Life

Into The Healing Rabbit Hole: รู้จักช็อกโกแลตไทย และ Cacao Ceremony กับ 'เท้ม Kokomary BKK'

ถ้าพูดถึงช็อกโกแลต คนส่วนใหญ่คงคิดถึงรสชาติหอมหวาน นุ่มละมุนลิ้น ที่กินเมื่อไหร่ก็ทำให้รู้สึกฟิน และมีพลังจะสู้ชีวิตต่อไป แต่ถ้าเราบอกว่าช็อกโกแลตสามารถเป็นได้มากกว่าขนมหวานหน้าตาสวยและช่วยชุบชูใจคนกินได้ จะเชื่อกันหรือเปล่า?

EQ พาทุกคนไปทำความรู้จัก 'เท้ม' นักดนตรีร่างใหญ่แต่ใจดี เจ้าของร้าน 'Kokomary BKK' ผู้นำ 'ช็อกโกแลตไทย' มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของ 'พิธีกรรม' ที่ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ เช่นเดียวกับเชื่อมโยงชีวิตของเราให้เข้ากับรากเหง้าแห่งธรรมชาติ ในนามของ 'Cacao Ceremony'

เท้มทำอะไรมาก่อนจะทำ Kokomary BKK?

เท้มเป็นนักดนตรี มีวงของตัวเอง แล้วก็เป็นแบ็กอัพให้กับศิลปินด้วย แล้วเท้มก็มีความสนใจเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ คือเรารู้สึกว่าดนตรีกับศิลปะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสนใจวัฒนธรรมที่ลึกลงไป ซึ่งสำหรับเรามันลึกในเชิงของความรู้สึก หรือมันพาเรากลับไปเชื่อมโยงกับอะไรบางอย่าง เหมือนพาเราไปเชื่อมต่อกับรากเหง้าของเราเอง

ร้าน Kokomary BKK เริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร?

มันมีหลายช่วงเหมือนกันนะ มันมีช่วงที่เราตัดสินใจจะเปิดร้าน แล้วก็เลือกโฟกัสเลยว่าเราจะขายแค่โกโก้อย่างเดียว คือเราได้เห็นว่าโกโก้มีประโยชน์และทุกคนต้องได้กินสิ่งนี้ ก่อนหน้านั้นเราก็ไปไล่ดูว่าโกโก้ของบ้านเรามีหลายตัว มีหลายรสชาติมากเลย แล้วเราก็มีโอกาสได้ไปออกบูท ได้ไปเจอพี่ๆ เกษตรกรที่ให้เราไปลองทำพิธีกรรม ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าคนจะไม่เข้าใจหรืออาจจะมีคนน้อย แต่ปรากฏว่ามันมีคนเข้าร่วมเยอะมาก คือเรานำเสนอแตกต่างจากร้านคาเฟ่ปกติด้วยแหละ เราไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคาเฟ่ด้วยซ้ำ แต่เราเป็นเหมือนห้องรับแขกที่ชวนคนมานั่งคุยกัน อัปเดตการเดินทางของแต่ละคน ช่วงนี้ไปทำอะไรมาบ้าง เล่าปัญหาให้กันฟัง ซึ่งพอได้แลกเปลี่ยนกัน เท้มว่ามันจะเกิดแรงบันดาลใจให้กันและกันได้

ร้านนี้ไม่ใช่แค่คาเฟ่ที่ขายโกโก้อย่างเดียวใช่ไหม?

เราได้ยินคำหนึ่งจากคนที่เข้ามานั่งที่นี่แหละ เขาบอกว่าเหมือนถูกดูดเข้ามา แล้วมันเป็นอีกจักรวาลหนึ่งเลย เขาเลยเรียกที่นี่ว่าเป็นเหมือน 'โพรงกระต่าย' คือคนไม่รู้ว่าจะเข้ามาเจออะไรด้วยซ้ำ เมนูก็ไม่มี แต่พอเข้ามาแล้ว หลายคนได้รับอะไรบางอย่างกลับไป แบบที่เขาก็ไม่ได้คาดคิดเอาไว้ว่า อาจจะได้คำตอบ ได้แรงบันดาลใจ หรือได้การรับรู้ตัวเองบางอย่าง มันก็เลยคล้ายๆ กับการมาทำพิธีกรรม แต่เป็นพิธีกรรมกินโกโก้แล้วคุยกัน

พิธีกรรมกินโกโก้คืออะไร?

ถ้าพูดถึงตัว Cacao Ceremony จริงๆ มันก็เป็นเรื่องของพิธีกรรม คือคาเคา (Cacao) เป็นพืชเก่าแก่หลายพันปีที่เริ่มต้นใช้ในชนพื้นเมืองทางอเมริกาใต้ มันถูกใช้เป็นอาหารและเป็นยา โดยมีความเชื่อว่าคาเคาเป็นเหมือน 'อาหารจากเทพเจ้า' แล้วก็เป็นสัญลักษณ์เชิงจิตวิญญาณ จากนั้นมันก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในพิธีกรรมที่ช่วยให้ผู้คนของเขาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา เช่น ภูเขา พระอาทิตย์ หรือแม่น้ำ เป็นต้น มันเหมือนเป็นการปลุกสำนึกบางอย่างให้มีความกตัญญูต่อธรรมชาติและระลึกถึงคุณของธรรมชาติ

แล้วคาเคาก็พาไปถึงเรื่องของจิตวิญญาณ เขาเชื่อว่าการดื่มคาเคาจะทำให้จิตวิญญาณของเราเกิดการตื่นรู้บางอย่าง แล้วก็เข้าไปปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเท้มมองว่ามันมีหลายองค์ประกอบ ทั้งเรื่องฤทธิ์ของคาเคาเอง หรือตัวสรรพคุณที่ค่อนข้างเข้มข้น บวกกับบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม การทำพิธีของผู้นำพิธีที่มีพลัง ซึ่งมันอาจจะจับต้องยาก แต่มันรู้สึกได้เมื่อเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ตรงนี้

ไปเจอศาสตร์การใช้คาเคานี้ได้อย่างไร?

ก่อนหน้าที่จะเจอคาเคา เราชอบเกี่ยวกับชนเผ่าทางอเมริกาใต้อยู่แล้ว พวกงานศิลปะ งานผ้า งานเครื่องปั้นดินเผา หรือพวกองค์ความรู้และภูมิปัญญาของอเมริกาใต้ จากนั้นเราก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรของทางอเมริกาใต้เพื่อบำบัดรักษา ปรากฏว่าได้ผลจริง ร่างกายได้รับการดีท็อกซ์ การรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ดีขึ้นทั้งหมด เรานอนหลับได้ดีขึ้น รู้สึกสดชื่นมาก ก็เลยรู้สึกว่าภูมิปัญญาเหล่านี้น่าสนใจ จนเริ่มทำร้าน เราก็เริ่มลองศึกษาทั้งกาแฟ มัทฉะ จนมาถึงคาเคา แล้วมันก็มีเรื่องของพิธีกรรมเข้ามาด้วย ซึ่งเรามีความสนใจเรื่องดนตรีชนเผ่าอยู่ก่อนแล้ว ก็เลยเอาดนตรีมาใช้กับพิธีกรรมนี้ด้วย

ดนตรีกับ Cacao Ceremony เชื่อมโยงกันอย่างไร?

ในหลายพิธีกรรมก็จะมีเรื่องของดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างการโห่ร้องรอบกองไฟ การเฉลิมฉลอง การบูชายัญ ซึ่ง cacao ceremony ก็มีเหมือนกัน แต่เท้มผสมผสานหยิบเอาเครื่องดนตรีที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจมาใช้ให้เข้ากับพิธีกรรม เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางบางอย่างข้างใน เวลาที่เราทำพิธีกรรม แล้วดื่มคาเคาไปแล้ว เท้มจะให้ทุกคนนอนหลับตา เพื่อให้เขาลองเดินทางโดยที่ไม่ต้องดูเราเล่น แต่ให้ได้ยินเสียง แล้วเสียงพวกนี้แหละจะพาพวกเขาไปรำลึกถึงอะไรบางอย่าง ซึ่งมันอาจจะไปสะกิดสิ่งที่อยู่ข้างใน ทำให้ความทรงจำบางอย่างกลับมา หรืออาจจะนำพาเขาไปสู่พื้นที่หรือห้วงเวลาอื่นๆ

เครื่องดนตรีประกอบพิธีกรรมจะเป็นประมาณไหน?

Water Whistle Vessel เป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ทำให้เกิดเสียง เป็นเครื่องปั้นดินเผา ที่ต้องใส่น้ำลงไป แล้วเวลาที่ขยับ น้ำก็จะดันอากาศออกไปทำให้เกิดเสียง เท้มใช้อันนี้ในพิธีกรรม แต่ทุกคนจะไม่เห็นหรอก เพราะหลับตากันอยู่ และพอเวลาที่ได้ยินเสียงพวกนี้ เราก็จะจินตนาการไม่ออกว่าเสียงนี้มันมาจากไหน แต่ครั้งแรกที่เราได้ยินเสียงของมัน เราคิดว่าน่าสนใจมากๆ พออยู่ในพิธีกรรมก็ขลังมาก แล้วมันดึงเอาความรู้สึกหรืออารมณ์บางอย่างออกมา เขาเชื่อว่าในยุคเก่า เครื่องดนตรีเหล่าคือตัวช่วยเรียกคืนจิตวิญญาณของผู้คน จิตวิญญาณที่ถูกกดทับ

คนที่มาเข้าร่วมพิธีกรรมเป็นใครบ้าง?

ก็แบ่งได้หลายกลุ่มนะ ตั้งแต่คนที่ไม่รู้เลยว่าคืออะไร กับกลุ่มที่เขารู้อยู่แล้วว่าคาเคาสามารถรักษาอะไรบางอย่าง หรือให้คำตอบบางอย่างกับเขาได้ ผ่านขั้นตอนต่างๆ อย่างของเท้มจะมีการใช้คาเคา มีการคุยกัน มีการใช้เสียง มีการใช้ไพ่ออราเคิล ซึ่งไพ่นี้ก็ทำงานได้น่าสนใจเหมือนกัน คือถ้าย้อนกลับไปเราจะพบว่าคาเคาคือยาเปิดใจ พอกินเข้าใจแล้วจะผ่อนคลาย ทำให้รู้สึกตื่นรู้ รู้สึกเชื่อมต่อกับอะไรบางอย่าง ทำให้รู้สึกสนุก ผ่อนคลาย หรือบางคนร้องไห้ก็มี เรียกว่าแต่ละคนที่เข้าร่วมพิธีกรรมจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันเลย แต่หัวใจหลักคือการกลับมาเชื่อมโยงกับความรู้สึกข้างในของตัวเอง แล้วเราจะลืมความกังวลหรือสิ่งต่างๆ ก่อนหน้านี้ เหมือนเราได้กลับมาอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น

ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้าง?

ถ้าในมุมมองของเท้ม มันก็เกินความคาดหวังไปแล้ว คนสนใจมากขึ้น แม้กระทั่งคนที่เคยได้ยินหรือรู้อยู่แล้วว่ามันคืออะไร เขาก็มาหาเรา แล้วที่เรารู้สึกมีความสุขมากคือเขารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เขามานั่งแล้วเขารู้สึกว่าสามารถอยู่ตรงนี้ได้ทั้งวัน แล้วก็พูดคุยกันจนรู้สึกสบายใจ คือพอเรารับคนน้อย เราก็ได้คุยกันลึกซึ้งมากขึ้น แล้วเราก็จะใช้โกโก้เป็นตัวเปิดใจและเปิดความรู้สึก พอถึงช่วงท้ายเราก็เริ่มเอาไพ่ออราเคิลมาใช้ ซึ่งมันทำงานได้น่าสนใจมาก เหมือนเปิดใบไหนมาก็โดนเต็มๆ เลย มันไม่ใช่การดูดวง แต่มันทำงานกับความรู้สึกของเรามากกว่า

คิดว่าทำไมศาสตร์การฮีลลิ่งหัวใจจึงได้รับความนิยมมากๆ ในช่วงหลังมานี้?

อย่างแรกเราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ ที่คนหันกลับมาสนใจดูแลสุขภาพภายในของตัวเอง แต่เราว่ามันอาจจะมีจุดเปลี่ยนตอนโควิด-19 ที่สถานการณ์ค่อนข้างรุนแรง แล้วช่วงนั้นคนก็ค่อนข้างหดหู่กัน การได้กลับมาดูแลภายในของตัวเองให้ดีขึ้น มันก็เลยเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการที่เราจะดำเนินชีวิต หรือรับมือกับเรื่องราว เหตุการณ์ และข้อมูลต่างๆ ได้ดีขึ้นด้วย หลายศาสตร์ของการฮีลลิ่งที่เห็นมันค่อนข้างเกี่ยวกับการทำสมาธิ ซึ่งมันอาจจะแตกต่างจากการนั่งวิปัสสนาหรือการเข้าวัด ตอนนี้เราไม่ต้องฝึกทำสมาธิด้วยการเดินจงกรมอย่างเดียวแล้ว แต่เราสามารถฝึกได้ด้วยโยคะ ศิลปะ หรือการระบายสี ซึ่งเท้มว่ามันทำให้เราเข้าไปอยู่ในสภาวะนั้นได้นุ่มนวลและกลมกลืนกับชีวิตของคนในยุคนี้ได้มากขึ้น เพราะวิถีชีวิตของคนตอนนี้มันเร็ว คนต้องทำงาน มีเวลาพักผ่อนน้อยมาก เหมือนเราถูกดึงออกไปจากศูนย์กลางของเราไปเรื่อยๆ

ใช้ช็อกโกแลตไทยเกือบทั้งหมดเลยใช่ไหม?

ใช่ ใช้ช็อกโกแลตไทยทั้งหมด จะมีแค่ในพิธีกรรมที่เท้มจะเอาของเปรูมาผสมนิดหนึ่ง แต่หน้าร้านจะใช้ของไทย แล้วก็จะหมุนเวียนกัน เพราะว่ามันมีเยอะมาก มีหลายจังหวัด เราก็เลยใช้เดือนละ 3 - 4 จังหวัด แล้วเดือนหน้าก็อาจจะสลับเอาที่อื่นมาใช้ เพื่อที่เราจะได้ซัพพอร์ตพี่ๆ เกษตรกรกระจายกันไป

ต้องการสนับสนุนเกษตรกรไทยใช่ไหม?

บ้านเราปลูกโกโก้เยอะมากนะ หลายสิบจังหวัด เราก็พยายามซัพพอร์ตหมด แล้วเราก็ชอบซัพพอร์ตพวกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วย อย่างบ้านนี้ทำน้ำตาลมะพร้าว บ้านนี้ทำน้ำผึ้ง เรียกว่าวัตถุดิบของแต่ละจังหวัดมีเยอะมาก แล้วมันเป็นวัตถุดิบที่ค่อนข้างเป็น raw material คือก่อนหน้านี้เราจะรู้จักโกโก้ผงแบบที่ขายกันอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านน้ำชงก็เป็นโกโก้ผง ซึ่งพอเราไปศึกษาก็พบว่า จริงๆ แล้วคุณประโยชน์ของโกโก้อยู่ในเนย (coco butter) ของมัน แต่นักวิทยาศาสตร์สกัดเอาเนยโกโก้ออกไปทำยาหรือเครื่องสำอาง แล้วก็จะเหลือกากโกโก้ เขาจึงเอากากไปปั่นเป็นผง ใส่เคมีลงให้สีเข้มและลดความเปรี้ยวลงไป ซึ่งถ้าเป็นโกโก้ธรรมชาติจะมีความเปรี้ยว มีความฟรุตตี้เหมือนกาแฟเลย แต่มันกินยาก คนไม่คุ้น

ได้เรียนรู้อะไรจากแวดวงช็อกโกแลตไทยบ้าง?

ช็อกโกแลตไทยเติบโตเร็วมาก และลงลึกแบบเดียวกับกาแฟเลย ทั้งเรื่องการหมัก การคั่ว การดึงรสชาติของแต่ละพื้นถิ่น หรือกระทั่งการส่งช็อกโกแลตไปประกวดระดับนานาชาติ เท่าที่คุยก็ถือว่าช็อกโกแลตของเราเติบโตแซงหลายคนไปแล้ว และเราก็ยังไปได้อีกไกลมาก ทั้งในแง่ธุรกิจและการเติบโตของช็อกโกแลต เพราะบ้านเราดินดี แดดดี แล้วคนเก่งก็เยอะ

ตอนนี้เท้มกำลังสนใจเรื่องการปลูกโกโก้แบบอินทรีย์ และการทำงานร่วมกับชุมชน ยกตัวอย่างล่าสุดคือที่ตาก ล่าสุดได้เจอกันก็ดีใจมาก แล้วเราก็ได้รู้ว่าเขาทำงานปลูกโกโก้ร่วมกับชาวบ้านปกาเกอะญอ ทำเป็นเชิงอนุรักษ์ด้วย แล้วก็ยังมีที่หนองคาย ที่เขาก็อยากให้เราไปทำพิธีกรรมตรงนั้น คือเราสนใจกลุ่มของพี่ๆ ที่อาจจะยังไม่ใช่ตัวใหญ่หรือเป็นที่รู้จักมาก แต่กำลังทำงานและต่อสู้กับอะไรบางอย่างอยู่ เราว่ามันน่าซัพพอร์ตมากๆ

ทิศทางต่อไปของ Kokomary BKK และ Cacao Ceremony จะเป็นอย่างไร?

เอาของเท้มก่อนก็ได้ เท้มยังสนใจการใช้คาเคาเป็นยา แต่อยากให้มันเริ่มเข้าไปอยู่ในซันที่ไม่ใช่แค่ในพิธีกรรม อย่างซีนศิลปะ หรือซีนปาร์ตี้ อาจจะเป็นปาร์ตี้ไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ใช้โกโก้แทน แล้วคนก็สนุกไปกับดนตรี มีดีเจ แต่ก็อาจจะมีกลิ่นอายชนเผ่าหน่อย มีความเป็นธรรมชาตินิดหนึ่ง หรือแม้กระทั่งการเข้าไปเสพงานศิลปะ เราก็ดื่มโกโก้แล้วเข้าไปดูงานอะไรแบบนี้ คือเท้มมองว่าโกโก้ค่อนข้างมีผลในเรื่องความรู้สึกเยอะ ถ้าถูกเอาใช้ ก็น่าสนใจว่ามันจะนำพาเราไปสู่อะไร

ส่วนของ Kokomary BKK เราก็ยังชอบที่มันเล็กๆ แบบนี้แหละ แต่เราอยากมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมและเวิร์กช้อปอื่นๆ ได้ด้วย คล้ายกับเพลย์กราวด์ เพราะพื้นที่ตรงนี้ก็เป็นเหมือนคอมมูนิตี้ของนักดนตรีอยู่แล้ว และอีกฝั่งถนนก็เป็นแกลเลอรีมาเปิดใหม่ ถ้าเราร่วมมือกันได้ ก็น่าจะทำอะไรที่เป็นเรื่องของศิลปะ ดนตรี และการฮีลลิ่งได้

ร้าน Kokomary BKK

ตั้งอยู่บนถนนอ่อนนุช ประมาณซอยอ่อนนุช 25 (Google Map)

Facebook: Kokomarybkk

Instagram: kokomarybkk