“Don’t be Silly, Cover your Willy”
หากใครเคยได้อ่าน เสวศึกษา | PART 2: การช่วยตัวเองคืออะไร? ยาคุม ถุงยาง แบบไหนเหมาะกับเรา? ก็คงจะรู้กันแล้วว่า ถุงยางอนามัยนั้นสามารถลดความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์และโรคติดต่อได้ร้อยละ 87-98 ที่ไม่เต็มร้อยก็เพราะว่ามันไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อผ่านการสัมผัสบางชนิดได้นั่นเอง ทุกการมีเพศสัมพันธ์จึงมีความเสี่ยง และในเมื่อมีความเสี่ยง การใส่ใจสังเกต ไปจนถึงการตรวจเช็กอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง
Vanillacooldance
เมื่อปี 2019 การสำรวจทางสถิติพบว่ากลุ่มประชากรที่ตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) มากที่สุดคือ วัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) ซึ่งมีมากถึง 124.4 ต่อประชากรแสนคน และมีแต่จะเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากการสำรวจในปี 2022 พบว่าวัยรุ่นและเยาวชนติดเชื้อ HIV ถึงร้อยละ 22.2 จากผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อ HIV ทั้งหมด ยังไม่นับรวมโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ โดยโรคที่ตรวจพบมากที่สุดคือหนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง/กามโรคต่อมน้ำเหลือง ตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราการใช้ถุงยางอนามัยของกลุ่มวัยรุ่นยังมีเพียงร้อยละ 80.3 ซึ่งถือว่าไม่มากเท่าที่ควร
ด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการป้องกันจึงเป็นการตรวจโรค โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์แบบไม่สวมถุงยางอนามัย (หรือสวมแล้ว แต่เกิดการฉีกรั่ว) มีการเปลี่ยนคู่นอน เคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือสังเกตได้ถึงความผิดปกติของร่างกาย แต่ต่อให้มองว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงก็สามารถตรวจเพื่อความสบายใจได้ เพราะบางครั้ง โรคเหล่านี้ (เช่น HIV) ก็ไม่แสดงอาการ กว่าจะรู้เท่าทันก็สายเกินไป
photographer unknown
การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะเป็นสิ่งที่ควรทำในทันที หากสังเกตได้ว่ามีอาการทางกายผิดปกติ ดังนี้
- ผู้ชาย : ขาหนีบบวม มีฝี รู้สึกแสบหรือปวดอวัยวะเพศเมื่อปัสสาวะ มีผื่น ตุ่ม หูด แผล หนอง หรือเมือกใสตรงบริเวณอวัยวะเพศ
- ผู้หญิง : ขาหนีบบวม มีฝี ปวดท้องน้อย ปวดหรือคันอวัยวะเพศ ตกขาวสีเหลืองหรือมีกลิ่นเหม็น มีผื่น ตุ่ม หูด แผล ตรงบริเวณอวัยวะเพศ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครกำลังสงสัยว่าตนติดเชื้ออยู่หรือไม่ และต้องการที่จะเข้ารับการตรวจ สิ่งแรกที่สามารถทำได้คือการเพิ่มเพื่อน Line Official ของโครงการ “Stand by you” @standbyyou ที่จัดทำโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ เพื่อทำการขอรับชุดตรวจ HIV ด้วยตนเอง เพียงแค่กรอกแบบประเมินความเสี่ยงก็รอรับฟรีได้ที่บ้าน และยังสามารถขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการและโรคผ่านทางช่องแชทได้อีกด้วย ข่าวดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชาชนชาวไทยมีสิทธิ์ตรวจหาเชื้อ HIV ฟรีปีละ 2 ครั้ง เพียงยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลประจำจังหวัด
Ignorance = Fear, Keith Haring 1989
แต่แน่นอนว่าการตรวจ HIV เพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เราควรจะตรวจหาโรคอื่นๆ ด้วย เช่น ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม ฯลฯ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละโรงพยาบาล และคลินิกต่างๆ ที่พร้อมให้บริการ มีให้เลือกตั้งแต่ตรวจบางรายการ ราคาหลักร้อย ไปจนถึงเหมาแพ็คเกจ ราคาหลักพัน ถึงแม้ว่าจะต้องเสียเงินและเวลา การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่ควรทำให้เป็นเรื่องปกติทั่วไป เพราะการรักษาสุขภาพไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่จำเป็นต้องทำ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง ชีวิตเซ็กซ์ที่ดี และความปลอดภัยของคู่นอน
อ้างอิง
กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค