ถ้าพูดถึงคำว่าครอบครัว ภาพในหัวของใครหลายๆ คนคงจะเป็นภาพของพ่อ แม่ และลูกๆ พร้อมบรรยากาศแสนอบอุ่นชวนฝัน แต่วันนี้เราอยากให้ทุกคนลองมาทำความรู้จักกับ ‘เจี๊ยบ’ – มัจฉา พรอินทร์ และ ‘จุ๋ม’ – วีรวรรณ วรรณะ คู่ชีวิต นักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชนจาก องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน พร้อมด้วยลูกสาว ‘หงส์’ – ศิริวรรณ พรอินทร์ ที่จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับนิยามของคำว่าครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องมี พ่อ แม่ ลูก, ครอบครัวที่เราเลือกเองได้ และการ ‘มีแม่เมื่อพร้อม’ แล้วภาพครอบครัวของคุณจะกว้างขึ้นกว่าที่เคย
เส้นทางรักของเจี๊ยบ และ จุ๋ม
“การเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รูปแบบของการพบเจอกัน และการสร้างความสัมพันธ์ มันไม่ได้ต่างกันกับคู่รักต่างเพศเลยนะ”
นี่คือคำตอบของเจี๊ยบหลังจากที่เราขอให้เธอช่วยแชร์ประสบการณ์บนเส้นทางของคู่ชีวิตเลสเบี้ยน ก่อนที่เธอจะเล่าต่อว่า สิ่งที่ทำให้คู่รัก LGBTQIAN+ ต่างออกไปจากคู่รักต่างเพศคือ ‘การสนับสนุน’
“พี่พยายามจินตนาการอยู่ว่า ตอนที่เราตัดสินใจสร้างครอบครัวกัน คนรอบข้างเขามีความคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับเรา ตลอดชีวิตพี่ไม่เคยมีแฟนเลยนะ แต่ว่าจะห้อมล้อมด้วยเพื่อน พอเรามีแฟน ก็มีเพื่อนที่หายไปจากการที่เรามีคู่รักเพศเดียวกันจริงๆ นะ อีกอย่างหนึ่งคือ เราจินตนาการว่า ถ้าเรามีแฟนเป็นผู้ชาย แม่ของเราจะรู้สึกอย่างไร จะต่างไปหรือเปล่ากับการที่เรามีแฟนเป็นผู้หญิง แล้วก็พบว่า ความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกันจากครอบครัวของเรา น้อยกว่าความเชื่อมั่นในคู่รักต่างเพศ เพราะเมื่อ 13 ปีที่แล้ว สังคมไทยมันไม่ได้เปิดกว้างเท่าวันนี้” เจี๊ยบเล่า
เส้นทางความรักของเจี๊ยบ และจุ๋ม ไม่ได้ต่างอะไรจากความรักของคู่รักชายหญิงเลย เจ้าตัวบอกว่า ทั้งคู่พบกันด้วยงานที่ทำ มีช่วงที่จีบกัน จนกระทั่งตัดสินใจคบกัน และร่วมใช้ชีวิตคู่กันในท้ายที่สุด แต่ในวันนั้น (หรือแม้แต่วันนี้) ทั้งคู่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนที่เกลียดกลัวคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (Homophobia) รวมทั้งคนในครอบครัวของเธอก็สะท้อนให้เห็นว่า สังคม (ในตอนนั้น) ไม่เข้าใจ และสนับสนุน LGBTQIAN+
แม้ว่าคู่รักชายหญิงจะต้องผ่านช่วงเวลาพิสูจน์ความรัก การทดลองคบกัน ไปจนถึงช่วงของการวางแผนอนาคต แต่พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่อย่างเรื่อง ‘ความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย’
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน การที่คู่รักเลสเบี้ยนตัดสินใจอยู่ด้วยกันอย่างคู่ชีวิต ก็นับว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่สำหรับเจี๊ยบที่เป็นนักกิจกรรมด้วยนั้น มันยิ่งยากขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเธอต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา และการเป็นคู่ชีวิตที่ไม่มีการรับรองทางกฎหมาย ย่อมไม่มีอะไรเป็นหลักประกันปลอดภัย และความมั่นคงของครอบครัวให้แก่เธอได้ เพราะในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น จุ๋มไม่สามารถจัดการเรื่องเอกสารใดๆ ให้เจี๊ยบได้ในฐานะคู่ชีวิต
เมื่อพูดถึงการสร้างครอบครัว ‘บ้าน’ คืออีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับคู่รัก LGBTQIAN+ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำสัญญากู้ยืมร่วมกันได้ การมีเงินก้อนใหญ่ๆ มาซื้อบ้านจึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามมากขึ้นเป็นเท่าตัว ถึงแม้ว่าในวันหนึ่ง เจี๊ยบ และจุ๋ม จะมีบ้านร่วมกัน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถที่จะถือครองที่ดินร่วมกันได้
“สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากนั้นคือ ความรู้สึกตลอดเวลาว่า เราไม่มีความมั่นคง และหลักประกันให้กับคู่ชีวิตของเรา นี่คือ 2 ปีที่เรามีกัน 2 คน” – เจี๊ยบ
แต่แล้วจุดพลิกผันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ ‘หงส์’ หลานสาวที่เจี๊ยบตัดสินใจอย่างหนักแน่นว่าจะรับเธอมาดูแล ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตของทั้งคู่
ในวันที่ชีวิตคู่ต้องมีบุคคลที่ 3
“บุคคลที่ 3 เนี่ย ก็มาแบบไม่ได้ตั้งเนื้อตั้งตัว” เจี๊ยบเล่าก่อนจะอธิบายถึงการเข้ามาของ ‘ลูกสาว’ ว่า หงส์เป็นหลานสาวของเธอ ที่บังเอิญไปเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงนั้น แม้ว่าจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ด้วยสัญชาตญาณของนักกิจกรรมที่ทำงานกับเด็กมาตลอด เธอตระหนักดีว่า การปล่อยเด็กเล็กให้ผู้สูงอายุเลี้ยงดู ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมในการเติบโตของเด็กแน่นอน เธอจึงตัดสินใจออกปากขอดูแลหงส์ ในฐานะ ‘เด็กคนหนึ่ง’ เพียงเท่านั้น
“พี่ก็ไม่ได้คิดว่านี่คือหลานด้วยนะ พี่คิดว่า นี่คือเด็กอีกหนึ่งคน ที่ถ้าเขาอยู่กับเรา ชีวิตเขาจะไม่ใช่แบบนี้ พี่ก็เลยสู้ คราวนี้พอสู้ปุ๊บ ปรากฏว่า เราทำธุรกรรม ทำเรื่องโรงเรียนไม่ได้เลย พี่ต้องส่งเอกสารไปให้น้องชายเซ็นมอบอำนาจ ยากมากค่ะ 2 ปีแรก คุยกับครอบครัวไม่ได้เลย เพราะเหมือนกับเขากลัวตลอดเวลาว่า เราจะขอสิทธิ์การปกครองลูก ในแบบที่เป็นแม่บุญธรรม อึดอัดมากเลย พี่แทบจะไม่คุยกับแม่เลย เพราะพี่รู้ว่า แม่พี่เองก็ไม่สนับสนุน”
“พี่เคยมีหลานก่อนหน้าเขา พี่รู้เลยว่า ก่อนหน้าที่จะมีคู่ชีวิต ถ้าเพียงแค่เอ่ยปากว่าพี่จะเป็นแม่บุญธรรมของหลาน ครอบครัวพี่ทุกคนจะสนับสนุนหมดเลย แต่พอเริ่มมีคู่ชีวิตเป็นเพศเดียวกันให้เขาเห็นจริงๆ ความ Homophobia ทั้งหลายที่มันอยู่ลึกมาก มันทำให้เขาไม่ตระหนักว่า เขากำลังปฎิบัติกับเราไม่เท่ากัน” – เจี๊ยบ
การยอมรับจากครอบครัวก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทั้ง 3 คนต้องเผชิญ แต่การรับรองทางกฎหมายก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้ยากขึ้น เมื่อเจี๊ยบมีสิทธิ์ดูแลหงส์ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ เพียงเท่านั้น สิทธิ์ขาดในการรับรองบุตรยังอยู่ที่ผู้เป็นแม่ ทำให้ความสุขเล็กๆ ของหงส์อย่างการไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ยังเป็นเรื่องยาก
“เราตระหนักเลยว่า โอ้ มันไม่ใช่แค่เราปกครองลูกไม่ได้ แต่ว่าเราไม่สามารถที่จะให้เขาเดินทางได้ พอมาโยงกับเรื่องการเคลื่อนไหวของพี่ ที่ในระยะหลังมีนักเคลื่อนไหวจำนวนมากไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ เพราะว่าความไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จินตนาการว่า ถ้าจะต้องลี้ภัยด้วยเหตุใดก็ตาม เราไม่สามารถเอาคู่ชีวิตออกไปด้วยได้ สมมุติว่าถูกคุกคาม โดยทั่วไป คู่ชีวิตที่เป็นคู่รักต่างเพศจะไปด้วยกันทั้งครอบครัวได้เลย แต่พี่เอาใครไปด้วยไม่ได้เลย มันก็กลายเป็นว่า ความปลอดภัยในชีวิตเรา ไม่ถูกการันตี สิทธิ์ในการเดินทางก็ไม่มี” เจี๊ยบเล่า
แต่ก็ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะชีวิตครอบครัวของทั้ง 3 คน ก็ต้องเจอกับเหตุการณ์ที่สั่นคลอนความมั่นคงอีกครั้งด้วย ‘Hate Crime’ เจี๊ยบแชร์ให้ฟังว่า ในปี 2015 บ้านดินในชุมชนแสนอบอุ่นที่เป็นสมบัติจากน้ำพักน้ำแรงของทั้งคู่ ถูกลอบวางเพลิง ไม่ใช่แค่เพียงครั้งเดียว แต่กลับเกิดขึ้นถึง 6 ครั้ง ในระยะเวลาเพียง 10 วัน ที่แย่ไปกว่านั้น คนที่ทำก็คือ เพื่อนบ้านในชุมชน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เขาอยากสั่งสอนผู้หญิง 2 คนนี้”
“มันทำให้เรารู้เลยว่า ที่เราเชื่อว่า LGBTQIAN+ ในสังคมไทยไม่มีปัญหาอะไร จริงๆ แล้วมันมี Hate Crime อยู่ เราได้เผชิญกับมันจริงๆ แล้วมันก็ทำให้เราสูญเสียทรัพย์สิน เพราะว่าเราไม่สามารถกลับไปอยู่ในบ้านของเรา มันชัดเจนมากเลยว่า เราสูญเสีย บ้านที่มีความหมายมาก เพราะกว่าเราจะเก็บเงินได้ กว่าเราจะสร้างบ้านดินด้วยมือเรา รูัเลยว่า เราสูญเสียรากฐานที่สำคัญมากในชีวิต สูญเสียที่ๆ เรารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เราต่อสู้ และเรามั่นคงมากเวลาอยู่บ้านหลังนั้น”
ผ่านจุดพลิกผัน และจุดเปลี่ยนต่างๆ มานักต่อนักแล้ว แน่นอนว่า วันแห่งความสุขย่อมเดินทางมาถึง เมื่อวันหนึ่งเจี๊ยบและจุ๋มได้กลายเป็น ‘แม่’ จริงๆ
‘มีแม่เมื่อพร้อม’
“คำว่า ‘มีแม่เมื่อพร้อม’ มันมีจริงๆ นะคะ” เจี๊ยบพูดพรางหัวเราะ เมื่อถามถึงการก่อร่างสร้างครอบครัว ก่อนเจ้าตัวจะบอกต่อว่า ทั้งเธอ และจุ๋ม ไม่ใช่คนที่ฟอร์มครอบครัวที่มีแม่ แม่ และลูกแบบนี้ขึ้นมา แต่กลับเป็นหงส์ต่างหาก ที่เป็นฝ่ายเริ่มเรียกจุ๋มว่า ‘แม่’
“เรารู้สึกว่า สิ่งที่มันต่างไปคือ เราเป็น LGBTQIAN+ ก็จริง แต่เวลาเราบอกใครว่า เราเป็นแม่นะ มันคือความภาคภูมิใจ กลายเป็นว่ามันถูกนิยามแล้วว่า เราคือแม่” – เจี๊ยบ
เมื่อคำว่าแม่ถูกนิยามขึ้นมา สัญชาตญาณความเป็นแม่ที่อยากปกป้องลูกก็เกิดขึ้น เธออธิบายให้ฟังว่า ณ ตอนนั้น เธอคิดว่าลูกสาวของเธอในวัย 11 ปี จะต้องเผชิญคำถามมากมายจากสังคมแน่นอน ถ้าต้องบอกทุกๆ คนว่า เธอมีแม่ 2 คน “เราคิดว่าเขาไม่ง่ายแล้ว แล้วเราก็รู้เลยว่า เขาแย่แล้ว”
“สวัสดี เราชื่อหงส์ เรามีแม่ 2 คน” คือประโยคที่หงส์ในวัย 11 ปี ใช้พูดแนะนำตัวเวลาทำความรู้จักเพื่อนใหม่ หงส์ในวัย 20 ปีเล่าต่อว่า เธอจะบรรยายเรื่องราวของเธอ และการมีแม่ 2 คนให้กับเพื่อนๆ ฟังก่อนเสมอ ซึ่งมันก็ทำให้เธอสามารถคัดกรองเพื่อนที่เข้ามาได้ในระดับหนึ่ง “หนูก็จะได้เพื่อนเป็นเซฟโซนของหนู คนที่เขาไม่ชอบเขาก็จะออกไป”
พอได้ฟังหงส์เล่ายิ่งทำให้อยากรู้เรื่องราวของเธอ ในฐานะลูกสาว ที่เติบโตมากับแม่ทั้ง 2 คน หงส์จึงอธิบายต่อว่า เธอเติบโตขึ้นมาในวงประชุมของเหล่านักเคลื่อนไหวสิทธิเด็ก และสิทธิสตรี ทำให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งค่อยๆ ซึมซับองค์ความรู้ และวิธีคิดอย่างนักกิจกรรมมาอย่างเต็มที่
“ด้วยความเป็นเด็กก็เหมือนจะไม่รู้เรื่อง แต่จริงๆ ก็ค่อยๆ เก็บประสบการณ์ไป หนูโตในวงประชุม ในงานเสวนา ก็จะมีคำศัพท์บางคำที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก ศัพท์ที่เพื่อนๆ ก็ไม่เคยได้เรียน หรือประสบการณ์หลายอย่างที่ไม่มีสอนในห้องเรียน มันก็ได้เรียนมาจากแม่” หงส์เสริม
แม้ว่าหงส์จะไม่ค่อยมีโอกาสได้เที่ยวเล่นอย่างเด็กธรรมดา แต่เธอก็ได้ติดสอยห้อยตามแม่ๆ ไปทำงานเพื่อสังคมอยู่ตลอด จนเธอเติบโตขึ้นมาเป็นอาสาสมัครที่คอยช่วยคุณแม่ทำงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็ก และสตรีในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ความหลากหลาย ถ้าจะเรียกว่า ทั้ง 3 คนเป็นทั้งครอบครัว และเพื่อนร่วมงานกัน ก็คงจะไม่เกินจริง
ครอบครัวที่เป็นเพื่อน(ร่วมงาน)
“เขาคืออาสาสมัคร เขาก็ต้องรับผิดชอบหน้าที่ด้วย แต่จะมีเวลาที่เขาอยากดื้อ เขาอยากแกล้งแม่ เขาก็จะแปลงร่างเป็นลูก แต่ว่าแม่ยังอยู่ในโหมดทำงาน แล้วเราทำจริงจัง มันก็ต้องต่อรองกันด้วยว่า เรากำลังอยู่ในโหมดทำงานนะ” เจี๊ยบเล่าวีรกรรมสุดแสบของลูกสาว และเพื่อนร่วมงานคนนี้ จนทำให้เกิดความสงสัยว่า การที่ต้องอยู่ร่วมกัน 3 คน ในฐานะครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน พวกเธอทะเลาะกันบ้างไหม?
“หนูเห็นเขาก็ทะเลาะกันเรื่องงานตลอด แต่ว่าประเด็นคือ เขาทะเลาะกัน แต่เขาพูดเรื่องเดียวกัน (หัวเราะ) ซึ่งหนูก็เลยคิดว่า เออ มันก็คงเป็นฟีลในการทำงาน” หงส์เล่าวีรกรรมของ 2 แม่ให้ฟังบ้าง ก่อนจะอธิบายต่อว่า กิจกรรมประจำครอบครัวนี้ ไม่ใช่การละเล่น หรือกิจกรรมบันเทิงใดๆ อย่างครอบครัวอื่น แต่เป็น ‘การประชุมงาน’ จนแม่เจี๊ยบพูดติดตลกขึ้นมาว่า “เวลาเดียวที่ไม่ได้คุยงานก็คือ ตอนหลับ”
ไม่ใช่แค่การทำงานในฐานะนักกิจกรรมเท่านั้น ที่ทั้งเจี๊ยบ จุ๋ม และหงส์ต้องทำร่วมกัน เพราะหน้าที่ต่างๆ ในบ้าน ทั้ง 3 คนก็ยังต้องช่วยกันแบ่งเบา ในแบบที่ว่า ‘ใครทำอะไรได้ ก็ต้องทำ’
“เป็นข้อดีนะ พี่ 2 คน โตมาแบบเควียร์ คือบ้านพี่ ก็มีแม่ พี่ แล้วก็มีน้อง มันไม่มีผู้ชายที่มีอำนาจเหนือกว่า มันก็ต้องทำทุกอย่าง สมมุติว่า ที่บ้านท่อน้ำแตก ใครทำเป็น เขาก็ต้องทำ ไม่ใช่ว่าพี่จุ๋มดูเป็นผู้ชายมากกว่าต้องไปทำอันนี้ พี่เป็นผู้หญิงมากกว่าต้องไปทำกับข้าว มันไม่ใช่ ทำอะไรได้ก็ช่วยกัน ส่วนใหญ่ทำด้วยกัน หงส์เขาก็โตมาแบบที่เห็นแม่ทำอะไรด้วยกัน” เจี๊ยบอธิบายเรื่องการแบ่งหน้าที่ในบ้าน
“มีคนถามว่า ถ้าจินตนาการเด็กที่โตมาในครอบครัวที่ไม่เป็น 2 เพศ เขาจะเป็นอย่างไร เราคิดว่า ก็เหมือนลูกเราเลย เพราะที่บ้านเราไม่ได้มี 2 เพศ ที่บ้านเรามีเพศเดียว ก็ต้องเอาความเป็นเพศออกไป อะไรที่ต้องทำเพื่อให้ตัวเองรอด เราทั้ง 3 คนก็ต้องทำ” – เจี๊ยบ
ทั้งงานบ้าน และงานเพื่อสังคม เป็นสิ่งที่วนเวียนในครอบครัวนี้อยู่ตลอด จนเจี๊ยบยอมรับว่า ชีวิตของทั้ง 3 คน ไม่มี Work Life Balance ทั้งสิ้น “พี่จริงจังกันมาก บางทีเถียงกันเรื่องงานจนต้องถามพี่จุ๋มว่า พอก่อนดีไหม (หัวเราะ)”
แต่บางครั้งสิ่งสำคัญก็อาจจะไม่ใช่การบาลานซ์เรื่องงาน และชีวิตส่วนตัว เพราะเจี๊ยบบอกว่า สำหรับเธอสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาวะทางร่างกาย และจิตใจให้ดีอยู่เสมอ ซึ่งคำตอบของครอบครัวนี้ก็คือ ‘เจ้าเหมียว’ และ ‘การวิ่ง’
‘แมว’ และ ‘การวิ่ง’ 2 สิ่งฮีลใจฉบับ 3 คนแม่ลูก
“ที่บ้านมีแมว 3 ตัว แมวคือสิ่งที่ช่วยให้เรามีชีวิตที่ไม่ต้องพูดเรื่องงาน” เจี๊ยบอธิบายให้เราฟังว่า แมวทั้ง 3 ตัว คือตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตที่ไม่สามารถแยกออกจากงานได้ของเธอ สามารถรักษาเรื่อง Well Being เอาไว้ได้ แต่ไม่ได้มีเพียงแค่แมวเท่านั้นที่ทำให้ครอบครัวนี้มีเวลาพักจากความเครียดเรื่องงาน
‘การวิ่งเทรล’ คือ อีกหนึ่งกิจกรรมที่เจี๊ยบเริ่มทำเพื่อบำบัดความเครียดมาตลอดระยะเวลา 3 ปี จากการวิ่งออกกำลังกาย ค่อยๆ พัฒนาไปจนตอนนี้เจี๊ยบกลายเป็นนักวิ่งไปแล้ว แถมเธอยังชวนให้ภรรยา และลูก ออกวิ่งไปด้วยกัน จนการวิ่งกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตทั้ง 3 คนไปเลย หงส์จากเด็กตื่นสายก็เริ่มตื่นเช้าเพื่