Identity

#myvoicefor ‘Inclusion’ Daofah - เสียงโอบรับความหลากหลายด้วยการไม่ตีกรอบ Stereotype และ Come Out ในแบบของตัวเอง

เพื่อเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ปีนี้ทาง EQ ก็ได้ชวนผู้คนใน LGBTQ+ คอมมูนิตี้ที่มีความหลากหลายมาสนทนากัน ว่ามีเสียงอะไรที่อยากส่งไปให้ถึงสังคมไทยในวงกว้างบ้าง คนแรกที่เราได้ชวนมาคุยคือ ‘ดาวฟ้า’ (daoferrell) ติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษและศิลปิน ที่เป็นเสียงของ ‘Inclusion’ เพื่อโอบรับความหลากหลายเข้ามาในคอมมูนิตี้

เดือนไพรด์เป็นเดือนที่ผู้คนจะมีภาพจำว่าเป็นเดือนแห่งการ ‘คัมเอาท์’ (come out) ที่คนเพศหลากหลายจะต้องเดินออกจากที่ซ่อน (หรือที่เรียกกันว่า ‘closet’) ประกาศให้โลกรับรู้ว่าฉันภูมิใจในตัวเองที่เป็น LGBTQ+ และภายในคอมมูนิตี้เองก็มักจะมีการรณรงค์กันให้ออกมาเป็นตัวของตัวเอง ป่าวร้องว่าตัวเองมีอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศแบบไหน แต่ทว่าการคัมเอาท์นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสบายใจและสะดวกใจที่จะทำเสมอไป ในนัยเดียวกันก็เป็นการผลักไสและกดดันคนอื่นๆ ในคอมมูนิตี้ที่ไม่ได้พูดออกมา ดาวฟ้าได้เล่าเกริ่นถึงที่มาของเสียง ‘Inclusion’ ที่เขาอยากส่งให้คอมมูนิตี้ LGBTQ+ ในเดือนไพรด์

“ผมอยากเป็นเสียงของ 'Inclusion' ซึ่งมันก็คือการรวมคนเข้ามา ปกติแล้วพอพูดถึง LGBTQ+ คนมักจะมีภาพจำว่าต้องเป็นคนที่ อู้ว! อ้า! (ร่าเริง กล้าแสดงออก สดใส) แต่จริงๆ แล้ว LGBTQ+ ก็ไม่ต้องมีลักษณะนิสัยแบบภาพจำนั้นเสมอไป”

“พวกเขามีความแตกต่าง และไม่ต้องมีชีวิตหรือรสนิยมทางเพศที่ตรงตาม stereotype”

การ ‘คัมเอาท์’ จำเป็นต้องเสียงดังเสมอไปหรือเปล่า? 

“การคัมเอาท์ไม่ใช่แค่การออกมาบอกว่า “I'm gay and I'm proud!” (ฉันเป็นเกย์และฉันเองก็ภูมิใจ!) มันมีคนหลายกลุ่มที่ไม่ได้สบายใจจะทำแบบนั้น”

ถ้าอย่างนั้น ‘การคัมเอาท์’ ที่สบายใจสำหรับดาวฟ้านั้นเป็นอย่างไร?

“การคัมเอาท์ในความหมายของผมก็คือการ ‘ออกจากมุมมืด’ มันคือการที่เราไม่จำเป็นต้องโกหกตัวเอง หรือเป็นไปตามแบบที่สังคมบอกให้เป็น มันคือความกล้าที่จะได้เป็นตัวเอง กล้าที่จะเป็นเพศของตัวเอง โดยจะตะโกนหรือไม่ตะโกนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องปกปิดหรือรับแรงกดดันจากสังคมซึ่งคอยกดให้เขาไม่ได้แสดงตัวตน การพูดถึงการคัมเอาท์แบบนี้จะทำให้เกิดการโอบรับมากขึ้น แล้วคอมมูนิตี้ LGBTQ+ จะได้ขยายออก และส่งผลกับประเทศให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นต่อไปด้วย”

เดือนไพรด์นี้เป็นเดือนที่เฉลิมฉลองทุกๆ ความภาคภูมิใจ เราจึงถามดาวฟ้าว่า 

มีประสบการณ์อะไรที่ทำให้รู้สึกภูมิใจที่สุดเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองไหม? 

“ก่อนจะพูดถึงสิ่งที่ภูมิใจ ผมขอเล่าก่อนว่าผมเองก็มีช่วงยากลำบากในชีวิตเหมือนกับหลายๆ คน มันมีช่วงที่ผมซึมเศร้า สูญเสียตัวตน รู้สึกว่าต้องตามหาความรักและความยอมรับจากคนอื่น จากสังคมที่ก็ไม่รู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นหรือเปล่า ผมมีปัญหาเรื่องนี้มาตลอด ที่ต้องตามหาความรักจากคนอื่น เพื่อยืนยันว่าตัวผมมีคุณค่า จนกระทั่งผมไปหาพี่คนหนึ่งเขาเป็นนักเต้นรูดเสา (pole dancer) เขาจับเราแต่งตัวในชุดลูกไม้ แต่งหน้าทำผม แล้วพอผมมองกระจกก็รู้สึกว่าตัวเองสวยจัง”

“คำว่าสวยตรงนี้ไม่ใช่แค่ “I’m beautiful” (ฉันสวยจัง) ไม่ใช่แค่คำว่าสวย แต่มันคือความรู้สึกที่ว่าเรามีคุณค่าและมีความสวยงาม เราสัมผัสความรู้สึกเหล่านี้ได้จากรูปที่ถ่ายออกมา หลังจากนั้นเราก็หยุดที่จะไปหาคุณค่าจากคนอื่น มันทำให้ผมเห็นคุณค่าตัวเองจากข้างในโดยไม่จำเป็นต้องขอคำเหล่านี้จากคนอื่นเลย แล้วมันก็เป็นลุคที่ gender-fluid ด้วย ผมเลยรู้สึกว่าอัตลักษณ์ของเรามันสวยงามแล้วก็น่าภูมิใจมากๆ”

คำถามสุดท้ายในเดือนไพรด์ 2022 นี้ ทางเราก็ได้ถามดาวฟ้าว่า:

คิดว่าอะไรจะช่วยให้ประเทศไทยเปิดรับความหลากหลายได้มากขึ้นบ้าง?

“มีหลายอย่างมากที่จะทำให้มันเปิดกว้างขึ้น อย่างการที่ผมได้มาสัมภาษณ์ในวันนี้ ทีมงานที่ถ่ายทอดนำเสนอเรื่องเหล่านี้ก็ช่วยให้มันเปิดกว้างขึ้นได้ เพราะมันคือการโชว์ให้สังคมไทยเห็นว่ามันมีคนแบบนี้อยู่ ว่าคนที่เป็น gender-fluid เขาเป็นแบบนี้ มีลักษณะความคิดแบบนี้ เพศมันเป็นแบบนี้นะ มันคือการทำให้คนเห็นว่าสังคมเรามีความหลากหลาย สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมเปิดรับความหลากหลายในคอมมูนิตี้มากขึ้น”

“แต่สิ่งที่จะทำให้เปิดกว้างอย่างทวีคูณคือการให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายนี้มีมาตราเดียว แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคู่สมรสมันมีเป็นร้อยๆ อัน เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เพศเดียวกันแต่งงานนะ นักกฎหมายเขาพูดเลยว่า กฎหมายเป็นพลวัตทางทัศนคติ กฎหมายส่งผลต่อทัศนคติของบุคคล สมมติถ้ากฎหมายห้ามเหล้า สุรา บุหรี่ สังคมก็จะมองว่าคนที่ทำสิ่งเหล่านี้คือคนไม่ดี หรือเรื่องของ Sex Worker กฎหมายไทยไม่รับรอง แต่ พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายแยกรับรอง ทัศนคติต่ออาชีพนี้ในไทยก็ไม่ดีเพราะกฎหมายหลักไม่รับรอง”

“กฎหมายส่งผลต่อทัศนคติของคน ถ้ากฎหมายสมรสเท่าเทียมออกมาได้ ทัศนคติของคนในสังคมต่อ LGBTQ+ จะพัฒนาและเปิดกว้างขึ้นได้ในทันที ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปิดกว้างได้ดีที่สุด”

ทางเราได้แต่พยักหน้าให้กับคำตอบของดาวฟ้า เพราะทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขนบของสังคมซึ่งตีกรอบผู้คนเอาไว้ การคัมเอาท์ที่ควรขึ้นอยู่กับความสบายใจของแต่ละคน และตัวกฎหมายที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน หวังว่าสิ่งที่ดาวฟ้าและ LGBTQ+ ทุกคนปรารถนาจะได้รับการอนุมัติในอีกไม่นานเกินรอ

และนี่คือเสียงของดาวฟ้า ที่เปล่งเพื่อ ‘ความครอบคลุม’ ในสังคม

ติดตามดาวฟ้าได้ที่

Instagram: daoferrell

Twitter: Daoferrell