Life

‘MUCHIMORE’ พื้นที่สัมผัสการเรียนรู้ เพื่อฟื้นฟู ดูแลจิตใจ และเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

บนโลกที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความสับสน ความเร่งรีบ การดิ้นรน และการขวนขวาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ หรือได้บางอย่างตามบรรทัดฐานของสังคมที่ถูกกำหนดเป็นแพทเทิร์นไว้ว่า ต้องใช้ชีวิตแบบนี้นะถึงจะดี และถูกต้อง จนอาจหลงลืม และมองย้อนมาที่ ‘จิตใจของตนเอง’ เพียงเพราะเราไม่เคย ‘อยู่กับตัวเอง’ ไม่เคย ‘คุยกับตัวเอง’ และไม่เคย ‘เข้าใจตนเอง’ อย่างถ่องแท้ ‘ความทุกข์’ จึงพร้อมที่จะคืบคลานเข้ามาในชีวิต

‘Muchimore’ หรือ พื้นที่ตระหนักรู้ธรรมดา จึงเปรียบเสมือน พื้นที่พักพิงทางใจ เพื่อดูแลรักษาจิตใจให้แข็งแรง และมีภูมิต้านทานที่ดี ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้โลกภายใน ที่เน้นการตระหนักรู้จากความเป็นจริง การใช้ชีวิตจากความจริงจากภายใน และการหาจุดสมดุลของชีวิตที่ ‘สนัด’ – ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา ผู้ก่อตั้ง มีความตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่พักใจ ผ่านศาสตร์ และศิลป์ Mindfulness ออกมาในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึง และเข้าใจ รวมทั้งเยียวยา ฟื้นฟู และดูแลจิตใจของตัวเองได้

‘MUCHIMORE’ ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร?

เมื่อก่อนผมอยู่คอนโดแถวลาดพร้าว ซึ่งจะมีส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ดาดฟ้า แล้วมันไม่ค่อยมีคน เราชอบไปนั่งอยู่คนเดียวเป็นชั่วโมง ช่วงที่อยู่ลาดพร้าวเป็นช่วงที่เจอความทุกข์ของชีวิต ทั้งควันดำ รถติด หรือความแออัด เลยเกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า ‘การที่เราต้องอยู่กับบริบทแบบนี้ เราจะทำภายในตัวเองให้มีความสุขได้ยังไง’ หรือ การพักจากความวุ่นวายเหล่านั้น เราเลยได้คำตอบกับตัวเองว่า ข้างนอกเราเป็นเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ซึ่งเราทำอะไรข้างนอกไม่ได้อยู่แล้ว งั้นลองมาทำที่ตัวเราเองสิ ลองปรับความคิด และปรับใจตัวเองว่าทำได้ไหม

หลังจากที่เราใช้ชีวิตแบบนั้น ตั้งแต่เด็กจนโต เราทำแบบนั้นมาตลอด จนถึงจุดหนึ่งเลยคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราสามารถนำสิ่งที่เราทำกับตัวเอง ทั้งการนั่งคุยกับตัวเอง ซึ่งรู้สึกดี และทำให้ได้คำตอบ ‘จะถูกหรือผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่มันสบายใจกับตัวเอง’ เราแค่อยากเอาสิ่งเหล่านี้ออกมาแชร์ให้คนอื่นบ้าง เราจะทำได้ไหม เป็นจังหวะที่ย้ายจากที่ลาดพร้าวมาที่นี่พอดี ซึ่งมีพื้นที่ และเราก็มีคอนเซ็ปท์แล้ว อย่างนั้นลองออกแบบกิจกรรมอะไรบางอย่างให้คนเข้ามาทำสิ่งนี้ด้วยกัน ที่นี่เปิดมาเกือบ 5 ปี และช่วง 3 ปีแรกที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด

“เริ่มจากตัวเองที่เป็นคนชอบมีคำถามเยอะตั้งแต่เด็กๆ เราอยู่ในห้องเรียนกับเพื่อน อยู่ดีๆ เราก็สงสัย ทำไมเพื่อนคนนั้นเป็นแบบนี้? ทำไมคนนี้ใจร้อน? ทำไมคนนั้นใจเย็น? เราตั้งคำถามกับชีวิตคน แต่เราไม่ค่อยไปหาคำตอบจากข้างนอก เพราะเราชอบนั่งคุยกับตัวเอง เราชอบหาที่เงียบๆ แล้วอยู่กับตัวเอง ชอบเอาคำถามพวกนี้มานั่งคิด และใคร่ครวญกับมัน”

อะไรคือ ‘แรงขับเคลื่อน’ ของ MUCHIMORE?

พอเราทำงานเรื่องจิตใจเยอะๆ เราเริ่มเห็นแพทเทิร์นอะไรบางอย่างที่พบเจอในชีวิต มันน่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น ถ้าพูดรวมๆ ใหญ่ๆ ก็คือ ‘ความทุกข์’ นี่ล่ะ เหมือนเราเจอตอนอยู่บ้านลาดพร้าว ขับรถเช้าเจอรถติด หงุดหงิด เสียงดัง เจออะไรที่เป็นความทุกข์ แล้วเราก็เห็นมัน แล้วคิดว่าอยากจะหนี ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเอง มันคือ การที่เราอยากจะหนี ทำยังไงดีให้มีความสุขมากกว่านี้

“สมัยนี้ทุกข์เยอะ หรือทุกข์ชัด รุ่นผมตอนเด็กๆ อาจถูกกด หรือปิดเอาไว้ ว่าทุกคนต้องยิ้มสิ ต้องมีความสุข พอมีความทุกข์ต้องปล่อยๆ มันไป แต่ยุคนี้มันทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมันขึ้นมาให้เห็นชัดมากๆ”

MUCHIMORE คืออะไร?

เราเป็นเหมือนประตู สำหรับคนที่อยากเข้าไปศึกษาโลกภายใน พอพูดถึงเรื่องโลกภายใน หรือจิตวิญญาณมันกว้างมาก เราเริ่มจากเอาความถนัดของตนเอง ความเป็นคนกรุงเทพฯ คนเมืองหลวง ที่เราเข้าใจว่า พวกเขาต้องการอะไร สิ่งที่เราทำคือ พื้นที่ของคนที่วุ่นๆ อยู่ในเมือง ลองเอาตัวเองมาพัก หรือมาทบทวน และใคร่ครวญชีวิตอะไรบางอย่าง ที่เขาไม่สามารถทำได้ข้างนอก ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ เป็นพื้นที่สื่อสารเรื่องโลกภายใน ในรูปแบบที่ง่าย เข้าใจ และเข้าถึงได้มากขึ้น

“พอเรามาเห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวเอง เราเลยคิดว่า สถาบันครอบครัวสำคัญมากๆ ไม่ได้หมายความว่า ครอบครัวต้องดีเลิศไปทุกอย่าง แต่มันคือ การกลับมาให้ความสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น”

คนที่เข้ามาใน MUCHIMORE เป็นใครได้บ้าง?

คนเมือง วัยทำงาน แต่พอทำไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ อายุของคนที่มาลดลงๆ น้องๆ ที่เรียนมหาลัย หรือเพิ่งจบใหม่ๆ ถ้าเด็กๆ เลยก็มัธยมปลาย ตอนแรกๆ ที่ทำมีแต่คนอายุเยอะๆ เข้ามา 50 กว่าก็มี (อายุน้อยสุด 17 ปี มากสุดเฉลี่ยประมาณ 45 ปี) จะเป็นกลุ่มที่เข้าใจสิ่งที่เราทำ และปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย แต่พอเราสื่อสารออกไปเรื่่อยๆ คนที่เข้ามากลับอายุน้อยลง

คนที่เข้ามาส่วนใหญ่มีปัญหาอะไรกัน?

หลากหลายมากๆ ครับ แต่ถ้าพูดให้กว้างๆ คือ จับจุดชีวิตไม่ถูกครับ ไม่รู้จะเดินไปทางไหน เขาอาจกำลังจะเปลี่ยนงาน หรือ กำลังเดินทางไปเรียนต่อแต่ไม่แน่ใจ เรื่องความรักนี่ก็แน่นอน เพราะเยอะมากๆ ซึ่งมีทั้งแบบหนุ่มสาว วัยรุ่น หรือ ครอบครัว พ่อ แม่ ลูก

ทำไมต้องชื่อ ‘MUCHIMORE’?

Muchimore มาจาก ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ หมายถึง ‘การเดินทางสายกลาง’ ซึ่งตอนที่เราตั้งใจทำที่นี่ขึ้นมา เราก็อินกับคำนี้ อินกับความสมดุล ความพอดี เลยกลายเป็น Motto ขึ้นมาว่า ‘Find Your Balance’ ซึ่งเป็น Motto แรก ซึ่งคำนี้สำคัญมากๆ เพราะพอเราเข้าไปหานิยามมันจริงๆ สุดท้ายนิยามคำว่า ‘สมดุล’ ไม่ได้หมายความว่า มี 100 แล้วอยู่ที่ 50 ตลอดเวลา เอียงไม่ได้เลย แต่ตามคำนี้เลยคือ Find Your Balance แล้ว Your จริงๆ คือ คุณต้องไปหาความสมดุลของตัวคุณเองในแต่ละจังหวะชีวิต ตอนไหนเอียงมากเกินไปก็ตบกลับมาหน่อย ซึ่งแล้วแต่คน และไม่มีใครบอกคุณได้เลยว่า ความสมดุลของคุณอยู่ตรงไหน จนมาถึงปัจจุบัน จากคำว่า ‘Balance’ เราก็เพิ่มอีก 2 คำ ‘Authentic’ คือ การเป็นตัวเองอย่างจริงแท้ และคำว่า ‘Awareness’ เป็นคำหลัก และเป็นแก่นของที่นี่ ถ้าแปลแบบตรงๆ คือ การตระหนักรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม และเป็นคำที่ต้องนิยามกันยาว

“เราใช้คำว่า ‘พื้นที่ตระหนักรู้ธรรมดาชีวิต’ เพราะสุดท้ายแล้วคำว่า ‘ตระหนักรู้’ ไม่ว่าคุณจะนิยามยังไง มันคือ การได้กลับมารู้ความธรรมดาที่แท้จริงของชีวิต เราหายใจเข้า ก็ต้องหายใจออก เราเกิด แล้วเราต้องตาย เรายึดอะไรไว้บางอย่าง วันหนึ่งเราต้องคลาย พวกนี้คือ ความธรรมดาของชีวิตมากๆ เลย แต่เรามักจะหลงลืมมัน หรือดื้อใส่มัน เราอยากเก็บไว้ตลอด และไม่อยากปล่อยสักที ทำให้เริ่มไม่ธรรมชาติ และธรรมดาแล้ว เราก็ต้องหวนกลับไปสู่ความธรรมดาสักวันหนึ่ง”

งานดีไซน์ทั้งหมด ตั้งแต่พื้นที่ จนถึงโลโก้ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน?

เป็นคนชอบพื้นที่ และชอบอะไรที่กว้างๆ แวบแรกที่เห็นที่นี่ยังคิดเล่นๆ ว่า เอาเสาออกได้ปะ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายพอลองใส่โน่นใส่นี่ มาคิดดูอีกที ทุกอย่างโล่งไปก็ไม่ดีหรอก คอนเซ็ปท์คือ อยากเน้นความโล่ง ไม่อยากให้คนที่วุ่นวายจากข้างนอกต้องมาเจออะไรที่วุ่นๆ อีก ขอให้เขาได้มาพัก เป็นความชอบส่วนตัว ส่วนโลโก้มันคือ ‘ม’ กับ ‘ฌ’ มาจากชื่อ มัชฌิมอร์ ภาษาไทย ผมออกแบบเองครับ

ที่ MUCHIMORE มีอะไร?

ถ้าเป็นกิจกรรมหลักๆ คือ ‘Self-Dating Experience’ คือ การชวนคนมาเดตกับตัวเอง เพราะเราอยากชวนคนมานั่งกับตัวเอง เหมือนตอนที่เราทำตอนเป็นเด็ก ทำอย่างไรก็ได้ให้รู้สึกว่า ได้อยู่กับตัวเองมากที่สุด และได้ใคร่ครวญชีวิตที่ตัวเองเป็น ณ ตอนนั้น เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น มันต้องมีอะไรให้เขาเก็ทว่า ‘นั่งกับตัวเองแล้วต้องทำอย่างไรต่อ?’ จึงทำให้เราต้องมีเครื่องมือเพิ่มเติม อย่างศิลปะ การเขียน หรือกระบวนการต่างๆ ที่เราค่อยๆ พาเขาไป

มีวิธีละลายพฤติกรรมคนที่เข้ามาอย่างไร?

เริ่มจากบรรยากาศก่อนครับ มาที่นี่อย่างแรกคือ การนั่งพื้น มันทำให้คนได้ทิ้งตัว และผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น เรื่องกลิ่น หรืออุณหภูมิแอร์ เราก็คิด เปิดแบบพอดีๆ เสียงเพลงที่เปิด สุดท้ายคือ การพูดคุย ทำอย่างไรก็ได้ให้เขาผ่อนคลาย และเป็นตัวเองมากที่สุด

ทำอย่างไรกับ ‘กำแพง’ ในใจของคนอื่นๆ?

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ต้องมองกลับไปที่ตัวเราเองก่อนครับ พอเราทำงานสายนี้ เราจะมีความคาดหวังกับตัวเราเอง แล้วมีความคาดหวังจากข้างนอกด้วย ที่นี่เป็นสถานที่ดูแลใจ ฉันเครียด ฉันอกหักมา หรือเป็นอะไรมา มาที่นี่ต้องหายแน่ เราต้องตัดความคาดหวังตรงนั้นออกไปก่อน พอเราทำอะไรไปแล้วเขาไม่ตอบรับ หรือตอบสนอง แล้วเรามานั่งเครียด สุดท้ายแล้วจิตใจคนมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ มากกว่าเรามานั่งทำเวิร์กช็อปด้วยกัน สิ่งที่เราทำได้อยู่อย่างหนึ่งคือ การวางใจ ว่าทุกอย่างมันมีกระบวนการของมัน

“วันนี้เขามานั่งทำกิจกรรมกับเรา อาจได้อะไรไปนิดเดียว แต่ขอให้นิดเดียวมันไปสะกิดอะไรในใจเขาสักหน่อย แล้วเขาเดินออกจากที่นี่ไป และไปทำงานกับตัวเองได้ แค่นี้โอเคแล้ว”

ตั้งแต่ทำมามีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง?

คำที่เป็นคีย์เวิร์ดเลยคือ ‘ชัดเจน’ ครับ หลายๆ คนมาพร้อมปัญหาอะไรบางอย่าง บางทีเขาเข้ามาทำกิจกรรมที่นี่ เขาอาจจะชัดเจนกับปัญหามากขึ้น อาจไม่ได้คำตอบด้วยซ้ำ แต่ได้เห็นปัญหาที่มีอยู่ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร สาเหตุคืออะไร มาจากไหน หรือบางคนมาที่นี่อาจจะได้คำตอบเลยก็ได้ อาจไม่ใช่คำตอบที่มาเจอใหม่ที่นี่ แต่เป็นคำตอบที่มีอยู่ในใจอยู่แล้ว แค่ไม่มีใครมาปัดฝุ่นให้มันชัด แต่พอได้ทำกิจกรรม ความชัดเจนมันมากขึ้นครับ และเขาสามารถหยิบสิ่งนั้นเอาไปใช้ได้

เราจะหา ‘ความสุนทรีย์’ ให้กับชีวิตได้อย่างไร?

จริงๆ อันนี้เป็นโจทย์ของชีวิตเราเลย เพราะตอนเรียนจบก็ไม่รู้จะทำงานอะไร แต่รู้ว่าอยากทำอะไรที่มีความสุนทรีย์และอิสระ จบมาเลยไปทำเอเจนซี่และงานดีไซน์ เอาตัวเองไปอยู่กับของสวยๆ งามๆ ไปทำงานกับของตบแต่งบ้าน มันน่าจะได้ความสุนทรีย์ แต่สุดท้ายก็ตอบโจทย์ตัวเองว่า เรามา Way ความสุนทรีย์ของในจิตใจ ซึ่งทั้งภายนอกและภายในไม่ได้มีอะไรดีไปกว่ากัน ความว่า ‘สุนทรีย์’ กลับมาที่ ‘ความสมดุล’ ก็ได้ มันไม่ยึดเกินไปจนเรารู้สึกเกร็ง สมมติว่า เราชอบแต่งบ้าน แล้วเราไปซื้อเฟอร์นิเจอร์สไตล์ที่เราชอบ แล้วซื้อปริมาณเป็นสิบล้านตัว มันก็เฟ้อ และอาจจะเยอะเกินไปจนแน่น หรือถ้าเราผ่อนเกินไป ไม่เอาอะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันก็อาจน้อยเกินไป อาจไม่ใช่ความสุนทรีย์ ผมว่า 2 คำนี้มันมีความเชื่อมโยงกันอยู่

ชีวิตที่ ‘สมดุล’ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ความสมดุลไม่ใช่สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา เราต้องฝึก รู้ตัวให้ชัดเจนว่า ตอนนี้เอียงแล้วหรือยัง? ตอนนี้เกินแล้วหรือยัง? ลองถามคำถามนี้กับตัวเองบ่อยๆ สมมติว่า เราทำงาน เรามีความตั้งใจ มีแพชชั่น แต่เราตั้งใจเกินไปไหม เมื่อมีอะไรที่เกินไปให้สังเกตุง่ายๆ จะมีผลลัพธ์ทางลบออกมา อาจจะเล็กน้อยหรือเยอะ ขึ้นอยู่กับการฝึกรู้ตัว เพราะถ้าเราฝึกจนเก่งเราอาจจะรู้ตัวว่า อันไหนที่เริ่มเกิน จะเริ่มมีผลกระทบกับตัวเรา ถ้าเรารู้ตัวเร็วก็จะปรับเข้ามาสู่สมดุลได้ง่าย หรือน้อยเกินไป ความบันเทิงในชีวิตที่มีน้อย เพราะเป็นคนที่ตั้งใจทำงานมาก แล้ววันหนึ่งเราไปดูหนัง แล้วรู้สึกว่า เราไม่เคยนั่งดูแบบนี้มานานแล้ว มันก็เกิดการเอ๊ะขึ้นมา ถ้าเราสามารถรู้ตัวไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องมานั่งหาจุดสมดุลเลยด้วยซ้ำ เพราะถ้าเรารู้ตัว เราก็จะกลับมาที่จุดสมดุลของเรา

ถ้าไม่อิงกับศาสนา แล้ว MUCHIMORE ใช้อะไรเป็นแกนยึดเหนี่ยว ‘จิตใจ’?

กลับมาที่แก่นของเราคือ การตระหนักรู้ พอเราใช้คำนี้ มันกว้างมาก จนสามารถครอบคลุมแทบจะทุกศาสตร์ ทุกศาสนา หรือความเชื่อ รวมทั้งปรัชญาหลายๆ อย่าง สิ่งที่เรานำเสนอมันค่อนข้างกว้าง และไม่ได้เฉพาะเจาะจง ถ้าเราเน้นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง หรือศาสนา มันจะต้องมีวิธีการซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด แต่แบบนี้คือ ทางที่เราเลือกมากกว่า ขอกว้างๆ แล้วกัน เพราะอยากรับคนที่หลากหลาย

อดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตกันแน่ ที่เป็นแหล่งกำเนิด ‘ความทุกข์’?

ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน ที่เป็นปัจจุบันจริงๆ มันคิดไม่ทันว่าจะไปทุกข์ตรงไหน ปัจจุบันมันก็แค่นั่ง หายใจ หรือกระพริบตา มันแค่ตรงนี้จริงๆ แต่ถ้าเราไปคิดถึงอดีต หรืออนาคตเมื่อไร มันเริ่มมีเรื่องให้ทุกข์แล้วล่ะ อดีตก็อาจมีเรื่องที่เคยทำแล้วเสียดาย หรือไม่เคยทำแต่ก็เสียดาย หรือเรื่องอนาคต แน่นอนว่ามาพร้อมความกังวล

จะจัดการกับ ‘บรรยากาศ’ และ ‘พื้นที่’ อย่างไร ให้ขับเคลื่อน ‘บทสนทนา’ ได้?

บรรยากาศก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะพื้นที่กับบรรยากาศมันเป็นสิ่งที่ทำให้สภาวะของคนๆ หนึ่งเปลี่ยนไป เราคุยกันตรงนี้ กับโหนรถเมล์คุยกัน มันก็ต่างกัน แต่พอไปถึงจุดหนึ่งที่เริ่มบทสนทนาไปแล้ว แล้วไปถึงจุดที่มัน Flow หรือการมีสมาธิ จดจ่อ กับสิ่งที่เรากำลังคุยกัน เราว่าจุดนั้นทำให้บรรยากาศรอบๆ เริ่มจางลง แล้วสิ่งที่สำคัญอาจอยู่ในบทสนทนามากกว่า

ทำไม ‘คนรุ่นใหม่’ ถึงมองหา ‘ที่พึ่งทางจิตใจ’ มากขึ้น?

คำว่า ‘ทางเลือก’ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเลย เพราะถ้าเราบอกเด็กทุกคนว่า มีปัญหาอะไรให้ปรึกษาพ่อแม่นะ ซึ่งก็ไม่ใช่เซฟโซนสำหรับทุกบ้าน เราไม่สามารถจำกัดได้เลยว่า คนๆ หนึ่งต้องไปหาใคร ถ้ามีทางเลือกเยอะๆ ไว้ก่อนจะดีมากเลย และที่เรามีทางเลือกน้อย เพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้เท่าไร ซึ่งก็อาจไม่ได้ผิดอะไร แต่มันเป็นยุคสมัย พอถึงยุคนี้อาจจะค่อยๆ เพิ่มทางเลือกให้กับคนมากขึ้น

ทำไมถึงต้อง ‘คุยกับตัวเอง’?

การคุยกับตัวเอง คือ 2 Ways มีทั้งคุย และตอบ ถึงเราจะใช้คำว่า ‘ตัวเอง’ แต่ในหัวของเรามันจะมีหลายๆ เสียง ถ้าเราสามารถฝึกที่จะคุยกับเสียงเหล่านี้ได้ ซึ่งศาสตร์การละคร เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ถ้าเราสมารถเข้าร่างนี้ได้ เป็นสนัดร่างโกรธ สนัดร่างอิจฉา หรือสนัดร่างใจดี แล้วสามารถมานั่งคุยกันได้ จะเป็นสนัดที่มีประสิทธิภาพมาก ส่วนการพูดคนเดียว มันก็อาจเป็นอีก Way หนึ่งในการพูดกับตัวเองครับ

ชาเลนจ์ของ MUCHIMORE คืออะไร?

เยอะมาก (หัวเราะ) คนไม่รู้ว่า ที่นี่คืออะไร เราทำขึ้นมาโดยที่เราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะเรียกมันว่าอะไร เราเลยตั้งชื่อว่า ‘Balance House’ ในตอนแรก อย่างที่บอกไปว่า เน้นเรื่องความสมดุลของชีวิต พอปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘AwarenessSpace’ ก็เน้นเรื่องการตระหนักรู้ ซึ่งเป็นชาเลนจ์ที่มีมาเรื่อยๆ พอคนได้มาสัมผัส มันก็แล้วแต่เลยว่า เขาจะไปเรียกว่าอะไร บางคนก็นิยามว่า ‘วัดโมเดิร์น’ บางคนก็เรียกที่นี่ว่า ‘บ้านเพื่อน’ ‘ที่ทิ้งตัว’ หรือ ‘ที่พักใจ’ มันก็หลากหลายมากๆ เมื่อเรียกไม่ถูกมันก็สื่อสารยากนิดหนึ่ง แต่ทุกคนก็เข้าใจตรงกันว่าที่นี่คืออะไร จากการสังเกตหลังจากทำกิจกรรม

“มันไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของการใช้ชีวิต เราทำอันนี้ เราก็เข้าข้างตัวเอง และเรามักจะบอกว่า ทุกคนต้องการสิ่งนี้ แต่อาจอยู่ลึกๆ ถูกบัง หรือถูกกลบด้วยอะไรก็ตาม จนเรามองไม่เห็นมัน ซึ่งสิ่งที่จะมากลบสิ่งเหล่านี้คือ การใช้ชีวิตกระแสหลัก การบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมอะไรต่างๆ ที่เขาทำๆ และไล่ตามชีวิตกันจนอาจมองไม่เห็นทางนี้สักเท่าไร”

ประทับใจอะไรในการทำ MUCHIMORE?

มากมายครับ เพราะเราก็รักที่นี่มาก เราชอบทุกโมเมนต์ แต่ถ้าให้นึกออกเร็วๆ เลย คือ ล่าสุดเราจัดเฟสติวัล ชื่อ ‘ข้างในเฟสติวัล’ ก่อนหน้านั้นเราก็ทำเวิร์กช็อปในห้องเล็กๆ ของเรา แต่พอเราไปจัดงานใหญ่ขึ้น เราได้เห็นพลังของคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ที่มีความหวังในชีวิต ที่กำลังหาเพื่อนร่วมทางไปด้วยกัน พอเราเห็นภาพแบบนั้นมันเป็นพลังที่ก้อนใหญ่ขึ้น เรารู้สึกว่า มันเป็นความหวังของเราเหมือนกัน ที่เส้นทางนี้มันมีคนอยากเดินไปด้วยเยอะ

เคยเจออุปสรรคอะไรในการทำพื้นที่นี้ไหม?

ปัญหาอย่างเดียวเลยคือ เราเลี้ยงชีพด้วยสิ่งนี้ครับ แล้วมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ถามว่า จัดการอย่างไร? เราก็ดิ้นเหมือนอาชีพอื่นๆ นอกจากทำที่นี่ เราก็พยายามออกไปข้างนอกบ้าง ไปออกแบบกิจกรรมให้องค์กรต่างๆ โรงเรียน มหาลัย หรือจัดเป็นอีเวนท์ขึ้นมา ที่กำลังมีก็เป็นมาร์เก็ต ก็คอยทำไปเรื่อยๆ ทำอย่างไรก็ได้ให้สื่อสารสิ่งเหล่านี้ออกไปได้

สำหรับ MUCHIMORE อะไรสำคัญที่สุด?

‘การฟัง’ ครับ และอาจจะไม่ต้องเทียบว่า อะไรมากกว่าอะไร เพราะพื้นที่ๆ เราขาดในสังคมคือ ‘พื้นที่การฟัง’ มันอาจไม่ใช่ห้องสตูดิโอแบบนี้ก็ได้ อาจแค่นั่งกับเพื่อนกัน 2 คน คุยกัน และรับฟังกัน บางทีเราอยู่ในกลุ่มเพื่อน แล้วเราอยากจะพูดอะไรบางอย่างที่มันอยู่ในใจเรา อาจอยู่ในจังหวะที่ผิด หรืออยู่ในกลุ่มเพื่อนเขาที่ยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้ อาจถูกตีกลับมาว่า พูดเรื่องอะไร เดี๋ยวค่อยคุยกันดีกว่า เอาไว้ก่อน หรือคุยเรื่องอื่นก่อน ก็เลยย้อนกลับมาที่นี่ หลักสำคัญคือ เป็นพื้นที่รับฟังให้กับผู้คนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ครับ

MUCHIMORE แล้วได้อะไรกลับมาบ้าง?

การที่เราได้ทำให้คนอื่น เราก็จะรู้สึกถึงตัวเราเองด้วย เราจะรู้สึกถึงความภูมิใจ ความยินดี หรืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกดี และอีกอย่างคือ ‘การแลกเปลี่ยน’ อันนี้สำคัญมาก เพราะการใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เรารู้สึกโอเคนะ ที่เราใช้ชีวิตด้วยตัวเอง คิดโน่นนี่ และตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่พอเราลองนั่งเป็นกลุ่มๆ และลองฟังเรื่องราวของคนอื่น มันมีอีกหลายๆ มุมนี่หว่า ที่เราอาจจะยังไม่ทันได้คิด แล้วเราก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาเติมเต็มชีวิตของเรา ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นเขาอยากมาหาอะไรจากเรา อยากให้เราเป็นที่พึ่ง แต่สุดท้ายเราก็พึ่งพวกเขาเหมือนกัน บางทีเรามีโจทย์เข้าไปให้ผู้ร่วม เราก็ทำเองด้วย

“Muchimore ดูเผินๆ เหมือนพื้นที่ๆ ทำเพื่อคนอื่น แต่จริงๆ แล้วสุดท้ายมันทำเพื่อตัวเองด้วย”

มีอะไรอีกไหมที่ยังคาดหวังจาก MUCHIMORE?

พอมาถามวันนี้แล้วตอบยากแล้วล่ะ ทางที่เดินมาทั้งหมด มันถูกสะสมมาให้ตอบคำถามนี้ยากขึ้น ถ้าเป็นวันแรกๆ ที่ทำอาจตอบว่า อยากจะแชร์คำว่าตระหนักรู้ หรือคำว่าสมดุลออกไปให้มากที่สุด โลกนี้จะได้แฮปปี้ ฟังดูพระเอก เว่อๆ หน่อย แต่พอมาถึงวันนี้ เรามองว่า เราเปลี่ยนแปลงโลก ให้เป็นโลกในอุดมคติแบบที่เราคิดไม่ได้ สิ่งที่เราทำมันเหมือนพื้นที่ๆ ให้คนได้มาเอ๊ะ ได้มาฉุกคิด หรือได้มาทำอะไรกับชีวิตมากขึ้นมากกว่า หลังจากที่เอ๊ะแล้ว คนจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร อันนั้นก็เรื่องของเขา

“อยากให้ Muchimore เป็นเหมือนร่ม และอาจแยกย่อยออกไปหลายๆ อัน แยกไปเรื่องการฟัง และแยกไปเรื่องการฝึกสติโดยเฉพาะ”

ก้าวต่อๆ ไปของ MUCHIMORE จะเป็นอย่างไร?

นอกจากย้ายไปอยู่อีกพื้นที่ ซึ่งเป็นละแวกใกล้ๆ ศรีนครินทร์เหมือนเดิม ยังใช้ชื่อเดิมครับ แต่ถ้าเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ลองติดตามความเคลื่อนไหวในเพจครับ และก็เป็นเรื่องของคอนเซ็ปท์ครับ อย่างที่บอกว่า กิจกรรมหลักๆ ของเรามันชื่อ ‘Self-Dating Experience’ Phase นั้นเราเน้นเรื่องการคุยกับตัวเอง แต่ Phase ต่อไปของ Muchimore รวมถึงการย้ายสถานที่ด้วย เราตั้งใจอยากจะเน้นคำว่า ‘ฟัง’ อย่างที่บอกว่า พื้นที่รับฟังมันน้อย เลยอยากจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่อาจจะเป็นเรารับฟังคนอื่น หรือคู่รักที่คุยกันสองคน อาจจะยังไม่ลงลึก หรือไม่ละเอียดพอ เราอาจจะเป็นตัวกลางให้ได้ หรืออาจจะเป็นกลุ่มคน สมมติว่าเป็นคนทำงานทีมเล็กๆ 5-7 คน ที่อยากจะมาลงลึกถึงความคิด หรือมุมมองต่างๆ ที่สามารถเอาไปพัฒนาในการทำงานด้วยกันได้ เราก็สามารถออกแบบกิจกรรมให้เขามาคุย หรือมาฟังกันตรงนี้ได้

Muchimore Balance House

2 ซอยพรีเมียร์ 1 แยก 14-1 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร 10250 (Google Map)

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น.

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Facebook: Muchimore
Instagram: muchimorelife