Identity

Leather' อีโรติกแฟชั่นและวัฒนธรรมที่ปลุกพลัง 'ความเป็นชายแบบดิบ' ใน LGBTQ+

“ชุดหนังมันเซ็กซี่ มันเป็นแฟชั่นที่ดูอีโรติกและเท่” เวลาไปงานอีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ งานไพรด์ หรืองานที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จะมีคอมมูนิตี้เครื่องหนังทุกที อาจจะทำให้บางคนเกิดสงสัยว่า พวกคนที่ใส่เครื่องหนังเนี่ย ใส่เพราะว่าดูเท่หรือว่ามันมีความหมายอะไรซ่อนอยู่กันแน่ ในบทความนี้ เราอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ sub culture ที่เรียกว่ากลุ่ม ‘Leather’ กันให้มากขึ้นว่า พวกเขามีที่มาที่ไปกันอย่างไร

นักสังคมวิทยา ‘เมริดิธ จี เอฟ วอร์เธน’ (Meredith G.F. Worthen) ผู้เขียนหนังสือ 'Sexual Deviance and Society' ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดคอมมูนิตี้ Leather ไว้ว่า การเข้าไปใช้ชีวิตในกองทัพทหาร ช่วงปี 1940 ถึง 1950 ทำให้ผู้ชายหลายคนได้มีพื้นที่ทดลองความสนใจที่มีต่อคนเพศเดียวกันมากขึ้น และพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจของผู้ชายที่เปิดเผย และสนิทสนมกับเพื่อนเพศเดียวกันมากกว่าสังคมข้างนอกด้วย

Photo credit: The National WWII Museum

เมื่อสงครามโลกจบลง ทางกองทัพก็ได้ทำการปลดประจำการที่เรียกว่า 'Blue Discharges' หรือ ‘Blue Tickets’ ที่เป็นหนังสือทางราชการ อนุญาตให้ปลดประจำการกลุ่มคนที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความต้องการของกองทัพ ให้ออกจากกองกำลัง อีกนัยหนึ่งคือการไล่ออกเพื่อลดขนาดกองทัพ ซึ่งกลุ่มคนที่ถูกเชิญให้ออก ส่วนใหญ่คือคนรักเพศเดียวกัน คนพิการ และคนดำ เมื่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันถูกไล่ออกจากกองทัพ ก็เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรไปอยู่ตามเมืองใหญ่อย่าง Los Angeles, San Francisco และ Chicago เพื่อตามหาพื้นที่คอมมูนิตี้มาทดแทนพื้นที่ในกองทัพที่เคยมี และพวกเขาก็ได้มาพบกับ sub culture คอมมูนิตี้การสวมเครื่องหนัง กลุ่มคนขับมอเตอร์ไซค์ที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจที่พวกเขาตามหา

คอมมูนิตี้ไบค์เกอร์และเครื่องหนังนั้นเป็นพื้นที่ให้ผู้ชายได้ปลดปล่อย ‘ความเป็นชายแบบดิบ’ ออกมาได้อย่างสบายใจ เพราะในอดีตนั้น คนกลุ่มนี้มักจะประกอบไปด้วยผู้ชายผิวขาวรักต่างเพศที่มีฐานะร่ำรวย และสิ่งสำคัญที่ต้องมีถ้าอยากจะเป็นคนในคอมมูนิตี้อย่างแท้จริงก็คือ พวกเขาจะต้องขับ 'Harley Davidson' เท่านั้น ถ้าไม่มีก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนในคอมมูนิตี้อย่างแท้จริงไม่ได้

Photo credit: Prawnik dla Cudzoziemców

‘ความเป็นชายแบบดิบ’ หรือที่เรียกว่า ‘Raw Masculinity’ เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ของเกย์ masculine ในกลุ่ม Leather ขึ้นมา ซึ่งมันได้ทำการท้าทายอัตลักษณ์ของเกย์กระแสหลักในยุค 1940 ที่ส่วนใหญ่จะต้องมีความชื่นชอบความเป็นหญิง ตัวบาง หน้าสวย ซึ่งอัตลักษณ์นี้ก็ถูกกลุ่ม Leather และศิลปะสุนทรียะที่เรียกว่า ‘Leather Homoerotic Aesthethic’ โดยศิลปิน ‘Tom of Finland’ ท้าทาย ทำลาย และสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกย์ได้มีความหลากหลายได้มากขึ้น

ศาสตรจารย์ผู้สอนเฟมินิสต์ศึกษา ‘เจนนิเฟอร์ ไทเบอรค์’ (Jennifer Tyburcz) ได้กล่าวถึงบรรทัดฐานนี้ว่า มันเกิดขึ้นมาจากศิลปินชาวฟินแลนด์ 'ทูโค วาลีโอ ลักโซเนน' (Touko Valio Laaksonen / Tom of Finland) ผู้สร้างงานศิลปะ Leather Homoerotic ที่วาดภาพผู้ชายชนชั้นแรงงาน ไบค์เกอร์ คนทำงานก่อสร้างที่มีกล้าม มีหน้าอก ต้นขาและค-- ขนาดใหญ่ ในบริบทคนรักเพศเดียวกัน เพื่อให้กลุ่มเกย์ได้รู้สึกถึงพลังความเป็นชาย

Photo credit: SHOWstudio

สุนทรียะของศิลปะเหล่านี้ได้นำเสนอพลังของ hyper masculinity ความดิบ ความเข้มแข็ง และความเซ็กซี่ของแฟชั่นเครื่องหนัง ที่ทำให้ความหลากหลายทางเพศได้เติบโตมากขึ้น และเครื่องหนังก็ค่อยๆ จะเริ่มมีวิวัฒนาการกลายไปเป็น gay fetish และรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่งในซีน BDSM ที่เรียกว่า 'Leather Fetishim' ในภายหลัง ก่อนที่คัลเจอร์นี้จะเริ่มลดน้อยลงจากวิกฤติทางโรค Aids ในช่วงปี 1981 ที่ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผับ Leather Bars ร้านค้า พื้นที่คอมมูนิตี้ก็ถูกสั่งปิดและล้มหายไป ก่อนพวกเขาจะกลับมาอย่างเข้มแข็งพร้อมธงแห่งคอมมูนิตี้ในปี 1989 ที่ภายในคอมมูนิตี้ได้มีความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์มากขึ้น ไม่ได้มีเพียงแค่ผู้ชายผิวขาวหรือเกย์ masculine เป็นส่วนใหญ่เหมือนในสมัยก่อน แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ sub culture นี้เป็นอย่างไรบ้าง ในบทความ ‘Why is the Gay Leather Scene Dying?’ ผู้ให้สัมภาษณ์ที่เป็นสมาชิกใน sub culture นี้ได้พูดถึงประเด็นที่โลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะแอพนัดเดตที่กำลังทำลายให้ซีนของ sub culture ตรงนี้หายไป

ในบทความเดียวกันนี้ ยังพูดถึงเรื่องของการนัดเดตของผู้คนที่มีรสนิยมเดียวกัน สามารถพบเจอกันผ่านทางโลกออนไลน์ได้แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเจอกันตามสถานที่เฉพาะกลุ่ม เพราะในทุกการออกจากบ้าน มันต้องมีการแต่งตัว เสื้อผ้า เครื่องประดับ ซึ่งล้วนเป็นเงินเป็นทอง ไหนจะค่าเข้าบาร์ สถานที่ก็มีราคาค่างวดในการเข้าถึง ไหนจะความไม่ปลอดภัยที่มาได้ตลอดเวลาจากการแต่งตัวที่ชัดเจนในรสนิยม ความสะดวกนี้เองกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้คอมมูนิตี้เครื่องหนังเสื่อมความนิยมลง ต่อมาในยุคสมัยของโรคระบาด การไปสังสรรค์ที่ผับ บาร์ คอมมูนิตี้เหล่านี้ก็ลดน้อยลง ส่งผลให้บาร์และผับจำนวนมากถูกปิดตัวลง sub culture คอมมูนิตี้หลายอย่างจึงเริ่มลดหายไป เมื่อเจอผลกระทบของโรคระบาด

Photo credit: Them.us

อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าจะเป็นข้อสำคัญคือ ในวันที่ค่านิยมทางเพศมีความหลากหลาย ชุมชน LGBTQ+ ก็มีความเข้าใจในตัวตน และแสวงหาความสุขผ่านความเป็นปัจเจกมากขึ้น ค่านิยมชุดเครื่องหนัง ที่เป็นตะกอนความคิดของความเป็นชายแท้ ความแมน คติความเป็นชายในแบบสมัยก่อน ที่เกย์ต้องยึดโยงเอาไว้นั้น มันได้ตกขอบไปไกลมากแล้ว มันไม่ตอบโจทย์ความลื่นไหลทางเพศที่กำลังเป็นกระแสหลักในกลุ่ม LGBTQ+

ด้วยลักษณะของความเป็น sub culture ที่ค่อนข้างเฉพาะตัว และมีการเสนอภาพของคุณลักษณะเฉพาะที่มีการกำหนดความเป็นเพศแบบตายตัวนี่เอง จึงถูกแนวความคิดแบบใหม่ท้าทาย และได้รับความนิยมน้อยลง ประเด็นนี้นับว่าน่าสนใจมากสำหรับ sub culture อื่นๆ ใบลักษณะแบบเดียวกันที่กำลังมองหาทางรอดอยู่ เพราะคนเจนฯ ใหม่แสวงหาความลื่นไหล และการไม่นิยามตนกันมากขึ้น ส่วนเรื่องเสื้อผ้า มันก็กลายเป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองที่ลื่นไหล และไม่เป็นอัตลักษณ์ที่ตายตัว

Photo credit: Wikiwand

Sub culture ส่วนใหญ่ที่มีการนำเสนอคุณลักษณะความเป็นเพศแบบตายตัวมักจะถูกท้าทายอยู่เสมอ ประเด็นนี้จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ sub culture อย่างเครื่องหนังนี้ลดน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่แสวงหาความลื่นไหลและการไม่นิยามตนกันมากขึ้น ส่วนเรื่องเสื้อผ้า มันก็กลายเป็นการแสดงออกความเป็นตัวของตัวเองที่ลื่นไหลได้ ไม่เป็นอัตลักษณ์ที่ตายตัว

ท้ายที่สุดแล้ว แม้ sub culture นี้จะถูกบริบททางสังคมท้าทาย และถูกทำให้ลดหายไปด้วยหลายสาเหตุปัจจัยของยุคสมัย แต่มันก็ยังไม่ใช่ sub culture ที่ตายในยุคสมัยใหม่ มันยังคงมีอยู่ในพื้นที่ อย่างใน San Francisco, New York, Los Angeles, Berlin และ Amsterdam ที่มีผับ บาร์ ร้านค้า Leather ระดับตำนานที่ยังคงเปิดอยู่ แต่ซับคัลเจอร์นี้จะอยู่อีกนานเท่าใด ในอนาคตพวกเขาจะปรับตัว เติบโต หรือกลับมาเกิดใหม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ต้องคอยติดตามกันต่อไป

อ้างอิง

Another Mag

The Guardian

IN Magazine