"ทุกๆ เดือนไพรด์เราจะรู้สึกเศร้าเสมอ เพราะธงรุ้งที่เห็นตามห้างนายทุนใหญ่ๆ คือธงแห่งความเหลื่อมล้ำ"
นี่คือเสียงส่วนหนึ่งของ 'นุพีช' (NúÚ P3A☭3) โปรดิวเซอร์เพลงและแฟชั่นดีไซน์เนอร์ที่ต้องการเป็นเสียงเพื่อบอกเล่าอีกด้านของการเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ ที่ไม่ใช่เดือนแห่งความสุขสำหรับเพศหลากหลายทุกคน และปัญหาที่ทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำมากกว่าโอบรับความหลากหลาย
เราเปิดบทสนทนาด้วยการพูดคุยแนะนำตัวกันเบื้องต้น เพื่อให้ได้รู้จักกับนุพีชมากขึ้นว่า ทำไมถึงสร้างแดร็ก persona นี้ขึ้นมา นุพีชเลยเริ่มเล่าถึงที่มาของการสร้างนี้ว่า
" ‘นุพีช’ เป็น self-creation ไม่ได้เป็นตัวตน นุพีชเป็นด้านหนึ่งของเรา ซึ่งเหมือนเป็น ‘Drag Persona’ เราสร้างนุพีชขึ้นมาเพราะชีวิตจริงมันมีหลายๆ เรื่องที่เราไม่กล้าพูด การเป็นนิรนามทำให้เรากล้าพูดโดยไม่กลัวกรอบสังคม ซึ่งนุพีชก็คือความภูมิใจของเราที่สามารถส่งเสียงได้หลายประเด็น”
เมื่อเราถามนุพีชว่า เดือนไพรด์นี้มีเสียงอะไรที่อยากส่งถึงกลุ่ม LGBTQ+ ในไทยบ้าง นุพีชก็เล่าว่าอยากส่งเสียงถึงความโศกเศร้าของเดือนไพรด์
"เรารู้สึกเศร้ากับทุกเดือนไพรด์เสมอ เพราะว่าสังคมที่มีไพรด์ ถึงจะเป็นสังคมที่หลากหลาย แต่มันก็ไม่ได้หลากหลายขนาดนั้น ก็ต้องเล่าย้อนไปว่างานไพรด์เกิดขึ้นมาเพราะอะไร จุดเริ่มต้นของไพรด์คือ 'Stonewall Riots 1969' เหตุการณ์นี้เป็นการอารยะขัดขืน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและการตั้งคำถามว่า 'เพศสามารถมีความหลากหลายหรือยืดหยุ่นได้ไหมในอเมริกา"
"ผลจากเหตุการณ์นั้นทำให้เรื่องเพศถูกพูดถึงในสังคมมากขึ้น ทำให้เกิดไพรด์พาเหรดขึ้นมาในเดือนมิถุนายน แล้วก็ค่อยๆ กลายมาเป็นเดือนไพรด์ หลังจากที่สังคมอเมริกาทำให้เพศหลากหลายเป็นเรื่องปกติแล้ว บริษัทใหญ่ๆ ก็เริ่มโอบรับอุดมการณ์ LGBTQ+ แต่ระบบทุนนิยมไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเท่าเทียม มันสร้างบนความเหลื่อมล้ำจึงจะอยู่ได้”
นุพีชได้เล่าถึงอุดมการณ์ของ LGBTQ+ ต่อว่า
"เราเชื่อว่าอุดมการณ์ LGBTQ+ นี้ก็คือการทำให้เพศหายไปหรือเข้าสู่สังคม 'post-genderism' (สังคมยุติการนิยามเพศ) คือสังคมที่ไม่ต้องมาแบ่งแยกเพศว่าคนนี้เป็นเกย์ เป็นไบเซ็กชวล หรือเป็นทรานส์ ทุกคนแค่ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์คนหนึ่ง”
ตัวอย่างปัญหาของทุนนิยมที่โอบรับความหลากหลายแบบปลอมๆ ทั้ง ‘Rainbow Captialism’ ที่บริษัทพยายามฟอกสีตัวเอง หากินสร้างรายได้จากกลุ่ม LGBTQ+ แต่ไม่ได้สนับสนุนอย่างแท้จริง และเรื่องลึกลับประจำเดือนมิถุนายนที่หลายบริษัทบริษัทหันมาติดธงรุ้ง ออกสินค้าฟอกสีตัวเองว่าสนับสนุน LGBTQ+ แต่พอผ่านเดือนไพรด์ไปก็ละเลยความหลากหลาย และยังสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นด้วย นุพีชได้เล่าถึงปัญหานี้เพิ่มเติมว่า
“บริษัทหลายบริษัทเข้ามาทำให้อุดมการณ์นี้เป็นสินค้า ทำให้ LGBTQ+ ต้องแข่งขันกันเองเพื่อขึ้นไปบนยอดพีระมิดของบริษัทต่างๆ เพื่อจะได้มีสิทธิมีเสียง ส่วนใหญ่คนในคอมมูนิตี้ที่จะได้ส่งเสียงออกไปนั้น ก็คือคนที่มีอภิสิทธิทางสังคม ซึ่งยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนไพรด์”
นุพีชได้เล่าสรุปว่าโมเดลเหล่านี้ เป็นโมเดลที่ดีไซน์มาเพื่อเล่าแบบง่ายๆ ว่าบริษัทที่พูดเรื่องความหลากหลายนั้น แท้จริงแล้วกลับสร้างความเหลื่อมล้ำให้มากกว่าเดิม ด้วยการให้อภิสิทธิและให้เสียงแก่ LGBTQ+ เฉพาะกลุ่ม บางบริษัทเอาใจผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อแค่ขายสินค้า และยังสร้างกรอบการยอมรับอย่างมีเงื่อนไขในสังคม
ทั้งหมดนี้ทำให้การพูดถึงความหลากหลายกลายเป็นแค่เทรนด์ แต่ไม่นำไปสู่การร่วมมือเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง นุพีชได้เล่าปิดท้ายว่าไพรด์และความหลากหลายนั้นต้องไม่ลืมคนชายขอบหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ทุกวันนี้ LGBTQ+ กลายเป็นเทรนด์ที่ทุกคนต้องออกมาพูดเสมอ แต่ไม่มีใครกลับไปคิดว่าในสังคมยังมีคนชายขอบอื่นๆ อย่าง ผู้พิการ คนผิวสี หรือ แรงงานอีสาน เราเลยรู้สึกเศร้าเสมอที่ทุกมิถุนายนก็จะเจอห้างนายทุนใหญ่ๆ แปะด้วยธงสีรุ้งเต็มไปหมด ธงรุ้งพวกนั้นคือธงแห่งความเหลื่อมล้ำ”
หากใครต้องการฟังเสียงของนุพีชที่เล่าถึงอีกมุมที่คาดไม่ถึงของเดือนไพรด์ ปัญหาทุนนิยมที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางเพศ เสียงของคนชายขอบที่ถูกละเลยในเดือนไพรด์ และทางออกของความเท่าเทียมที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย สามารถรับฟังแบบจัดเต็มได้ที่นี่