"อาชีพในฝันของคุณคืออะไร"
"ที่รัก ฉันบอกเธอหลายรอบแล้วจ้ะ ฉันไม่มีอาชีพในฝัน ฉันไม่ใฝ่ฝันที่จะทำงาน"
ประโยคข้างบนคือ เสียงไวรัลดังจาก TikTok ที่จุดประเด็นการพูดถึงความใฝ่ฝันที่ไม่อยากทำงานของกลุ่ม Gen Z ที่ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นเจนเนเรชั่นที่ไม่อยากทำงาน พวกเขามักจะแชร์ร่วมกันว่า "ฉันไม่มีเป้าหมาย ฉันไม่มีความทะเยอทะยาน ฉันแค่อยากจะสวย"
ในบทความนี้เราอยากพาทุกคนมารู้จักว่า ทำไมการไม่อยากทำงานถึงกลายเป็นอุดมการณ์สำคัญของ Gen Z และกลุ่ม Millennials จนถึงขั้นมีแฮชแท็ก #IDontDreamOfLabor และการดำเนินวิถีชีวิต 'Slow Living' ที่เป็นกระแสของยุคนี้คืออะไร
ทำไม Gen Z ไม่อยากทำงาน ไม่มีอาชีพในฝัน
ปัจจัยสำคัญที่ Gen Z บอกว่า พวกเขาไม่อยากทำงาน เป็นเพราะ งานส่วนใหญ่ให้ค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในยุคปัจจุบัน ข้อมูลจาก ‘Royal Society for Arts’ ที่สำรวจวัยรุ่นอังกฤษอายุ 16 - 24 ปี กว่า 47% ยังไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้แบบเดือนต่อเดือน และในอนาคต พวกเขามีแนวโน้มจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีเงินเก็บ เป็นหนี้ และเผชิญวิกฤติทางการเงิน ถ้าเป็นในไทยเองกลุ่มคน Gen Z ก็ต้องทำงานกันอย่างน้อย 30 ปี เพื่อที่จะมีเงินเพียงพอในการซื้อคอนโดหนึ่งห้อง ซึ่งต่างจากค่าครองชีพของคนเจนก่อน
สาเหตุหลักที่ Burn Out
นักจิตวิทยา Debbie Sorensen เล่าถึงสาเหตุความเครียดของกลุ่มคนรุ่นใหม่ไว้ว่า “กลุ่มคนรุ่น Millennials และ Gen Z ถูกเลี้ยงมาด้วยความกดดันสูง เพื่อให้เป็นคนที่ต้องประสบความสำเร็จให้ได้มากๆ แต่พวกเขาก็ต้องเริ่มต้นงานของตัวเองในสภาพแวดล้อมที่โกลาหล ที่พวกเขามีอิสระน้อยที่จะหางานที่มีความหมาย และมีค่าตอบแทนดี”
Gen Z ส่วนใหญ่ทุกวันนี้มักจะเลือกทำงานที่ให้เงินเยอะไว้ก่อน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงชีพที่สูงขึ้น Gen Z หลายคนจึงตกอยู่ในวังวนของการวิ่งทำงานตลอดเวลาจน Burn Out เปลี่ยนงานบ่อย ทำงานหลายจ็อบ แต่เงินก็ยังไม่พอใช้ เพราะค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิตที่สูงขึ้นในยุคปัจจุบัน แต่ค่าแรงในหลายอาชีพนั้นไม่ได้ขึ้นตาม พวกเขาหลายคนจึงมักจะพูดถึงความเหนื่อยล้า และอุดมการณ์ใช้ชีวิตที่ไม่ต้องทำงานกันว่า ‘I don’t dream of labor’
Photo Credit: Brittany Hayles Career Coach / bikkate
#IDontDreamOfLabor
“ฉันไม่ฝันที่จะทำงาน” คือประโยคยอดนิยมในช่วงโรคระบาด ที่พูดถึงการปฏิเสธ ที่จะทำงานบริษัทนายทุน การทำงาน Nine-to-Five มัน คือการปฏิเสธการวัดคุณค่าของชีวิตด้วยการทำงาน ประโยคนี้มีที่มาจากความเหนื่อยล้าที่จะต้องพยายามทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ความพยายามที่จะต้องทำผลงานให้ดี เพื่อให้บริษัทพอใจ ความเหนื่อยที่ต้องโปรดักทีฟตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการในโลกทุนนิยม มันคือการแสดงออกเพื่อต่อต้านโลกที่เรียกร้องให้พวกเขาต้องผลิตทุกอย่างเร็ว บริโภคเร็ว และทำทุกอย่างอยู่ตลอดเวลาจนไม่มีเวลาได้พัก
กระแสที่ตามมาจากเรื่องนี้ก็คือ การวิ่งไปหางานสายเทคฯ, สายออนไลน์ครีเอเตอร์, #breakintotech, งานโค้ดดิ้ง หรือ UX/UI ดีไซเนอร์ เพื่อให้ตัวเองสร้าง Passive Income งานที่เห็นเงินในทันที หลายช่องทาง เนื่องจากมันเป็นกลุ่มตลาดงานที่ไม่มีปัญหาเรื่อง underpaid มากนักในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ไม่มีนโยบายเข้าออฟฟิศบ่อย ไม่ใช่งาน Nine-to-Five เสมอไปเพื่อที่พวกเขาจะได้ไปใช้ชีวิตแบบ Slow Living
Slow Living คืออะไร
Slow Living คือ การใช้ชีวิตอย่างช้าๆ เป็นการปรับ mindset ให้ใส่ใจกับทุกอย่างที่ทำมากขึ้น และให้เวลาทำกิจกรรมทุกอย่างตามจังหวะของตัวเอง มันคือ การทำทุกอย่างให้น้อยลง แต่ใส่ใจคุณภาพของกิจกรรมที่ทำให้มากขึ้น อย่างการหันมาสนใจงานที่ได้เป็นนายตัวเอง, ทำธุรกิจขนาดเล็ก, ทำงานออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิต, ใช้เวลาทำงานอดิเรก, ใช้ชีวิตช้าๆ ดื่มกาแฟ, ให้คุณค่ากับการนอนพักผ่อนเต็มที่, ใช้เทคโนโลยีให้น้อยลง และใช้เวลากับธรรมชาติมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะมีภาพของการไปใช้ชีวิตที่ชนบท เพื่อหลีกหนีความวุ่นวาย
วิถีชีวิตนี้กลายเป็นภาพชีวิตในฝันของ Gen Z ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ และอิทธิพลของการใช้ชีวิต Slow Living ก็เริ่มขยายไปสู่เมืองใหญ่มากขึ้น อย่างคาเฟ่ที่มีกฎห้ามนำ Laptops มาทำงานในวันเสาร์อาทิตย์ มีเทรนด์การทำฟาร์มบนตึกสูงในเมือง New York ซึ่งเป็นความพยายามส่วนย่อยที่จะสร้างระบบโครงสร้าง Slow Living ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะทำให้อุดมการณ์การใช้ชีวิตอย่างนี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นในสังคม นอกจากนี้ในหลายประเทศพัฒนาแล้วพวกเขาก็เริ่มสนใจการผลักดันนโยบายการทำงานที่มีสมดุล การผลักดันการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แก้ไขปัญหา Overwork หรืออย่างในประเทศฝรั่งเศสที่มีกฎห้ามทำงานในวันอาทิตย์ ที่นำเทรนด์การใช้ชีวิตอย่างช้าๆ มาตั้งแต่ก่อนปี 2000
มันเป็นไปได้จริงหรือเป็นภาพฝัน
ในกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายคนก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า Slow Living และ I don’t dream of labor มันไม่ได้เวิร์คสำหรับทุกคน มันเป็นภาพแฟนตาซีชวนฝันที่ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นเหมือนเรื่องราวของเหล่าอายุน้อยร้อยล้านยอดภูเขาน้ำแข็ง มากกว่าจะเป็นเป้าหมายที่ทุกคนสามารถไปถึงได้จริง เพราะกว่าที่คนๆ หนึ่งจะไปใช้ชีวิตแบบช้าๆ ได้ พวกเขาก็ต้องมีต้นทุนระดับหนึ่งในชีวิต การจะบอกให้ทุกคนออกจากระบบงานประจำ อาจจะส่งผลให้เจนก่อนอย่าง Gen Y ต้องแบกรับภาระทางชีวิตที่มากขึ้นเพื่อโอบอุ้มคนรุ่นใหม่ และยังต้องคอยดูแลคนรุ่นเก่ายุค Boomer
แล้วประเทศที่กำลังพัฒนาล่ะ เป็นไปได้ไหมที่จะ Slow Living
การจะใช้ชีวิต Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนานั้นไม่ใช่สิ่งที่บุคคลทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมันเรียกร้องต้นทุนในชีวิตที่สูง เพราะปัจจัยของการใช้ชีวิต Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนานั้นมันเกี่ยวข้องกับการเมือง นายทุน และเศรษฐกิจแทบจะทุกมิติเลย
ถ้าเศรษฐกิจดี คนทำงานได้ค่าแรงคุ้มค่าเหนื่อย ทุกงานจ่ายค่าแรงที่เพียงพอที่จะสามารถใช้ชีวิตช้าๆ ได้ ต่างจังหวัดมีความเจริญ คมนาคมสะดวก มีงานเพียงพอ อากาศดี การจะเข้าถึง Slow Living นั้น ก็จะเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ทุกวันนี้ในหลายประเทศกำลังพัฒนา แค่มีงานทำ และเลี้ยงชีพตัวเองได้อยู่นั้นก็ยากพอแล้ว ถ้าจะต้องไปให้ถึง Slow Living ในประเทศกำลังพัฒนาก็จะต้องเหนื่อยแบบคูณร้อย นอกจากนี้การจะใช้ชีวิตในชนบทของประเทศกำลังพัฒนานั้น ก็ยังไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ทุกคนสามารถตั้งตัว และเลี้ยงชีพตัวเองได้อย่างยั่งยืน
ทางออกที่ลงตัวสำหรับยุคปัจจุบัน
เมื่อพูดถึงทางออกในปัจจุบันสิ่งที่ Gen Z หลายคนกำลังพยายามทำกันอยู่คือ การสู้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการขึ้นค่าแรงให้คุ้มค่ากับความเหนื่อยในการทำงาน และชี้ในภาครัฐมองเห็นปัญหาวิกฤติทางการเงินของวัยรุ่นที่กำลังก่อร่างสร้างตัวในยุคที่ค่าครองชีพสูง การส่งเสียงแก้ไขปัญหา Overwork และการหาทางสร้างการเคลื่อนไหว Anti-Work อย่างยั่งยืนทั้งด้านวัฒนธรรม นโยบายในที่ทำงานด้วยการรวมตัวกันส่งเสียงเรื่องนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วการผลักภาระให้ทุกคนไปแข่งขันกันทำให้ชีวิตตัวเองดีที่สุด สุดท้ายมันก็วนเวียนอยู่อย่างนั้น ไม่ต่างจากกระแสชีวิต ‘Girlboss’ อยู่ดีเพียงแค่เปลี่ยนภาพ aesthetic ใหม่เฉยๆ
การต่อต้านวัฒนธรรมการทำงานหนักจนตัวตาย เป็นการตอบสนองของ Gen Z ต่อโลกที่ทุกอย่างรวดเร็วไปเสียหมด ยิ่งผลิตเร็ว บริโภคเร็ว ก็ยิ่งต้องทำงานหนัก ประเด็นสำคัญที่มาพร้อมกับอุดมการณ์ Slow Living คือ ในอนาคตมันจะเป็นไปได้ไหมที่ทุกอาชีพได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับความเหนื่อย มันเป็นไปได้ไหมที่วัฒนธรรมการทำงานหนักจะหมดลง เพื่อให้คนทุกเจนได้มีเวลามาโฟกัสกับการใช้ชีวิตที่ช้าลงกันมากขึ้น มันเป็นการส่งเสียงของคนรุ่นใหม่ว่า “พวกเราเป็นคน ไม่ใช่แค่เครื่องจักรทำงาน พวกเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิต ไม่ใช่ทำงานจนไม่ได้ใช้ชีวิตที่ดี”
อ้างอิง