บทสัมภาษณ์พิเศษพูดคุยกับ ‘เต้ย - ปณต ศรีนวล’ ในบทบาทของนักเขียน กับผลงานหนังสือล่าสุด “บันทึกกะเทยอีสาน” ที่ไปชนะโครงการ Progressive Fund จาก Common School ภายใต้การดูแลของ คณะก้าวหน้า กับการตีแผ่ประสบการณ์ของผู้เขียนที่ต้องพบเจอความไม่เท่าเทียมทางเพศ ปัญหาถูกกดทับจากระบบชายเป็นใหญ่ และการกระจายความเจริญที่ไม่ทั่วถึงทุกภาคส่วนในประเทศไทย
ในบทสัมภาษณ์นี้ เราได้ชวนเต้ยมาคุยเกี่ยวกับเรื่องคัลท์ที่สุดในหนังสือที่ได้เจอมา รวมถึงคำแนะนำที่มีให้เยาวชนคนข้ามเพศ และการเปิดรับความหลากหลายทางเพศในภาคอีสาน เราเริ่มเปิดบทสนทนาด้วยการถามคำแรกกับเต้ยว่า:
คิดว่าเรื่องราวบทไหนในหนังสือคือประสบการณ์ที่คัลท์ที่สุด และไม่คิดว่าจะได้เจออะไรแบบนี้
“บทที่เต้ยรู้สึกว่าคัลท์ที่สุดคือบทที่ไปอยู่วัด ก็คือการที่ตายแล้วไปรู้ว่าพระมีอะไรกัน สามเณรมีอะไรกัน เราคิดมาตลอดว่าวัดคือพื้นที่บริสุทธิ์ คิดว่าผู้ชายไปอยู่ร่วมกันเยอะๆ แล้วความเป็นชายจะหนักแน่น แต่ใครจะไปคิดว่าตรงนั้นมีพื้นที่ของคนรักเพศเดียวกัน (gender homosexual) ด้วย ตรงนั้นคล้ายๆ กับอาณาจักรในแง่ที่ว่า ผู้ชายหน้าตาดีตัวท็อปจะมีอำนาจ”
“เขาจะโดนจีบโดยกลุ่มแฟนด้อมสาวๆ เต้ยก็อยู่ในกลุ่มสาวๆ แต่ทุกคนอยู่ในกลุ่มสามเณร เราก็โดนจับคู่กับพี่คนหนึ่ง ตอนนั้นเป็นสามเณรหัวโปก ก็เลยจะมีการค้านอำนาจด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีพี่เลี้ยงสามเณร แล้วสามเณรสาวๆ ก็มีพี่เจษ ซึ่งเป็นพี่สามเณรสาวอีกคนหนึ่งเป็นพี่เลี้ยง พอนึกออกไหม มันก็จะเป็นเหมือนกะเทยตัวแม่ดูแลกะเทยตัวลูก จากที่เคยคิดว่าวัดจะได้ชูความเป็นชาย มีความเป็นชายมากขึ้น ตอนนั้นเราเชื่อว่ามันจะมีวิธีที่ทำให้เราไม่เป็นทรานส์ แต่พอเข้าไปจริงๆ ยิ่งทำให้ค้นพบตัวตนว่าเราคือทรานส์เจนเดอร์ ”
มีคนอ่านมาแชร์เรื่องราวของตัวเองที่คล้ายกับหนังสือบ้างไหม?
“หลายคนที่ทักมาจะไม่ทักมาในฐานะคนข้ามเพศเหมือนกัน แต่จะทักมาในฐานะคนอีสาน เขาเข้าใจมากๆ ว่าการหลุดพ้นจากความยากแค้นจะต้องผ่านการศึกษา เพราะฉะนั้นจึงต้องตื่นแต่เช้า นั่งรถไฟไป-กลับเพียงเพื่อเติมความหวังว่า โตขึ้นจะได้มีเงินแล้วหลุดพ้นจากความจน มีอีกหลายคนด้วยที่เข้าใจในจุดที่ไม่ได้อยากเรียนสายอาชีพ อยากเรียนคณะอักษรฯ แต่ดันไปอยู่ต่างจังหวัด มันก็จะมีแรงต่อต้านเต็มไปหมด พวกเราที่เป็นทั้งคนอีสานและ LGBTQ+ ต่อสู้กันมาเยอะ เรื่องอัตลักษณ์ทับซ้อนเป็นเรื่องจริง”
คิดว่าในปัจจุบัน มุมมองสังคมไทยในต่างจังหวัดโอบรับความเป็น LGBTQ+ มากขึ้นไหม?
“ในต่างจังหวัดยังเป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข มีการโอบรับดีขึ้นมากเลยนะ แต่มันต้องกับความเชื่อที่ว่าคนกลุ่มนี้จะต้องมาทำหน้าที่บางอย่าง ต้องเรียนเก่ง ต้องทำงานที่ดี อย่างตอนนี้เต้ยเองก็เป็นผู้ช่วยวิจัย ซึ่งต้องลงพื้นที่ ครั้งหนึ่งเราได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์กะเทยในจังหวัดทางภาคเหนือ ก็เลยได้รู้ว่าพวกเขาก่อตั้งกลุ่มไว้ไปช่วยทำงานต่างๆ เช่น บายศรี เพราะถ้าคุณเป็นกะเทย คุณต้องมาเข้าร่วมกลุ่มทำบายศรี ถ้าไม่มาหรือทำไม่เป็นก็ต้องทำให้เป็น ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าขนาดคนที่เป็น LGBTQ+ ยังมีปัญหาการกดทับเรื่องเพศภายในคอมมูนิตี้เหมือนกัน การยอมรับจึงมาพร้อมเงื่อนไขบางอย่างเสมอ”
อะไรคือปัญหาหลักของการยอมรับและเห็นค่าเยาวชน LGBTQ+ ในต่างจังหวัด
“ปัญหาหลักในต่างจังหวัดก็คือ เรื่องของความเชื่อจากคนในกลุ่มที่กดทับกันเอง เต้ยเคยได้ยินคำว่า “เป็นกะเทย ยังไงก็ใส่ซองกันหมด” (จ่ายเงินเพื่อให้ได้ผู้ชาย) ความเชื่อพวกนี้เป็นความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ ซึ่งคนในกลุ่มพูดใส่กันเอง ถ้าสมมติว่าคนในกลุ่มยังไม่ปลดแอกจากความคิดนี้ได้ ก็ยากที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คนกันเองจึงต้องช่วยกันปลดแอกความคิดนี้ ปัญหานี้ได้ถูกนำไปอยู่ในวาระข้อมูลของ UPR (Universal Periodic Review) ด้วยว่าคนข้ามเพศมีแนวโน้มที่จะไม่รวย เพราะเขาพร้อมจะจ่ายเพื่อให้ได้รับความรักหรือการยอมรับ กะเทยหลายคนไม่ได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ แต่พอถึงเวลาที่พ่อแม่แก่ตัว ก็ต้องกลับมาดูแลเพื่อความรัก หรือจ่ายให้ผู้ชายเพื่อชดเชยในสิ่งที่ตัวเองให้ไม่ได้ คนข้ามเพศเลยติดอยู่กับความสัมพันธ์ที่กดทับพวกเขา ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าไปจากคนนี้ ก็จะไม่มีใครรักเรา”
เต้ยแชร์ประสบการณ์ของตัวเองต่อปัญหานี้เพิ่มเติมว่า “เต้ยสู้เรื่องนี้มานานมาก ตอนที่เต้ยมีแฟนคนแรก เต้ยทำทุกอย่างเพื่อขอให้เขาอยู่กับเรา เต้ยวางแผนว่าจะไปเรียนต่อ แต่ก็ทิ้งทุกแผนเพื่อให้ได้รับความรัก ตั้งแต่นั้นมา เต้ยใช้เวลาครึ่งปีในการเรียนรู้ เราก็สำเร็จได้จากการทำงาน ทำโปรเจกต์ที่ทำงานหนัก มันคือการชดเชยช่วงเวลาที่ผ่านมา เต้ยรู้สึกผิดกับตัวเองในตอนนั้น นี่คือเบื้องหลังของคนที่ทำงานเก่งมากๆ ที่หลายคนเห็น มันมีอะไรขาดหายไปที่เต้ยต้องพยายามเอามาเติมเต็ม”
คิดว่าทำไมการมีพื้นที่ถูกมองเห็นและถูกนำเสนอในสื่อจึงสำคัญแก่ LGBTQ+
“การแสดงให้เห็นถึงตัวตนและการมีอยู่ของคนข้ามเพศที่ง่ายที่สุด คือการทำให้พวกเขาถูกมองเห็นในสื่อ ในมุมมองของคนขับเคลื่อน เราก็จะเห็นว่ามันมีพลังและทำให้เรามีพื้นที่มากพอ แต่พอเราเดินออกไปจากขบวนไพรด์สัก 200 เมตร คนก็ไม่เข้าใจกันแล้วว่าเรามาเดินทำไม มันยังมีคนที่ไม่เข้าใจอยู่เยอะ นี่คือสาเหตุว่าทำไมมูฟเมนต์ถึงต้องเคลื่อนต่อ ถ้าการทำให้ถูกมองเห็น (Visibility) ไม่เกิดขึ้น สิทธิ กฎหมาย ชดเชยผลประโยชน์ก็จะไม่มีเลย สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจ ถึงคนจะบอกว่าเยอะแค่ไหน เราก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อย เราจึงต้องรวมตัวกันผลักดันเพื่อให้คนกลุ่มน้อยอย่างเราได้รับสิทธิที่ควรได้รับตั้งแต่ต้น”
คำแนะนำที่อยากจะฝากให้ Trans Youth ในไทย
“สิ่งที่เต้ยอยากจะบอกเยาวชนคนข้ามเพศ (Trans Youth) คือมันมีหลายความเชื่อที่ว่า เราจะมีอนาคตที่ไม่สดใสเหมือนคนรักต่างเพศ แต่เราอยากให้รู้ว่ามันจะโอเคในท้ายที่สุด สิ่งที่คิดไว้จะมีโอกาสเป็นจริงเยอะ และที่มันเป็นจริงก็เพราะสังคมอยากให้เป็น แต่ที่มันจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าเยาวชนคนข้ามเพศได้อ่านข้อความนี้ คำแนะนำที่อยากจะบอกก็คืออยากให้แข็งแกร่ง ให้กล้าที่จะเป็นตัวเอง ถึงสังคมไม่รักเรา มันก็จะมีคนที่รักเรา และเชื่อใจเราในท้ายที่สุดเสมอ”
ปัจจุบัน ‘เต้ย’ เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการประจําสํานักข่าว “GendersMatter” ที่ทําประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศและอัตลักษณ์ทับซ้อน นอกจากนี้ เธอยังเขียนหนังสือเรื่อง “เรื่องเล่าของเต้ย: คนข้ามเพศ รัฐสวัสดิการ และการพัฒนาประเทศ” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกก่อน “บันทึกกะเทยอีสาน” นี้
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ จากพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic