Identity

กว่าจะมาเป็น ‘สมรสเท่าเทียม’ การเดินทางอันยาวนาน สู่ความเสมอภาคทางเพศ

~เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วทั้งเอเชียเลยก็ว่าได้ เมื่อรัฐสภาไทยมีมติเห็นชอบกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ด้วยคะแนนถล่มทลายถึง 400 ต่อ 10 เสียง เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการก็จะทำให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคู่สมรสเหมือนกับคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไปทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล การกู้ร่วม การตัดสินใจทางการแพทย์แทนคู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งการเป็นทายาทรับมรดกโดยชอบธรรม โดยวันนี้เราก็จะพาทุกคนไปสำรวจความเคลื่อนไหว (Movement) ในการเรียกร้องสิทธิสมรสเท่าเทียมของไทยและต่างประเทศ และดูว่าร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ของไทยเราอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว และหากประกาศใช้ชาว LGBTQ+ จะได้รับสิทธิด้านใดบ้าง 

ประวัติศาสตร์การเรียกร้องกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ในต่างประเทศ

~หากจะพูดถึงความเคลื่อนไหวสำคัญ ๆ ที่ส่งผลกระเพื่อมไปถึงชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลกแล้วไม่พูดถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดในประเทศพี่ใหญ่ของฝั่งโลกเสรี/ประชาธิปไตยอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ก็คงไม่ได้ ซึ่งก็ต้องบอกก่อนว่า แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนเสรี’ แต่สหรัฐฯ ก็เคยมีกฎหมาย ‘Sodomy Law’ ที่ระบุให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา อีกทั้งยังถือเป็น ‘โรคทางจิต’ ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอีกด้วย ยิ่งในช่วงทศวรรษ 1950 – 1960 รัฐบาลกลางถึงกับมองว่าชาว LGBTQ+ มีโอกาสเป็นสายลับของสหภาพโซเวียตมากกว่าคนทั่วไปจนมีการสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วประเทศกว่า 5,000 คนในปี 1953 นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาการเหยียดหรือ ‘บูลลี่’ (Bully) เรื่องเพศสภาพที่แทบจะเป็นเรื่องปกติของคนในยุคนนั้น เรียกได้ว่าชาว LGBTQ+ ในยุคนนั้นแทบไม่เหลือสิทธิเสรีภาพ การใช้ชีวิตยังต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการแต่งงานเพศเดียวกัน แต่แล้วในวันที่ 28 มิถุนายน ปี 1969 เหตุการณ์ที่เป็นเหมือนประกายไฟแห่งความหวังและความกล้าของชาว LGBTQ+ ก็เกิดขึ้น รู้จักกันในชื่อ ‘เหตุจลาจลที่สโตนวอลล์’ (Stonewall Riot) ซึ่งชนวนเหตุเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้บุกเขาไปตรวจค้นบาร์แห่งหนึ่งชื่อ ‘สโตนวอลล์’  (Stonewall) ซึ่งเป็นบาร์สำหรับชาว LGBTQ+ ในย่านกรีนิช เมืองนิวยอร์ก จนเกิดการปะทะกับชาว LGBTQ+ กลุ่มหนึ่ง เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นการจลาจลครั้งใหญ่มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน และต้องใช้เวลาถึง 5 วันกว่าที่เหตุการณ์จะสงบลง มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก 

~เหตุการณ์จลาจลที่สโตนวอลล์ถือเป็นการจุดชนวนให้ชาว LGBTQ+ ทั่วทั้งสหรัฐฯ มีความกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ของชาว LGBTQ+ ตามเมืองใหญ่หลายเมืองในสหรัฐฯ ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 1970 เพื่อเรียกร้องสิทธิและรำลึกถึงเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเทศกาล ‘Pride Month’ ในเดือน ‘มิถุนายน’ ของทุกปีอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน โดยหนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังมีการออกมาเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+ ในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษ 1970 – 1980 คือ การเรียกร้องให้ ‘สมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐฯ’ (APA) เปลี่ยนนิยาม ‘รักร่วมเพศ’ (Homosexuality) ที่แต่เดิมถือเป็น ‘โรคทางจิต’ (Mental Disorder) ให้เป็นเพียง ‘ความเบี่ยงเบียน’ (Disturbance) ในปี 1973 ก่อนจะลดเป็น ‘ภาวะปกติ’ (Normal Variation) ในปี 1987 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (Same-Sex Marriage) ในหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา หลังจากนั้นในปี 2000 มลรัฐเวอร์มอนต์ก็กลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐฯ ที่ออกกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ตามด้วยมลรัฐแมสซาชูเซตส์ในปี 2004 และอีกหลาย ๆ มลรัฐในเวลาไล่เลี่ยกัน

~ทั้งนี้ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ได้ชื่อว่ามีคุณูปการอย่างมากต่อการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ของชาว LGBTQ+ ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 – 1980 ได้แก่ ‘แฮรี่ เฮย์’ (Harry Hay) ชายรักร่วมเพศเกิดในปี 1912 มีอาชีพเป็นนักเขียนและนักแสดง โดยเขาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘Mattachine Society’ ในปี 1950 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสมาคมใต้ดินกลุ่มแรกที่พยายามเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนรักร่วมเพศในสหรัฐฯ ทำให้ เฮย์ ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Queer Malcom X’ ซึ่งเป็นการเปรียบว่าเขามีคุณูปการต่อชาวรักร่วมเพศเหมือนกับอดีตผู้นำชาวผิวสีอย่าง ‘แมลคัม เอ็กซ์’ (Malcom X) ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิให้กับชาวผิวสีนั่นเอง ขณะเดียวกัน ‘กิลเบิร์ต เบเกอร์’ (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักสิทธิมนุษยชน LGBTQ+ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายของกลุ่ม LGBTQ+ โดยเขาเป็นเจ้าของไอเดียการใช้ ‘ธงสีรุ้ง’ (Rainbow Flag) เพื่อสื่อถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1978 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงคลาสสิก ‘Over the Rainbow’ ในภาพยนตร์ ‘The Wizard from Oz’ (1939) 

~ปัจจุบัน มีประเทศที่ยอมรับสถานะของคู่รัก LGBTQ+ ในทางนิตินัยแล้วกว่า 36 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกการออกกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นประเทศแรกคือ ‘เนเธอร์แลนด์’ ซึ่งมีการผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2000 และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2001 หลังจากนั้นประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา รวมถึงเอเชีย ต่างก็ทยอยผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตามมาอีกหลายประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการเมื่อไหร่ก็จะถือเป็นประเทศที่ 37 และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียต่อจาก ไต้หวัน กับ เนปาล

การเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ในไทย

credit: Chawin Choangulia

~สำหรับการเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ในไทยแลนด์แดนคนดีย์ของเรานั้น มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 20 ปี โดยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนการเมือง กฎหมาย รวมถึงสื่อและองค์กรเอกชนต่าง ๆ 

ความเคลื่อนไหวด้านการเมือง

~ย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 รัฐบาลของนาย ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เริ่มมีแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายรองรับการสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถูกกระแสสังคมในขณะนั้นกดดันอย่างหนักจนรัฐบาลมองว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมทำให้ต้องพับแผนไป ต่อมาในปี 2556 มีการเรียกร้องสิทธิการสมรสของกลุ่ม LGBTQ+ ไปยังรัฐบาลของนางสาว ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ นำไปสู่การเตรียมออก ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ เพื่อรองรับสิทธิของคู่รัก LGBTQ+ แต่เกิดการรัฐประหาร 2557 ทำให้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ยุติลง จนกระทั่งในปี 2563 เริ่มมีการเคลื่อนไหวภาคประชาชนเกี่ยวกับสมรสเท่าเทียมอีกครั้ง บวกกับกระแสทั่วโลกที่มีต่อกลุ่ม LGBTQ+ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในเชิงบวกมากขึ้น รัฐบาลของ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จึงนำ พ.ร.บ.คู่ชีวิต กลับมาปัดฝุ่นพิจารณาใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกัน ‘พรรคก้าวไกล’ ก็เสนอ ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ เข้าสู่สภาฯ แต่เพราะเกิดสภาล่มบ่อยครั้ง ทำให้ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกคุมกำเนิด ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ  ต้องรอถึงปี 2567 ในรัฐบาลของนาย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ให้สิทธิการสมรสของคู่รัก LGBTQ+ เทียบเท่าคู่รักชาย-หญิงทั่วไปทุกประการ จึงได้ผ่านการรับรองจากสภาฯ 

ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน 

~สำหรับการเรียกร้องสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ภาคประชาชนในไทยนั้น เริ่มปรากฎความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงปี 2544 โดยมีการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาคมขึ้นหลายกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิการสมรสและสิทธิด้านอื่น ๆ ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน รวมถึงรณรงค์ให้สังคมเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ เช่น ‘กลุ่มฟ้าสีรุ้ง’ ของนาย ‘กมลเศรษฐ์ เก่งการเรือ’, ‘กลุ่มเกย์การเมือง’ ของนาย ‘นที ธีระโรจนพงษ์’, ‘องค์กรบางกอกเรนโบว์’ (Bangkok Rainbow Organization) เป็นต้น ในปี 2552 มีความพยายามของของกลุ่ม LGBTQ+ ที่จะจัดงาน ‘ไพรด์พาเรด’ ขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรียกร้องสิทธิเท่าเทียม แต่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนต้องมีการยกเลิกแผนการไป จนกระทั่งในปี 2565 จึงได้มีการจัดงาน ‘บางกอกนฤมิตไพรด์’ เดินขบวนบนถนนสีลมเพื่อเฉลิมฉลองเดือนแห่งสิทธิความหลากหลายทางเพศครั้งแรกในกรุงเทพฯ ก่อนที่ในปี 2566 จะย้ายไปเดินขบวนบริเวณแยกปทุมวัน สยามสแควร์ ส่วนไพรด์พาเหรดที่เพิ่งจัดขึ้นล่าสุดในปี 2567 นี้ ถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลไทยได้ร่วมสนับสนุนงานอย่างเป็นทางการ และยังมีการจัดงานไพรด์พาเหรดในหลายจังหวัดทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

ความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรม

~อาจพูดได้ว่ากลุ่ม LGBTQ+ มีบทบาทในสื่อบันเทิงไทยมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ส่วนมากตัวละครที่เป็น LGBTQ+ มักจะมีหน้าที่เพียงแค่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมมากกว่าจะเรียกร้องสิทธิหรือสร้างการยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ชม แต่การเติบโตของ ‘นิยายวาย’ และ ‘ซีรีส์วาย’ ที่บอกเล่าด้านใหม่ ๆ ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ทั้งเรื่องราวของชีวิต ความปรารถนา ความกดดัน และความไม่เท่าเทียมต่าง ๆ ที่พวกเขาต้องเผชิญในสังคมปัจจุบัน  เช่นเดียวกับ ‘ภาพยนตร์ไทย’ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก และมีหลายเรื่องที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกาศรางวัลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ‘รักแห่งสยาม’ (2550), ‘เพื่อน...กูรักมึงว่ะ’ (2550), ‘ขอให้รักจงเจริญ’ (2550), ‘Yes or No’ (2553), ‘พี่ชาย My Hero’ (2558), ‘มะลิลา’ (2561), ‘ดิวไปด้วยกันนะ’ (2562) เป็นต้น ทำให้ชาว LGBTQ+ เริ่มมีที่ทางปรากฏในสื่อมากขึ้น ผู้คนในสังคมเริ่มมองว่าไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนก็ควรมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรถูกกีดกัน

~นอกจากนี้ ศิลปินไทยหรือคนที่ทำงานในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมหลายคนยังมีส่วนสำคัญในการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+ รวมถึงขยายการรับรู้ให้สังคมไทยเห็นว่าสถานภาพทางเพศในยุคปัจจุบันมีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ กะเทย, เกย์ และเลสเบี้ยนเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ‘ปันปัน นาคประเสริฐ’ หรือ ‘แพนไจน่า ฮีลส์’ ศิลปินไทยผู้ขับเคลื่อน ‘วัฒนธรรมแดร็ก’ (Drag Culture) รวมถึง ‘ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์และอดีต สส.ข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย (พรรคอนาคตใหม่) ที่ขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมและการแต่งกายตามเพศสภาพ เป็นต้น 

สถานะกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ ของไทยในปัจจุบัน

credit: Chawin Choangulia

~ปัจจุบัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ชาว LGBTQ+ ต่างเฝ้ารอกันใจจดใจจ่อนั้นกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของ ‘วุฒิสภา’ ซึ่งมีทั้งหมด 3 วาระ โดยในการพิจารณาวาระแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา วุฒิสภาได้โหวตผ่านวาระ 1 ด้วยคะแนน 147:4 เสียง พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 27 คน เพื่อพิจารณาร่างฯ ต่อในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากวุฒิสภโหวตผ่านทั้ง 2 วาระที่เหลือ  นายกรัฐมนตรีก็จะนำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ๆ อีกถึง 47 ฉบับ ทำให้การพิจารณาต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 แต่หากสมมติเล่น ๆ ว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมได้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว บรรดาคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย ดังต่อไปนี้ 

~1.สิทธิการได้ดูแลชีวิตของคู่รัก: เช่น การเบิกรักษาพยาบาล การตัดสินใจสำคัญทางการแพทย์แทนคู่รัก หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายก็จะมีสิทธิในการจัดการศพ เป็นต้น

~2.สิทธิในการแต่งงาน: สามารถจดทะเบียนสมรสโดยมีกฎหมายรองรับ สามารถจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยชอบธรรม รวมไปถึงการเป็นตัวแทนทางกฎหมายโดยธรรม เป็นต้น

~3.สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม: จากเดิมที่คู่รัก LGBTQ+ สามารถรับเป็นผู้ปกครองได้เพียงแค่คนเดียว แต่หากมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็จะทำให้คู่รัก LGBTQ+ สามารถรับบุตรบุญธรรมโดยเป็นผู้ปกครองร่วมกันได้ โดยผู้รับบุตรบุญธรรมจะต้องมีอายุมากกว่าบุตรอย่างน้อย 15 ปี

~4.สิทธิในการหย่าร้าง: เช่น สิทธิในการฟ้องหย่า, สิทธิการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงสิทธิในการเรียกค่าเลี้ยงดูกรณีหย่าร้าง เป็นต้น 

~พูดมาถึงตรงนี้หลายคนก็น่าจะพอเห็นภาพว่าความพยายามเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมของชาว LGBTQ+ มีพลวัตรความเปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างยาวนาน ผ่านความรุนแรง คราบเลือด และน้ำตามาก็มาก แต่พอมาถึงวันนี้ก็ต้องบอกว่าชุมชนชาวชาว LGBTQ+ เดินทางมาได้ไกลจากจุดเริ่มต้นมาก จากเดิมที่ถูกสังคมมองว่าเป็นพวก ‘วิปริตผิดเพศ’ หรือจะพูดให้ดูดีหน่อยก็คือ ‘ป่วยทางจิต’ แต่หลังจากผ่านการต่อสู้เรียกร้องมาเป็นสิบปี ในที่สุดสังคมก็เริ่มเปิดใจยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้น มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิเสรีภาพ เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ต้องเคารพ ก้าวไปถึงขั้นที่มองว่าทุกเพศสภาพควรมีสิทธิแต่งงานที่เท่าเทียมกับชาย-หญิงทั่วไป ซึ่งนี่ถือความเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชาว LGBTQ+ ทั่วโลก 

ที่มา

https://thestandard.co/united-states-lgbtq-long-protest-history/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/328403

https://en.wikipedia.org/wiki/Harry_Hay

https://www.thaipbs.or.th/news/content/335137

https://www.thansettakij.com/world/527597

https://www.thaipbs.or.th/now/content/992

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1016063

https://theactive.net/news/gendersexuality-20240402/