“ความรักตัวเองจะทำให้เราได้ยืนหยัดต่อความเกลียดกลัวที่มีต่อตัวเองและจากสังคม"
นี่คือเสียงของ ‘ทันหยก’ ที่ได้มาร่วมสนับสนุน LGBTQ+ คอมมูนิตี้ว่า ‘อยากให้ทุกคนกลับมารักตัวเอง’ เพราะความรักจะพาพวกเราทุกคนผ่านทุกความเกลียดกลัวไปได้ ทันหยกเริ่มเปิดบทสนทนาว่าเสียงที่เธออยากจะส่งให้แก่ LGBTQ+ ทุกๆ คนในเดือนไพรด์นี้ คืออยากส่งพลังให้ทุกคนกลับมารักตัวเอง เธอจึงเลือกจะเป็นตัวแทนเสียงแห่ง ‘Empowerment’
"เราอยากเป็นเสียงสนับสนุนให้ทุกคนกลับมารักตัวเอง เพราะว่าสังคมนี้ไม่ได้สอนให้ทุกคนเกลียดกลัวคนที่มีเพศหลากหลาย แต่สังคมนี้สอนให้คนที่มีเพศหลากหลายเกลียดกลัวตัวเอง ดังนั้น ความรักตัวเองจะทำให้เราได้ยืนหยัดต่อความเกลียดกลัวที่มีต่อตัวเองและจากสังคม"
ก่อนที่เธอจะมาถึงเส้นทางตรงนี้ ทันหยกเล่าว่าตัวเองก็มีปัญหาในการรักตัวเองมาก่อน และเข้าใจว่ามันยากแค่ไหนกว่าจะมาค้นพบความรักตัวเอง เธอเล่าย้อนไปถึงช่วงเวลาที่มีปัญหาต่อเรื่องนี้ว่า
"เรามีความคาดหวังมาโดยตลอดว่าที่บ้านจะยอมรับเราที่เป็นเพศหลากหลายหรืออะไรก็ตาม แต่กลายเป็นว่าเขายอมรับเราไม่ได้ เราก็เคยพยายามจะทำให้เขายอมรับนะ จนมาถึงจุดที่มันทำไม่ได้แล้ว พอทำไม่ไหว มันก็วนกลับมาทำร้ายเราให้สิ้นหวัง แต่ว่าเราก็ลองพยายามอีกสักครั้ง ครั้งนี้ก็โอเคไม่เป็นไร”
“ถ้าที่บ้านไม่ยอมรับ มันก็คงเลยขีดจำกัดแล้ว จะไม่พยายามต่อแล้ว เพราะเราก็ต้องเซฟใจตัวเอง"
หลังจากบทสนทนาถึงเส้นทางของความลำบากในการรักตัวเองและการเซฟใจมาได้จนถึงวันนี้ เราเลยถามเธอต่อว่า มีประสบการณ์อะไรที่รู้สึกภูมิใจมากๆ ในชีวิตที่อยากจะแชร์ในเดือนไพรด์นี้บ้างไหม
"เรื่องที่ภูมิใจในชีวิตตัวเองมันเริ่มมาจากการที่เราต้องอยู่กับโรคซึมเศร้าตั้งแต่มัธยม 2 ตอนนี้ก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว ต้องบอกก่อนว่ามันเริ่มจากความรักตัวเองในระดับที่เล็กๆ ความรักนั้นยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ก็เลยพึ่งพาความรักของคนอื่น มีเพื่อน มีหมอที่ช่วยเราให้มาถึงจุดที่มีความรักตัวเอง ซึ่งมากพอที่จะยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง พอมาถึงตรงนี้แล้ว เราเองก็อยากส่งต่อความรักดีๆ ให้คนอื่น และเป็นพลังงานที่ดีให้สังคม"
ทันหยักคือเสียงของ ‘Trans-androgyne’ ซึ่งก็คือคนข้ามเพศที่อยู่นอกกล่องและไม่ปฏิเสธความเป็นชาย-หญิง เราเลยถามเธอว่า:
อะไรคือประสบการณ์ที่ทำให้ค้นพบอัตลักษณ์นี้ ?
"เรารู้จักคำว่าทรานส์แอนโดรจีนัส (Trans androgynous) มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอิน จนวันหนึ่ง เรามีความคิดว่าถ้ามีจู๋ขึ้นมาจะเป็นยังไงนะ แล้วก็ลองเอาจู๋มาใส่จนเกิดการสำเร็จความใคร่ (Orgasm) คือเราอยากมีจู๋นะ แต่ก็ไม่ปฏิเสธความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย ก็เลยรู้สึกว่าอัตลักษณ์นี้มันคือตัวเราที่สุด”
ทันหยกเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมและสิทธิความหลากหลายทางเพศมาตั้งแต่สมัยที่เธอยังเป็นเยาวชน เราเลยถามถึง จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจเริ่มกิจกรรม ว่ามันคืออะไร เธอจึงเล่าให้เราฟังว่า
"จุดเริ่มต้นคือเริ่มจากการจัดม็อบครั้งแรกที่สุราษฎร์ธานี ช่วงนั้นเป็นตอนที่พรรคประชาธิปไตยถูกสั่งให้ยุบ เรารู้สึกว่ากำลังถูกปิดปากเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบก็คงจะไม่ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด แล้วก็เริ่มสร้างแอคเคานต์ม็อบขึ้นมา ในม็อบเราก็ได้พูดเรื่องเพศ มีคนมาพูดเรื่องเศรษฐกิจ แล้วก็มีเพื่อนๆ มาช่วยเหลือกันสร้างม็อบจนสำเร็จ"
ในประเทศไทยตอนนี้มีเยาวชนที่ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตและความเท่าเทียมมากขึ้น มีหลายประเด็นที่ถูกขับเคลื่อน ในบทสนทนาปิดบทความนี้ เราจึงถามทันหยกว่า
คิดว่ามีประเด็นการเคลื่อนไหวทางเพศอะไรไหม ที่ยังขาดพื้น ตกหล่น และควรได้รับเสียงมากขึ้นในช่วงนี้ ?
ทันหยักเล่าให้พวกเราฟังว่ายังมีประเด็นเรื่องเยาวชนคนข้ามเพศในไทยที่ต้องการความเท่าเทียมมากกว่านี้ เพราะเยาวชนทุกคนก็คืออนาคตของโลก และไม่ควรจะมีเยาวชนกลุ่มใดที่ถูกปิดกั้นทางโอกาสเพราะความแตกต่าง
"ในไทยตอนนี้ ‘เยาวชนคนข้ามเพศ’ (Trans youth) ที่เป็นเด็กและเป็นคนข้ามเพศยังถูกหลายๆ อย่างกดทับอยู่มาก เมื่ออายุไม่เกิน 18 ปี ก็ไม่สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้เลย พอจะทำอะไรก็ต้องมีผู้ปกครองมาเกี่ยวตลอด หลายบ้านก็ชอบทำตัวเป็นเจ้าของชีวิตเด็ก เยาวชนข้ามเพศหลายคนก็เลยขาดสิทธิที่จะเข้าถึงบริการรับฮอร์โมนหรือให้คำปรึกษาทางเพศ บางรายก็ถูกครอบครัวชักจูง บังคับให้เป็นคนที่พวกเขาไม่ได้อยากเป็น เสียงของความเคลื่อนไหวที่อยากไฮไลต์ให้ดังขึ้นคือการให้เยาวชนคนข้ามเพศได้มีสิทธิเท่าเทียม"
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ จากพวกเราได้ที่ https://exoticquixotic.com