Life

กินอยู่กับป่า อยากอยู่กับเถื่อน ‘อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ’ ไม่มีไฟ้า น้ำประปาใช้ แต่แนบชิดใกล้ธรรมชาติแบบขั้นสุด!

อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นเป้าหมายการเดินทางที่ใครๆ หลงใหล และชวนให้น่าค้นหา ด้วยบรรยากาศแสนสงบ และโฮมสเตย์สุดละลานตา แต่ถ้าใครอยากอยู่กับป่า แบบแนบชิดธรรมชาติ ตัดขาดจากโลกภายนอกชนิดที่ว่าไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปาให้ใช้ ‘อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ’ (Jungle Seeds) คือคำตอบที่ใช่ของคุณ

เพราะ 'เถื่อน' ไม่ได้หมายความว่า 'ดิบเถื่อน' แต่หมายถึง 'การย้ำเตือนให้หวนคิดถึงป่าเขาลำเนาไพร' จากความตั้งใจของทั้ง 3 ท่าน ผู้ร่วมออกแบบ สร้างแนวคิด และร่วมก่อตั้ง พี่ตรี ธาตรี สุขศิลปชัย, พ่อทอง แก้วใจมา และ พี่นก ทนงศักดิ์ แก้วใจมา ที่นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ก็อยู่เถื่อนมากว่า 6 ปีแล้ว

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโฮมสเตย์ ‘อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ’

ด้วยความที่ผมเติบโตมาในวัยเด็กที่บ้านนอก (จังหวัดอยุธยา) ก็คุ้นเคยกับบรรยากาศที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ อยู่กันใช้ฟืนแบบโบราณสมัย 60 ปีที่แล้ว พอเติบโตเราไปโตในกรุงเทพฯ ก็ใช้ชีวิตที่นั่น จนวันหนึ่งได้มาใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด จนมาทำโฮมสเตย์ที่นี่ คือ ‘พ่อทอง’ พามาดูที่ตรงนี้ (ซึ่งเป็นที่ของแก) ผมก็ไม่รู้ว่าแกพามาดูทำไม พอมาดูก็คุยกับแกว่า ที่ตรงนี้น่าทำที่พัก ก็เลยคุยกันหลายคนพร้อมคุยกับลูกแกด้วย ก็ตกลงทำกัน และวางคอนเซ็ปต์ไว้แบบนั้น ตอนแรกเรามีบ้านแค่หลังเดียว ซึ่งทำกันเองหมดเลย ไปตัดไม้ไผ่มาทำ มันก็เป็นข้อดี คือ เราไม่ได้ใช้เงินเป็นตัวเริ่ม แต่เราใช้ศักยภาพของคน ของป่า โดยเราแบ่งหน้าที่ร่วมกัน ให้พ่อทองเป็นคนดูแลแขก ส่วนผมดูเรื่องการออกแบบ, การวางแผน, การตลาด และการรับจอง ส่วนลูกชายของพ่อทอง ‘นก’ ดูแลเรื่องการเงิน และการก่อสร้าง เรื่องอาหาร และอีกหลายๆ อย่าง

“ผมก็มีไอเดียในสมองที่วาดไว้ว่าน่าจะเป็นแบบไหน คือ การจำลองชีวิตสมัยตอนที่พ่อทองยังเป็นเด็ก เพราะเขาเติบโตมากับป่านี้และใช้วิถีชีวิตแบบนั้น กินอยู่กับป่าแบบไม่มีไฟฟ้า หาอาหารกับป่า ใช้ฟืนทำอาหาร”

‘พ่อทอง’ คือ แรงบันดาลใจสำคัญ

ผมรู้สึกว่า วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมมันค่อยๆ หายไป จริงๆ มันมีคุณค่าในตัวของมันเอง เพราะมันช่วยตัวเองเกือบ 100% ในการมีชีวิตอยู่ คือเราไม่ต้องพึ่งพาของจากภายนอก เช่น สั่งของมากิน หรือไปซื้อของที่ตลาด คนสมัยก่อนแค่มีเกลือเขาก็อยู่ได้ พืชผักเขาก็ปลูกเอง อยู่ป่าก็มีพืชให้เลือกในป่าเยอะแยะ เหมือนซูเปอร์มาเก็ตตามฤดูกาลต่างๆ ซึ่งการอยู่แบบนี้ ผมมองว่า เป็นการอยู่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มันก็เลยเข้ามาอยู่ในคอนเซ็ปต์อันนี้ เพื่อให้คนที่มาพักได้เห็นสิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ แต่จะสร้างแรงบันดาลใจหรือไม่อย่างไร ก็อีกเรื่อง

อีกอย่างคือ พ่อทองมีความสามารถมากในหลายๆ ด้าน เรื่องช่างแกก็มือหนึ่ง สร้างบ้าน หรือแม้กระทั่งงานคราฟต์ ทำอะไรเล็กๆ พวกเฟอร์นิเจอร์ หรือ ถ้วยชาม แกก็ทำของแก พอเราคุยเรื่องคอนเซปท์พวกนี้ ก็ทำหน้าที่ของตนเอง พวกถ้วย ช้อน ชามกะลามะพร้าว แกทำให้แขกใช้ ผมก็มองว่าดี มันเป็นการผสมผสานที่ไม่ต้องคุยกันมาก แค่ใช้ศักยภาพในตัวแต่ละคน โดยที่เราไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงใคร

“เหมือนพ่อทองพาลูกหลานไปเที่ยว ซึ่งแกก็แฮปปี้นะ ตอนแรกก็หวั่นๆ อยู่ว่าจะคุ้นเคยไหมที่ต้องเจอคนทุกวัน บางวันเจอหลายคน แต่ปรากฎว่าดีสำหรับคนมีอายุ ทำให้แกไม่เหงา สดชื่น แจ่มใส มีเรื่องเล่าเยอะแยะ ซึ่งอยู่ในคอนเซปท์ที่พวกเราวางกันไว้ มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมของพ่อเองที่อยู่ป่าจริงๆ“

ที่มาของชื่อ ‘อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ’

เมื่อเราจะพรีเซนต์เรื่องการอยู่กับป่า เราจะตั้งชื่อยังไงให้ความรู้สึกว่าอยู่ป่า แล้วเราจะค้นหาว่าที่ไหน เหมือนเป็นการให้เกียรติพื้นที่ด้วย คือ พื้นที่สวน พ่อเขาเรียกว่า ‘สวนเกาะ’ มันเป็นชื่อสวนดั้งเดิมของที่นี่ ในส่วนที่เป็นที่ของพ่อทองนะ ผมเลยใส่คำว่า ‘อยู่เถื่อน’ เข้าไปข้างหน้า กลายเป็น 'อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ' คำว่า เถื่อน หมายถึง ‘ป่า’ 

ยิ่งมืด…ป่าไม้ และธรรมชาติยิ่งสว่างมากยิ่งขึ้น

การที่เราไม่มีไฟฟ้า มันมีข้อดีอันหนึ่งที่ผมรู้สึกได้ เวลามืดเรารู้สึกธรรมชาติอยู่กับเรา และโอบกอดเราใกล้ชิดกว่าตอนเปิดไฟ ที่ทำให้พื้นที่รอบๆ ตัวเราสว่าง เหมือนเราผลักธรรมชาติออกไปให้ไกลตัวเรา ถ้าจะอยู่ป่าให้ได้ความรู้สึกแบบที่คนโบราณเคยอยู่ ก็ควรจะไม่มีสิ่งนั้น จริงๆ ผมไม่อยากให้มีอินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำ แต่สัญญาณมันมาเอง

เรื่องการกินอยู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องหรูเกินไป หรือขาดแคลนก็ไม่ใช่ นอนก็ต้องสบาย เพราะจริงๆ สบายได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนอน เรื่องห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งอาหาร ค่อนข้างสบาย ไม่ใช่คุณมาอยู่ป่าแล้วกินอะไรลำบากเกินไป เพราะจริงๆ เขาก็ไม่ได้ลำบาก แต่ดั้งเดิมเขามีกินอุดมสมบูรณ์ อยากกินอะไรก็ไปหาเอาได้ โดยไม่ต้องใช้ตังค์ อาหารที่ได้จากวัตถุดิบสดๆ จากธรรชาติ ทั้งเนื้อสัตว์ และผัก

ข้อควรรู้ หรือการเตรียมตัวก่อนมาพักที่ 'อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ' 

เตรียมเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ เพราะมนุษย์เราชอบคาดหวัง หรือพยากรณ์อะไรล่วงหน้าไว้เสมอ ด้วยประสบการณ์ของเรา อย่างเราจะเดินไปทางนี้เราต้องเจออะไร เราจะคิดไปก่อนเสมอ อย่างถ้าเราเห็นไฟ เรารู้ว่ามันร้อนแน่ๆ เราจะตีความไปก่อนเสมอ แต่การเป็นอย่างนั้น มันทำให้เราตั้งแง่กับประสบการณ์ที่เราจะทำ หรือเจอข้างหน้าของเรา เราตั้งกำแพงด้วยความคิด ความรู้สึกอะไรของเราไปก่อน แต่ถ้าเราไม่ตั้งกำแพงตรงนั้น และปล่อยให้มันว่างเปล่าแล้วเผชิญกับมัน มันจะได้รับประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และน่าสนุกกว่าการตั้งแง่เอาไว้ก่อน

กิจกรรมมากมาย ในราคาที่สมเหตุสมผล

บ้านเริ่มต้นที่คนละ 850 - 950 บาท (ขึ้นอยู่กับจำนวนคนด้วย) ถ้าเต๊นท์ 650 บาท (แล้วแต่จำนวนคน) พร้อมอาหาร 2 มื้อ มื้อเย็น (ของวันที่เข้าพัก) และมื้อเช้า (ของอีกวัน)

กิจกรรมของเรามีเดินป่า และมีหลายเส้นทาง แล้วแต่จะเลือกลักษณะของการเดิน ถ้าเดินชิลๆ ธรรมดาก็ไปน้ำตกแล้วกินข้าว ตอนเดินกลับก็ชมธรรมชาติ แบบเดินไม่ลึกมาก 

ถ้าเป็นอีกแบบคือ เดินป่าแบบลึกหน่อย ลึกคือ ทำความเข้าใจกับพืชพันธุ์ต่างๆ พวกสมุนไพร หรืออาหารต่างๆ ที่เราสามารถหาได้จากป่า โดยให้ไกด์ท้องถิ่นนำทาง เป็นทริปศึกษาธรรมชาติที่ลึก

มีคลาสทำชา ซึ่งในสวนเกาะเป็นสวนชาด้วย ซึ่งมีชาอยู่เยอะมาก อาชีพหนึ่งพ่อก็ทำชา ทำเมี่ยงขาย พอเปิดตรงนี้เลยให้พ่อทองสอน พาแขกเก็บชา นวด และคั่วชา จนถึงชงดื่ม ก็เป็นคลาสที่พ่อทองเป็นคนสอน รวมถึงคลาสทำกาแฟ หรือ เรียนรู้กาแฟเบื้องต้น ตั้งแต่การคัดกาแฟ การคั่ว การชง

คนที่ทำกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักหรืออะไรก็ตาม มันเป็นการส่งเสริมทั้งนั้น เพราะถ้าเราทำออกมา มีบริการหลายรูปแบบให้คนได้เลือก มันก็ย่อมเป็นการส่งเสริม ให้เกิดความคึกคักทางธุรกิจนี้โดยปริยายอยู่แล้ว 

“คนสนใจอยู่เถื่อน เพราะหลายคนที่จองมาชอบบอกว่าชื่อท้าทาย น่าสนใจ อยากมาดูว่าเป็นยังไง”

ความตั้งใจของ ‘อยู่เถื่อนฯ’ กับอนาคตการท่องเที่ยวแบบยั่งยื่นในเชียงดาว

มีบางส่วนที่ทำ แต่ไม่ได้ทำทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น มีโฮมสเตย์อยู่หลังหนึ่ง ปลูกผักเอง ทำอะไรกินเอง บริการแขกเอง พวกนั้นเป็นการส่งเสริมการอยู่แบบยั่งยืนในแง่หนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าทำในแง่ของ Sustainable จริงๆ มันต้องเข้มงวดมากกว่านั้น และจริงจังมากกว่านั้น ซึ่งคนที่เขาเริ่มทำพวกนี้ เขาทำไปโดยอัตโนมัติ หรือความรักของเขาเอง แต่แนวคิดนี้ยังไม่แพร่หลายไปสู่โฮมสเตย์ที่อื่นๆ ซึ่งมีเยอะมหาศาล คนที่ทำแล้วยั่งยืนแม้จะมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีหน่อยแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้ทำ และไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย ยังมีอีกเยอะมาก 

แต่ถ้าพูดถึงตัวอยู่เถื่อนเองคล้ายๆ จะเป็น Sustainable อยู่กรายๆ ตัวผมเองก็คิดเรื่องพวกนี้อยู่ แต่การขับเคลื่อนให้เป็น 100% มันต้องอาศัยองค์ประกอบที่เยอะมากๆ เรามอง และพยายามจะคืบคลานออกไป อย่างเรื่อง การกำจัดขยะ การใช้พลาสติก เรื่องอาหารปลอดภัย เราพยายามคืบคลานไปเรื่อยๆ แต่ตัวฐานของเราเอง เราเริ่มจากตรงนั้น ในมุมส่วนตัวไม่น่าห่วง แต่ส่วนรวมสำหรับโฮมสเตย์ ถ้าจัดการไม่ดีก็เป็นตัวทำลายทรัพยากรเยอะมาก

“ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เชียงดาวหรือที่อื่นๆ ต้องเรียนรู้อีกเยอะเลยครับ เพราะยังไม่มีที่ไหนทำเรื่องนี้อย่างโดดเด่น และแพร่หลาย หมายถึงการทำโฮมสเตย์แบบยั่งยืน เพราะมันเป็นเรื่องซับซ้อน สำหรับเรื่อง Go green ผมว่ายังไม่มีใครทำที่เป็นเรื่องเป็นราว”

การสนับสนุนที่ดี แต่ยังไม่ค่อยถูกจุด

ทุกที่เขาทำ เขาสู้ด้วยตัวเขาเอง ยิ่งถ้ามีภาครัฐ หรือเอกชนมาส่งเสริม ก็ยิ่งเป็นเรื่องดี แต่ทำได้ถูกจุดไหม การเข้ามาช่วยเหลือ มีความคิดรวบยอดโดยรวมไหม เพราะหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเยอะ แต่เหมือนแยกกันทำ ไม่เป็นองค์รวม ทำแบบไม่หวังผลมากนัก ในส่วนของภาครัฐ ตัวนโยบายเป็นตัวสำคัญว่า จะส่งเสริมเรื่องพวกนี้อย่างไร ซึ่งช่วยได้มาก ไม่ต้องไปกีดกัน หรือไปสร้างเงื่อนไขให้เขายุ่งยาก ส่งเสริมความรู้ ให้เขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งทำได้ และควรที่จะมีการส่งเสริม แต่ต้องจริงจังมากๆ 

มาแอ่วเชียงดาวกันเน้อ เพราะที่นี่มีครบทุกอย่างทั้งธรรมชาติ และวัฒนธรรม

มาแอ่วเชียงดาว เชียงดาวน่าอยู่ ซึ่งองค์การ UNESCO ได้ประกาศให้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว รวมถึงพื้นที่บางเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติ, ระบบนิเวศ, พืชพรรณไม้, สัตว์ป่านานาชนิด รวมทั้งมีความหลากหลายของวิถีชีวิต, วัฒนธรรมประเพณี, การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่ภาครัฐ และเอกชนต้องคล้อยตาม แต่ตอนนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งการประกาศครั้งนี้ส่งผลถึงข้อบังคับมากมายในการจัดการป่า และส่งผลกระทบกับคนที่อยู่แถบนี้ คนที่ทำธุรกิจด้านนี้ด้วย แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนออกมา

แค่ ‘พ่อทอง’ ยิ้ม ผมก็มีความสุข

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีที่สุดคือ เห็นพ่อทองยิ้ม เห็นแกมีความสุข แต่ผมคุยกับลูกแกเยอะหน่อย เราจะเน้นเรื่องคนที่ทำงานกับเรา อยู่กับเราแบบครอบครัว และมีความสุข ถ้าพ่อมาทำงานที่นี่แล้วแกมีความสุข มันก็เข้าเป้าที่เราวางไว้ สองมีรายได้ พ่ออายุมากแล้ว 73 ปี แต่ยังมีรายได้จากการดูแลแขก จากธุรกิจที่ทำร่วมกันมา เป็นหลักประกันเรื่องอนาคตบางอย่าง ซึ่งตรงนั้นเป็นเป้าหมายหลักของเรา ไม่ว่าเพื่อนร่วมงานทำโฮมสเตย์คนไหนมี หรือไม่มี เราก็ช่วยกัน

“ช่วงโควิดผมไปกินข้าวบ้านพ่อ มันไม่มีรายได้ แต่เราดูแลกันแบบลูกหลาน ธุรกิจนี้ที่เกิดขึ้นมา ถ้าองค์ประกอบนี้ประสบความสำเร็จ มันคือสิ่งที่ผมมีความสุขที่สุดและประทับใจที่สุด วันที่พ่อยิ้ม สบายใจ ไม่เครียด”

คงจะจริงอย่างที่พี่ตรีกล่าวไว้ เพราะจากการเข้าพักที่อยู่เถื่อนฯ ของผู้เขียน (ซึ่งรอบนี้เป็นรอบที่ 2 แล้ว) ก็พบว่า การมาอยู่เถื่อนเหมือนย้ำเตือนให้เราได้คิดถึง และเข้าถึงธรรมชาติถึงแก่นแท้ ด้วยความเงียบสงบ ความมืด และความสว่างของแสงที่ได้จากธรรมชาติ การอาบน้ำเย็นที่ส่งตรงมาจากลำธาร และอาหารการกินที่มีความเรียบง่าย แต่สดใหม่ และอร่อย ก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมใครต่อใครจึงชอบมาเที่ยว และแวะพัก ณ ที่แห่งนี้

ความยาก-ง่าย และ ความท้าทายในการทำ ‘อยู่เถื่อน ณ สวนเกาะ’

ในการเริ่มขึ้นมา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายเลย เราใช้ใจทำขึ้นมา ทุกอย่างเลยกลายเป็นง่ายไปหมด แต่การที่จะทำในยุคที่โลกมันเปลี่ยนไป ผมเน้นที่เรื่องอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมนะครับ บริษัทใหญ่ที่ร่วมลงทุนก็มีทั่วโลกเขาเริ่มมีข้อกำหนดในการลงทุนว่า ถ้าทำแล้วรักสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้าไม่ Green ขอถอนออกมา แนวโน้มการลงทุนของโลกในธุรกิจใหญ่ๆ ประเด็นเรื่อง Green เป็น�