Auto

ชาตินิยมกับรถยนต์ประจำชาติ เรื่องละเอียดอ่อนที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ถ้าให้คุยเรื่องชาตินิยมกับยานยนต์ในไทย ดูจะเป็นสิ่งที่มักมีการถกเถียงและตั้งคำถามมาอย่างยาวนาน และประเด็นที่มักมีการพูดถึงอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นเรื่องอะไรไม่ได้เลย นอกจาก 'ทำไมเมืองไทยถึงไม่มีรถยนต์ประจำชาติ' ซึ่งประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกับชาตินิยมแบบ 100% และการถกเถียงที่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครผิดใครถูกอีกต่างหาก เพราะต่างฝ่ายก็ต่างมีเหตุผลของตัวเองในเรื่องนี้

ประเด็นชาตินิยมกับรถยนต์ถือว่ามีนัยที่สำคัญอยู่หลายเรื่อง ซึ่ง Exotic Quixotic พร้อมจะนำประเด็นเรื่องราวเหล่านี้มาขยายความเพิ่มเติมให้กับคุณ ทั้งนี้การที่ประเทศจะมีแบรนด์รถยนต์ประจำชาติจะมีข้อดีในมุมไหนบ้าง เช่นเดียวกับข้อเสียที่ต้องมีเช่นกัน แต่ก่อนที่จะไปรู้ข้อดีข้อเสียในเรื่องนี้ เราขอมาอธิบายขยายความของคำว่า 'ชาตินิยม' สักเล็กน้อย ซึ่งเชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินคำนี้มาอย่างแน่นอน โดยชาตินิยมจะมีความหมายประมาณว่าเป็นกลุ่มคนที่ถือชาติเป็นใหญ่ มีความรักชาติเป็นพิเศษ

รถยนต์ไทยรุ่ง (Thairung) แบรนด์ไทยแต่หัวใจญี่ปุ่น
Photo Credit: ไทยรุ่ง Thairung

การที่ประเทศจะมีแบรนด์รถยนต์ประจำชาติขึ้นมาได้ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือการได้รับความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากทางภาครัฐเสียก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นแนวคิดในการผลิตรถยนต์ออกมาจำหน่าย ซึ่งตามปกติทั่วไปแล้ว ทางภาครัฐจะเน้นผลิตรถยนต์ที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนในประเทศเป็นหลัก ส่วนเรื่องการส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศนั้น เรื่องนี้อาจถูกบอกว่าอยู่ในลำดับขั้นตอนหลังจากประสบความสำเร็จในประเทศเสียก่อน

ผลประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อมีรถยนต์ประจำชาติ

1. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน มีการสร้างงานเกิดขึ้นมากมายหลายตำแหน่ง คุณอย่าลืมว่าการผลิตรถยนต์ออกมาสักหนึ่งรุ่น ต้องมีทีมงานวิจัยพัฒนา มีขั้นตอนการผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆ ตลอดจนถึงขั้นตอนการประกอบ ซึ่งเรายังไม่นับทีมผู้บริหาร ทีมการตลาด ซึ่งในทุกขั้นตอนล้วนมีการจ้างงานเกิดขึ้น และเมื่อมีการจ้างงานก็จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจนั้นเอง

2. มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นผลพลอยได้ของการมีรถยนต์ประจำชาติ เนื่องจากการผลิตรถยนต์ออกมาสักหนึ่งรุ่น จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ซึ่งตามปกติทางรัฐบาลจะเลือกสร้างความร่วมมือกับบริษัทรถยนต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพียงแต่ว่าข้อตกลงข้อเสนอก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งไม่ว่าข้อตกลงสุดท้ายจะเป็นแบบไหนก็ตาม สุดท้ายจะเกิดการถ่ายทอดความรู้และทักษะระหว่างวิศวกรอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะต้องมีการพัฒนาเช่นกัน เพราะสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้กับรถยนต์ได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งาน ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่าเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ และทางภาครัฐจำเป็นต้องลงทุนในสิ่งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ปลายทางสุดท้ายจะเกิดองค์ความรู้ต่างๆ มากมายที่จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์

การประกอบเครื่องยนต์
Photo Credit: Xinhua Thai

3. ความภูมิใจ เรื่องนี้อาจไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าเป็นคนชาตินิยมแล้วล่ะก็ เกิดความภูมิใจในเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะการมีรถยนต์ประจำชาติจะถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ เพราะไม่ใช่ทุกประเทศจะมีแบรนด์รถยนต์ประจำชาติ และเมื่อเวลาผ่านไปสุดท้ายรถยนต์ประจำชาติจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของประเทศ โดยประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งจะมีการจดบันทึกถึงเรื่องราวนี้แน่นอน

4. รถยนต์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน สิ่งนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของรถยนต์ประจำชาติ เพราะจุดมุ่งหมายตั้งแต่แรกคือการผลิตขายในประเทศเป็นหลักอยู่แล้ว ทำให้การออกแบบจะตอบโจทย์เงื่อนไขเฉพาะบางอย่างภายในประเทศได้ ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศที่ร้อนตลอดทั้งปีของไทย อาจเลือกใช้วัสดุส่วนประกอบต่างๆ ที่สามารถทนต่อแสงได้ดีขึ้นกว่าปกติเป็นต้น

แบรนด์ Proton รถยนต์ประจำชาติมาเลเซีย ที่ครั้งหนึ่งเคยจำหน่ายในไทย
Photo Credit: Proton Cars

ข้อเสียของการมีรถประจำชาติ

1. ต้นทุนและเงินอุดหนุนสูง ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาหากต้องการมีรถยนต์ประจำชาติ เพราะการพัฒนารถยนต์มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องมีการลงทุนในด้านการวิจัย การพัฒนา ด้านการผลิต และการตลาด ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เป็นจำนวนมาก ยิ่งรถยนต์มีเทคโนโลยีที่สูงมากเท่าไหร่ เงินทุนที่จะใช้ลงไปก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเท่านั้น

2. การแข่งขันในตลาดต่างประเทศที่ยากกว่า ถึงแม้ในตอนแรกจะบอกว่าในช่วงเริ่มต้นรถยนต์ประจำชาติ เป้าหมายแรกหลักคือทำขายในประเทศเป็นหลักก่อน หลังจากนั้นตลาดต่างประเทศถึงจะเป็นเป้าหมายถัดไป โดยการทำตลาดในต่างประเทศอาจมีข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันที่สูงกว่า ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับเรื่องคุณภาพมาตรฐานที่อาจไม่ได้รับความไว้วางใจ

รถยนต์ที่ผลิตในไทย ที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ
Photo Credit: Autolife Thailand

3. ความเสี่ยงจากการแทรกแซงทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างชัดเจน เพราะการที่จะมีรถยนต์ประจำชาติได้นั้น ก็ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนทางการเมืองนั้นล่ะ ซึ่งการตัดสินใจในแต่ละช่วงเวลาก็จะมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือตลาด และสิ่งนี้เองอาจนำพาไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้

4. ข้อกังวลด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือ น่าจะเป็นเรื่องปกติก็ว่าได้ การที่ผู้คนบางกลุ่มจะมีความกังวลในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน ความน่าเชื่อถือในเทคโนโลยีต่างๆ ของรถยนต์ โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับแบรนด์รถยนต์เก่าแก่จากต่างประเทศ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ต้องเจอแบบเลี่ยงไม่ได้ และหนทางเดียวที่จะเอาชนะเรื่องนี้ได้ก็เป็นเรื่องกาลเวลาที่พิสูจน์

ทั้งนี้ไม่ว่าจะคุณจะเห็นด้วยกับเหตุผลไหนก็ตาม จะเป็นข้อหรือไม่ดีที่จะเกิดขึ้น หากมีรถยนต์ประจำชาติ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึงเป็นอย่างมากก็คือ เงินภาษีจำนวนมหาศาลจะถูกใช้ลงทุนไปกับการทำรถยนต์ประจำชาติ และต้องใช้ระยะเวลานานอย่างแน่นอน กว่าที่กำไรจากการขายรถยนต์จะสามารถหล่อเลี้ยงแบรนด์รถยนต์ประจำชาติได้เอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอยู่ไม่มากก็น้อย ไม่งั้นหลายๆ ประเทศคงมีรถยนต์ประจำชาติกันทั้งหมดแล้ว