"ไบเซ็กชวลไม่มีอยู่จริง" "ไบเซ็กชวลก็คือเกย์ที่ยังไม่เปิดตัว" และ "ไบเซ็กชวลชอบชายหญิงเท่าๆ กัน ชอบได้หมดโดยไม่มีขอบเขตทางเพศ" คือมายาคติที่ได้ลบกลุ่ม B (Bisexual) ใน LGBTQ+ ให้หายไปจากคอมมูนิตี้มาอย่างยาวนาน
เพราะไม่มีควรมีเสียงของใครต้องหายไป ในบทความนี้ เราได้ชวน 'โนริโกะ – ชลิตา เศรษฐชยานนท์' บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์อายุ 21 ปี ที่อยากมาส่งเสียงเรื่อง 'Bi-Erasure' เพื่อทำลายมายาคติและเฉลิมฉลองการมีอยู่ของทุกเพศทุกตัวตนเนื่องในเดือนแห่งไพรด์นี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้องฟังเสียงของทุกคนในคอมมูนิตี้
'Bisexuality' ตามนิยามของ 'Human Rights Campaign' ได้ระบุเอาไว้ว่า ไบเซ็กชวลคือบุคคลที่มีแรงดึงดูดทางอารมณ์ ความรัก และเซ็กส์ ได้มากกว่าหนึ่งอัตลักษณ์หรือเพศวิถีของบุคคลหนึ่ง โดยความดึงดูดนั้นไม่จำเป็นต้องมีระดับที่เท่ากัน หรือกล่าวได้ว่าพวกเขาชอบบุคคลมากกว่าแค่เพศใดเพศหนึ่ง
‘Bi-erasure’ คือการลบเลือนการมีอยู่ของไบเซ็กชวลว่าไม่มีอยู่จริง และเป็นการปฏิเสธอัตลักษณ์ที่สามารถนำไปสู่การเกลียดกลัวไบเซ็กชวล (Biphobia) ในปัจจุบันเองก็ยังมีการลบเลือนและบิดเบือนอัตลักษณ์นี้ในสังคม ลบเลือนตัวละครไบเซ็กชวลในสื่อ ไปจนถึงการตั้งคำถามด้วยอคติทางเพศว่า ไบเซ็กชวลคือผู้สับสนทางเพศ ไม่นานเดี๋ยวก็หายสับสนและกลับไปเป็นไบเซ็กชวลตามเดิม หรือไม่ช้าก็จะเลือกว่าตัวเองเป็นเกย์หรือสเตรท (คนรักต่างเพศ)
เราเปิดบทสนทนาด้วยการถามโนริโกะว่า ในเดือนไพรด์นี้มีเสียงอะไรที่อยากส่งถึงกลุ่ม LGBTQ+ ในไทยบ้าง เธอจึงเล่าว่าอยากส่งเสียงประเด็นเรื่อง 'Bi-Erasure' ที่สังคมมักจะมองว่าไบเซ็กชวลไม่มีอยู่จริง
"เราอยากส่งเสียงเรื่อง Bi-Erasure อย่างเราที่เป็นไบเซ็กชวล แต่ก็ไม่ได้รักผู้หญิงหรือผู้ชายในเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน เรารู้สึกว่าเป็นประเด็นที่คนในสังคมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่จะชอบอนุมานเป็น 50-50 แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป"
ในสังคมตอนนี้ก็ได้เปิดรับและยังไม่มีความเข้าใจต่อไบเซ็กชวลอยู่มาก เมื่อไม่เข้าใจ ก็มักจะมีคำถามนี้ตามมาว่า “แล้วรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวล” เราเลยนำคำถามนี้มาถามเธอ เพื่อฟังเสียงของไบเซ็กชวลว่าคิดอย่างไรกับมัน
"เราว่ามันก็คงไม่ต่างจากคนที่รู้ตัวเองว่าเป็นคนรักต่างเพศ (Heterosexual) ที่ชอบชายหญิง มันก็เหมือนเวลาเราไปเจอคนหนึ่งที่ชอบ เราก็จะรู้ว่าเราชอบคนแบบนี้ แล้วเราก็รู้ว่าตัวเองชอบคนมากกว่าเพศเดียวนะ"
เดือนไพรด์นี้มีเรื่องน่าภูมิใจที่อยากจะแชร์บ้างไหม?
"เรามีประสบการณ์คัมเอาท์ (Come out) กับคนกลุ่มหนึ่งค่ะ ซึ่งการคัมเอาท์ไม่ได้มีผลต่ออัตลักษณ์ของเรา มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนว่าจะคัมเอาท์หรือไม่ ตอนที่เราคัมเอาท์ครั้งแรกกับเพื่อนที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่นด้วยกัน เป็นกลุ่มเพื่อนไม่ได้คุยกันมาประมาณ 3 ปี ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าเขาจะเปิดรับได้แค่ไหน แต่ก็รู้สึกว่าควรจะบอก เราเลยส่งข้อความไปหาว่า “เราเป็นไบเซ็กชวลนะ” เพื่อนก็ถามกลับมาว่า “จริงหรอ เธอไปค้นพบตัวเองได้ยังไง” แล้วก็คุยกันปกติ เพื่อนกลุ่มนี้คือคนที่สนใจ LGBTQ+ ในสมัยที่เราเป็นพันธมิตรก็เลยภูมิใจกับตรงนี้"
ท้ายที่สุดนี้ เราเลยชวนเธอคุยปิดบทสนทนาว่า:
คิดว่าอะไรจะช่วยให้สังคมไทยเปิดรับความหลากหลายมากขึ้น?
"เราคิดว่ากฎหมายน่าจะช่วยให้คนเปิดรับได้เร็วที่สุด เพราะมันเห็นเป็นรูปธรรมว่าสังคมมองเห็นเขา และพร้อมจะให้โอกาสเขาได้ทำอะไรหลายๆ อย่างในสังคม"
ติดตามโนริโกะได้ที่
Instagram: nor1ko
อ้างอิง
Health: https://bit.ly/3H6CSde
GLAAD: https://bit.ly/39hr5wk