Auto

MG Maxus9 หรือนี่คือรถไฟฟ้าตู้หรูผู้จะมาฆ่า Alphard

ไม่บ่อยนักที่ EQ จะรีวิวแนะนำรถที่จำหน่ายในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่จะพาไปดูรถที่น่าสนใจในต่างประเทศเสียมากกว่า

ทว่ารถรุ่นนี้พิเศษกว่า จนแบบว่า ‘มองข้ามไม่ได้จริงๆ’ กับรถที่หลายๆ สื่อในประเทศยกให้เป็น  'Alphard Killer' ตู้พลังไฟฟ้าสายเลือดอังกฤษ (กึ่งมังกร) จากค่าย MG ในรุ่นที่มีชื่อว่า Maxus 9

กับสเปกความพิเศษเบื้องต้น รถตู้ MPV 7 ที่นั่ง พลังขับเคลื่อน EV 100% วิ่งได้ไกล 540 ต่อการชาร์จเต็ม ในราคาเริ่มต้น 2.499 ล้านบาท ภายใต้ชื่อแบรนด์ MG เอาแบบไม่ใช่คน อวย MG คุณคิดว่ามันจะดีพอที่จะมาฆ่า Toyota Alphad ได้ไหม?

ไปรู้จักกับ MG Maxus9 กันก่อน

MG ประเทศไทย เปิดให้จองและจำหน่าย MG Maxus9 เป็นครั้งแรกในมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ มันเป็นรถที่ถูกจองมากที่สุดในบูธของ MG ครั้งนั้น ทั้งที่ยังไม่มีรถให้ลองขับหรือประกาศตัวเลขการขายอย่างชัดเจนมาด้วยซ้ำ

นั่นอาจจะตีความหมายได้กลายๆ ว่า ‘First Impression’ ตัวรถสร้างออกมาได้อย่างน่าประทับใจมากพอ พอที่จะให้ผู้ที่สนใจตัดสินใจจองได้ ทั้งที่ไม่เคยเห็นรุ่นนี้มาก่อน ความเป็นไฟฟ้า EV 100% ความเป็นรถตู้หรู MPV 7 ที่นั่ง ดีไซน์ภายนอก ภายใน และงานประกอบอันสวยงาม

“ทางค่ายซื้อใจให้มาแบบ ‘ไม่มีกั๊ก’ จนอดไม่ได้จริงๆ ที่รุ่นนี้จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเจ้าตลาด ‘ตัวตึง’ รถตู้ที่ Youtuber ต้องมี รถประเภทเดียวกันอย่าง Toyota Alphard”

มิติตัวถัง MG Maxus9

  • ความยาว 5,270 มิลลิเมตร (Alphard 4,945 มิลลิเมตร)
  • ความกว้าง 2,000 มิลลิเมตร (Alphard 1,850 มิลลิเมตร)
  • ความสูง 1,840 มิลลิเมตร (Alphard 1,895 มิลลิเมตร)
  • ระยะฐานล้อ 3,200 มิลลิเมตร (Alphard 3,000 มิลลิเมตร)

ดูเหมือนว่า Maxus9 จะใหญ่กว่าในทุกมิติตัวถัง มีก็เรื่องความสูงที่ ทาง Alphard สูงกว่า จรดไปถึงเรื่องของขนาดฐานล้อทาง Maxus9 ก็มามากกว่าด้วย

“ตัวเลขเหล่านี้บอกอะไรกับคุณได้บ้าง? ขนาดตัวที่ใหญ่กว่าของ Maxus9 นั่นหมายถึงพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า พื้นที่ในแต่ละตำแหน่งเบาะจะมีมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดประสงค์หลักของผู้ตัดสินใจซื้อรถ MPV สักคัน ไม่ใช่หรือ?”

เรื่องของขนาดตัว Maxus9 จัด Alphard ไปหนึ่งแผล!

เทคโนโลยีการขับเคลื่อนเพื่ออนาคต

ถามว่ามิติไหนที่ Maxus9 จะมาฆ่า Alphard ได้อีก หนึ่งจุดที่ชัดเจนเลยคือ ‘เทคโนโลยี’ จะทั้งในเรื่องเทคโนโลยีการขับเคลื่อน ที่เป็นพลังไฟฟ้า 100% หรือจะเป็นเรื่องฟีเจอร์การขับขี่ ฟีเจอร์ความสะดวกสบายก็ดูเหมือนจะเด่นไม่เป็นรอง Alphard ด้วยเหมือนกัน

MG พรีเซนต์ Maxus9 ภายใต้ความเป็นรถ E-MPV กับระบบส่งกำลังตามกระแสรถยุคนี้ที่เป็นแบบมอเตอร์ไฟฟ้าเพียวๆ แบบ Permanent Magnet Synchronous แรงม้าสูงสุดอยู่ที่ 245 แรงม้า ขับแรงบิด 350 Nm จัดเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่แบบ Lithium-ion ระบบ Cell To Pack เจ็นใหม่ล่าสุด ความจุ 90 kWh ชาร์จแบบธรรมดา AC สูงสุด 11 kW เต็มใน 8 ชั่วโมง 30 นาที หากชาร์จจาก 5-100%

ส่วนถ้าเป็นการชาร์จไวแบบ DC จะรองรับได้สูงสุดถึง 120 kW จาก 30-80% จะเต็มภายใน 30 นาที วิ่งได้ไกลสุด 540 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง จะเทียบกับตัวตึงอย่าง Alphard คงจะยากกับรถเครื่องยนต์ไฮบริดที่ยังต้องพึ่งการเติมน้ำมัน

“แต่ถ้าเทียบในเรื่องของทิศทางการใช้งานรถยนต์แห่งอนาคต ที่ลดการพึ่งพาน้ำมัน มองเครื่องยนต์สันดาปเป็นเรื่องเก่าคร่ำครึและเห็นแก่ตัว Maxus9 ดูเหนือกว่า Alphard ได้อยู่ในมิตินี้”

ถ้าตามเทรนด์ความเป็นรถ EV อวย MG Maxus9 ไปอีกแผล

ฟีเจอร์ไม่ยิ่งหย่อน (ในราคารถที่ถูกกว่า)

ถ้าเทียบในเรื่องความสะดวกสบายอาจจะต่างกันไม่มาก ดูใกล้เคียงในหลายๆ มิติการใช้งาน แต่แม้ว่า MG จะทำรถออกมาดูหรูมากมายสักแค่ไหน ยอมรับเถอะ! ว่าความอนุรักษ์นิยมของแบรนด์รถญี่ปุ่นซึ่งอยู่กับเรามาตั้งแต่จำความได้ อาจจะทำให้คุณมองเจ้าลูกครึ่งอังกฤษ-จีนคันนี้ ผ่านม่านบาเรียอคติอยู่นิดๆ (ผู้เขียนก็เป็น)

แต่แม้จะมองลบความเป็นรถจากจีนแล้วก็ตามที ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าครั้งนี้ ‘MG ทำมาดี’ ให้มาเต็มในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้งานทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ทีแรกที่ได้เห็นต้องประหลาดในการดีไซน์ภายในห้องโดยสาร เบาะหนังแท้เย็บลายไดม่อนคัทที่ให้มากับระบบนวด 4 ตัว (คู่หน้า+แถวสอง) คือจุดเด่นเมื่อเห็นไวๆ

“แต่ที่ว้าวได้มากกว่าคือ เบาะแถว 2 ที่เป็นแบบ VIP Captain Seat มีหน้าจอให้ปรับการนั่งได้แบบทัชสกรีนด้วย ยิ่งชัดเจนเลยว่า MG ไม่ได้มาเล่นๆ แน่”

รวมไปถึงฟีเจอร์การใช้งานอื่นๆ โดยรวม ไม่น้อยหน้าที่ Alphard ให้มาเลย กระจกมองหลังเป็นแบบฉายจากกล้อง Streaming Media Rearview, พวงมาลัยปรับ 4 ทิศทาง, จอแสดงผล Digital Interactive Multi-function Display ขนาด 7 นิ้ว, หน้าจอระบบสัมผัสขนาด 12.3 นิ้ว, ลำโพง 12 ตำแหน่ง ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากที่ถ้าบอกไปคงจะเป็นการรีวิวสเปกเสียมากกว่า เอาเป็นว่าสเปกที่ให้มา ‘ไม่ขี้เหร่’ เทียบกับ Alphard ให้เสมอได้

สรุป

มวยถูกคู่ของ MG Maxus9 ไม่ใช่เพียงแค่ Toyota Alphard เท่านั้น เพราะยังมี Hyundai Staria, H1 ยังเป็นคู่แข่งที่รวมอยู่ในกลุ่มรถประเภทนี้ด้วย

Maxus9 กับราคารถในรุ่น X ที่ราคา 2.499 ล้านบาท และอีกรุ่นที่เป็นตัวท็อป 2.699 ล้านบาท ดูแล้วไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ เลยถ้าคนจะตัดสินใจซื้อ และนี่ยังเป็นตัวเลขที่ ‘แพงที่สุด’ แล้วตั้งแต่ MG ประเทศไทยเคยวางหน่ายอีกด้วย ให้มาดีฟีเจอร์ครบ รถ EV ตามเทรนด์ตลาดเมืองไทย ซื้อใจยาวๆ กับการรับประกันแบตฯ 10 ปีหรือ 200,000 กิโลเมตร รับประกันตัวรถ 5 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร

ส่วนราคาของทาง Alphard มาทางผู้นำเข้าอิสระเริ่มต้นก็ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทแล้ว รุ่นตัวท็อปฟีเจอร์ครบอัดเต็มแบบ VIP นี้ทะลุไปแตะ 5 ล้านบาทเลยก็มี ถ้าเอาประเด็นเรื่องราคาขายของรถมาด้วย Maxus9 ก็เหมือนจะมาวินได้อีกข้อ

MG Maxus9 จะมาทำยอดขายฆ่า Toyota Alphard ได้หรือไม่ ทดแทนความต้องการของ Alphard ได้หรือเปล่า? เวลาคงเป็นคำตอบให้สำหรับคำถามนี้ และถ้าเป็นคุณละ? จะเลือกฝั่งไหน ฝั่งอนุรักษ์นิยม ยังชอบรถที่ใช้น้ำมันอยู่ แบรนด์เชื่อถือได้ #TeamAlphard

หรือว่าฝั่งเทรนด์กระแสรถไฟฟ้า EV หมดห่วงเรื่องค่าน้ำมันแถมรักษ์โลกไม่ปล่อยมลพิษ ไม่แคร์ว่าต้องเป็นรถแบรนด์ใหญ่แค่ฟีเจอร์การใช้งานครบก็พอ #TeamMaxus9 อย่าลืมบอกให้เราฟังกันหน่อยด้วยนะ