ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเต็มไปด้วยความเสี่ยง ความเร่งรีบ และความไม่แน่นอน ส่งผลให้ชีวิตของคนอัดแน่นด้วยความเคร่งเครียด จนนำไปสู่ภาวะ “หมดไฟ” ที่ใครๆ ก็หยิบคำนี้มานิยามตัวเองในช่วงหลัง เช่นเดียวกับ วริศ ลิขิตอนุสรณ์, เผ่า - เผ่าภูมิ ชีวารักษ์, ตั๋ม - นพล วิรุฬหกุล และโกโก้ - พิชญะ เภตราไชยอนันต์ กลุ่มเพื่อน 4 คน ที่รู้สึกเหนื่อยล้ากับสังคมที่สุดแสนจะสิ้นหวัง และต้องการพื้นที่ ‘ฮีลลิ่ง’ ร่างกายกับหัวใจ เกิดเป็น ‘PLACEBo CLUB, weird stuff that helps’ ชมรมเล็กๆ ที่ใช้วิธีการสุดแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใครเข้ามาช่วยเยียวยาใจคนยุคใหม่ ที่ไม่ว่าสู้ชีวิตมากแค่ไหน ชีวิตก็สู้กลับไม่หยุดหย่อน
EQ จะพาไปดูพื้นที่ฮีลลิ่งน้องใหม่ ที่เชื่อว่าของเวียร์ดๆ จะช่วยปัดเป่าความเครียดของคนเราให้หายไป พร้อมสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้ใครก็ตามที่ได้เดินเข้ามา สามารถปลดปล่อยความเครียดได้จนสุด และรู้สึกได้เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
จุดเริ่มต้นของ PLACEBo CLUB, weird stuff that helps และที่มาที่ไปของชื่อ ว่ามาจากไหน ทำไมต้องเป็นชื่อนี้
วริศ: ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ที่การเมืองรุนแรง พวกเราทั้ง 4 คนไม่ได้ทำงาน คือผมออกจากบริษัทตัวเอง โกโก้ออกจากนิตยสาร ตั๋มกับเผ่าก็หยุดทำงานละคร งานศิลปะ แล้วด้วยความหมดหวังทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เราก็เลยกลับมามองเข้าไปในตัวเองกัน ก็เลยได้พบกับความงมงาย ความสนใจเวทมนตร์ ความไร้สาระตอนเด็กๆ เพราะว่ามันไม่มีอะไรจะเสีย ต่อให้พยายามทำมาหากิน มันก็ทำไม่ได้ ไม่มีความหวังอะไรเลยในประเทศนี้ เราเลยหันมาสนใจเครื่องมือของ “ผู้แพ้” อย่างพวกเวทมนตร์ การแพทย์ทางเลือก (Alternative Healing) การดูดวง การทดลองอะไรที่มันงมงาย และเป็นเรื่องเชิงจิตวิญญาณต่างๆ เพราะในสถานการณ์ที่เราช่วยอะไรไม่ได้เลย อย่างน้อยเราได้สนับสนุนเพื่อนผู้เคลื่อนไหว หรือสนับสนุนคนในสังคมให้มีความรู้สึกดีขึ้นมาบ้างก็ได้ คือตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คนอื่นนะ เราตั้งใจทำให้ตัวเอง ทำให้กันเอง มันเลยไม่ได้สำคัญว่ามันจะ ‘ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่’ หรืออยู่ในความเป็นจริงที่โลกกระแสหลักยอมรับหรือไม่ เอาแค่มันทำให้รู้สึกดีขึ้นก็พอ ก็เลยเป็นที่มาของชื่อด้วย เราตั้งชื่อมันไปเลยว่า PLACEBo CLUB ที่มาจากภาษาแล็บวิทยาศาสตร์ แปลว่าผลจากการกินยาหลอก คนไข้รู้สึกดีขึ้นไปเอง ทั้งๆ ที่ในยาไม่ได้มีอะไร เพื่อที่จะบอกทุกคนที่มาสนใจหรือเข้ามาว่า ‘กูรู้ว่ามึงมองว่ากูงมงาย’
“นี่ไม่ใช่คลินิก ไม่ใช่เวลเนสเซนเตอร์ และไม่ใช่ร้านนวดด้วยซ้ำ นี่คือชมรมการทำอะไรก็ตามที่ทำให้คนสามารถรู้สึกดีขึ้น พอไหวกับการใช้ชีวิตต่อไป”
โกโก้: คำว่า placebo สื่อถึงผลลัพธ์เชิงบวกที่เกิดขึ้นจากการมโนของคนไข้เอง ไม่เกี่ยวข้องกับวิธีการบำบัดหรือรักษา จริงๆ แล้วคำว่า placebo เป็นคำที่ใช้ในวงการแพทย์แบบปฏิฐานนิยม เพื่อดิสเครดิสวิธีการต่างๆ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แม้ว่าจะสัมผัสได้เชิงประจักษ์ก็ตาม หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกจะถูกจัดออกจากสมการ ความเป็นมนุษย์จะถูกมองเบาไปทันที สิ่งที่ทั้ง 4 คนทำคือตั้งใจที่จะ empower ความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น การที่เราใช้คำว่า placebo ก็เป็นการกวนตีนว่า ‘เออ สิ่งที่เราทำมันเป็นเรื่องมโน ไม่มีหลักการเชิงวิทยาศาสตร์อะไรหรอก’
วริศ: เป็นเรื่องน่าสนใจที่ปัจจุบันในวารสารวิทยาศาสตร์ แวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมานุษยวิทยาการแพทย์ทั่วโลก มองว่า placebo effect ไม่ใช่ศัตรูของการรักษา แต่กลับเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพื่อจะได้รู้ว่ามนุษย์จะใช้เรื่องของจิตใจหรือความเชื่อมาเยียวยาตัวเองได้อย่างไร เพราะในหลายเคสที่ placebo ไม่ใช่การหลอกตัวเอง ว่าสิ่งที่ไม่จริงกำลังเกิดขึ้นกับร่างกาย ในทางตรงกันข้าม มันคือกระบวนการที่ร่างกายสร้างความจริงของมันขึ้นมา แล้วร่างกายก็พัฒนาตัวเองไปเป็นแบบนั้นจริงๆ เช่น หลายคนเคยหายปวดท้องทันทีที่ไปหาหมอ แม้หมอยังไม่ได้จ่ายยา หมอในโรงพยาบาลต้องพบกับคนไข้ที่มาถึงแล้ว ตรวจแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร สภาวะที่เราพูดถึงกันอยู่นี้เกิดขึ้นทั่วไป แทบจะทุกคนเคยเจอ แต่เรามองข้ามมันไปเฉยๆ ในขณะที่ PLACEbo CLUB เราจะให้ความสำคัญกับอะไรแบบนี้มากๆ เพราะที่สุดแล้ว มนุษย์ไม่สามารถรู้จักทุกความเจ็บป่วย และเยียวยาด้วยการมองโลกมุมเดียวได้
ทำไมจึงเลือกสร้างพื้นที่ในการ ‘ฮีลลิ่ง’ ขึ้นมา คุณมองเห็นปัญหาอะไรในยุคนี้ที่ทำให้คุณคิดว่าสังคมต้องมีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้น
โกโก้: อันที่จริงไม่ได้เลือก ตอนนั้นทุกอย่างมันเจ๊ง เราโดนแกล้ง โดนบีบให้ออกจากงาน เราออกมาไม่นาน บริษัทก็เจ๊ง ตอนนั้นก็มีหลายที่อยากให้เราไปทำงานกับเขา แต่เราไม่เอาแล้ว เราพอแล้วกับระบบการทำงานแบบเดิม เขาไม่อนุญาตให้เราเป็นมนุษย์ อันที่จริงเราว่าคนส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกเหมือนกัน PLACEBo CLUB เลยเป็นที่พักใจสำหรับหลายๆ คน เป็นสถานที่ที่คนจะได้กลับมาสำรวจความเป็นมนุษย์ของตัวเองและคนรอบข้าง
วริศ: งานสุดท้ายที่เราทำ มันเรื้อรังจนไม่ไหวแล้ว เราฉีกทุกสัญญาที่มีอยู่ แล้วไปนั่งโง่ๆ เลย เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้แพ้ในโลกทุนนิยม และไม่มีแรงบันดาลใจที่จะกลับไปสู้กับมัน ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะไปเป็นผู้ชนะต่อ เราว่าเราทั้ง 4 คนในตอนนั้นรู้สึกเหมือนกัน คือ Healing Arts ไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกมันอย่างจงใจ พวกเราทำอย่างอื่นมาก่อน แต่จนถึงจุดหนึ่งมันร้าวรานจนไม่ไหว ต้องหาวิธีฮีลใจตัวเอง เหมือนกับว่าศิลปะพวกนี้มันเลือกเรา เพราะตอนนั้นเราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากมัน
‘แล้วพวกเราเห็นอะไรเหรอ’ พอมองไปรอบๆ มองไปที่ถนนที่ไม่ได้มีไว้ให้คนเดิน เลื่อนนิวส์ฟีดที่มีคนกำลังอดข้าวเพื่อขอให้ศาลทำตามกฎหมาย ไม่ก็ใครไม่รู้ใน TikTok กำลังเต้นอย่างไม่รู้จบ วินาทีถัดไปก็มีเสียงอ่านโฆษณาที่พยายามขายของเราตลอดเวลา มองเข้าไปในสภา มองเข้าไปในพื้นที่สาธารณะที่กลายเป็นห้าง มองเข้าไปที่เงินเดือนนักศึกษาจบใหม่เทียบกับราคาทองหนึ่งบาท หายใจเข้าไปแล้วพบกับอากาศที่เรียกว่า PM2.5 ไม่ก็พบกับสายตาคนข้างๆ ที่ระแวงว่าคุณใส่หน้ากากหรือเปล่า มองเข้าไปในพระสงฆ์ มองเข้าไปในทหาร มองเข้าไปในตำรวจ มองเข้าไปในเจ้าสัว มองเข้าไปในผู้ปกครอง มองเข้าไปในทุกอย่าง แล้วมองกลับเข้ามาในตัวเอง มองชีวิตยามเช้า คุณตื่นกี่โมง กินอะไร เดินทางอย่างไร ผ่อนอะไรอยู่บ้าง จะตายลงแบบไหน งานที่ทำมีคุณค่าอย่างไร เดินผ่านคนไร้บ้านวันละกี่คน ไม่มากก็น้อย
“เราปฏิเสธที่จะเห็นความจริงเหล่านี้เพียงเพื่อจะใช้ชีวิตต่อไปได้ เหมือนกับหุ่นยนต์ที่ต้องหมุนฟันเฟืองร่างกายตัวเองไปจนตาย โดยปราศจากคำถามถึงคุณค่าและสิ่งที่ควรเป็น คุณจะต้องเป็นคนที่สุดยอดมาก ไม่ก็รวยและมีอำนาจมากๆ ไม่ก็โง่มากๆ ถ้าจะมีความสุขกับทั้งหมดนี้ได้ แล้วไม่รู้สึกว่า I need healing”
กิจกรรมของ PLACEBo CLUB จัดสรรตามความถนัดของผู้ร่วมสร้างคลับทั้ง 4 คน อยากให้แต่ละคนช่วยเล่าเรื่องสิ่งที่ตัวเองถนัดให้ฟังได้ไหม ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมคุณจึงสนใจศาสตร์นี้ แล้วมันช่วยฮีลลิ่งร่างกายและจิตใจอย่างไร
ตั๋ม: สิ่งที่ทำอยู่ มีฐานจาก ‘folk magic’ และ ‘witchcraft’ ภายใต้ความคิดที่ว่า ถ้าโลกนี้แบ่งง่ายๆ เป็นโลกที่จับต้องได้ อย่างร่างกาย สิ่งของต่างๆ รอบตัว กับอีกโลกคือโลกที่จับต้องไม่ได้ อย่างอารมณ์ความรู้สึก ความฝัน โลกของความเชื่อ จิตวิญญาณ สำหรับเรา ทั้งสองโลกส่งผลต่อการใช้ชีวิตพอๆ กัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องมือหรือวิธีการที่จะเข้ามาช่วยจัดการกับโลกที่จับต้องไม่ได้ folk magic และ witchcraft จึงเข้ามามีบทบาทกับการจัดความสัมพันธ์ ระหว่างตัวเองกับโลกที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งหากย้อนไปดูองค์ความรู้ของ witchcraft ก่อนที่จะมีสิ่งที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราเรียกว่า folk magic ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจาก folk medicine หรือหมอชาวบ้าน หมอตำแย มันเป็นความรู้การเยียวยาในสมัยที่โลกกายภาพและโลกจิตวิญญาณไม่ได้แยกออกจากกัน เราไม่ได้บอกว่าเราควรจะกลับไปใช้วิธีดั้งเดิม เราคิดว่าทุกศาสตร์พัฒนาขึ้นมาต่างกัน มีข้อดีต่างกันไป แล้วเราก็ควรใช้ประโยชน์จากข้อดีเหล่านั้น
เราเยียวยาผ่านพิธีกรรม กิจกรรม และวิธีการแบบ folk magic และ witchcraft สำหรับเรา กิจกรรมเหล่านี้มีลักษณะเดียวกันกับศิลปะแขนงอื่นๆ หลายอย่างในชีวิตมันไม่ได้ทำงานในระดับ consciousness อย่างเดียวเท่านั้น บ่อยครั้งที่สิ่งรบกวนชีวิตและจิตใจนั้น ทำงานกับเราก่อนที่เราจะรู้ตัวหรือรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันด้วยซ้ำไป กิจกรรมที่เราทำจึงเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ค่อยๆ ให้สิ่งรบกวนเหล่านัั้นปรากฏตัวออกมา รับรู้การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้น หลังจากนั้นก็ใช้พิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆ เข้ามาทำงาน
เผ่า: ของเราคือ ประคบร้อนแบบฮอร์เม (Hormé) และซาลุง (Tsalung) ที่มีรากฐานมาจาการดูแลตัวเอง และการปฏิบัติทางจิตวิญญาณแบบวัชรยาน ทั้งคู่ทำงานกับสิ่งที่ชาวทิเบตเรียกว่า ‘ลม’ ในร่างกาย หรืออาจเข้าใจในฐานะ ‘ปราณ’ (vital force) แน่นอนว่ามันผูกพันกับอารมณ์และความเป็นไปของร่างกายตามคำอธิบายแผนโบราณ แต่สิ่งที่เราสนใจและปรับใช้ คือระหว่างกระบวนการ มันเปิดพื้นที่ให้เจ้าตัวได้มีบทสนทนากับคุณค่าของตัวเอง ที่มีอิทธิพลเหนือร่างกายตัวเองมากกว่า เช่น เวลาทำฮอร์เม แล้วมันจะมีจุดที่ความร้อนไม่เข้า อย่างบริเวณฝ่ามือ อันนี้คือไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า หรือชาวออฟฟิศซินโดรม คือคอตึงจากพฤติกรรมการทำงานอย่างเดียว หรือมีคำถามสะสมต่อตัวเองว่าอยากทำงานแบบนี้จริงหรือเปล่า เป็นต้น โดยเกณฑ์เหล่านี้ก็อิงจากองค์ความรู้โบราณที่มีร่วมกันในหลายแขนง และมีไว้เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ส่วนเราก็เป็นเหมือนเพื่อนร่วมสนทนา ตามแต่ผู้เข้าร่วมอยากพูดถึง ประสบการณ์ของแต่ละคนก็จะต่างกันไปตามสภาวะอารมณ์ของเขา พูดง่ายๆ คือ เราชวนคนพูดถึงปัญหาของเขา โดยใช้ฮอร์เมหรือซาลุงเป็นเครื่องนำการสนทนา
ระหว่างทางของ session จะไม่ใช่เพื่อความผ่อนคลาย แต่เป็นภาคบังคับที่กระชากคนๆ หนึ่งกลับมาที่ร่างกาย เพื่อให้เจ้าตัวได้ยินเสียงกรีดร้องที่ซุกซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อ และบ่อยครั้งมันจะทำงานเร็วเมื่อเจ้าตัวได้คุยกับตัวเอง ซึ่งเรายินดีที่จะได้เห็นคนๆ หนึ่งเล่าปัญหาของตัวเองภายใต้สภาวะทางการเมืองและสังคมที่ทำร้ายทุกคน ทั้งคนที่ตื่นตัว ไม่สนใจ หรือไม่รู้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ปวดตึงเฉยๆ เราก็จะแนะนำให้ไปคลินิกกายภาพบำบัดเถอะ (หัวเราะ) แต่จะมาลองก็ไม่เสียหาย
โกโก้: เราหลงใหล ‘วิชาสายเต๋า’ มาตั้งแต่จำความได้ ดูหนังจีนแล้วงงว่ามันคืออะไร จับชีพจรแล้วรู้ทุกอย่าง เอาเข็มจิ้มร่างกายทำไม นับนิ้วแล้วรู้อดีตกับอนาคต คนจะตายก็ถ่ายพลังแล้วฟื้น สมุนไพรกินแล้วเด็กลง 10 ปี โตหน่อยก็ว่ามันคงทำไม่ได้จริงหรอก แต่ก็ได้ยินคนพูดเรื่อยๆ ว่ามันมีคนทำอะไรพวกนี้ได้จริง แล้ววันหนึ่งเราก็ได้เจอกับคนที่ทำได้ สุดท้ายเราก็ขอเรียนกับเขา
อาจารย์เป็นหมอแพทย์แผนจีนที่ไปศึกษาศาสตร์แบบก่อนปฏิวัติวัฒนธรรม (Classical Chinese Medicine) มันเป็นวิชาก่อนที่ความเป็นหมอจะถูกวิทยาศาสตร์แบบปฏิฐานนิยมกลืนกิน หมอแทบจะไม่ต่างจากหมอผี ใช้การมองโลกแบบที่คนปัจจุบันน่าจะมองว่างมงาย หรือเป็นพลังเหนือธรรชาติ แล้วเขาจะไม่แยกร่างกายกับจิตใจ เราใช้ฐานอันนี้บวกกับศาสตร์พลังงานหลายๆ อย่าง คือใช้อะไรก็ได้ให้คนที่มาหาเราสบายกายใจ แต่สิ่งที่เราทำก็จะเป็น ‘energy healing แบบรวมๆ’ ไม่ใช้วิธีการแบบที่ต้องมีใบอนุญาต แค่เอามือจับ พูดคุย กับใช้รูป รส กลิ่น เสียง สร้างประสบการณ์องค์รวมให้กับคนที่มาเข้าร่วม บางทีก็ใช้เครื่องดนตรีบ้าง ใช้คริสตัลบ้าง ใช้ไม้คทาวิเศษแบบเก๋ๆ บางทีก็ไม่ได้ใช้อะไรเลย ไม่ได้จำกัดความเชื่อ เอาที่เราชอบ กับที่เห็นว่าเวิร์กเป็นหลัก
วริศ: ของเราคือ ‘Alternative Music Therapy’ กับ ‘Sound Healing’ คือการใช้เสียงในเชิงพิธีกรรม กับการใช้เสียงเพื่อเยียวยาจิตใจ ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ วัฒนธรรมการใช้เสียงแบบนี้เป็นของเก่าและมีอยู่ทั่วโลก และยังเป็นของใหม่ที่ไม่มีเจ้าที่ ยังพัฒนาไม่หยุดอีกด้วย คำตอบว่าช่วยได้อย่างไรที่เป็นแบบดั้งเดิมที่สุดคือ คนโบราณมองว่าเวลาร่างกายและจิตใจมันเจ็บป่วย เกิดจากสภาวะไม่สมดุลย์ บางอย่างมากไป บางอย่างน้อยไป โจทย์ของเราก็คือทำให้ทุกอย่างมันค่อยๆ กลับมาพอดีผ่านเสียง เราเคยเจอตั้งแต่นอนไม่หลับ ประจำเดือนไม่มา อยากมีแฟน อยากได้เงินคืน หงุดหงิดไม่ทราบสาเหตุ อยากฆ่าตัวตาย สะเก็ดเงิน หมดไฟ มะเร็งระยะสุดท้าย ไปจนถึงผีเข้า ซึ่งในบางเคสคือมันก็แก้ปัญหาจริงๆ บางเคสก็ช่วยสนับสนุนให้ชีวิตประจำวันของเขามีความสุขได้มากขึ้น เช่นถ้าเป็นมะเร็ง �