Identity

#MyVoiceforSupport – Jimmy เสียงที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกเพศ ที่อยากออกจากกรอบ

เดือนไพรด์คือเดือนที่เฉลิมฉลองทุกๆ ความภาคภูมิใจของคนทุกเพศ แต่ทว่าในกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยกันเองก็ยังมีกรอบและมาตรฐานทางเพศบางอย่าง ที่ทำให้หลายๆ คนรู้สึกไม่เข้าพวกกับการเฉลิมฉลองนี้ เราจึงได้ชวน 'จิมมี่' เจ้าของเพจ Facebook “จิม เจอนี่ Jim's Journey” ที่ทำเพจขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่เล่าประสบการณ์ของผู้ชายข้ามเพศซึ่งรู้สึกไม่ ‘ฟิตอิน’ (fit in) กับกล่องเพศ และอยากส่งเสียงซัพพอร์ต เชียร์ให้ทุกคนทุกเพศได้เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องทำตามความคาดหวังจากสังคม

ก่อนจะมีคำว่า 'ผู้ชายข้ามเพศ' เมืองไทยมักจะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า 'ทอม' เสียงของผู้ชายข้ามเพศในเมืองไทยยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับเสียงอื่นๆ ในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ และผู้ชายข้ามเพศเองก็ต้องเผชิญกับกรอบความคาดหวังทางเพศมากมายอีกด้วย ในบทสนทนานี้ เราได้ชวนจิมมี่คุยย้อนไปยังจุดเริ่มต้นว่า เขาเจออะไรมาบ้าง ก่อนจะตัดสินใจเปิดเพจเล่าประสบการณ์เส้นทางของตัวเอง

"เมื่อสมัยก่อนยังไม่มีคำว่า ‘ผู้ชายข้ามเพศ’ นะ คนเขาก็จะบอกว่าถ้าเป็นอย่างเราต้องเรียกว่า ‘ทอม’ สิ จนวันหนึ่งได้เปิดเพจเล่าเส้นทางชีวิตของเรา แล้วก็พบว่าตัวเราไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของผู้ชายข้ามเพศ เราเป็นผู้ชายที่มีความเป็นหญิงสูง ซึ่งมันไม่ตรงกับมายาคติกรอบทางเพศที่สังคมคาดหวังไว้ ที่ว่าผู้ชายต้อง ‘รูปหล่อ กล้ามใหญ่ มาดแมน’ ซึ่งพอเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราก็ไม่เข้ากับกล่องนี้ การเปิดเพจนี้จึงเป็นเพราะเราอยากเล่าประสบการณ์ของตัวเอง”

“เราอยากจะเล่าว่าผู้ชายที่มีความมุ้งมิ้ง ผู้ชายที่มีความเป็นหญิงก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน เพราะผู้ชายไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเสมอไป" 

เพื่อเฉลิมฉลองทุกเพศที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบภายในเดือนไพรด์นี้ เราเลยถามถึงความภาคภูมิใจในตัวเขาที่อยากจะแชร์ จิมมี่จึงได้เล่าถึง ความภูมิใจในการเปิดตัวว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ และโอกาสที่ได้ส่งเสียงสนับสนุนจากการทำเพจนี้

"ความภูมิใจในตัวเองที่เปิดตัวมาว่าเป็นผู้ชายข้ามเพศ ก็คือเราเป็นผู้ชายที่ไม่ตรงตามกรอบผู้ชาย มันทำให้เราเข้าใจว่าคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ฟิตอินกับกรอบและแตกต่างจากคนอื่นนั้นก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัย หนึ่งในความภาคภูมิใจของการเปิดเพจเล่าประสบการณ์ก็คือ เคยมีคนมาปรึกษาเราเรื่องรับฮอร์โมนเพื่อเป็นผู้ชาย" 

"น้องเขาอยากรับฮอร์โมนเพื่อเป็นผู้ชาย แต่น้องก็กลัวหมอจะไม่ให้ฮอร์โมน เราเลยถามน้องเขาว่าทำไมถึงกลัว น้องก็บอกเราด้วยสีหน้าเศร้าว่าน้องเขาชอบผู้ชาย ผมก็เลยบอกน้องเขาไปว่า เราเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อตัวเอง รสนิยมทางเพศมันไม่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเรา เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าการได้เป็นสายซัพพอร์ตช่วยให้คนมั่นคงในตัวเองมากขึ้น มันก็ทำให้ผมภูมิใจในความเป็นตัวเอง"

เส้นทางการเปิดรับความหลากหลายในเมืองไทยได้ก้าวหน้าขึ้นมากกว่าในอดีต จนถึงขั้นที่ทุกวันนี้เราอยู่ในสังคมซึ่ง LGBTQ+ มีพื้นที่ได้เล่าเรื่องของตัวเอง มีพื้นที่ส่งเสียง มีการรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่ว่าการยอมรับอย่างเปิดใจ และสิทธิทางกฎหมายแก่กลุ่มเพศหลากหลายก็ยังไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็น คำถามสุดท้ายในบทสนทนานี้เราจึงถามเขาว่า:

คิดว่าอะไรที่จะช่วยให้ประเทศไทยเปิดรับความหลากหลายได้มากขึ้นบ้าง?

“หนึ่งคือเราต้องรับฟังกันและกัน เราต้องยอมรับกัน คือทุกคนในสังคมมีความแตกต่างกันอยู่แล้วไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง สิ่งที่จะทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นในสังคม มันเริ่มแค่ที่การยอมรับว่าเราทุกคนแตกต่างกัน มันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าใครจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหน สิ่งที่ผมศรัทธามาตลอดก็คือทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และความเชื่อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความหลากหลายเท่าเทียมกันได้”

เสียงของการสนับสนุนนี้ได้เน้นย้ำไปถึงเรื่องพื้นฐานที่สุด ว่าถ้าจะให้เกิดความหลากหลายและเท่าเทียมทางเพศกันในสังคม ทุกคนต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าเราทุกคนแตกต่างกัน ยอมรับและรับฟังเสียงของความแตกต่างเหล่านี้ได้มากขึ้น แล้วเสียงของความหลากหลายก็จะค่อยๆ เติบโตในสังคมไทย เมื่อมีเสียงที่มากขึ้น การต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเท่าเทียมทางเพศก็จะเข้าใกล้เส้นชัยที่ผู้มีความหลากหลายทุกคนคาดหวัง เราจึงควรซัพพอร์ตกันและกัน อย่างที่จิมมี่ได้ทำมาตลอดในฐานะชายข้ามเพศคนหนึ่ง

ติดตามเพจของจิมมี่ได้ที่

Facebook: จิม เจอนี่ Jim's Journey