Identity

Go Grrrls: 9 ปีแห่งปาร์ตี้ เวทีโชว์ของ และพื้นที่ปลอดภัยที่คุณจะเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น

แต่ละคนคงมีนิยามของคำว่า ‘ปาร์ตี้’ ในแบบของตัวเอง สำหรับ ดุ๊กกี้–ณัฐดรุณ ปัญญาไว หรือ DJ Dookie เธอบอกว่า “ปาร์ตี้ต้องเป็นพื้นที่ที่ให้คนเป็นตัวของตัวเอง express who you are และ no judgement” 

“เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรจะเป็นที่สุดแล้ว” คือถ้อยคำที่ เพลิน–โสรยา อลัม หรือ DJ CLEO P กล่าวเสริม

ดุ๊กกี้และเพลินคือสมาชิกรุ่นก่อตั้งของ Go Grrrls ปาร์ตี้ออร์แกไนเซอร์ที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเรียบง่ายเมื่อปี 2013 จากไอเดียที่ว่า ‘อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนมาปาร์ตี้ของเราได้’ เพราะหากย้อนกลับตอนนั้น คำว่า ‘ปาร์ตี้เควียร์’ ที่เปิดให้คนทุกเพศสภาพมาสนุกด้วยกันยังไม่มีอยู่ในพจนานุกรมของเหล่านักท่องราตรีชาวไทย จะมีก็เพียง ‘ปาร์ตี้เกย์’ หรือ ‘ปาร์ตี้เลสเบี้ยน’ ที่จำกัดให้เฉพาะคนกลุ่มนั้นๆ เข้าร่วมได้เท่านั้น

ในวาระสิ้นปีแบบนี้ที่เราอยากไปปาร์ตี้จะแย่ (แต่โอมิครอนไม่อนุญาต แถมร้าบานก็…เออ ช่างเถอะ เดี๋ยวยาว) เราถือโอกาสชวนดุ๊กกี้และเพลินมารำลึกความหลังของ Go Grrrls พร้อมมองอนาคตของปาร์ตี้เควียร์และคอมมิวนิตี้เควียร์ในบ้านเรากัน

ยังจำได้ไหมว่าปาร์ตี้แรกที่จัดด้วยกันเป็นอย่างไร

ดุ๊กกี้ : ปาร์ตี้แรกจัดที่ RCA ชื่อว่า Too Late To Die Young ด้วยความที่ตอนนั้นมันมีคำว่า Too Fast To Die Young แต่เราอายุ 30 แล้ว ก็เลยเปลี่ยนเป็น Too Late To Die Young แล้วเราเป็นดีเจผู้หญิง 4 คน (อีก 2 คนคือ DJ Mae Happyair และ DJ Pompom) ก็คิดกันว่าชื่ออะไรดี สุดท้ายก็เป็น Go Grrrls นี่แหละ 

เพลิน : ไวบ์มันดีมากๆ เลยทุกคนก็สนุกสนานกัน จนเราคิดว่าจัดกันอีกดีกว่า มันน่าจะไปได้

ดุ๊กกี้ : ตอนแรกที่ประกาศออกไปเราก็คิดว่าคงมีแค่เพื่อนมาอย่างเดียว แต่พอมันเป็นผู้หญิง 4 คนมาจัดปาร์ตี้ด้วยกัน 4 คน มันก็จะมีพวกสาวๆ ที่เขาอยากจะมาฟังเพลง มาอยู่ในบรรยากาศปาร์ตี้ที่เป็นของผู้หญิง เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย พอสาวๆ เข้ามา พวกเพื่อนๆ เกย์ก็จะมากันด้วย เราก็เลยมองเห็นว่า เออว่ะ มันมีศักยภาพที่เราจะทำปาร์ตี้ให้กับทุกคน เป็นงานที่ไม่แมน ผู้หญิงไม่ต้องเซ็กซี่ ผู้ชายก็ไม่ต้องเก็ก เปิดเพลงสนุกๆ ที่ทุกคนเต้นได้

สมัยนั้นซีนปาร์ตี้ในกรุงเทพฯ มันไม่มีที่ที่สาวๆ และเพื่อนสาวจะรู้สึกปลอดภัยได้เลยเหรอ

เพลิน : ย้อนกลับไปสมัยนั้น เราเป็นดีเจอยู่สุขุมวิทซอย 11 กับ RCA บางร้านโดยเฉพาะร้านดังๆ ห้ามกะเทยแต่งหญิงเข้าเลย เขาบอกว่ามันจะมีปัญหาในการมาจิกมาจีบฝรั่ง มาขโมยของ ตอนนั้นกะเทยเข้าไม่ได้หลายที่มากๆ จนเขารวมตัวกันไปเที่ยวสีลม มันก็เหยียดนิดนึง ไม่นิดหรอก เหยียดมากๆ เลย หรือแม้แต่ปาร์ตี้เลสเบี้ยน ก็ห้ามกะเทยกับผู้ชายเข้า 

ดุ๊กกี้ : เมื่อก่อนถ้าเลสเบี้ยนจัดปาร์ตี้ เขาจะให้เฉพาะผู้หญิงเข้า ไม่ให้ผู้ชายเข้า แต่เรามีเพื่อนทั้งเกย์และผู้หญิง บางทีเราอยากไปงานหนึ่งกับเพื่อนเกย์ แต่เพื่อนก็เข้าไม่ได้ กลับกันถ้าไปสีลมซอย 2 เลสเบี้ยนก็จะไม่อยากเข้า คือในกลุ่มเพศหลากหลายก็ยังมีการแบ่งกันอยู่

แต่เราคิดว่า เฮ้ย เราแค่แชร์ดนตรีเหมือนกัน อยากจะไปเต้นเหมือนกัน ไม่ได้อยากจะไป sexsual harassment ใคร ก็เลย เออ งั้นก็มาจัดปาร์ตี้รวมกันเหอะ ให้เพื่อนเรามาปาร์ตี้ได้ทุกคน แม้กระทั่งเพื่อน straight ก็มาได้ 

เพลิน : สมัยก่อนมันไม่มี Queer Party เลยนะ ปาร์ตี้ที่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเพศไหน ชาย หญิง LGBTQ จะเป็นอะไรก็มาจอยด้วยกันได้ ไม่มีแบ่งแยก

แล้วปาร์ตี้ล่าสุดก่อนเจอโควิดล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เหมือนเดิม มีอะไรที่เปลี่ยนไป

ดุ๊กกี้ : เราขอเล่าเรื่องปาร์ตี้เกือบๆ สุดท้ายก่อนที่โควิดจะมาปิดทุกอย่างไป นั่นคือ HALLOQUEEN เป็นปาร์ตี้ฮาโลวีนปี 2020 ซึ่งธีมคือการเป็น ballroom มีการประกวดแต่งตัว มีโชว์ต่างๆ

ตอนที่เราจัดปาร์ตี้ครั้งแรก มันคือการรวมตัวเพื่อนเราที่เขาเปิดกว้างกับอะไรก็ตามที่มันสนุกสนาน แต่กับ HALLOQUEEN เรารู้สึกว่าเราก้าวไปอีกขั้น เกือบไปถึงจุดที่เทียบเท่ากับปาร์ตี้เควียร์ของเมืองนอกได้ คือทุกคนที่มางานเราเปิดกว้างมาก แต่งตัวสุดมาก ตั้งใจมาปลดปล่อยตัวเองจริงๆ 

เพลิน : ทั้งที่เราไม่ได้จัดตรงวันฮาโลวีนด้วยนะ เราจัด 30 ตุลาฯ แต่คนแต่งตัวกันมาสนุกมากๆ ตกใจมากที่เขายังแต่งมาให้เราถึงมันจะไม่ตรงวันจริงๆ ก็เถอะ มาเดินบอลกัน แข่งกันเต็มที่มาก

ดุ๊กกี้ : จากที่เราจัดแค่ให้เพื่อนเรามาสนุก ครั้งล่าสุดที่เราจัดกลายเป็นว่ามันเกิด Queer Collective ขึ้น มีน้องที่เป็นแดร็ก น้องที่เป็นโว้กเกอร์ น้องที่เป็นแดร็กหัดใหม่ น้องที่มีความสนใจเรื่อง performance ในแวดวง LGBTQ มาร่วมกับเรา เหมือนเราเปิดพื้นที่ให้คนที่เขามีของมาเจอกัน มาร่วมคอมมิวนิตี้ มา empower กันและกัน

จุดแข็งของ Go Grrrls ซึ่งหาในปาร์ตี้อื่นไม่ได้คืออะไร

เพลิน : การที่คนมารวมกันในปาร์ตี้ของ Go Grrrls แบบนี้หาที่อื่นยาก แล้วคนก็ไปบอกต่อๆ กันว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเควียร์ก็มาปาร์ตี้ Go Grrrls ได้นะ

ดุ๊กกี้ : คนในปาร์ตี้เรา เรียกว่าเดินเข้ามาเพลงแรกก็ Yasss! เหมือนเป็นบ้าไปแล้ว คือเราว่าคนที่มาเขาเปิดกว้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เขามาปาร์ตี้เรา เขาเห็นอะไรที่มันแตกต่าง เขายอมรับได้หมดเลย และเขารู้สึกว่าเขาอยู่ที่นี่ได้ เรามีเพื่อนผู้ชายบางคนที่อยากแต่งหญิงมางาน ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยแต่งไปไหนเลย แต่แค่รู้สึกว่าอยากใส่กระโปรงมาปาร์ตี้เรา เหมือนคืนนี้ฉันรู้สึกอะไรอยู่ข้างในก็ออกมาปาร์ตี้แบบนั้น ในงานเราไม่มีใครมอง ตัดสิน ซุบซิบนินทาว่าแต่งอะไรมา ทุกคนจะเป็นแบบเอาเลยจ้า (ลากเสียง) ยิ่งประหลาด ยิ่งเข้ามาเลย เต้นแรงๆ เหมือนเข้ามาแล้วทำให้รู้สึกว่ามันคือ safe zone ที่จะทำอะไรก็ได้ 

ซึ่งเวลาเราไปจัดที่สถานที่ต่างๆ เราก็ต้องให้ความรู้บาร์เทนเดอร์ ปาร์ตี้อื่นๆ เขาอาจเจอผู้ชายผู้หญิง แต่ถ้าปาร์ตี้ Go Grrrls เขาต้องยอมรับว่าจะต้องเจอคนหลากหลาย เขาต้องไม่ตัดสิน ทุกคนมีสไตล์ ทุกคนมาเพื่อ express ตัวเอง 

อีกจุดแข็งของ Go Grrrls คือเรื่องเพลง เรามาจากสายดนตรีที่แตกต่าง แต่ไวบ์ของดนตรีที่เราเปิดมีความป๊อปอยู่ เพลินชอบฮิปฮอป แทรป เราเมื่อก่อนเปิดร็อก เดี๋ยวนี้มาสายดิสโก้ บางทีเราจะชวนเพื่อนๆ สายเฮาส์ เทคโน มาด้วย ดังนั้นคืนหนึ่งก็จะฟังดนตรีได้หลายแนวเลย ทุกคนจะสนุกร่วมกันได้

เดี๋ยวนะ ทำไมเราต้องให้ความรู้บาร์เทนเดอร์ด้วย

เพลิน : คือเขาทำงานมากับร้านที่ไม่ให้ LGBTQ เข้า เขาก็จะมีสายตานิดนึง จริงๆ บาร์เทนเดอร์ยังไม่เท่าไหร่ การ์ดของร้านจะเป็นมากกว่า เราก็ต้องไปอธิบาย พูดง่ายๆ ให้เขาเข้าใจ บอกว่าปาร์ตี้หนูมีแต่ตุ๊ด เพราะฉะนั้นต้องไนซ์ 

ดุ๊กกี้ : หลังๆ พอเราไปจัดบ่อยๆ เขาก็เริ่มรู้แนว 

เพลิน : บาร์เทนเดอร์จะเริ่มรู้ว่าคนที่มาสั่งเหล้าเยอะ ทิปเยอะ เพราะไปปาร์ตี้อื่นมันจะแห้งๆ แต่ปาร์ตี้เราจะสนุก เขาจะไม่เคยเห็นอะไรสนุกขนาดนี้ หลังๆ เขาก็เต้นไปด้วยเลย 

จริงๆ มันไม่เชิงให้ความรู้หรอก แค่ตอนแรกเขาอาจจะช็อกนิดนึง เขาอาจจะไม่เคยเจอการที่ 3 ทุ่ม 5 นาที กลุ่มแรกเดินเข้ามาสามคนแล้วก็เต้นเลย เต้นไม่หยุด เขาก็ตกใจ แต่แล้วเขาก็ค่อยๆ เข้าใจ

ดุ๊กกี้ : แต่ตั้งแต่จัดมา ไม่เคยมีคนวีนว่าบาร์เทนเดอร์บริการไม่ดีหรือนิสัยไม่ดีเลยนะ เราเคยไปต่อคิวซื้อเหล้าในงาน รู้สึกว่าทุกคนมีความอดทนเยอะกว่าปาร์ตี้ทั่วไป เราจะรู้สึกว่าคนที่ไปปาร์ตี้ straight เขาจะอีโก้เยอะ แต่ความ LGBTQ ไม่ค่อยมีใครวีน ตั้งแต่จัดมาเคยเจอวีนแค่คนเดียว เขาบอกว่าเธอเอาเหล้าอะไรให้ฉันกิน ฉันอ้วกแตก (หัวเราะ) แต่เขาก็กินเยอะมากนะ 

ทำไมปาร์ตี้เควียร์ถึงมีความอดทนมากกว่าปาร์ตี้สเตรท

ดุ๊กกี้ : ชีวิตเควียร์ต้องอดทนตั้งแต่เดินออกจากบ้านแล้วอะ ถ้าจะแต่งตัวมาปาร์ตี้ Go Grrrls ทำเล็บกลิตเตอร์ เดินออกจากปากซอย วินมอเตอร์ไซค์ก็มองแล้ว ในใจต้องเข้มแข็งพอสมควรที่จะกล้าเดินออกไป ถ้าเจอคนแซวก็คงไม่สามารถเหวี่ยงใส่ได้ มันทนมาตั้งแต่ออกจากบ้าน ทนมาทั้งชีวิตแล้วอะ อยู่ที่ทำงานบางคนเขาก็แซว บางคนก็ไม่รู้ว่านี่มันคือการไปบูลลี่ แต่คนที่เป็น LGBTQ เขาทนมาตลอด การที่แค่มายืนต่อแถวซื้อเหล้าคงไม่เป็นอะไร ชิลล์แล้ว

ทำไมปาร์ตี้ถึงควรเป็นพื้นที่ที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ 

ดุ๊กกี้ : ทำไมต้องมีการแบ่งแยก คือเมื่อก่อนมันมีปาร์ตี้อยู่แล้ว แต่ทุกอย่างเหมือนมีเส้นอะไรบางอย่างกั้นอยู่ เราจัดปาร์ตี้เองก็สนุกในปาร์ตี้ตัวเอง แต่ไปปาร์ตี้อื่นคือไม่สนุกเลย รู้สึกไม่เอนจอย ไม่สบายตัว มีแต่คนมองหัวจรดเท้า พอจะเต้นเยอะๆ คนก็จะ “อะไร จะเหยียบเท้าฉันเหรอ” มันเหมือนกับว่าเราต้องพยายามเป็นไทป์ที่ปาร์ตี้นั้นต้องการ ต้องเซ็กซี่หรือเปล่า ต้องเต้นสวยหรือเปล่า 

จนเราไปปาร์ตี้เควียร์ที่เมืองนอก ถึงได้มีความรู้สึกว่า นี่แหละที่ฉันชอบจริงๆ ตอนนั้นไปคนเดียวเลยนะ แต่สนุกสุดๆ ไม่รู้สึกกลัว ไม่รู้สึกว่ามีใครมามอง มาตัดสิน เลยรู้สึกว่าปาร์ตี้มันต้องเป็นพื้นที่ที่ให้คนเป็นตัวของตัวเอง ได้ express who you are แล้วก็ no jugdement

เพลิน : มาปาร์ตี้ Go Grrrls คือไม่ต้องแอ๊บ เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครตัดสิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและสมควรจะเป็นที่สุดแล้ว

จากปาร์ตี้ที่ทำให้เพื่อนๆ สู่ปาร์ตี้ที่เปิดพื้นที่ให้ LGBTQ มาเป็นตัวของตัวเองและโชว์ความสามารถ คุณสร้างคอมมิวนิตี้แบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

เพลิน : อย่างแรกคือเราต้องไม่คิดว่าปาร์ตี้นี้เป็นของเราคนเดียว Go Grrrls ไม่ใช่ของฉัน ของดุ๊กกี้ แต่มันเป็นของทุกคน เราต้องทำให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมกับ Go Grrrls และทำให้เขารู้สึกปลอดภัย มีความสุข แล้วเขาจะอยากมาร่วมด้วยกับเราเอง 

ดุ๊กกี้ : พอเราจัดปาร์ตี้เรื่อยๆ เราจะจำคนที่มางานได้ ปกติเราเป็นคนดูรูปถ่ายในงาน เวลาเห็นใครดูเต้นแรง ดูมี performance ที่น่าสนใจ เราก็จะไปตามว่าเขาเป็นใคร อยู่กลุ่มไหน ถ้าเขาไหนดูเข้ากับ Go Grrrls เราเข้าหาเลย คุยเลยว่า Go Grrrls อยากเปิดพื้นที่ให้เขา

เพลิน : บอกเขาเลยว่าเราชอบเขานะ แล้วก็ถามเลยว่าอยากจะมาแสดงในพื้นที่ของเราไหม แล้วตอนหลังก็กลายเป็น Go Grrrls Family กันไป 

ดุ๊กกี้ : คือคนก่อตั้งก็มีแค่เราๆ นี่แหละ แต่ในคอมมิวนิตี้ Go Grrrls ก็จะมีทีมโว้กเกอร์ ทีมแดร็ก และทีมอยากแดร็ก ซึ่งคือเพื่อนเราเองที่มาปาร์ตี้เราตั้งแต่แรกๆ จนอยากแต่งแดร็ก อยากโชว์ อยากแสดง ซึ่งเราก็เต็มที่เลย เปิดเวทีให้เลย

เพลิน : แล้วก็มีดีเจ นักร้อง แรปเปอร์ ถ้ามีโอกาสเข้ามาแล้วมันได้ มันใช่ Go Grrrls ก็ร่วมด้วยหมดเลย ไม่ปิดกั้น

ดุ๊กกี้ : ตอนนี้ถ้าพูดถึงปาร์ตี้ Go Grrrls เราสามารถพูดได้เลยว่าเรามีหลายทีมที่จะมาช่วยทำให้มันสนุกขึ้น มันไม่ได้มีแค่ใครคนใดคนหนึ่ง