ด้วยสถานการณ์โควิดที่รุนแรงขึ้นเมื่อช่วงต้นปี ทำให้ทางเราพลาดโอกาสแสนพิเศษที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมแปลงผักแสนสวยบนดาดฟ้าของ แพรี่พาย - อมตา จิตตะเสนีย์ โดยทางเราจึงได้ส่งเพียงช่างภาพฝีมือดีเก็บภาพสวยๆ พร้อมเรื่องราวที่เธอได้บอกเล่าให้เราฟัง มาส่งต่อเรื่องราว และทำความรู้จักบทบาทใหม่ กับเจ้าของแปลงผักของแพรี่พาย
โควิด ครอบครัว และแปลงผักดาดฟ้า
แน่นอนว่าเราถามหาจุดเริ่มต้นของการทำแปลกผักนี้จากเธอเป็นคำถามแรก
“เริ่มมากจัดช่วงล็อกดาวน์เมื่อเมษายนปีที่แล้ว แพรและครอบครับมีโอกาสย้ายจากบ้านเก่ามาอาศัยอยู่ที่คอนโดฯ ต้องเล่าก่อนว่าตึกหลังนี้เป็นแผนระยะยาวของที่บ้านที่วางกันไว้ เป็นอาคาร 8 ชั้น รวมดาดฟ้า ก็ได้คนในครอบครับมาช่วงกันทำทั้งการออกแบบภายใน ออกแบบสวน ทำให้การมีกระบะปลูกปูน ออกแบบโครงเหล็กสำหรับไม้เลื้อย วางระบบท่อระบายน้ำ ถูกออกแบบมาตั้งแต่การทำโครงสร้างและคำนวนน้ำหนักไว้หมดแล้ว เพราะไอเดียเริ่มตันมาจากการปลูกไม้ประดับ ไม้สวยงามที่ความสูงระดับกลาง มีสวนเล็กๆ ไว้เดินเล่นเหมือนตึกทั่วไป”
“แพรตั้งแง่กับการย้ายเข้ามามาก ไม่อยากย้ายเข้าไปอยู่ในตึก ไม่อยากอยู่กับปูน กับสิ่งก่อสร้างจากมนุษย์ ไม่อยากอยู่ในที่ ที่ไม่มีบริเวณพื้นดิน ไม่มีสวน สนามหญ้า ทำไมมันไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติเลย เหตุผลเดียวที่ทำให้แพรยอมย้ายเข้ามาอยู่ที่คอนโดฯ คือคุณแม่และคุณพ่อเลย แพรอยากใช้เวลากับท่านให้ได้เยอะที่สุด แพรเลยเริ่มปรึกษากับครอบครัวว่า เราไม่ปลูกไม้ประดับกันได้ไหม แพรอยากเปลี่ยนดาดฟ้าให้เป็นพื้นที่สร้างแหล่งอาหารของครอบครัวเรา พร้อมไปกับการปลูกพืชให้สีสำหรับสกัดสีน้ำวาดรูปและย้อมผ้าเช่น คราม (น้ำเงิน) ดาวเรือง ดาวกระจาย ขมิ้นขัน (สีเหลือง) ผักปลัง (สีม่วง) โดยใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาปรับใช้กับพื้นที่ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำแปลงผักผืนนี้”
“เริ่มแรกคือใช้เซนส์ในการทำล้วนๆ เลย และดาดฟ้าด้านบนแดดแรงมาก ร้อนมาก แพรกับครอบครัวเราเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่แรกเลย ขนดินใบก้ามปูขึ้นมา เอามาคลุกกับมูลไส้เดือน มูลวัว กาบมะพร้าวสับ นำดินใส่กะบะ รดน้ำเช้าเย็น พืชชนิดแรกๆ ที่เลือกปลูกเป็นผักสวนครัวที่เราใช้กันบ่อยๆ เริ่มสร้างระบบนิเวศให้พื้นที่มีชีวิต มีความเขียว จากนั้นก็เริ่มปลูกผักใบเขียวระยะสั้น ดินเริ่มมีชีวิต เริ่มมีเงาบางๆ จากพืชที่ทนร้อน จากนั้นแพรก็เริ่มทะยอยลงเมล็ดเช่นกระเจี๊ยบ แตงกวา ฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมาย ระหว่างที่รอผักโตก็เพาะเห็ดไปพลางๆ ช่วงนี้ก็เริ่มศึกษาถึงวงจรและฤดูการปลูกของพืชทุกชนิด ทดลองผสมเกสรให้พืชชนิดผลแบบ hand pollination เพราะช่วงแรกยังไม่ค่อยมีผึ้งมาทำหน้าที่นี้ ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมหน้าดินเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน สะสมขยะในบ้านมาทำปุ๋ยหมัก โรยกากกาแฟ เปลือกไข่ เปลือกหอย เพิ่มธาตุอาหารเสริมให้กับดิน เก็บเปลือกกล้วยมาแช่น้ำ ได้โพแทสเซียม”
“ทำไปทำมาตอนนี้เข้าเดือนที่ 9 แล้ว สนุกสนาน มีความสุข รู้สึกได้เยียวยาตัวเองมาก ปลูกพืชมาแล้ว 100 กว่าชนิด เริ่มต้นจากลองผิดลองถูก ตอนนี้กลายเป็นดาดฟ้าพืชหมุนเวียน เกี่ยวคราม ก่อหม้อ ย้อมเสื้อผ้าเก่าๆ ได้ใช้แตงกว่ามาทำโทนเนอร์เช็ดหน้า ได้เก็บกระเจี๊ยบแดงมาลองกวนสีแดงทาปาก ล่าสุดคือ เลี้ยงไส้เดือนด้วย แล้วแพรยังไปเจอข้อมูลของการปลูกผักดาดฟ้าของต่างประเทศด้วยอย่าง ที่ New York ยังมีเลี้ยงผึ้งบนตึกสูง 50 ชั้นเลย ส่วนที่ฮ่องกงมีบริการให้เช่าพื้นที่ปลูกบนดาดฟ้าเป็นรายเดือนเขาทำกันเป็นเรื่องปกติมากๆ”
Fast Food to Super Food
ปลายทางของการปลูกผักสวนครัวนั้น คงจะเป็นที่ไหนไปไม่ได้นอกจากห้องครัวของบ้านจิตตะเสนีย์ที่อยู่ร่วมกัน ทำให้เราสงสัยว่าเพราะความเป็น Food Lover ของเธอด้วยหรือเปล่าที่เป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการรังสรรค์แปลงผักนี้ขึ้นมาก
“เป็นเด็กอ้วนที่ชอบกิน” เธอกล่าว “แต่ถ้าถามว่าทำอาหารเป็นไหม “ไม่ค่ะ” แพรไปเรียนต่อที่อังกฤษมาตั้งแต่เด็ก กินอาหารที่โรงอาหารมาตลอด ถ้าวันไหนไม่อร่อยก็จะกลับมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรับประทาน พอเข้ามหาลัยก็ติดนิสัยทานอะไรที่เอาง่ายไว้ก่อน สะดวกไว้ก่อน ใช้ผงปรุงรสแบบซองทำกะเพรา ต้มยำ อะไรประมาณนี้”
เธอเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกให้เราฟัง
“พอได้มีโอกาสเข้ามใช้ชีวิตกับท้องถิ่น กินอาหารพื้นบ้าน ยิ่งได้ไปใช้เวลากับชุมชม จะได้กินผักสด น้ำพริกตำใหม่ๆ แพรรู้เลยว่าแพรชอบมาก มันคือรสชาติของอาหารจริงๆ ”
“ช่วงนี้ก็ได้เพื่อนใน Facebook และ Instagram คอยแนะนำเมนู คอยสอนแพร ปัจจุบันทำอาหารกินเองแทบทุกมื้อ อร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง ยังหารสมือตัวเองไม่เจอ แต่ได้วัตถุดิบที่เราปลูกเอง รู้แหล่งที่มา ก็สบายใจทุกครั้งที่ได้กิน”
วัตถุนิยม ตัวตน และ แปรงแต่งหน้าที่ถูกวางลง
“อย่างที่ทุกคนทราบกันดี แพรได้หยุดการทำคอนเทนต์แต่งหน้า เลิกรับงานรีวิวสินค้าทุกประเภทที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมาเกือบ 4 ปี แล้ว แพรว่าเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดของวัตถุนิยมมาโดนตลอดจากสื่อต่างๆ ที่ประโคมโฆษณาเข้ามาโดยการใช้ดาราถือผลิตภัณฑ์ผิวขาว ผมต้องสวย ผ้าต้องหอม ทำให้เราชินกับการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน ไปโดยไม่รู้ตัวและขาดไม่ได้ ตื่นเช้าแปรงฟัน อาบน้ำถูสบู่เหลว ทาครีมบำรุง แต่งหน้า ซักผ้า ล้างห้องน้ำ ล้างจาน และพวกเราสะดวกสบายมากกันเกินไปจนละเลยที่มาที่ไปของสิ่งที่นำเข้าร่างกาย อยากกินอะไรก็สามารถเข้าร้านซื้อได้เลย โดยที่ไม่รู้ที่มาที่ไปว่าอาหารที่กินอยู่ต้นน้ำมาจากไหน กินเสร็จทิ้งขยะแต่ไม่รู้ว่าขยะมันไปไหน กลายเป็นนิสัยที่ไร้ความรับผิดชอบจนเป็นเรื่องชิน แพรไม่อยากเป็นหนึ่งใน Influencer ที่รับงานโปรโมท รีวิว สินค้ากลุ่มเหล่านี้อีกต่อไปแล้ว”
“อาจจะต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แพรเริ่มตัวเองด้วยความรักในศิลปะ รักในการสร้างสรรค์ มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง สร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจนมี คอนเซปต์ กระบวนการทางความคิด รีเสิร์จข้อมูล ทดลอง ทบทวน จดบันทุก วางแผน แพรใช้เวลาใส่ใจทุกรายละเอียดกว่าจะเป็นผลงานหนึ่งชิ้น ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่คอนเทนต์เดียวในอินเตอร์เน็ตก็ตาม แต่กับปัจจุบันโลกเราหมุนเร็วกว่าเดิม คนขาดการไตร่ตรองในสิ่งที่เราอยากทำอย่างเต็มที่ ขาด Passion มีเป้าหมายแบบล่อลอย ทำงานตาม reference ทำงานแบบหยิบมาวาง ขโมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเองโดยที่ไม่ได้ใช้ความคิดและกระบวนทางความคิดเป็นของตัวเอง เห็นว่าอะไรดี คนไหนดี ก็ทำตามกันไปหมด แพรเบื่อกับสังคม เบื่อหน่ายตัวเอง มองไม่เห็นจุดหมายปลายทางของตัวเอง เครียดมากและรู้ตัวว่าไม่ดีต่อสุขภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณเลย”
Found the Real Inspiration
“4 ปีที่ผ่านมา แพรได้ขึ้นเหนือลงใต้ เข้าป่า ได้อยู่ใกล้ธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา ทะเล อยู่กับชุมชมข้างดอย อยู่กับชาวบ้าน ชาวเล เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก ได้กินแต่ของดี อาหารพื้นบ้าน ผักสดอินทรีย์ปลอดสารปลูกตามฤดูกาล กินอาหารเป็นยา เห็นหน้าตาผัก ผลไม้ เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านแบบแปลกๆ ได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบพิ่งพากันและกัน ได้เรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาไทย “
“หลายคนอาจจะเห็นแพรสนใจเรื่องผ้า กลับมาเข้าใจรากเหง้าและวัฒนธรรมของตัวเอง ได้เห็นขบวนการทำผ้าตั้งแต่เริ่มต้น ตื่นเต้นกับสีธรรมชาติ นำผ้ามาแปรรูป ตัดใส่จริงในแบบของเรา คงเพราะผ้าไทยก็ใกล้กับงานที่เคยทำมาก่อน เลยเข้าใจกันได้ไว บวกกับพลังความรักของแม่ๆ ในแต่ละจังหวัดที่มีวัฒนธรรมการทำผ้าที่ละเอียดอ่อน ใส่ใจ และอยากส่งต่อองค์ความรู้ ทำให้เราอยากขับเคลื่อนเรื่องของผ้าพื้นเมืองและที่สำคัญ แพรได้เจอ Palette สีโทนสีธรรมชาติ ทำให้จิตวิญญาณ makeup artist ตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก”
บทบาทล่าสุด กับสร้าง Biodiversity กลางเมือง
“ต้องเล่าก่อนว่าช่วงปีหลังๆ แพรมีโอกาสเดินป่าที่เชียงดาวกับพี่มล ผู้นำชุมชนถิ่นนิยมเชียงดาว ฝึกสัมผัสทั้ง 5 ใหม่ทั้งหมด แพรไป - กลับเชียงดาวทุก 2 เดือน ได้เห็นการทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบ organic, พื้นที่ราบ, พื้นที่บนดอยบนภูเขา ได้ปลูกข้าว เกี่ยวข้าว เก็บลำไย มันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราไม่เคยได้ทำมาก่อนและสนุกมาก แพรได้เห็นคุณค่าของระบบพิ่งพาอาศัยกัน คุณค่าของการทำการเกษตรแบบไทย กินอยู่แบบไทยเพราะนั้นคือวิถีชีวิตของเรา รวมกับเหตุผลข้างบนที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ทำให้แพรเลือกจะหยิบพลั่วมาแปลงร่างดาดฟ้าให้เป็นแปลงผัก”
“นอกจากได้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ได้เข้าใจธรรมชาติและตัวเองขึ้นแล้ว มันมีคำว่า Biodiversity ที่สำคัญมาก อยากให้เพื่อนๆ ที่อ่านอยู่ได้ลองศึกษากัน มันเป็นการพิ่งพากันและกันของสิ่งมีชีวิตที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่เห็น การปลูกต้นไม้ที่ดีเราต้องเอาตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติค่ะ มันไม่ใช่แค่ ดิน น้ำ แสงและปุ๋ยเท่านั้น มันคือระบบนิเวศน์ ตั้งแต่เชื้อรา แบคทีเรีย ผึ้ง แมลง ไส้เดือน และวัตถุอินทรีย์อื่นๆ อีกมากมาย
หลายคนอาจจะมองว่า มันต้องอะไรขนาดนั้นเลยหรือ สำหรับแพรถือว่าเราเกิดมาครั้งหนึ่ง เราต้องใช้ชีวิตให้คุ้มและถ้าเป็นไปได้ มันจะต้องมีประโยชน์และมีคุณค่ากับโลกนี้หรือคนที่เราร่วมอยู่อาศัยด้วย นั้นคือเป้าหมายหลักๆ ของชีวิตค่ะ”
ติดตามและอัปเดตสวนผัก Pearypie’s Rooftop Garden ได้ที่