลสารพันที่ทำให้ในแต่ละวันเหล่า Gen Z ไม่ยอมนอน ซึ่ง EQ ก็จะขอยก 3 เหตุผลหลักๆ สำคัญมาคุยกัน ซึ่งก็คือ
- ความน่ากลัวของเทคโนโลยี: เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นกับแทบทุกคนในปัจจุบัน กับปัญหาของ ‘แสงสีฟ้า’ ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยินว่ามันทำให้สายตาของเราอ่อนล้า แต่ใครจะรู้ว่าแสงจากหน้าจอเหล่านี้ ยังขัดขวางการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับอย่าง ‘เมลาโทนิน’ อีกด้วย ซ้ำการใช้โซเชียลมีเดียจนเลยเวลานอนยังรบกวนวงจรการนอนหลับ และการตื่นตามธรรมชาติของร่างกายอีกด้วย ลองคิดดูสิว่าแสงสีฟ้า และเวลานอนที่หายไปจากการสไลด์หน้าจอเสพสารพัดสิ่งในโลกออนไลน์ จะเป็นตัวร้ายกับการนอนของเราแค่ไหน
- เจเนอเรชั่นแห่งความวิตกกังวล: หลายๆ คนคงเคยได้ยินวลีที่ว่า ‘เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย’ ซึ่งความเหนื่อยล้าที่ว่านั้นก็มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเรียน การเปรียบเทียบตัวเองกับคนในโลกโซเชียล หรือแม้แต่เรื่องความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัญหาเหล่านี้นี่แหละ คือตัวการที่ทำให้พวกเขาเกิด ‘ความเครียด’ และ ‘สภาวะวิตกกังวล’ ซึ่งเรื่องความเครียด หรือกังวลใจจนนอนไม่หลับคงเป็นเรื่องที่คนส่วนมากเข้าใจได้ และทราบกันดีว่าแค่เรื่องเครียดเล็กๆ ก็ทำให้การผ่อนคลาย และข่มตานอนนั้นยากเย็นขึ้นขนาดไหน นั่นก็หมายถึงวงจรของความเครียด ความกังวล และการนอนไม่หลับได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
- ชีวิตในโลกที่เร่งรีบ และวุ่นวายแบบ 24/7: หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับโหมด ‘Always On’ ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายๆ รุ่นในปัจจุบัน แต่ว่าใครจะไปคิดว่าคนเราทุกวันนี้ก็ต้องมีโหมด Always On นี้ด้วยเช่นกัน เพราะเรากำลังอยู่ในสังคมที่กดดันให้ทุกคนต้องเร่งรีบ และแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายๆ คนยอมสละการนอนที่มีค่าให้กับ ‘งานที่เรารัก’ ซึ่งหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘Hustle Culture’ หรือวัฒนธรรมคลั่งงาน กันอยู่บ้าง ซึ่งความบ้างานนี้เองก็ทำให้คนยอมละลายเส้นแบ่งของงาน โลกโซเชียล และชีวิตส่วนตัวปนเปเข้าหากัน แน่นอนว่าเวลาของการนอนก็ละลายหายไปด้วยเช่นกัน เพราะโลกนี้รันด้วย ‘เงิน’
เมื่อไม่ยอมนอน ก็ต้องยอมรับผลที่ตามมา
แน่นอนว่าในระหว่างการนอน ร่างกายของคนเราจะได้รับการซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาสดชื่น และแข็งแรง และนี่คือผลกระทบที่คนไม่ยอมนอนจะต้องยอมรับ
- สุดท้ายต้องกลายเป็นคนอ่อนแอ: อย่างที่เรารู้กันว่าในขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายของเรายังคงทำงานอยู่ แต่การทำงานเหล่านั้นคือการฟื้นฟูให้ร่างกายของเราแข็งแรง ดังนั้น การที่เราไม่นอน เราก็ต้องยอมรับว่า ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะอ่อนแอลง, ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น, รวมไปถึงสุขภาพจิตก็จะเริ่มเกิดปัญหาด้วย
- ไม่ใช่แค่ร่างกาย แต่จิตใจก็อ่อนแอด้วย: แน่นอนว่าปัญหาการนอนหลับนั้นไม่ได้นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกาย แต่ปัญหาสุขภาพจิตทั้งหลายก็ยังเพ่งเล็งมาหาอีกด้วย เริ่มตั้งแต่ อาการสมาธิสั้น โฟกัสอะไรได้ยากขึ้น, ความทรงจำเริ่มมีปัญหา, ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี สุดท้ายก็นำมาสู่ภาวะวิตกกังวล และซึมเศร้าในที่สุด
- ปัญหาการเรียน และการงาน: เมื่อร่างกายอ่อนแอลง สุขภาพจิตก็ย่ำแย่ แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการเรียน และการทำงานย่อมถดถอยลงไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไหนจะเกรดตก ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งความคิดสร้างสรรค์ก็ลดลง รวมไปถึงทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน
เพียงเท่านี้เราก็น่าจะเข้าใจแล้วว่า เรื่องการนอนไม่ใช่แค่เรื่องทั่วไป แต่มันคือเรื่องที่ ‘จำเป็น’
ได้เวลาเอนตัวลงนอน(อย่างมีประสิทธิภาพ)
ในเมื่อการนอนเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะทำให้มันมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งเราก็มีเคล็ดลับที่จะทำให้การนอนของทุกคนมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาฝากด้วย
- จัดการกับเทคโนโลยีตัวร้าย: เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันของโลก เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะรับมือกับมัน และมีสติในการใช้มันมากขึ้น เริ่มจากการจำกัดเวลาในการจ้องหน้าจอให้เหมาะสม (ซึ่งไม่ใช่เวลาก่อนที่เราจะเข้านอนแน่ๆ), ลองปรับให้ห้องนอนของเราเป็น ‘Device-free Zone’ ดูก็ไม่เสียหาย, และสุดท้ายอย่าลืมให้ความสำคัญกับแกดเจ็ตในการป้องกันเราจากแสงสีฟ้าด้วย
- ทำใจให้สงบที่สุดก่อนจะนอน: แน่นอนว่าจิตใจที่ไม่สงบจะทำให้ประสิทธิภาพของการนอนลดลง ดังนั้นการฝึกเทคนิคต่างๆ ที่ช่วยให้ผ่อนคลายก่อนการนอนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ (ซึ่งในปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นมากมายที่ทำออกมาช่วยเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิ หรือการกำหนดลมหายใจก่อนเข้านอน, การสร้างกิจวัตรการนอนที่สงบทั้งเสียง ความมืด และเครื่องนอนต่างๆ, รวมถึงต้องปรับกิจวัตรการดื่มกาแฟ และแอลกอฮอล์ด้วย
- ให้ความสำคัญกับสุขภาวะในการนอน: สุดท้ายแล้วจะมีอะไรดีไปกว่าการปรับนิสัยในการนอนให้เหมาะสม และทำให้เป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะเป็นการนอนให้เป็นเวลา, ปรับบรรยากาศในการนอนให้เหมาะสม ทั้งความมืด เสียงรบกวน และอุณหภูมิ, อย่าลืมที่จะเลี่ยงอาหารมื้อหนักๆ และการออกกำลังกายในช่วงเวลาใกล้ๆ กับเวลานอน
- ผู้เชี่ยวชาญช่วยได้: แน่นอนว่าปัญหาการนอนคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพ ดังนั้น ถ้าเรารู้ตัว แต่ไม่รู้ว่าจะจัดการ หรือรับมือกับมันอย่างไร ลองหันไปปรึกษาแพทย์ หรือนักบำบัดดูก็ไม่เสียหาย ซ้ำเรายังได้รับคำแนะนำ และการรักษาที่เหมาะสมกับอาการ และความต้องการของเราอีกด้วย
สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเราเจอกับปัญหา เราต้องรู้ตัวว่าปัญหาที่เราเจอคืออะไร เพราะเมื่อเรามีสติ และตระหนักรู้สิ่งที่เราเจออยู่ เราจะรู้ว่าเราควรจัดการกับมันอย่างไร หรือควรรับคำปรึกษาจากใคร แต่ที่แน่ๆ เราต้องระลึกไว้เสมอว่า การนอน ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ เรื่องลักชูรี่ หรือกำไรชีวิต แต่มันคือ สิ่งที่ ‘จำเป็น’ ในชีวิตของเรา เพราะฉะนั้นอย่าลืม Catch some Zzz’s!