Identity

เปลี่ยนงานบ่อย ขาดทักษะ ไม่พร้อมทำงาน! สารพัดสิ่งที่ชาว Gen Z กำลังเผชิญ เมื่อต้องเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ในปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่ได้มีแค่เหล่าผู้สูงอายุเตรียมเกษียณเท่านั้น แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อแทนที่ผู้สูงอายุ นั่นก็คือ เหล่าประชากร ‘Gen Z’ นั่นเอง

ข้อมูลจากเว็บไซต์จัดหางานชื่อดังอย่าง JobsDB ระบุว่าในปี 2022 - 2023 แน้วโน้มในการจ้างงานเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เนื่องจากผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว ซึ่งทำให้องค์กรใหญ่ๆ กว่า 48% ต้องการพนักงาน Full-time มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลการจ้างงานในรอบปีที่ผ่านมาพบว่า กว่า 70% ของบริษัทใหญ่มีการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ และมากกว่าครึ่งมีการจ้างงานต่อภายหลังจบการฝึกงานอีกด้วย

จากข้อมูลข้างต้นทำให้เราเห็นว่าเทรนด์การจ้างงานเริ่มเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งก็ทำให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันมีบุคลากรรวมอยู่ถึง 4 เจน ตั้งแต่ Boomer จนถึง Gen Z เลยทีเดียว แน่นอนว่าการรวมตัวกันของคนจากหลายเจน ย่อมต้องเกิดการปรับตัวเข้าหากันทั้งในแง่ของการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ รวมไปถึงเหล่านายจ้างเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ในวันที่สมาชิกใหม่ต่างเจนก้าวเข้ามา เมื่อมาตรฐานที่เคยเวิร์กกับคนรุ่นก่อนๆ อาจจะไม่เวิร์กกับเหล่า Gen Z อีกต่อไปแล้ว

วันนี้ EQ จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับตัวตนของเหล่า Gen Z ในฐานะคลื่นลูกใหม่ของตลาดแรงงานกันบ้างว่า เทรนด์การทำงานของพวกเขาเป็นอย่างไร? พวกเขามีวิธีคิดในการทำงานแบบไหน? และชาว Gen Z กำลังเผชิญอยู่กับอะไรบ้างในฐานะแรงงาน?

Photo Credit: Desk Time

‘Job-hopping’ พฤติกรรมเปลี่ยนงานบ่อยของชาว Gen Z

จากการค้นคว้าของ the Pew Research Center ระบุว่า ภายในปี 2025 เหล่า Gen Z จะกลายเป็นประชากรกว่า 25% ของเอเชีย และจะกลายเป็น generation ที่ทรงอิทธิพลที่สุดอีกด้วย เนื่องมาจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เติบโตมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นเทคโนโลยี ถึงอย่างนั้น Gen Z ก็ยังคงถูกแปะป้ายด้วยภาพจำเดิมๆ จากคนเจนก่อนๆ ว่า เป็นกลุ่มคนที่เปลี่ยนงานบ่อย หรือ ‘Job-hopper’

Job-hopper คือ กลุ่มคนที่มีประวัติการเปลี่ยนที่ทำงานบ่อยๆ โดยจะแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ตามเหตุผลของการย้ายงาน ได้แก่ เปลี่ยนเพราะความจำเป็น, กำลังมองหาความท้าทาย, ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ และมีปัญหาในที่ทำงาน ซึ่งเหล่า Job-hopper ก็มีข้อดีคือ เป็นคนที่มีแนวโน้มว่าจะเรียนรู้เร็ว, มีทักษะที่หลากหลาย, ปรับตัวได้เก่ง และบางคนอาจจะมีคอนเนกชั่นติดตัวมาอีกด้วย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย เพราะคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานเร็วกว่าคนกลุ่มอื่นๆ รวมถึงพวกเขาอาจจะไม่เข้าใจเป้าหมายของการทำงาน วัฒนธรรม หรือระบบการทำงานต่างๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้เวลามากพอในแต่ละที่ทำงานนั่นเอง

การศึกษาของ LinkedIn พบว่า กลุ่ม Gen Z ในปี 2022 มีอัตราการเปลี่ยนงานสูงขึ้นถึง 134% เมื่อเทียบกับปี 2019 นอกจากนี้การศึกษายังระบุอีกด้วยว่า ในปี 2022 กลุ่ม Gen Z กว่าร้อยละ 25 มีแพลนที่จะลาออกจากงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า ตามมาด้วย Gen Y อยู่ที่ร้อยละ 23 ข้อมูลข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว พฤติกรรม Job-hopping ไม่ใช่เทรนด์ที่เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่ม Gen Z เพียงแต่เป็นแนวคิดที่มีมากขึ้นในคนรุ่นใหม่เท่านั้น

CareerBuilder ได้ทำการสำรวจอายุงานเฉลี่ย (ก่อนย้ายงาน) ของคนแต่ละ Generation ในปี 2021 เอาไว้ว่า Gen Z มีอายุงานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี 3 เดือน ก่อนที่จะลาออก ขณะที่ Gen Y มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ปี 9 เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างมากๆ จากกลุ่ม Gen X และ Boomer ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี 2 เดือน และ 8 ปี 3 เดือน ตามลำดับ

นอกจากนี้ข้อมูลของ The Deloitte Global 2022 Gen Z & Millennial Survey ที่สำรวจกลุ่ม Gen Z กว่า 14,000 คน และชาว Millennials กว่า 7,400 คน จาก 46 ประเทศ ก็พบข้อมูลใกล้เคียงกันคือ กลุ่ม Gen Z กว่า 40% ลาออกจากงานภายใน 2 ปี ส่วนกลุ่ม Millennials เป็นกลุ่มรองลงมาอยู่ที่ประมาณ 24% โดย 1 ใน 3 ของทั้งหมดตัดสินใจออกจากงาน แม้ว่าจะยังไม่มีงานใหม่มารองรับอีกด้วย

ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักของการลาออกจากงานของเหล่าคนรุ่นใหม่ก็มาจากความต้องการที่จะรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และการทำงาน (Work-life balance) นั่นเอง

Photo Credit: Forbes

‘Work-life balance’ สิ่งที่วัยรุ่นตามหาเมื่อก้าวขาสู่ตลาดแรงงาน

‘Work-life balance’ เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่า คนในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจกับการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้คนในสังคมใช้ชีวิตไปกับการทำงานตัวเป็นเกลียว หัวเป็นน็อต จนกระทบทั้งชีวิตประจำวัน และสุขภาพ ความสมดุลนี้เองจึงกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เหล่า Gen Z มองหา เมื่อต้องก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน

รายงานของ Randstad Workmonitor ที่สำรวจพนักงานใน 34 ตลาดแรงงาน จำนวนกว่า 35,000 คน พบว่า 56% ของกลุ่มพนักงาน Gen Z ต้องการลาออกจากงานที่ทำให้ ‘ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข’ ซึ่ง 40% ของคนกลุ่มนี้ยอม ‘ว่างงาน’ มากกว่าต้อง ‘ทำงานที่ไม่ชอบ และไม่มีความสุข’

ซึ่งจากผลสำรวจข้างต้นก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนรุ่นใหม่จะใส่ใจกับความสุขมากขึ้น เพราะว่าผลการศึกษาจากบริษัทประกันระดับโลกอย่าง AXA เผยว่าคน Gen Z ทั่วโลกกว่า 54% กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตภายหลังการระบาดของโควิด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนเจนใหม่ ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนด้านเทคโนโลยี และสังคมในที่ทำงาน 

Photo Credit: Irish examiner

จากการศึกษาเรื่องสุขภาพจิต และสุขภาวะของ AXA ในปี 2023 พบว่า คนรุ่นใหม่ (ช่วงอายุ 11-26 ปี) เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความเครียด (emotional stress) หรือการด้อยค่าทางจิตสังคม (psychosocial impairment) โดยคิดเป็น 18% จากผู้เข้าร่วมกว่า 30,000 คน

มีหลากหลายปัจจัยที่เหล่า Gen Z ลงความเห็นว่า เป็นสาเหตุให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงด้านสุขภาวะทางจิต ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึกไม่มั่นคงเกี่ยวกับอนาคต คิดเป็น 69%, การขาดทักษะสำหรับการทำงาน 56%, ความยากลำบากในการสร้าง work-life balance 49% และความกดดันที่ต้องคอยตามทุกความเปลี่ยนแปลงในการทำงานให้ทัน คิดเป็น 47%

นอกจากนี้การศึกษายังเน้นให้เห็นว่า การมีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานนั้นเชื่อมโยงอยู่กับเรื่องสุขภาพจิตโดยตรง เพราะคนที่มีทักษะจะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพดีกว่าคนที่ขาดทักษะถึง 2.5 เท่าเลยทีเดียว

แต่ถึงอย่างนั้นการขาดทักษะในการทำงาน ก็ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ชาว Gen Z ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันอยู่ดี

Photo Credit: Dice

‘Soft skills’ ทักษะสำคัญในการทำงานที่หายไปจากวัยรุ่น

อย่างที่ทราบกันดีว่า การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อผู้คนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาว Gen Z ที่อยู่ในช่วงวัยของการเติบโตสู้การเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาต้องเผชิญกับทั้งความท้าทาย และความไม่แน่นอนที่เข้ามาขัดขวางชีวิตส่วนตัว และการเติบโตในสายอาชีพ

ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงค้นหาตัวตน และเรียนรู้ที่จะมั่นใจในตัวเอง พวกเขากลับถูกบังคับให้ต้องปรับตัวกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วชนิดที่ตั้งตัวกันแทบไม่ทัน โรคระบาดเข้ามากระทบทั้งการศึกษา, การทำงาน และการเข้าสังคม ปล่อยให้พวกเขาต้องอยู่กับความไม่มั่นคงของอนาคต ในขณะที่ generation ที่โตกว่ากลับสร้างเนื้อสร้างตัว มีเส้นทางในสายอาชีพ และชีวิตส่วนตัวที่เริ่มมั่นคงกันแล้ว จึงไม่แปลกที่คนรุ่นใหม่จะได้แต่มองหาอนาคต และอยู่กับความรู้สึกไม่ปลอดภัยในอนาคตของตัวเอง

จากบทสัมภาษณ์ของ ‘อโณทัย เวทยากร’ รองประธานบริหาร Dell EMC ภูมิภาคอินโดจีน ระบุว่า ชาว Gen Z มีความกังวลเกี่ยวกับ Soft Skills หรือทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเด็กไทยที่จบใหม่กว่า 96% กังวลใจเกี่ยวกับการจ้างงานในอนาคต ตั้งแต่เรื่องของการขาดทักษะ ไปจนถึงการขาดประสบการณ์ในการทำงาน โดยที่ 67% ของ Gen Z มั่นใจว่า พวกเขามีทักษะด้านเทคโนโลยีที่นายจ้างต้องการ แต่ขาด Soft skills โดยเฉพาะทักษะการสื่อสาร และการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งผลการศึกษาในประเทศไทย ยังพบอีกด้วยว่า คนทำงานในกลุ่ม Gen Z กว่า 90% สามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างคุณค่าให้กับการทำงานได้ แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์ Gen Z กว่าครึ่ง (58%) ยังคงชอบการนั่งทำงานในออฟฟิศมากกว่าการทำงานจากบ้าน อีกทั้งยังชอบที่จะทำงานเป็นทีมมากกว่า โดยคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70% เลยทีเดียว

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า คน Gen Z ที่อยู่ในตลาดแรงงาน ณ ปัจจุบัน คือ กลุ่มนักศึกษาที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การร่วมงานกับผู้อื่นเกิดขึ้นผ่านโลกออนไลน์มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยกันแบบเห็นหน้า หรือการได้พบกันในชีวิตจริง ซึ่งบางรุ่นต้องเรียนออนไลน์ตั้งแต่ปีแรกของชีวิตมหา’ลัย ทั้งที่เป็นช่วงชีวิตที่ควรจะได้เจอเพื่อน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน (แค่คิดก็น่าเสียดายแล้วว่าชีวิตช่วงนั้นของพวกเขาหายไป) จนบางคนเลือกที่จะดรอปเรียนไปก่อนก็มี 

นี่ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ระบบการศึกษาไทย ไม่มีมาตรการรองรับ และซัพพอร์ตนักศึกษาเมื่อต้องเผชิญปัญหา ไหนๆ ก็พูดถึงระบบการศึกษาแล้ว หนึ่งปัญหาที่เราได้ยินมาตลอดเกี่ยวกับการเรียน และการทำงานคือ การศึกษาไทย ไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมให้กับนักศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน

Photo Credit: Forbes

เมื่อวัยรุ่นคิดว่า ‘การศึกษา’ ไม่ได้ช่วยเตรียมความพร้อมพวกเขา

ในทุกๆ ปี การศึกษาไทยจะผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 500,000 คน จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องภาวะการทำงานของประชากร ในช่วงปี 2019 พบว่า ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่ 3 อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 0.98 เป็นร้อยละ 1.04 (ซึ่งในปัจจุบันก็ยังคงมีคนว่างงานอยู่จำนวนมาก) โดยนับจากจำนวนอัตรากำลังแรงงานของประเทศ ที่เป็นผู้มีความพร้อมในการทำงาน ซึ่งมีมากถึง 38 ล้านคน (รวมทุกเจน)

ซึ่งกลุ่ม Gen Z มักจะมองว่า ระบบการศึกษาที่ผ่านมา ไม่ตอบโจทย์กับการหางานในปัจจุบัน โดยผลสำรวจออนไลน์ขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ที่สำรวจคนรุ่นใหม่ 40,000 คน ใน 150 ประเทศ พบว่า วัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่า การศึกษาในปัจจุบันไม่เสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการหางานทำ ซึ่งกว่า 1 ใน 3 มองว่า โครงการฝึกทักษะ และอาชีพที่ให้เรียนนั้นไม่ตรงกับความต้องการของพวกเขา และ ปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของงานในเมืองใหญ่ ที่ทำให้ไม่สามารถหางานที่อยากทำได้ในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ก็เป็นปัญหาที่กระจายอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นกว่า 33% เช่นกัน
 

ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าระบบการศึกษาจะ ‘พยายาม’ สร้างบุคลากรสู่ตลาดแรงงานมากเท่าไรก็ตาม ชาว Gen Z ก็ยังคงมองว่า พวกเขายังได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างไม่เพียงพอ ซึ่งทักษะความเป็นผู้นำ, การคิดเชิงวิเคราะห์ และทักษะด้านการประมวลผลข้อมูล คือ 3 ทักษะสำคัญที่คนรุ่นใหม่อยากเรียนรู้มากที่สุด เพื่อให้สามารถหางานทำได้ไปตลอด 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นทักษะที่อยู่นอกเหนือการเรียนรู้ตามระบบของมหา’ลัยในบ้านเรา ที่ติดอยู่กับการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกนักถ้าคนรุ่นใหม่จะรู้สึกขาดทักษะ และต้องขวนขวายหาทักษะมาเพิ่มเติมเพื่อเข้าสู่สังคมการทำงาน

อีกนัยหนึ่งก็คือ การศึกษาอาจจะเตรียมให้เรามีทักษะในการเป็น ‘แรงงาน’ ในแบบที่ออกมาจากตำรา ว่าแรงงานในสายวิชาชีพหนึ่งๆ ควรจะเป็นอย่างไร แต่โลกของเราพัฒนาไปเรื่อยๆ และมีปัจจัยมากมายที่ทำให้การทำงานในชีวิตจริงต้องการมากกว่าแค่ทักษะจากตำราเรียน ดังนั้น การศึกษาควรจะต้องหลุดออกจากกรอบเดิมๆ และเพิ่มเติมทักษะที่ต้องใช้ในโลกของการทำงานจริง (เวอร์ชั่นอัพเดต) เสียที

Photo Credit: Insider

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ ภาพที่เราอยากเล่าให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Gen Z ในมุมของการเป็นแรงงานมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นเพื่อนร่วมงานต่างเจน นายจ้าง หรือแม้แต่ตัววัยรุ่น Gen Z เองก็ตาม การได้ทำความรู้จักคนกลุ่มใหม่ ที่กำลังก้าวเข้าไปสู่สังคมของคุณ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่าง generation ให้แคบลง เข้าใจกันมากขึ้น ทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจ และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเหล่า Gen Z เองก็จะได้เข้าใจตัวเอง หรือเพื่อนร่วมงานในวัยเดียวกันมากขึ้นด้วยว่า มีอะไรที่ยังขาดไป หรืออะไรที่ต้องปรับปรุง เพื่อสร้างสังคมการทำงานที่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่

อ้างอิง

Techsauce
LinkedIn
The Standard
Vietcetera
ฐานเศรษฐกิจ
True Plookpanya
Workpoint today