Life

หลากหลายแง่มุมเรื่อง One Night Stand - Friend With Benefits กับคนรุ่นใหม่ ในวันที่สังคมเปลี่ยน

Photo credit: Thanh Tran

One Night Stand (ONS) และ Friend With Benefits (FWB) เป็นความสัมพันธ์ที่มีในสังคมไทยมานานมากแล้ว แต่วันนี้ที่สังคมค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น บวกกับกระแสที่หลายคนไม่อยากมีลูก ทำให้ผู้เขียนเกิดสงสัยขึ้นมาว่าเหตุผลเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรกับคนรุ่นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทั้ง 2 ลักษณะนั้นบ้าง และเพื่อไม่ให้ความสงสัยนี้จบลงแค่ที่ตัวเอง เลยอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบไปพร้อมกันกับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างทั้ง 20 คน และผู้มีประสบการณ์ที่จะมาสนทนากับเรา

Photo credit: The HK Photo Company

ONS และ FWB ที่คุณรู้จักอาจไม่ใช่อย่างที่รู้

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่าทั้ง 2 อย่างนั้นหมายถึงอะไร 

One Night Stand (ONS) อ้างอิงตาม Dictionary คือ “a sexual relationship lasting only one night” หรือความสัมพันธ์ทางเพศที่คงอยู่เพียงคืนเดียว เมื่อเสร็จภารกิจเท่ากับจบกัน หลายคนจึงให้ความเห็นตรงกันว่าไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน หรือสนว่าอีกฝ่ายมีความสัมพันธ์กับใครมาก่อนบ้าง

ส่วน Friend With Benefits (FWB) นักวิชาการทั้งไทยและเทศให้ความหมายไว้ว่า “เป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่เพื่อนร่วมหลับนอนกับเพื่อน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกับคือเซ็กซ์ อยู่กึ่งกลางระหว่าง ONS กับความสัมพันธ์แบบคู่รัก (Romantic Relationship) เพราะคนที่มีเซ็กซ์ด้วยนั้นจะเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกันในระดับหนึ่ง หรืออาจสนิทมาก แต่ไม่ได้ถึงขั้นพัฒนาเป็นคู่รักที่มีความผูกมัดกัน มีกฎเหล็กคือห้ามหวั่นไหว และต้องไม่ใช่ชู้หรือมือที่ 3 ของใคร

ซึ่งจากข้อมูลที่ EQ ได้มา พบว่าผู้ทำแบบสอบถามที่กำลังมองหาและ/หรือเคยมีความสัมพันธ์แบบ ONS และ FWB จำนวน 100% เข้าใจความหมายของ ONS เป็นอย่างดี และ 80% เข้าใจความหมายของ FWB ตามที่คำนิยามไว้ แต่อีก 20% เข้าใจคำนี้แตกต่างออกไป คือ FWB เป็นเซ็กซ์ที่เกิดจากใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องทำความรู้จักกันมาก่อน สามารถเริ่มต้นด้วยเซ็กซ์แล้วค่อยทำความรู้จักกันถ้าถูกใจ แต่ถ้าไม่ถูกใจก็จบความสัมพันธ์ ซึ่งดูจะคลาดเคลื่อนไปจากนิยามที่หลายคนว่าไว้ 

Photo credit: Vidar Nordli-Mathisen

เกินกว่าครึ่งเคยมี ONS หรือ FWB 

สิ่งที่น่าสนใจในข้อต่อไปคือ 70% ของผู้ที่ให้ข้อมูลกับเราเคยมีความสัมพันธ์ระยะสั้นทั้ง 2 แบบมาก่อน ส่วนอีก 30% ยังไม่เคยมีมาก่อน แต่กำลังมองหาอยู่ โดยทั้งสองส่วนจะมองหาคู่จากในไนต์คลับ ทวิตเตอร์ แอปหาคู่ เฟซบุ๊ค และจากคนใกล้ตัว

สำหรับสาเหตุที่เลือกจะก้าวสู่ความสัมพันธ์ทั้ง 2 แบบนี้ คนเจเนอเรชัน Y (เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523 - 2540) บอกว่า เบื่อกับการต้องมาคอยเอาอกเอาใจ หรือมีเวลาให้ใครตลอดเวลา, โตแล้ว งานเยอะ เลยวัยที่จะมองหาคู่ชีวิตแล้ว แค่มีเซ็กซ์ก็พอ, ยังไม่อยากมีแฟนตอนนี้ ยังรู้สึกสนุกและอิสระกับชีวิตโสด แต่ปฏิเสธเรื่องเซ็กซ์ไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนคนเจเนอเรชัน Z (เกิดหลัง พ.ศ. 2540) ตอบไปในทิศทางเดียวกันว่า มันตอบโจทย์กับการอยากปลดปล่อยเรื่องเซ็กซ์ และเรื่องที่ยังไม่เจอคนที่ถูกใจหรือคนที่จะจริงจังด้วย, อายุน้อยกว่า 20 ปี เป็นวัยเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ ไม่จำเป็นต้องรีบผูกมัดเป็นแฟนกับใคร

Photo credit: Roman Khripkov

FWB ยังไงก็ดีกว่า

นอกจากนี้ คำถามที่ว่าถ้าให้เลือกระหว่าง ONS และ FWB แต่ละคนอยากจะเลือกอะไรมากกว่ากัน ซึ่งคำตอบจากคน Gen Y และ Gen Z ทั้ง 100% เลือก “FWB” เพราะอยากโดนเทคแคร์ในระดับหนึ่ง และไม่อยากเปลี่ยนคู่เซ็กซ์บ่อย ด้วยความกังวลเรื่องการคุมกำเนิด ความปลอดภัย และโรคติดต่อ แต่ไม่ต้องการสานสัมพันธ์ไปมากกว่านั้น

Jane B (ตัวแทนคน GEN Y): เลือก FWB มากกว่า เพราะเหมือนเราได้แก้เหงาในเวลาที่ต้องการเซ็กซ์ คุยกันได้ทุกเรื่องแบบเพื่อน ไม่หึงหวง ไม่เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ 

พีนัท (ตัวแทนคน GEN Z): อยากได้ FWB มากกว่า เพราะไม่อยากเปลี่ยนคู่บ่อย เราเป็น LGBTQ ความเสี่ยงเรื่องโรคติดต่อมีสูง แอบกลัวถ้าเปลี่ยนบ่อย

ไม่ปกปิดแต่ไม่เปิดเผย

อีกประเด็นที่เราคิดว่าไม่ถามคงไม่ได้คือสภาพสังคมที่ค่อนข้างเปิดกว้างเรื่องเพศอย่างทุกวันนี้ ทำให้คนที่มองหาคู่เพื่อ ONS หรือ FWB สามารถทำอย่างเปิดเผยได้แล้วหรือยังต้องปิดเป็นความลับอยู่ ซึ่ง 80% บอกว่า “ไม่เชิงปกปิด แต่ไม่เปิดเผย” โดยมีความเห็นที่น่าสนใจ เช่น 

@jmk_4u: “เราเพิ่งเข้าวงการนี้ไม่นาน แต่ก็ไม่เชิงปกปิดนะ แบบใครจะรู้ก็รู้ แค่อย่ามาพูดหักหน้ากันหรือก้าวก่ายกันก็พอ แต่ที่เปิดเผยได้ไม่สุดเพราะทำงานราชการค่ะ และยังห่วงความรู้สึกของครอบครัวอยู่ เขาคือคนรุ่นเก่า ยังรับเรื่องนี้ไม่ได้”

“เราเข้าใจว่ามัน 2 แง่ 2 ง่ามจริงๆ ก็จะไม่ซีเรียสหรือนอยอะไรใคร แต่ถ้าพูดได้ก็อยากบอกกับสังคมว่าไม่ว่าจะ ONS หรือ FWB มันเป็นรสนิยมของแต่ละคน อยากให้มันเป็นเรื่องของใครของมัน อย่าเอาความคิดลบของตัวเองมาตัดสินคนอื่นว่ามันไม่ดี”

Jane B: เราปกปิดกับคนทั่วไปแต่เปิดเผยกับเพื่อนสนิท เพราะไม่อยากให้คนอื่นมามองว่าเราว่าใจง่าย มั่ว และหลายสิ่ง เพียงเพราะเราสบายใจที่ทำแบบนี้กับร่างกายตัวเอง

ในขณะที่คนอีก 20% เลือกปกปิดเป็นความลับไปเลย 

มนุษย์คนหนึ่ง (นามสมมติ): ปกปิดเป็นความลับ เพราะถ้า FWB คือคนใกล้ตัว ก็คงไม่อยากให้ใครรับรู้ มันกระอักอ่วน

ท้ายสุด “ความสัมพันธ์ระยะยาว” ยังเป็นคำตอบ

ประเด็นที่สุดท้ายที่อยากสอบถามทุกคนคือ ยัง “มองหา” ความสัมพันธ์ระยะยาวควบคู่กันไปด้วยหรือไม่ หรือแค่ ONS และ/หรือ FWB ก็พอแล้ว ซึ่งทั้งคน Gen Y ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และคน Gen Z รวมทั้งหมด 70% ตอบว่า “มองหา” เพราะคิดว่าคนที่จะตอบโจทย์เรื่องเซ็กซ์และเทคแคร์กันได้แบบยาวนานและสบายใจมีแค่แฟนเท่านั้น 

ส่วนคนส่วนน้อยที่คิดว่าจะไม่มองหาความสัมพันธ์ระยะยาว (เช่น แฟน, คู่ชีวิตที่จะแต่งงานด้วย) เพิ่มแล้ว คือคน Gen Y อายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากโสดมานานจนชินกับความอิสระในชีวิต และพอใจกับความสัมพันธ์ระยะสั้นที่ไม่วุ่นวาย

Photo credit: Hà Nguyễn

ข้อคิดจากผู้มีประสบการณ์

ท้ายนี้ผู้มีประสบการณ์ที่มาพูดคุยกับเราได้ฝากข้อคิดและคำแนะนำถึงผู้คิดอยากเข้าสู่ความสัมพันธ์ระยะสั้นเอาไว้ด้วย 

เมล่อน: ความสัมพันธ์แบบ ONS หรือ FWB ถ้าไม่ได้จบกันแย่ นอกจากเรื่องเซ็กซ์ เราก็จะได้เพื่อนที่พึ่งพากันได้เวลามีเหตุด่วนเหตุร้าย แต่สำคัญคือก็อย่าไปยึดติดกับเขามากเกินไปหรือคิดว่าเขาเป็นของตนเอง และอย่าลืมป้องกันตัวเองให้ดี 

@jmk_4u: สิ่งสำคัญของความสัมพันธ์เหล่านี้คือความเต็มใจและสนุกไปพร้อมกัน ถ้ามีเซ็กซ์แล้วสนุกอยู่ฝ่ายเดียว เราคิดว่ามันไม่คุ้ม 

Jane B: จะมีเซ็กซ์กับใครในฐานะพวกนี้ คุณต้องศึกษาเขาก่อน จะได้มีความสุข ไม่ใช่มีเซ็กซ์แล้วต้องมานั่งทุกข์แทน และถ้าเขายังไม่บอกคุณชัดเจนว่าอยากไปต่อยาวๆ ก็อย่าปล่อยใจ อย่าคิดเอาเอง ควรอยู่กับความเป็นจริง

พีนัท: ถ้าอยากแฮปปี้ ควรจะช่างเลือก (มาก) หน่อย สมมติจะ ONS อาจจะเลือกคนที่ดูสะอาดอ้าน ให้เกียรติ อย่างน้อยก็ใช้ถุงยาง ไม่บังคับเรา แต่ถ้าจะ FWB ควรเริ่มจากความเป็นเพื่อนก่อน ศึกษานิสัยให้ดีแล้วค่อยมีเซ็กซ์ ไม่ใช่ไปเริ่มทีมีเซ็กซ์ก่อน แบบนั้นมันเสี่ยง

Photo credit: We-Vibe Toys

สรุปสิ่งที่เราได้จากข้อมูลและการพูดคุยในครั้งนี้ คือ One Night Stand (ONS) และ Friend With Benefits (FWB) ยังคงมีอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายจากความสัมพันธ์ระยะยาว หรือตอบสนองเรื่องเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวขณะที่ยังโสด แต่ท้ายที่สุดแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะ Gen Y หรือ Gen Z ยังต้องการความสัมพันธ์ระยะยาวอยู่

“เราก็เป็นเพื่อนกันปะวะ” “ก็แค่คืนนั้นคืนเดียว จะคิดอะไรมาก” ประโยคเหล่านี้เชื่อว่าเหล่าผู้มีประสบการณ์กับ One Night Stand และ Friend With Benefits คงจะต้องผ่านหูกันมาบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์แบบนี้หวนกลับมาทำร้ายตัวเราได้ คงหนีไม่พ้นเรื่องความตกลงกันตั้งแต่ต้น ที่มาจากความยินยอมแหละเห็นพ้องต้องกันของทั้งสองฝ่ายเพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดูจะเหมือนจะเอาไว้หลีกหนีความวุ่นวายจะกลายเป็น Toxic Relationship ได้ภายในพริบตา 

Photo credit: Alejandra Quiroz