ถ้าพูดถึงร้านดอกไม้ หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงความสวยงาม สดชื่น ของหมู่มวลดอกไม้หลากสีหลายสัน แต่ใครเลยจะรู้ว่าภายใต้ความงามของธรรมชาติ กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายธรรมชาติอย่างมาก วันนี้ EQ เลยอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘Malibarn’ (มะลิบาน) ร้านดอกไม้เล็กๆ ที่อยู่ใน Slowcombo ที่อยากให้คนเมืองได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น พร้อมแนวคิด eco-florist ที่เดินสวนทางกับอุตสาหกรรมดอกไม้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ปั้น’ – กมลรัตน์ ชยามฤต หรือที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักเธอในชื่อ ‘มะลิ’ ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวของร้านดอกไม้แห่งนี้ พร้อมไอเดียการให้ดอกไม้อย่าง Mindful
จุดเริ่มต้นจาก ‘ทริปฮอลิเดย์’
“เหมือนเป็นความต้องการของสวรรค์” ปั้นตอบกับเราก่อนหัวเราะออกมา เมื่อเราถามว่าอะไรที่ทำให้เธออยากเป็นนักจัดดอกไม้ และเปิดร้านดอกไม้
“เอาง่ายๆ คือจับพลัดจับผลูค่ะ ไม่ได้ตั้งใจอยากจะมีร้านดอกไม้ เพราะทำธุรกิจไม่เป็น แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจจะทุ่มชีวิตให้กับการทำธุรกิจดอกไม้นะคะ” ปั้นอธิบายต่อ
เจ้าตัวพาเราย้อนกลับไปเมื่อปี 2012 ในทริปฮอลิเดย์ที่หลวงพระบาง เธอบังเอิญได้ไปเห็นชีวิตที่ลำบากของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ในหมู่บ้านป่าหน่อ พบเจอหลังคาเรือนเล็กๆ ที่เหมือนเพิ่งถูกไฟไหม้ เด็กๆ มีรร. เล็กๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างอยากลำบาก ไม่มีคนดูแลเนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำการเกษตร ก่อนที่เธอและเพื่อนๆ จะตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านที่นั่น
“เราเข้าไปทำความรู้จักเขา แล้วก็ค่อยๆ เริ่มทำดูว่า เขามีความต้องการอะไร ซึ่งเขาต้องการทางด้านการศึกษาสำหรับเด็กก่อนเป็นอย่างแรก อย่างที่สองคือเรื่องของ Income Generation เพราะพ่อแม่รายได้น้อยมาก อันที่สามคือเรื่องน้ำ เราก็ไล่ทำไป เริ่มสร้างโรงเรียนให้ใหม่ โดยที่เราก็มาระดมทุนกับเพื่อนๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ ให้อุปถัมภ์เด็กๆ คนละคนเป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าเล่าเรียน ชาวบ้านก็ร่วมมือกันสร้างรร. หาแหล่งน้ำใหม่ แล้วเรื่องน้ำก็เอาเพื่อนที่เป็น Water Engineer ขึ้นไปดูน้ำ” เจ้าตัวเล่า
“เรื่องรายได้นี่ก็จะมีเพื่อนช่วยเรื่องธนาคารวัว แล้วคราวนี้ก็เลยดูว่า ชาวบ้านเขาปลูกอะไรอยู่ เขาปลูกหัวหอม กิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งกว่าจะได้แต่ละกิโล แล้ว 10 หมู่บ้านถัดไปก็ปลูกเหมือนกัน ก็เลยคุยกันว่า อยากลองอะไรใหม่ไหม? อยากลองเพิ่มมูลค่าหัวหอมไหม? หรือจะลองปลูกอย่างอื่นที่มันมีมูลค่ามากขึ้น? หรือว่าจะลองเปลี่ยนอาชีพไปเลย? ชาวบ้านอยากลองปลูกอย่างอื่นดู ก็คืออยากลองปลูกดอกไม้”
ซึ่งเจ้าตัวก็มองเห็นศักยภาพว่า หลวงพระบางเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่มีโรงแรมอยู่ 200 กว่าแห่ง ชาวบ้านจะสามารถขายดอกไม้ได้อย่างแน่นอน
“ปรากฏว่าชาวบ้านกลัว เพราะว่าไม่มีทักษะว่าจะปลูกอย่างไร ปลูกแล้วไม่มีตลาดจะขายอย่างไร จะขายราคาเท่าไร เราก็บอกว่าไม่เป็นไร ถ้าขายไม่ได้เราจะซื้อให้ ตอนนั้นเราสัญญาไปโดยที่เรารู้ว่าอย่างไรเพื่อนๆ มีโรงแรมอยู่ในหลวงพระบางเขารับซื้ออยู่แล้ว”
เมื่อรับปากชาวบ้านเอาไว้แล้ว เธอจึงเริ่มนำเกษตรกรจากโครงการหลวงจังหวัดเชียงใหม่เข้าไปอบรมทักษะให้กับชาวบ้าน
“ดอกไม้อะไรที่มันคล้ายจากเดิมที่เคยปลูก หัวหอมมันมาจากหัว เราก็เริ่มปลูกดอกไม้ที่มาจากหัว ที่ปลูกง่ายๆ ซึ่งอากาศที่นั่นจะคล้ายๆ กับเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นเขาจะปลูกอะไรคล้ายๆ กันได้ เพียงแต่อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำค่ะ”
“พอชาวบ้านเริ่มลงมือปลูก มีผลผลิตออกมาแล้ว เราก็เลยต้องรีบซื้อแล้ว พอดีมีเพื่อนเป็นชาวดัตช์ ซึ่งเขามีตึกแถวอยู่ใจกลางเมืองในเวียงจันทน์พอดี เขาเลยให้เช่าตึก ก็ช่วยกันบูรณะตึก แล้วเราก็ไปเปิดร้านดอกไม้ ตอนนั้นเปิดมายังจัดดอกไม้ไม่เป็น ทำธุรกิจไม่เป็น พอดีเปิดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มันใกล้จะวาเลนไทน์ ก็เลยต้องไปเรียนรู้วิธีการจัดดอกไม้อย่างรวดเร็ว (หัวเราะ) และเอาเพื่อนนักจัดดอกไม้จากไทยไปช่วย ปรากฏว่าพอวันวาเลนไทน์ปุ๊บ มันก็ขายได้เลย มันก็เป็นกำลังใจให้เรา ชาวบ้านก็เอาดอกไม้ทุ่มลงมาขายได้ ก็ทำธุรกิจอยู่ที่ลาว 5 ปี มีผู้อุปถัมภ์เยอะ กลุ่มโรงแรม กลุ่มเพื่อนที่เป็น Expat ธุรกิจก็ไปได้อย่างดี”
เมื่อ ‘มะลิบาน’ สู่เมื่อกรุง
แล้วมะลิบานมาเปิดที่ Slowcombo ได้อย่างไร?
“เราจะเห็นถึงปัญหาของร้านดอกไม้ ซึ่งปัญหาที่เราเห็นแบบชัดเจนมากคือ หนึ่ง มันมีขยะที่ไม่ย่อยเยอะ พวกโฟม พวกพลาสติก อย่างที่สองก็คือ ขยะเราเยอะอยู่แล้ว ถ้าไม่มีการจัดการขยะที่ดี มันก็ไม่รู้ไปไหน ก็เลยไปศึกษาเรื่องนี้ แล้วตอนนั้นย้ายงานกลับมาทำที่ไทยพอดี ก็เลยปิดร้านที่ลาว แล้วบอกว่า ไม่อยากทำธุรกิจนี้แล้ว พอศึกษาเรื่องอุตสาหกรรมดอกไม้มากขึ้น รู้สึกว่ามันเป็นภาระให้กับธรรมชาติ มันเบียดเบียนธรรมชาติมากไป เหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย”
“เราก็ปิดร้าน แล้วย้ายกลับมาเมืองไทยตามปกติ แต่ว่ายังมีลูกค้าอยู่นะคะ เราก็ไปป๊อปอยู่ที่นั่นที่นี่ช่วงวันวาเลนไทน์ เราก็ยังรับจัดดอกไม้ ส่งดอกไม้ให้เพื่อนหรือลูกค้าที่ยังรักเราอยู่ เพราะที่ไทยก็จะมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 30-40 คน แล้วเขาก็รู้ว่ามี Malibarn มีร้านดอกไม้อยู่ แต่ว่าไม่มีหน้าร้าน”
กระทั่งวันหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 'อิ๊บ' – คล้ายเดือน สุขะหุต เจ้าของโครงการ Slowcombo ได้ชวนให้เธอเปิดร้านดอกไม้ที่ Slowcombo ซึ่งเธอก็ตอบตกลง ด้วยข้อแม้ว่า เธอจะขอทำร้านดอกไม้ที่ ‘เดินตรงข้าม’ กับอุตสาหกรรมดอกไม้
“เราคิดว่า ถ้าเกิดอยากจะเปิดอีกครั้งหนึ่ง เราอยากจะเปิดร้านในแบบที่เราเดินตรงข้ามกับอุตสาหกรรมดอกไม้ แล้วก็อยากทำสิ่งที่เราสามารถเอาความรู้ทางพฤกษศาสตร์มาทำให้ใกล้ชิดกับคนได้มากขึ้นด้วย
“การที่เรารักสิ่งแวดล้อม เราจะไปบอกคนอื่นว่า ไม่ให้ใช้พลาสติก ให้แยกขยะ เราคิดว่ามันไม่เวิร์ก มันจะเวิร์กก็ต่อเมื่อเราเชื่อมโยงให้เขาเห็นว่า ชีวิตเรากับธรรมชาติเกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วพฤกษศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่เปิดให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของพืชและความเกี่ยวข้องของชีวิตเรา ชีวิตธรรมชาติ เราก็อยากเปิดร้านดอกไม้ที่ใช้อุดมคติของการเดินตรงกันข้ามกับอุตสาหกรรมดอกไม้ไปเลย ก็คือ eco-florist จนเกิดมาเป็นร้าน Malibarn เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2023”
อุตสาหกรรมดอกไม้กลายเป็น ‘ศัตรู’ ของสิ่งแวดล้อม
ทำไมเราต้องเดินสวนทางกับอุตสาหกรรมดอกไม้ และอุตสาหกรรมนี้อันตรายอย่างไร? ซึ่งเจ้าของร้าน Malibarn ก็เล่าให้เราฟังว่า
“เรื่องที่หนึ่ง อุตสาหกรรมดอกไม้เป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายล้างสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมาก อันที่สอง อาจจะไม่ใช่ปัญหาของบ้านเรา แต่ว่าดอกไม้ส่วนใหญ่ที่มาจากแถบลาตินอเมริกา แอฟริกา เกษตรกรเป็นผู้หญิง ก็จะมีเรื่อง Sexual Harasement (ความรุนแรงทางเพศ) มีเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างผู้หญิงในละแวกนั้น” เธอเล่าก่อนอธิบายต่อว่า “ดอกไม้ดอกหนึ่งที่เราใช้กันอยู่ในร้านดอกไม้ทั่วไป อย่างดอกกุหลาบวาเลนไทน์ที่มาจากเอกวาดอร์ หรือเคนยา มันจะมาจากฟาร์มที่ส่วนใหญ่แล้วลงทุนโดยพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ เพื่อที่จะเอาดอกไม้เหล่านั้นเข้าประมูลที่ประเทศเนเธอร์แลนด์” ปั้นเล่าอย่างจริงจัง
“ลองคิดดูนะคะ เราปลูกดอกไม้ออกมาดอกหนึ่ง มันจะต้องเดินทางไปจากประเทศที่ปลูก ไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อเข้า Auction House ก่อนจะไปยุโรป 90% ของดอกไม้ในยุโรปผ่านการประมูลมาจากประเทศเนเธอแลนด์ และมายังญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งมันเดินทางด้วย 15,000 กว่ากิโลเมตร แล้วกว่าจะมาถึงบ้านเราอีก แล้วดอกไม้ไม่ได้เดินทางเหมือนคนนะคะ เขาต้องวางแผนให้ดอกไม้มันมาบานในร้านดอกไม้ ตรงตามเทศกาลเพื่อให้ได้ราคาดี ก็คือมันเดินทางด้วยอุณหภูมิเขาต้องเย็น เขาต้องเดินทางมาแบบตูม เขาต้องเดินทางได้เร็วที่สุด เพราะฉะนั้นการขนส่งดอกไม้ เขาจะขนส่งกันด้วยเครื่องบินคาร์โก้ที่มีแอร์ อันนี้แบบพื้นๆ เลยนะ ลองคิดดูว่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์มันมากแค่ไหน ร้านดอกไม้ไทยแทบจะ 90% เขาอาจจะไม่รู้ถึงปัญหาเหล่านี้นะคะ”
“ปัจจุบันนี้มันมีการบิดเบือนความเป็นธรรมชาติของดอกไม้ค่อนข้างเยอะ แล้วทำไมเขาถึงเอาความเป็นธรรมชาติของดอกไม้ออกไปหมด? ก็เพราะการที่ดอกไม้จะเดินทางไกลได้ เขาจะต้องรักษาพลังงานของมันไว้ เพื่อไม่ให้มันเหี่ยวไปก่อน การที่จะรักษาพลังงานของมันไว้ก็คือ หนึ่ง ฉีดสารเคมี สอง ดึงกลิ่นมันออก เพราะการที่ดอกไม้ส่งกลิ่น มันต้องใช้พลังงานเยอะ ระหว่างการเดินทางนะ เขาจะฉีดยาให้มันเข้าจำศีล อยู่ในที่มืด อยู่ในแอร์ แล้วก็ใช้พลังงานน้อยที่สุด เพื่อให้มันมาบานอยู่ในร้านดอกไม้”
“เรามองว่า หน้าที่ของร้านดอกไม้ เราเหมือนเป็น Ambassador ระหว่างธรรมชาติกับคนในเมือง เอาธรรมชาติมาสู่คน เพราะฉะนั้นเราจะรักษาความเป็นธรรมชาติของดอกไม้ไว้ให้ได้มากที่สุด ลูกค้าเราต้องได้รับพลังบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่ทำได้จากดอกไม้จากร้านเรา”
หอพันธุ์ไม้ และร้านดอกไม้รักโลก
“จริงๆ การทำธุรกิจร้านดอกไม้ไม่ยาก ดอกไม้ที่มันใหญ่และสวยตามฝรั่ง แบบที่คนไทยนิยม มันจัดอยู่ด้วยกันก็สวยแล้ว ไม่ต้องใช้เทคนิคหรือทักษะเยอะ ใช้ดอกไม้ตามเทรนไป” ปั้นเกริ่นขึ้น ก่อนจะเสริมว่า เธออยากให้คนสนใจดอกไม้ไทย ซึ่งมีความสวยงาม และหลากหลายมากไม่แพ้ดอกไม้จากต่างประเทศ
“บ้านเราดอกไม้สวยๆ เยอะมาก มันมีความหลากหลายเยอะ อย่างดอกหงอนไก่นี่คือดอกไม้บ้านเราเลย ก้านเขาแข็งแรง เวลาเข้าช่อจะสวยมาก เพราะทรงเขาสวย ดอกดองดึงก็แปลกตา ฟอร์มนี่มีเสน่ห์มาก อยากให้หันมาชื่นชมดอกไม้จากบ้านเราเอง ซึ่งส่วนใหญ่ดอกไม้ร้านเรามาจากเชียงใหม่ เราทำงานกับชาวอ่างขาง หน้าร้อนที่อ่างขางจะมีกุหลาบเชียงใหม่ ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลก็จะราคาไม่แพง ซึ่งเราได้รับคำชมจากลูกค้าเยอะมาก ว่าดอกไม้ร้านเราอยู่ได้นาน เพราะว่าเดินทางมาใกล้ แล้วก็มีกลิ่นหอมที่ร้านอื่นไม่มี มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ เพราะธรรมชาติมันก็ไม่สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว เราก็พยายามบอกลูกค้าเราว่า ที่ร้านเราให้คุณค่ากับสิ่งที่มันไม่สมบูรณ์แบบ ดอกกุหลาบบางทีมันก็มีรอยแมลงกัด ซึ่งมันเป็นตัวบ่งชี้ว่าดอกไม้เราไม่ใช้สารเคมีนะคะ”
ปั้นอธิบายถึงแก่นของการทำร้าน Malibarn ผ่านมุมมองของเธอให้เราฟังว่า
“วิธีจัดดอกไม้ของร้านเรา จะเลียนแบบทุกอย่างให้เหมือนดอกไม้ที่อยู่ในทุ่งตามธรรมชาติของมัน ซึ่งเราอยากให้การมอบดอกไม้เป็นการกระจายความรักว่า เราเป็นห่วงเธอนะ เราอยากทำให้เธอเบิกบานขึ้น และการที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกดีของใครสักคน เราต้องไม่เป็นส่วนในการทำลายธรรมชาติด้วย แล้วเราก็รักษาความเป็นธรรมชาติเอาไว้ เอาธรรมชาติไปสู่ลูกค้าจริงๆ ไม่ต้องการให้ร้านใช้โฟม หรือใช้พลาสติกอะไรที่มันจะเป็นภาระของคนที่ได้รับ โอเอซิส หรือ Floral Foam ที่ใช้ๆ กัน นั่นคือย่อยแล้วกลายเป็น Micro-plastic ที่ร้านเราใช้ทุกอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ทุกอย่างถ้าไม่นำกลับมาใช้ใหม่ ก็จะย่อยสลายได้ แล้วดอกไม้ของเราจะใช้ตามฤดูกาล เป็นดอกไม้ไทยเท่านั้น อยากจะนำเสนอความสวยงามของดอกไม้ไทยด้วย บ้านเรานี่พืชหลากหลายมาก”
“ร้านเราขายเป็นกิ่งด้วย มีคอนเซปต์ของ Flower Bar มาเลือกกันได้ เราอยากให้ทุกคนเข้าถึงได้ ความเป็นธรรมชาติคุณไม่ต้องรวย ซื้อได้ทุกวัน วันไหนรู้สึกไม่ดีก็เข้ามาในร้านนี้ได้ มาสูดอากาศ มาจัดเองก็ได้ เราแนะนำให้ได้ หรือเลือกมาแล้วเราจัดให้ก็ได้”
“อีกเรื่องหนึ่งคงเป็น Herbarium ค่ะ เราเป็นหอพันธุ์ไม้ เพราะเราเกิดมากับแม่ ที่ในห้องทำงานแม่ก็จะมีพันธุ์ไม้ที่เขาเก็บมาเยอะแยะมาก การที่เราศึกษาพวกพรรณไม้ มันจะทำให้เรามีทักษะของการสังเกตมากขึ้นในชีวิต เพราะเวลาเขาแยกพันธุ์ไม้ เขาก็จะแยกกันด้วยคุณลักษณะทุกอย่างของใบไม้ ขอบใบ การเรียงตัวของขนใบ การเรียงตัวของเกสรตัวผู้ตัวเมีย ตำแหน่งของรังไข่ การเรียงตัวของเส้นใบ มันจะสอนให้สังเกต พอเราเริ่มสังเกต มันจะเกิดการเชื่อมโยง อย่างเมื่อวานเราเพิ่งเห็นดอกหน้าวัวว่า เหมือนลายในหูเราเลย สิ่งเหล่านี้อธิบายไม่ได้นะ แต่ว่าพอเราเห็น เราถึงจะเข้าใจ เราอยากให้เด็กๆ มาใช้เวลากับพืช แล้วมันจะเกิดคำถามมากมาย เขาเริ่มคิด แล้วอยากให้เขามาสัมผัสกับพันธุ์ไม้ เรามีคอลเลกชั่นประมาณ 200 กว่าอัน”
“แกนสุดท้ายของเราคือ เราอนุรักษ์การใช้ดอกไม้แบบไทย ก็คือการร้อยมาลัย ทำใบตอง อยากอนุรักษ์ทักษะนั้นไว้ ผู้หญิงสมัยนั้นเวลาเขาเยอะมากนะ (หัวเราะ) เราก็อยากให้เด็กรุ่นใหม่เข้าถึงได้ด้วย ไม่ได้บังคับให้เด็กมาใช้เวลา 10-20 ชั่วโมงในการร้อยมาลัย แต่เรามีครูที่เป็นช่างจากวังหญิงเลยค่ะ ทักษะระดับวัง แต่เรามาใช้ดีไซน์ร่วมสมัย ดีไซน์ที่สวย เก๋ ไม่ต้องประณีตขนาดนั้น ทำได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง” ปั้นเล่า
ความท้าทายของการทำร้านดอกไม้อีโค่
นอกจากทั้งหมดที่เล่ามาแล้ว Malibarn ยังเป็นร้านดอกไม้ร้านเดียวในไทยที่เป็นสมาชิกของ Sustainable Floristry Network (SFN) อีกด้วย
“พอเปิดมาร้าน แล้วเราอยากจะเป็น eco-florist เราก็อยากจะไปเรียนรู้เข้าใจปัญหาของอุตสาหกรรมดอกไม้อย่างละเอียด เรียนรู้การใช้ทัศนคติแบบเป็นมิตรแท้กับธรรมชาติอย่างแท้จริง การทำจริงๆ ตั้งแต่การปลูก การคัดเลือกดอกไม้เข้ามาในร้าน แล้วก็การบริหารจัดการร้านดอกไม้ รวมถึงการช่วยให้ลูกค้าเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วเขาก็มีทางเลือกที่ดีขึ้น สามารถซื้อดอกไม้ที่สวยแต่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมได้ ก็เลยไปเรียนที่สกอตแลนด์ เขาเป็น Ambassador ของ Sustainable Floristry Network (SFN) ช่วงเดือนสิงหาที่ผ่านมา แล้วก็เข้าคอร์ส Foundation Course กับ Global Network จากออสเตรเลียค่ะ ได้ Certificate นี้มาเป็นคนแรกของไทยนะคะ แต่ยังไม่ได้อวดเลยค่ะ เพราะคนยังไม่ค่อยเข้าใจกันเลยถึงปัญหาของอุตสาหกรรมดอกไม้นี้ (หัวเราะ)”
แล้วการเป็น eco-florist ในบ้านเรานั้นท้าทายอย่างไร?
“อย่างแรกเลย คิดว่าคนยังไม่เข้าใจ ซึ่งคนที่อยากให้เข้าใจก่อนเลย คืออยากให้ร้านดอกไม้เข้าใจ แล้วเขาจะเลือกทำธุรกิจแบบไหน ก็เป็นการตัดสินใจของเขา ควบคู่ไปกับผู้บริโภค อยากให้เขาตระหนักตรงนี้ก่อน แล้วอย่างที่สองก็คือ อยากให้น้องๆ ที่เขามีความฝันอยากเปิดร้านดอกไม้ได้รู้เรื่องนี้ เพราะถ้าจะเปิดเราช่วย แต่ว่าขอให้เป็น eco-florist แบบนี้ เดี๋ยวเราจะเปิดคอร์สหนึ่งเดือน สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจดอกไม้ค่ะ เพราะอย่างแรกที่คนไม่รู้คือ พิษของอุตสาหกรรมดอกไม้ แล้วบ้านเราเหมือนจะยังไม่ค่อยแคร์เท่าไร จริงๆ ปัญหาของฟาร์มดอกไม้มันซับซ้อนและโยงใยกันหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเรื่องการถางป่าเอาที่ดินมาทำฟาร์ม พอทำพืชเชิงเดี่ยวเป็นเวลานาน ดินก็จะสูญเสีย nutrition ปัญหาฟาร์มที่ใช้ปริมาณน้ำที่เยอะ ปัญหาเรื่องสารเคมีที่ใช้กับดอกไม้ สารเคมีที่ตกค้างในน้ำทิ้ง มลพิษในอากาศ และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความมั่นคงของอาหารด้วย ปัญหามันเยอะมาก ปัญหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ระหว่างการเดินทางของดอกไม้ พอมาที่ร้าน ก็จะมีปัญหาเรื่องขยะที่เยอะ จัดงานแต่งงานทีนี้ โอ้โห อันนี้ทุกร้านทราบกันหมด”
“อีกอย่างคือ ธุรกิจสมัยนี้ เราตามเขาไม่ทัน (หัวเราะ) ต้องมี TikTok มีอะไร แต่ว่าเราก็จะมีหลังบ้านที่เขาเป็น Business Developper เราก็คงต้องทำพวกโซเชียลมีเดีย แต่เทรนด์มันเปลี่ยนบ่อย เราก็ต้องตามให้ทันในการดีไซน์ของเราให้แปลกใหม่ ซึ่งดอกไม้จริงๆ แล้ว มันมาตามฤดูกาล เราไม่เร่งเขา แต่เราจะทำอย่างไรให้คนมาบริโภคแล้วเคารพธรรมชาติมากขึ้น เราอยากทำทุกอย่างตามระบบของธรรมชาติ มันยากตรงนี้ บางทีลูกค้าถามว่ามีดอกกุหลาบสีฟ้าไหมอย่างนี้ (หัวเราะ)”
“คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าพยายามจะทำอะไร แต่เราก็เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ที่อยากให้มันมีเน็ตเวิร์กอย่างนี้ในประเทศไทย ไม่ต้องการแข่งขันกับใคร แต่อยากให้เรามีเน็ตเวิร์กที่จับมือกันมากขึ้น มันก็จะทำให้ผู้บริโภคมาสนใจมากขึ้นด้วย ขยายตลาด แล้วผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็จะมีต้นทุนถูกลง” เจ้าของร้าน Malibarn เสริมขึ้น
“สุดท้ายเราอยากให้ร้านเรามีเมตตากับพนักงานของเราด้วย อาชีพนักจัดดอกไม้บ้านเราเป็นอาชีพที่ทำงานถึกมากนะ เขาจะใช้เวลาจากเที่ยงคืนวันนี้ ไปจบเที่ยงอีกวันหนึ่ง เพื่อจัดงานแต่งงาน เขามีเวลานอนกันน้อยมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเทศกาล ค่าจ้างที่ได้ก็อาจจะไม่ยุติธรรม แล้วสิ่งที่เขาครีเอตขึ้นมาในคืนนั้น รุ่งขึ้นมันจบแล้ว เขาจะไม่มีเวลาชื่นชมผลงานตัวเองเลย เราไม่อยากให้พนักงานที่นี่มีคุณภาพชีวิตแบบนั้น เราก็อยากให้เงินเดือนที่ดี แล้วก็อยากให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีด้วย เพราะคนอยู่กับดอกไม้จะจัดดอกไม้สวย คุณต้องมีความสุขก่อน ต้องอารมณ์ดี”
เมื่อดอกไม้มีคุณค่ามากกว่าวันสำคัญ
Mindful Gifting (การให้ของขวัญอย่างมีสตินึกคิด) ในมุมของ Malibarn คืออะไร?
“ถ้าเราจะ Mindful Gifting ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูเทศกาล 99% ของดอกไม้ที่นี่จะมาจากไทย แต่ว่าช่วงวาเลนไทน์เราจะยอม เพราะเราก็ต้องทำธุรกิจ ก็จะมีดอกไม้ที่มาจากต่างชาติด้วย 10% เรามองว่า เราช่วยเขา เช่น เขาอยากได้ดอกกุหลาบจากเคนยา เรามีค่ะ แต่ว่าเรามีจำนวนที่น้อย แล้วนำเสนอการจัดร่วมกับดอกไม้ไทย คาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยหน่อย หรือว่าเรามีตัวเลือกอย่างอื่นด้วยนะที่ไม่ต้องเป็นเฉพาะดอกกุหลาบเท่านั้น” เธออธิบาย
“อีกอย่างคือ ไม่อยากให้ชีสซี่ว่า วาเลนไทน์เราให้ดอกไม้เฉพาะคนที่เรารัก รู้ไหมว่า ร้านดอกไม้จะขายได้ดีที่สุดถ้าวันวาเลนไทน์เป็นวันทำงาน มันจะขายดีกว่าวันวาเลนไทน์ที่ตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ บางคนก็จะบอกเลยว่า ขอให้ไปส่งในระยะเวลานี้นะคะ อย่าไปส่งตอนเลิกงานนะคะ หรืออย่าไปส่งวันเสาร์นะคะ ก็คือไปส่งตอนที่แฟนของเขาได้รับแล้วเพื่อนๆ จะได้เห็นด้วย เราก็รู้สึกว่า แล้วเพื่อนเขาจะรู้สึกอย่างไร คนที่ไม่มีคนให้ล่ะ”
“เราอยากให้ร้านดอกไม้ของเราสามารถ Mindful ได้ การที่ Mindful ก็เหมือนว่าเราชื่นชม เข้าใจ ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทุกคน ดอกไม้ของเราวันวาเลนไทน์มาซื้อได้ทุกเพศ ทุกวัย แล้วก็ให้ได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องสามีภรรยา หรือแฟน หรือคนแอบชอบเท่านั้น เพื่อนที่เขาปัญหาสุขภาพ กำลังอกหัก เศร้าเสียใจ ได้รับดอกไม้สักช่อ อย่างน้อยอาจจะช่วยให้เอาได้ยิ้มบ้าง หรืออะไรอย่างนี้ เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งตรงนั้นด้วย”
“ที่สำคัญเราอยากให้ลองมาจัดกันเอง เราถึงพยายามจัดเวิร์กช็อปเยอะๆ ช่วงวาเลนไทน์วันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ เราจะจัดเวิร์กช็อปสลายความเหงาเปล่าเปลี่ยว ช่วงนี้คนเหงากันเยอะ (หัวเราะ) เราก็จะมีเวิร์กช็อปให้คนมาจัดดอกไม้ร่วมกันเป็นคู่ จะจับคู่กันมาก็ได้ ฉันชอบคนนี้อยู่ ชวนมาจัดดอกไม้ก็ได้ หรือว่ามาเดี่ยวแล้วมาลองจับคู่กันที่ร้านก็ได้ เราก็อยากให้วันวาเลนไทน์ หรือว่าวันแห่งความรักมันเต็มไปด้วยความรักจริงๆ ไม่ว่าความรักของเรากับเพื่อนมนุษย์ หรือว่าความรักกับธรรมชาติ” ปั้นเล่าถึงเวิร์กช็อปที่กำลังจะเกิดขึ้น
“ในทุกๆ ปีของเราตอนอยู่ที่ลาว ดอกไม้ที่เราขายไม่หมดช่วงวาเลนไทน์วันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ เราก็แจกฟรีเลย จริงๆ คืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เราก็เอาดอกไม้มาวางไว้หน้าร้านแล้ว เพราะส่วนใหญ่เราจะปิดงานประมาณวันที่ 14 ตอนสี่ทุ่มค่ะ”
“ดอกไม้ที่เหลือ ที่มันยังขายไม่หมด เราก็มาแจกให้คนเดินผ่านไปมา อยากให้พี่ๆ รปภ. หรือพี่ๆ ในละแวกเพื่อนบ้านเรามีโอกาสเอาดอกไม้ไปให้คนที่เขารักได้ด้วย”
ได้เวลาซื้อดอกไม้ฮีลหัวใจตัวเอง
เราให้ปั้นช่วยอธิบายวัฒนธรรมการให้ดอกไม้ในบ้านเราให้ฟัง ซึ่งเธอก็เล่าออกมาได้อย่างน่าสนใจ
“เราเห็นถึงความแตกต่าง ตอนอยู่ที่ลาว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ เพราะฉะนั้นเขาจะชื่นชมสิ่งที่เราทำกับหมู่บ้าน แล้วก็จะให้คุณค่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า คนที่ชอบดอกไม้ ที่ให้ดอกไม้กันเป็นของขวัญได้ คือกลุ่มประเทศที่เขาไม่มีปัญหาทางด้านปากท้อง เพราะว่าดอกไม้ในหลายๆ ที่ มันถูกแปลเป็นสินค้าลักชูรี่ พอย้ายกลับเข้ามาที่ไทย ก็พยายามเจาะกลุ่มคนที่ Walk-in เข้ามา เพราะคนไทยเราใช้ดอกไม้เฉพาะเทศกาล อย่างช่วงวาเลนไทน์ วันแม่ สงกรานต์ คริสต์มาส ฤดูแต่งงาน จะเป็นช่วงที่ขายดีหน่อย แต่ว่าที่ร้านก็จะมีลูกค้า Walk-in อยู่ระดับหนึ่ง ประมาณ 20 คนที่มาซื้อทุกเย็น เป็นเด็กวัยรุ่น ซึ่งเราอยากเจาะกลุ่มนี้ ให้บริโภคดอกไม้เหมือนบริโภคนม บริโภคผัก แทนที่จะไปซื้ออาหารบุฟเฟ่ต์ หมูกระทะ แบ่งเงินมารื่นรมย์กับดอกไม้บ้างน่าจะดี แล้วทานเหลือทิ้ง กินไม่หมด หรือคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม ทำงานในออฟฟิศมากๆ ที่ไม่มีเวลากลับไปสู่ธรรมชาติ ก็ซื้อดอกไม้ให้ตัวเอง ที่ร้านของเราลูกค้าซื้อดอกไม้ให้ตัวเองหลายคน ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชายเลย วันละ 1-2 ดอก เอาไปไว้ที่ออฟฟิศสวยๆ ถ่ายรูปก็ได้ อันนี้คือ เทรนด์การบริโภคของกลุ่มวัยรุ่นไทย คำว่าวัยรุ่นนี่เราให้ตั้งแต่ประมาณ 21-34 ปีเลย ที่มาซื้อดอกไม้เราอยู่ตลอด”
แล้วในมุมของคอมมูนิตี้ของร้านดอกไม้ล่ะ ปั้นอยากเห็นอะไร?
“อยากให้มาทำงานร่วมกันมากขึ้น จริงๆ ‘New Competition is Cooperation’ นะ เราอยากทำงานกับกลุ่มองค์กร บริษัท B2B อยากช่วยเขาลดปัญหาในการใช้ดอกไม้ของเขา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงแรม ร้านแบรนด์หรูที่ใช้ดอกไม้เยอะๆ ร้านอาหาร บริษัทจัดงาน เราคิดมาให้หมดแล้ว ในความรู้สึกของเรา เมื่อก่อนคำว่าธุรกิจ ทุกอย่างมันคือการแข่งขันหมดเลย แต่ทำไมเราถึงไม่ลองร่วมมือกัน เพราะเราเชื่อว่าตลาดมันเยอะมากพอสำหรับทุกคนอยู่แล้ว ที่จะไปรอดด้วยกันหมด แล้วเราไม่ได้มองแค่ตลาดในไทย ถ้าเราส่งดอกไม้ไปประเทศเพื่อนบ้าน หรืออย่างญี่ปุ่นที่ตอนนี้เขาบริโภคดอกไม้จากยุโรปค่อนข้างเยอะ ทำไมเราไม่เอาดอกไม้ของบ้านเราไปบ้าง มันต้องเกิดการร่วมมือกันมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่มันใหญ่กว่าการทำธุรกิจในร้านของเรา เราจะทำอย่างไรให้ร้านดอกไม้ในประเทศไทยสามารถช่วยอนุรักษ์ดอกไม้ไทยได้ด้วย สมมุติในกรุงเทพมีร้านดอกไม้อยู่ 1,500 ร้าน ถ้าเราจับมือกันเป็นกลุ่มสัก 10 ร้าน ไปช่วยอนุรักษ์พืชที่กำลังจะสูญพันธุ์ในระนองอย่าง ‘พลับพลึงธาร’ อีก 10 ร้าน ช่วยอนุรักษ์อีกพันธุ์หนึ่ง เป็นกลุ่มๆ ไป โดยการส่งรายได้ส่วนหนึ่ง อาจจะ 1% กลับไปช่วยอนุรักษ์พืช ทำให้เขาอยู่ได้ อยากเห็นแบบนั้นมากกว่า”
อนาคตที่ ‘มะลิบาน’ มากกว่าที่เคย
“เราคงจะทำต่อไปแบบนี้ค่ะ ไม่ว่ามันจะยากแค่ไหน เพิ่มการตลาด เพิ่มการขาย” เป็นสิ่งที่ปั้นตอบเรา เมื่อชวนคุยถึงอนาคตของร้าน Malibarn ก่อนอธิบายต่อว่า “ช่วงแรกๆ มั่นใจว่ามันคงยากมากๆ แต่ว่า ณ ปัจจุบัน คนให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่น เรารู้สึกนับถือเขามากนะ แล้วเราเชื่อว่ามะลิบานมันจะอยู่ ไม่ว่ามันจะเป็นชื่ออะไรก็แล้วแต่ มันอยู่บียอนด์ชีวิตของเรา”
“การที่เราจะสร้างอะไรอย่างหนึ่ง มันจะต้องอยู่บียอนด์ชีวิตๆ หนึ่ง ถ้าเรากระตุ้นให้มันเกิดจิตสำนึกเรื่องนี้แล้ว มันควรที่จะอยู่ไปเกินกว่าอายุของเรา ไม่ว่ามันจะอยู่ในชื่ออะไรก็แล้วแต่”
“เรามีพาร์ทเนอร์ 4 คน ที่เขาเป็นนักลงทุน และเป็น Angel ท่านหนึ่ง เขาก็อยากจะให้ขยายธุรกิจออกไป เขาบอกเราว่า เขาเข้าใจเป้าหมายของเราที่เป็นแบบนี้ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้นะ เราต้องขยาย จะขยายในชื่อของมะลิบาน หรือขยายในลักษณะของแฟรนไชส์ก็ได้ อย่างแรกต้องทำให้เห็นก่อนว่า ธุรกิจแบบนี้มันอยู่ได้ มะลิบานต้องรอดก่อน มีอิสรภาพทางการเงินก่อน แล้วหลังจากนั้นกลางๆ ปีนี้เราก็จะทำหลักสูตรการสอนสำหรับคนที่อยากจะทำธุรกิจดอกไม้จริงๆ อาจจะไม่ต้อง 100% แบบเรา อาจจะเริ่มจากเดิมที่ใช้ดอกไม้นอกอยู่ 100% ลองปรับเอาดอกไม้ไทยเข้ามาสัก 20% ค่อยๆ ทำไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับดูว่ารายได้เราก็เหมือนเดิมนี่นา มันไม่ได้น้อยลง ต้นทุนไม่ได้สูงขึ้น” ปั้นตอบอย่างมีความสุข
Malibarn: eco-florist & Herbarium
ชั้น 2 โครงการ Slowcombo ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 สามย่าน กรุงเทพฯ (Google Map)
เปิดให้บริการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา 10.00 – 19.00 น.
โทร. 061 958 0801
ติดตามอัพเดตดอกไม้ และเวิร์กช็อปต่างๆ ได้ที่
Facebook: Malibarn: eco-florist & herbarium
Instagram: malibarn_flowershop