Identity

คุยกับ เฟนเดอร์ View From the Bus Tour และเอิง TEMPO.wav เมื่อการสร้างเมืองดนตรีที่ดี ต้องไม่ได้มีแค่ความฝัน

~ใครไม่รู้เคยพูดไว้ว่า ทุกเมืองจะมี ‘เสียง’ ของมัน เสียงที่เราจะได้ยินในใจแทบทันทีเมื่อนึกถึงเมืองนั้นๆ เช่น เมื่อนึกถึงนิวออลีนส์ ก็ต้องนึกถึงดนตรีแจ๊ส, นึกถึงซีแอทเทิล ก็จะหนีไม่พ้นความดิบของดนตรีกรันจ์ หรือหากนึกถึงแมนเชสเตอร์ ก็มักจะตามมาด้วยเสียงกีตาร์แตกพร่าของวงบริทิชในตำนานมากมาย

~แต่สิ่งนี้ก็ไม่มีถูกผิด ไม่ใช่เรื่องที่ fix ไว้ตายตัว อาจจะขึ้นอยู่กับว่าเราเอาคำถามนี้ไปให้ใครตอบ เช่นถ้าให้นึกถึงเมืองที่อยู่ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยอย่าง ‘เชียงใหม่’ ว่าเสียงของเมืองนี้เป็นเสียงอย่างไร คำตอบของคนต่างชาติ คนกรุงเทพ คนเชียงใหม่ และคนจังหวัดใกล้เคียง ก็คงต่างกัน 

~ซึ่งคำตอบของคนต่างถิ่นที่กลายมาเป็นคนเชียงใหม่ไปโดยปริยายอย่าง เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล ฟรอนท์แมนแห่ง Solitude is Bliss, View From the Bus Tour และ เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์ ผู้ก่อตั้งสื่อดนตรี TEMPO.wav ทั้งสองมองว่ามันคือเสียงที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวที่นี่ และถูกส่งไม้ต่อกันมาเรื่อยๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไปเอง โดยมีปัจจัยหลักๆ สองส่วนมาเกี่ยวข้อง นั่นคือความเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและเอนเตอร์เทนเมนต์ 

~ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็ยากที่จะนิยามว่าเสียงของเมืองนี้คืออะไร ดนตรีในแบบเชียงใหม่เป็นอย่างไร แต่ถ้าต้องนิยามจริงๆ นี่คือคำตอบของเฟนเดอร์ “ดนตรีเชียงใหม่ น่าจะเป็นการหาเลี้ยงชีพด้วยความธรรมชาติ ผมคิดว่าเป็นแบบนั้นนะ”

(เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล)

My Hometown เรื่องราวของเชียงใหม่ ถ่ายทอดผ่านเพลงและบทสนทนา

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เฟนเดอร์และเพื่อนๆ ในแวดวงนักสร้างสรรค์อีก 4 คน (มีน, ล้วน, ไอซ์, ยอร์ช) ปั้นโปรเจกต์ชื่อ My Hometown Session ขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางไว้ส่งสารความเป็นเชียงใหม่จากมุมมองของพวกเขาเองผ่านเพลงและการพูดคุย ตั้งอยู่บนการลองผิดลองถูกอย่างทะเยอทะยาน กับวิสัยทัศน์ที่ว่าทุกโฮมทาวน์ควรมีกระบอกเสียงไว้เล่าเรื่องของตัวเอง ด้วยภาษาดนตรีและการพูดคุยกันอย่างผ่อนคลาย 

เฟนเดอร์: จุดเริ่มต้นจริงๆ เลยจะดูแย่ๆ หน่อย (หัวเราะ) คือ View From the Bus Tour กำลังจะทำ full band แล้วก็กำลังหาวิธีโปรโมต ง่ายสุดคือถ่าย live session แต่เรารู้สึกเบื่อ session แบบปกติ แล้ว character ของโชว์ View From the Bus Tour เวลาเราไปเล่นคนเดียว เราจะเล่าเรื่องมากมายระหว่างโชว์ แล้วหลังๆ มามันเริ่มข้องเกี่ยวกับบริบททางสังคม คนฟังเขาก็อินมากขึ้น อินทั้งตัวเพลง แล้วก็อินกับประเด็นเหล่านั้นด้วย บางคนที่เคยคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันควรแยกจากกัน ไม่ควรเกี่ยวกัน หรือรู้สึกว่าการเมืองแม่งน่าเบื่อว่ะ แต่พอเราเล่าจากประสบการณ์ตัวเอง แล้วเขาก็เชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเขาได้ เขาก็จะเข้าใจแล้วว่ามันเกี่ยวกันยังไง 

เราอยากจะเอาฟอร์แมตแบบนี้เข้ามาอยู่ใน session ด้วย เลยคิดว่าทําเป็น session แล้วก็คั่นด้วยการคุย แต่เราจะไม่ได้เล่าด้วยตัวคนเดียว เราชวนเพื่อนๆ ที่เป็นสายนักเคลื่อนไหวมานั่งคุยกันด้วย สร้างบทสนทนาด้วยกันโดยมีบริบทเป็นเชียงใหม่ เพราะว่าเราน่าจะพูดกันได้เต็มปากที่สุด แล้วพอมันเป็นการถ่าย session ในบ้าน บวกคุยกับเพื่อนที่เชียงใหม่ เลยคิดว่าใช้คำว่า ‘My Hometown’ ไปเลยแล้วกัน

จนถึงจุดนึงที่คอนเซปต์นี้มันตอบสนองความต้องการที่จะโปรโมตวงได้แล้ว เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะกระเพื่อมอะไรให้กับให้กับคอมมูนิตี้ในเชียงใหม่ได้ด้วย เพราะว่าแค่ประเด็นที่เราพูด มันก็เกี่ยวกับเรื่องสังคม พอมาเป็นรูปแบบนี้เราก็เลยมาปรึกษาเอิงกับเพื่อนว่า มันพอจะทำอะไรเพิ่มกับเรื่องราวได้อีกไหม

อย่างประเด็นที่เราคุย ep แรกเราตั้งคำถามจากความเป็นตัวเรา แล้วตอนต่อๆ ไป มันก็จะเปลี่ยนเรื่องไป เช่น เราตั้งคำถามว่าทำไมเราเติบโตในบ้านของเราไม่ได้ ทำให้มันรุ่มรวยทางวัฒนธรรม มีโอกาสในการสร้างงาน สร้างเงิน เก็บเงินสร้างตัวในบ้านของเราไม่ได้ ซึ่งคำตอบมันก็อาจจะเป็นที่เรื่องโครงสร้าง เรื่องอำนาจรวมศูนย์

เอิง: คือใน My Hometown มันเป็นโปรเจกต์ที่ต้องทําทั้งรายการ ทั้งทัวร์ มันใช้ทีมงานเยอะ แต่ว่าที่ประทับใจมากเลยคือ crowdfunding ที่ทําขึ้นมา มันเป็นเงินสองแสนกว่าบาท แล้ว ratio ของมันอะ มาจากคนธรรมดาเยอะมาก เราเห็นเลยว่าสิ่งที่เฟนเดอร์กําลังพยายามสื่อสาร กําลังพยายามจะพูดเรื่องนิเวศดนตรี มันมีคนที่พร้อมซัพพอร์ตนะ หรือทําให้หลายคนมีแรงบันดาลใจ อย่างวงอื่นๆ ก็อาจจะอยากทําอะไรแบบนี้บ้างเหมือนกัน

เฟนเดอร์: คิดว่าเพราะคนที่ซัพพอร์ตเขาเคยเห็นความพยายามที่จะพูดเรื่องเหล่านี้ของเราอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา การพูดกับการทําเพลง มันแยกกันตลอด แต่โปรเจกต์นี้มันน่าจะเป็นการที่เราเอาสองอย่างมา merge รวมกันอย่างรูปเป็นร่างที่สุด

เอิง: ในแง่ message มันก็ตอบโจทย์ด้วย เพราะอย่างสปอนเซอร์ที่เข้ามาซัพพอร์ตก็เป็นชาวเชียงใหม่

เฟนเดอร์: แต่ถ้าเป็นแฟนเพลงเนี่ยก็บิทมาเรื่อยๆ บางคน 20 บาท 100 บาท 1,000 บาท ตามศรัทธาเลย คือคนเขาอาจจะรู้สึกว่า ถ้าสมมติว่าโมเดลแบบนี้มันสามารถสร้างขึ้นมาได้แล้วมันสําเร็จที่เชียงใหม่ หมายความว่ามันจะกลายเป็นโรลโมเดลให้บ้านเขาทําได้บ้างเช่นกัน อย่างน้อยก็เป็นบริบทในประเทศไทยเหมือนกัน ซึ่งพอคนเห็นเราสตาร์ทแล้วเขาเลยอยากจะช่วย

เอิง: เฟนเดอร์เขามีฐานแฟนเพลงอยู่แล้วด้วย ถ้าสําหรับวงหน้าใหม่ๆ ก็อาจจะต้องอาศัยแคมเปญเยอะหน่อย อาจจะต้อง analyze ฐานมันนิดนึงว่าจะขุด story เรื่องอะไร ต้องถอดออกมาให้ได้ว่าอยากจะเล่าอะไร อันนี้มันเหมือน in an ideal world คือแบบ โอ้โห ทุกอย่างมันเป็นปรากฏการณ์มากนะ เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนกัน

Chiang Mai Indie Scene, From OG to NOW

ถ้าพูดถึงเชียงใหม่ซาวด์ในซีนของดนตรีอินดี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่พูดถึง No Signal Input กลุ่มคนดนตรีเชียงใหม่ที่รวมแก๊งกันช่วงต้นยุค 2000 เพื่อสร้างพื้นที่อิสระทางดนตรีให้ศิลปินเชียงใหม่ได้ทำเพลงในแบบที่ชอบ จนกลายเป็นการกรุยทางให้คนฟังเพลงอินดี้ไทยในยุคนั้นได้รู้จักวงอย่าง Migrate to The Ocean, สภาพสุภาพ, Harmonica Sunrise หรือแม้แต่ Skarangers ซึ่งก็คือ Polycat ในปัจจุบันนั่นเอง

เฟนเดอร์: น่าจะเป็นคอมมูนิตี้แรกเลยนะ ถ้านับแค่ยุคใหม่ เราไม่รู้ว่ายุคก่อนหน้านั้นมันมีหรือเปล่า ที่รวมคนที่ทำเพลงออริจินัล โดยไม่ได้เป็นค่าย แค่พยายามรวมตัวแล้วก็ทำงาน หาที่เล่นดนตรีกัน เราคิดว่า No Signal Input น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ทำคอนเซ็ปต์แบบนี้ 

ซึ่ง ณ ตอนนั้น ถ้าพูดถึงเพลงออริจินอลก็คือเป็นปรากฏการณ์ ด้วยความที่มีเดียมันไม่ได้เปิดกว้างแบบวันนี้ TikTok อะไรแบบนี้มันยังไม่มี คนในเมืองเลยจะตื่นเต้นเวลาวงในเชียงใหม่เขาทำเพลง ทำอีเวนต์ หรือทำโชว์ของตัวเอง จนวงการมันก็เติบโตขึ้น มีศิลปินยุคใหม่ๆ ที่เขียนเพลงของตัวเองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันการมีโซเชียลมีเดียที่เปิดกว้างขึ้นก็ทำให้คนมีอิสระ เลยทำให้ความสนใจมันกระจัดกระจาย จนพอเวลาผ่านไป คนเขาก็ไปอยู่ในโลกออนไลน์เยอะกว่าที่จะมาตื่นเต้นกับความออฟไลน์แบบเมื่อก่อน

แต่เอาจริงๆ เราว่าจุดเปลี่ยนใหญ่ๆ มี 2 จุด หนึ่งคือรัฐประหาร ปี 57 ถ้าพูดถึงบริบทของเชียงใหม่ ปี 57 หลายๆ วงที่กำลังรุ่ง หรือว่าเครื่องกำลังร้อน ก็ต้องพักไป เพราะข้าวยากหมากแพง สองคือโควิด อันนี้นี่ยิ่งกว่ารัฐประหารอีก คือทำอะไรไม่ได้เลย และผลที่ตามมาของช่วงเวลานั้นก็มีมาก โดยเฉพาะพฤติกรรมการฟังเพลงทาง physical ของคนที่เปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับเรา มันไม่ใช่เด็กด้วยนะที่เปลี่ยน ผู้ใหญ่เราก็เปลี่ยน

อย่างเด็กๆ ที่โตมากับการเรียนออนไลน์ในช่วงโควิด แล้วก็ต้องสร้างตัวตนบน platform ออนไลน์เพื่อจะมีพื้นที่บางอย่างให้ตัวเอง ทำให้เขาขาดประสบการณ์ในฝั่ง physical ไป จนหลังจากพ้นช่วง pandemic เด็กๆ เขาเลยจะตื่นเต้นกับการได้เจอผู้คนจริงๆ ได้ hang out กับคนใหม่ๆ ได้ฟังดนตรีสด อะไรก็ได้ที่มันเป็น physical เขาจะเอ็นจอยมาก แต่เป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆ ซะเองต่างหากที่หลงลืมและละเลยพื้นที่เหล่านี้

เอิง: ภาพในตอนนี้มันยากที่จะบอกว่ามันดีขึ้นหรือไม่ดี แต่ว่าเรารู้สึกว่าซีนดนตรีเชียงใหม่มันไม่เคยหยุด ต่อให้ No Signal Input หายไป มันก็จะมีคนที่มี passion กับเรื่องนี้คอยส่งไม้ต่อ อย่างช่วงโควิดก็มีกลุ่มที่เฟนเดอร์สร้างขึ้นมาอย่าง StereoSapiens มันมีคนแบบ เฮ้ยต้องทำ มันมีความแบบ take ownership ไม่ให้เชียงใหม่เงียบ ขอทำหน่อย คิดว่ามันยังส่งไม้ต่อกันไปได้เรื่อยๆ 

อีกอย่างคือวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนเชียงใหม่มันหลากหลายในการจะเข้าถึง อย่างคนไปบาร์ ไปดูดนตรี พอวงเล่นจบแล้วก็ยัง hang out กันต่อ หรือปิดร้านแล้วแจมกันเอง สิ่งนี้มันช่วยเติมช่องว่างระหว่างคนฟังกับคนสร้างงานให้เป็นก้อนเดียวกัน และทำให้ซีนมันยังโตต่อได้

(เอิง-ศุภกานต์ วรินทร์ปราโมทย์)

เฟนเดอร์: อย่างสถานที่เล่นสดนี่คือสิ่งที่จำเป็นที่สุดเลยที่จะทำให้วงการมันไปต่อ เพราะมันได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย คนเล่นก็ได้มีงานเล่น คนดูก็ได้ดู ร้านหรือสเปซที่จัดก็จะได้มีอีเวนต์แต่ที่จำเป็นที่สุดคือการเป็นฟอร์แมตที่ช่วยให้ดนตรีได้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด ส่งตรงมาจากมือคนที่ perform ทำให้คนดูรู้สึกแบบ ‘เชี่ย ที่กูฟังอยู่เนี่ย มันต้องเล่นขนาดนี้เลยหรอ สวิงขนาดนี้ นิ้วขนาดนี้ ทีมเวิร์คขนาดนี้ ตะเบ็งเสียงขนาดนี้ เอ็นขึ้นคอขนาดนี้’ นอกจากการชอบ composition หรือ arrangement มันก็จะเกิดการ appreciete ในเรื่องของการสร้างงานขึ้นมาด้วย มันครบมิติในการชื่นชมงานสร้างสรรค์

เป็นสิ่งที่การฟังใน Audio Track ให้ไม่ได้เท่านี้ เหมือนเวลาเราเห็นงานอาร์ตที่ถูก crop มาลงในออนไลน์ กับการได้เห็นภาพนั้นจริงๆ ใน exhibition ที่เราสามารถเข้าไปดูใกล้ๆ เห็น texture ความนวล ความหนาของสี แม้แต่ฝุ่นที่ติดมาตอนที่คนวาด brush ไว้ เห็นไหมว่าต่างกันแล้ว ดนตรีก็เหมือนกัน การดูสดคือมันได้เห็นของจริงๆ ซึ่งความดิจิทัลมันให้ไม่ได้

ซึ่งที่เชียงใหม่ แม้ว่า Music Venue อาจจะไม่ได้ฟังก์ชั่นมาก แต่ข้อดีคือมันไปต่อที่อื่นได้ง่าย เป็นเรื่องของความง่ายของเมือง ซึ่งถ้าเป็นกรุงเทพ เราอาจจะต้องนั่งแท็กซี่หรือต่อรถเมลล์สองสายแล้วไปต่อใต้ดิน แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

จะสร้างเมืองดนตรีให้เติบโต ต้องเริ่มที่ Ecosystem 

โปรเจกต์ที่จะสร้างเมืองสักเมืองในไทยให้กลายเป็น “เมืองดนตรี” มีให้เห็นมาแล้วไม่รู้กี่โปรเจกต์ ไม่ว่าจะจากภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่จากคนดนตรีในเมืองนั้นๆ แต่ ณ วันนี้ถ้าให้นึกเร็วๆ ว่าแล้วเมืองไหนล่ะที่ทำสำเร็จจนถึงปัจจุบัน เราก็อาจจะคิดนานหรือตอบได้ไม่เต็มปาก เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ยากกว่าการสร้าง คือการขุดลงไปแก้ไขปัญหาที่ลึกที่สุดของสิ่งที่เรียกว่าระบบ “นิเวศดนตรี” ในเมืองนั้นๆ ให้ได้ก่อน มิฉะนั้นโปรเจกต์นี้จะไม่มีทางเติบโตได้อย่างยั่งยืนเลย ต่อให้จะสร้างด้วยเม็ดเงินที่หนาปึ้กแค่ไหนก็ตาม

เฟนเดอร์: จริงๆ แค่เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่าแล้วคนในเมืองนั้นๆ เขาฟังอะไรกันก็ได้นะ ซึ่งถ้าถามว่าคนเชียงใหม่เดี๋ยวนี้ฟังอะไรหรอ…ฟังใน TikTok (หัวเราะ) เหมือนทั้งประเทศ ฟอร์แมตนี้มันอยู่ในมือทุกคนอะ แล้วมันถูกเชปมาด้วย pandemic คนก็แบบว่า โอเค เลิกที่จะคาดหวังอะไรข้างนอก กว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นให้เราตื่นเต้นสักทีก็ยาก ก็เลยไปใช้ชีวิตเอนเตอร์เทนในนั้น ซึ่งเราไม่สามารถคาดหวังว่า พอเพลงไปอยู่ในฟอร์แมตออนไลน์ปกติแล้วมันจะทํางานกับชาวเชียงใหม่โดยตรงได้ 

มันเลยต้องกลับมาพูดถึงเรื่องของ ecosystem ภายในเชียงใหม่ ว่าในนิเวศของมันมีครบทุกอย่างแล้วหรือยัง ยกตัวอย่างง่ายๆ music venue ขนาดใหญ่และเป็น proper space จริงๆ แทบจะไม่มี มีแต่ขนาดเล็กถึงกลาง แล้วไม่นับผับนะ คือไม่มีเลย ใกล้เคียงสุดก็ Muan More Space ซึ่งความจุหรือขนาดของมันใกล้เคียงกับคําว่า proper live house แหละ แต่ฟังก์ชันมันก็ยังไม่ครบ

ในมุมเรา live house สำคัญมากนะ เพราะถ้าเป็นบาร์ เด็กอายุต่ำกว่า 20 จะเข้าไม่ได้ ซึ่งวัยที่กระเหี้ยนกระหือรือในการจะรับรู้วัฒนธรรมมากที่สุด มันคือวัยนั้น ก็กลายเป็นว่าเกินครึ่งไม่สามารถเข้าไปเสพดนตรีสดได้ ต้องรออีเวนต์ฟรี หรืออีเวนต์ที่เด็กเข้าได้ live house มันถึงสําคัญ เพราะมันเป็นพื้นที่เปิดที่ไม่จำกัดอายุ ไม่ได้จํากัดเวลา สามารถเล่นกลางวันได้ อย่าง Chiang Mai Original ก็เล่นกลางวันได้ แล้วเด็กๆ  ก็เข้าไปได้

เอิง: คือถ้า simple อย่างเพลงโฟล์ค บางทีมันก็อาจจะที่ไหนก็ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเราได้สถานที่ที่มันมี equipment พร้อมๆ บางทีเราอาจจะได้ experience ของเสียงที่เราไม่เคยได้ยินจากศิลปินเขาก็ได้

เฟนเดอร์: ซึ่งจริงๆ สิ่งที่เชียงใหม่ยังขาดอยู่มากๆ คือเรื่อง know-how เรื่องการ producing, mix, mastering เป็นเรื่องของ attitude ที่ยังไม่มีสอน technical knowledge มันยังไม่ครบถ้วนมากพอ

เอิง: แล้วก็สาย AR (Artist Relation ผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ดูแลศิลปิน) ไม่มี สาย Managing ก็ไม่มี

เฟนเดอร์: ไหนจะโรงงานผลิตแผ่นเสียง ซีดี เทป อะไรแบบนี้ คือในเชียงใหม่ไม่มีเลย เราก็ต้องส่งไปผลิตที่อื่น ซึ่งถ้าอย่างน้อยมีโรงงานผลิตแผ่นที่ได้มาตรฐานในเชียงใหม่ก็จะดี

ปัญหาเหล่านี้มีทางแก้ไหม และแก้อย่างไร หรือมีคนที่คิดจะเริ่มแก้มันหรือยัง

เฟนเดอร์: เราขอพูดถึงเรื่อง Town Hall คือ My Hometown มันจะเป็นแค่ส่วนนึงในความพยายามที่จะผลักดัน music community ในเชียงใหม่ แต่ถ้าภาพที่มันใหญ่กว่านั้น เอิงจะรับผิดชอบในการพยายามก่อร่างสร้างเครือข่าย

เอิง: เหมือนเรา facilitate ให้คนเขามาคุยกันนั่นแหละ เพราะว่ามันไม่ได้มีเราคนเดียวในนิเวศนี้ และปัญหาในนิเวศนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาเดียวอยู่แล้ว ก็ต้องหาว่าอะไรคือ ‘ปัญหาร่วม’ ที่ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในนิเวศก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่าง organizer ก็มีปัญหานี้ คนทำ sound หรือ production crew ก็มีปัญหานี้ music venue ก็มีปัญหานี้ อะไรอย่างนั้น

ซึ่งปัญหาร่วมมีทั้งหมด 5 หมวด คือ
1. Marketing: ศิลปินจะมาร์เก็ตตัวเองยังไง หรือ Live Music Venue จะมาร์เก็ตตัวเองยังไง คือทุกภาคส่วนล้วนมีปัญหานี้เหมือนกันหมด
2. เรื่องทุน เรื่อง Financial
3. เรื่องการ Management  ที่เอาเข้าจริงไม่ได้มีใครมี know-how เรื่องการจัดการขนาดนั้น ก็จะทําให้เกิดแล้วดับไปง่าย แทนที่จะทําแล้วต่อเนื่องอยู่ได้ยาวๆ 
4. คือเรื่อง Education กับ Upskill ก็อย่างที่บอกว่าเรา identify แล้วว่ามันมี skill set บางอย่างที่มันขาด ที่มันหายไป
5. จําไม่ได้อะ เดี๋ยวบอกๆ (หัวเราะ) แต่นั่นแหละ เรื่องที่โฟกัสก่อนแล้วทําได้เลยมันคือหมวด Marketing การที่เราจะพูดว่าเมืองนี้มีอะไรดี ต้องเริ่มจากรู้ก่อนว่า แล้วในเมืองมันมีอะไรล่ะ

เฟนเดอร์: ในบริบทเดียวกันนี่ขอขยายความถึงการตายของพี่เอก (เอกชัย เทพรักษา หรือเอก แซ็กป่า) มันจุดประเด็น ทำให้เห็นภาพคนที่มันมารวมกันแบบชัดๆ พี่เอกเป็นคนคนเดียวที่แม่งรู้จักนักดนตรีเยอะขนาดนี้ คนที่เขาอาจจะเขม่นกัน ไม่สนิทกัน หรือแม้แต่ไม่รู้จักกัน แต่พวกเขาทุกคนรู้จักพี่เอก งานศพเขาเลยมีคนมาร่วมงานเป็นพันคน เยอะกว่าส.ส.อีก

คืออาสาหมู่บ้านบอกว่า เกิดมาไม่เคยเห็นงานศพที่คนเยอะขนาดนี้มาก่อน หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ก็มีงานรําลึกเป็นคอนเสิร์ตที่เพื่อนๆ มาเล่นดนตรีกัน แล้วก็ไปนั่งคุยกันต่อว่าถ้าพี่เอกไม่ตายกูก็คงไม่เห็นคนแบบนี้มาอยู่ด้วยกัน แล้วสรุปคอมมูนิตี้เชียงใหม่มันคืออะไรวะ อะไรที่ทําให้เราไม่สามารถมารวมตัวกันได้ เนี่ยเรากับพี่คนนั้นแม่งเห็นหน้ากันมาโคตรนานแล้ว ทําไมเราไม่รู้จักกันวะ อยู่ในเชียงใหม่แท้ๆ ขับรถสวนกัน จำพี่หนวดนี่ได้ พยักหน้าให้กัน แต่ไม่ได้รู้จักมักจี่กันจริงๆ

ก็เลย come up ได้ว่า โอเค เรามีศิลปินมาทุกยุคทุกสมัย มีเจ้าของร้านมาทุกยุคทุกสมัย และมีความพยายามขึ้นลงขึ้นลงแบบนี้มาตลอดในการที่จะสร้างคอมมูนิตี้ แต่มันก็จะหายไปตลอด ก็กลับมาดูโมเดลของนิเวศดนตรีของประเทศที่มันเป็นเมืองดนตรีอย่าง Portland city หรือเมืองอะไรก็ตามในโลก พบว่านิเวศจริงๆ ประกอบไปด้วยปัจจัยหลายอย่างมากๆ ห้าข้อที่เอิงพูดไปก็ใช่ นี่คือสิ่งที่ขาดไป

ก็ทําให้เห็น pain point ร่วมกันครั้งแรกว่า อ๋อ…วงการดนตรีมันไม่ได้แค่มีนักดนตรีกับเจ้าของร้านแล้วจบนี่หว่า มันแค่เสี้ยวนึงส่วนนึง หนึ่งส่วนเจ็ดส่วนแปดของนิเวศทั้งหมดด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นก็เลยเริ่มมาหาเวย์กันว่าเราจะสร้างความเข้าใจยังไง แล้วจะ maintain คนทํางานในส่วนที่เหลือได้ยังไง อะไรคือตรงกลางที่จะดึงให้ทุกคนมาอยู่ตรงกลาง 

เอิง: อย่างเรื่อง marketing ก่อนอื่นเราต้องมี database ของ ecosystem ในเมืองก่อน เพื่อที่จะบอกว่าเมืองดนตรีแบบเชียงใหม่มันมีอะไรบ้าง เหมือนทํา portfolio ให้เมือง เช่น Chiang Mai Original นี่ทําเฟสติวัลมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิดชื่อ ‘เชียงใหม่โฮะ’ ที่เรามี database เยอะขนาดนี้มันเป็นเพราะว่าเขาเริ่มเก็บข้อมูลมาก่อน มันเลยมาเชื่อมกัน แล้วเรากําลังจะสร้างให้มัน intricate เช่นนอกเหนือจากหมวดศิลปินก็อาจจะมี sound engineer มีหมวด venue ใครอยากจัดเฟสติวัลเล็กๆ ก็จะได้รู้ว่าจัดได้ที่ไหนบ้าง และราคาเท่าไร

แล้วเวลาที่ outsider อย่างคนกรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดเฟสติวัลที่เชียงใหม่ มันช่วยพัฒนาดนตรีเชียงใหม่ไปด้วยมั้ย

เอิง: มันก็มีหลายแบบ สมมติเทศกาลแบบเชียงใหญ่เขาก็ import ศิลปินมาจากที่อื่นอยู่แล้ว กับมีจ้างวงเชียงใหม่บ้าง มันก็ช่วยได้ในแง่แบบเศรษฐกิจของวงนั้นๆ หรืออย่างงาน Cat Expo ที่มาจัดที่เชียงใหม่ เมืองมันก็ได้ reputation มากขึ้นแหละ แต่มัน...

เฟนเดอร์: ไม่ยั่งยืน มันจบแค่นั้น ไม่ได้ทําให้เกิดคอมมูนิตี้ที่มีความแข็งแรงต่อ แต่จริงๆ เมื่อก่อนเรามองอย่างอคติเลยว่า การที่งานอื่นมาจัดที่เชียงใหม่แม่งเหมือนการล่าอาณานิคมหรือเปล่าวะ แล้วทำไมเชียงใหม่จะจัด festival เองไม่ได้ แต่สุดท้ายนั่นมันก็เป็นปัญหาของเรา หรือการที่เราต้องให้คนอื่นเขามาจัด มันก็เป็นงานของเขา

เชียงใหม่ก็แค่ตัวเปิด เพื่อการเกิดเมืองดนตรีได้ทั่วทั้งไทย

เฟนเดอร์และเอิงเชื่อว่าไม่ได้มีแค่กลุ่มของเขาหรือคนในเชียงใหม่ที่ฝันใหญ่อย่างนี้ ไม่ว่าจังหวัดไหนก็ต้องมีคนที่คิดอยากเห็นดนตรีในจังหวัดของตัวเองเฟื่องฟูเหมือนกัน ทั้งสองจึงเชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องเกินความเป็นไปได้ที่เราสามารถมี “เมืองดนตรี” ได้ทั่วทั้งประเทศ ไม่ว่าจังหวัดไหนๆ ก็สามารถมีเสียงประจำเมืองได้เหมือนกัน โดยที่เรื่องความเจริญทางดนตรีจะไม่กระจุกอยู่แค่ที่กรุงเทพหรือหัวเมืองใหญ่ๆ อีกต่อไป

เฟนเดอร์: หลักๆ มันคือเรื่องของเงิน ถ้าเงินมันสะพัดกว่านี้ สมมติว่าคนที่เล่นดนตรีแค่สองอาทิตย์ก็ซื้อกีตาร์ Fender ได้ตัวนึง หรือล้างจานแล้วเก็บเงินซื้อกีตาร์ได้ อะไรแบบนี้ นี่คืออธิบายอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดแล้วนะ เราคิดว่าถ้าคนทํางานทั่วไปแล้วสามารถเป็นเจ้าของเครื่องมือ หรือว่าเอาเงินไปซื้อคอร์สเพื่อพัฒนาฝีมือตัวเองได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับเมืองได้ด้วย

เอิง: แต่การจะเพิ่มค่าแรงมันก็ต้องผ่านการสร้าง value ให้คนได้เห็น value ก่อน ซึ่งมันก็มาจากการโปรโมตคัลเจอร์ทางการตลาดที่ถูกทำอย่างต่อเนื่องนั่นแหละ

เฟนเดอร์: ที่เรามอง การเติบโตมันไม่ได้แต่อาศัยคนข้างในอย่างเดียว แต่สิ่งที่มันอยู่ข้างในมันต้องดึงข้างนอกเข้ามาได้ด้วย อันนี้มองข้ามกรุงเทพฯ ไปเลยนะ แต่เป็นทุกที่ ไม่ใช่แค่หวังว่าคนจะมาเที่ยวแล้วกลับกรุงเทพฯ แต่มันต้องกลายเป็นหมุดหมาย

เอิง: เหมือนถ้าศิลปินเขามาทัวร์ South East Asia บางทีเขาก็อยากได้รูท แต่ตอนนี้เรายังไม่มีอํานาจต่อรอง เพราะ venue มันยังไม่มี สมมติ Thom Yorke จะมา (หัวเราะ) ถ้าไม่มีดีลที่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็มาเชียงใหม่ก็ได้ อะไรอย่างนี้ แล้วเขาก็สามารถขึ้นเครื่องบินจากเชียงใหม่ไปต่อกรุงเทพ หรือต่อเวียดนาม ต่อสิงคโปร์ได้ เออแล้วทำไมตรงนี้ถึงจะเป็นจุดนึงที่เขาเลือกมาทัวร์ไม่ได้ล่ะ ถูกไหม

เฟนเดอร์: เราเลยมองว่า การพัฒนาโดยใช้ดนตรีเป็นศูนย์กลางในเชียงใหม่ มันไม่ใช่แค่เป็นประโยชน์ของเชียงใหม่ แต่เป็นประโยชน์ของนิเวศทั้งวงการเพลงไทยด้วย รู้สึกว่าถ้าเชียงใหม่ทําได้สักวันนึง เดี๋ยวที่อื่นๆ ก็อาจตามมา ขอนแก่น โคราช หรือหาดใหญ่

Live House ด้วยนะ ความจริงถ้านิเวศดนตรีมันยังไม่แข็งแรง แต่มี Live House เข้ามาก่อน ก็อาจจะทําให้พอจะเปลี่ยนคัลเจอร์ได้ คือต้องมีที่ให้คนที่กําลังตั้งวงอยู่ หรือแค่สนใจว่าจะรวมวงกับเพื่อนปี 1 อะไรอย่างนี้ ทำให้เขามีความฝันว่าสักวันกูต้องไปเล่นที่ Live House นี้ให้ได้ ที่บ้านกูเนี่ย

ซึ่งสุดท้าย ในมุมของผู้มีอำนาจ เราคิดว่าอย่างน้อย ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่ขอให้เปิดโอกาสให้คนที่กําลังเวิร์คอยู่ กําลังเคลื่อนไหวอยู่ สามารถมูฟได้ง่ายขึ้นในอํานาจที่พวกคุณมี ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัฐบาล ฝั่งเทศบาล หรือพ่อค้าแม่ค้าชาวบ้านอะไรก็ตาม เปิดใจ แล้วก็ทําให้บริบทของการทํางานมันง่ายขึ้นเท่าที่เขาจะทําได้ เราคิดว่าถ้าการสร้างงานเหล่านี้มันออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความเข้าใจเหล่านี้ก็จะตามมา เขาก็จะเห็นเองว่ามันกระทบกับอะไรบ้าง เทศบาลเชียงใหม่ก็เห็นว่ามันช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศในเมืองหรือการจับจ่ายใช้สอยมันเยอะขึ้นด้วย

เอิง: มันคือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เริ่มจากการกระจายอํานาจทางวัฒนธรรมก่อน ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด หมายความว่าถ้าเกิดว่าเราใช้วัฒนธรรมเป็นตัวชี้วัดของการเป็นโลกที่หนึ่ง คือสิ่งนี้มันไม่ใช่สินค้า luxury หรอก แต่ว่ามันเป็นวิถี เป็น move to direction ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมที่มัน value ศิลปะ มันโตมากพอที่จะมีเศรษฐกิจมารองรับ 

การสร้างเมืองดนตรีที่ดี ต้องไม่ได้มีแค่ความฝัน” ก็จริง แต่ฝันก็เป็นส่วนประกอบหลักที่บวกกับความรักและความตั้งใจจริง และเมื่อเราฟังจากน้ำเสียงของเฟนเดอร์และเอิง เชื่อเราเถอะว่าพวกเขามีมันอย่างเปี่ยมล้น 

ขอบคุณสถานที่สัมภาษณ์: Chiang Mai Original live