Identity

EQ Pride 2023 ไฮไลท์บทสนทนาพิเศษเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ ‘ทอมไทย’

‘Thai Toms’ คืออัตลักษณ์หนึ่งที่สำคัญใน LGBTQ+ ที่มักไม่ค่อยถูกพูดถึงมากเท่าไร ในวันนี้เราเลยอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักอัตลักษณ์ ‘ทอม’ ของคนไทยกันให้มากขึ้น เพื่อเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่ช่วยเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ในปี 2023 นี้ กับ 4 กระบอกเสียงที่จะทำให้เข้าใจภาพของทอมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น ‘เบตตี้’ คอนเทนต์ครีเอเตอร์จาก ‘Betty’s Story’, เจ้าของธุรกิจ ‘บิ๊ว’, คุณครูสอนพัฒนาบุคลิกภาพ/โมเดล ‘ไดญา' และ ‘แนน’ นักศึกษาจบใหม่มาร่วมวงสนทนาแชร์ประสบการณ์แบบเรียลๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงที่ช่วยขับเคลื่อนให้ความหลากหลาย

เมื่อรู้ตัวว่าเป็น ‘ทอม’

บิ๊ว: เราเริ่มรู้จักคำว่าทอมจากสื่ออย่างการเห็นคนดังสมัยก่อน เช่น เห็นพี่อ้อม สุนิสา เห็นทอมในละครเจ้าฮะ ทัดดาว แต่ถ้าถามว่า รู้ตัวได้อย่างไรว่าเป็นทอม คือเราโตมาแบบนี้เลยตั้งแต่เด็ก เราไม่มีต่อมที่กระตุกมาว่า เอ๊ะ ตื่นมาแล้วเราเป็นทอม เราเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กเลย แต่จุดที่ทำให้เรามาทางนี้ก็คือ ตอนม.4 ที่เราตัดผมสั้น และเริ่มย้อมสีผม ก็เลยคิดว่า แบบนี้แหละ ที่ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นทอม

แนน: ตอนเด็กๆ สมัยเรารู้จักจากการไปโรงเรียน เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วน มันก็มีคอมมูนิตี้หญิงรักหญิง มีคนที่เป็นทอมเป็นดี้ ที่ก็คือผู้หญิงที่ชอบทอม เวลาเราเห็นคนที่เขาบอกว่าตัวเองเป็นทอมนะ เราก็เลยเริ่มรู้จักว่าทอมคืออะไร แสดงออกแบบไหนตั้งแต่ตอนนั้น

ไดญา: ตอนที่เรารู้ว่าเราเป็นทอม คือตอนที่เราได้ไปรู้จักนักเรียนคนหนึ่งที่เขาเข้ามาจีบเรา เขาก็เข้ามาแบบ เฮ้ย แกชื่ออะไร อยากคุยด้วย (ด้วยเสียงห้าวๆ) ตอนนั้นเรายังถักเปียอยู่ กระโปรงน้ำเงินใสๆ คนที่มาจีบก็เข้าใจว่าเราเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แต่มันเป็นโมเมนต์ที่เบิกเนตรว่า เราก็สามารถเป็นแบบนั้นได้ มันทำให้เราว้าว เพราะเราถูกเลี้ยงเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด เราโดนใส่สมองว่าเป็นเด็กผู้หญิงมาตลอด ถึงในใจเราจะเคยรู้สึกชอบเพื่อนผู้หญิง แต่เราก็ไม่รู้ว่าจะเรียกความรู้สึกนั้นว่าอย่างไร แต่พอเราเห็นเขา มันก็ทำให้เรารู้สึกว่า ผู้หญิงสามารถแสดงท่าทีที่ห้าวหาญได้ขนาดนี้ หลังจากนั้นเราก็เป็นเพื่อนกันที่ไปแอ๊วสาวด้วยกัน เขาทำให้เราเบิกเนตรทางการแสดงออกว่า เราสามารถแสดงออกอย่างที่เราฝันอยากเป็นมานานได้

เบตตี้: สำหรับเราจะโดนคนอื่นเรียกว่าทอมมากกว่า เพราะตอนเด็กๆ เราเล่นกับพี่ชายแบบเด็กผู้ชายทั่วไป ซึ่งเราก็มีความคิดแค่ว่า อยากเป็นเด็กผู้ชาย แต่ไม่รู้จักคำว่าทอม แล้วมันก็คนชอบมาแซวๆ ว่าเป็นทอมหรือเปล่าเนี่ย ตามประสาผู้ใหญ่ จนกระทั่งตอน ป.4 ที่ชอบผู้หญิงคนแรกที่เขาเป็นรุ่นพี่เรียนหญิงล้วน ที่โรงเรียนเราก็จะเคยเห็นคนที่มีลักษณะคล้ายๆ ผู้ชาย แต่เราก็ยังไม่เก็ทว่า นี่คือทอม แต่พอเราชอบผู้หญิงคนแรก เราก็เลยรู้ตัวว่า เราไม่ใช่เด็กผู้หญิง มันทำให้เราเริ่มรับรู้ว่า ฉันคือทอมนี่เอง 

‘เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ’ วาทกรรมเลือกปฏิบัติที่ไม่สร้างสรรค์

ไดญา: อยากจะตอบคำถามนี้ในฐานะคนหนึ่งที่ไม่ได้โดนบูลลี่นะ เวลามีคำถามนี้ให้ตอบ มันทำให้เรากลับมานั่งคิดว่า วาทกรรมมันจะคืออะไร สิ่งที่สร้างผลกระทบคือทัศนคติของคนตั้งคำถาม อย่างเช่น พ่อแม่รู้สึกอย่างไรที่มีลูกแบบนี้ แล้วเขาต้องรู้สึกอย่างไรในฐานะคนที่ต้องตอบ เขาต้องรู้สึกแย่หรือเปล่า ถ้าเกิดเขามีพ่อแม่ที่ไม่ได้รู้สึกแย่ หรือพูดไม่ดีกับเขา เขาก็อาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าอีกมุมหนึ่งเขามีพ่อแม่ที่ทำให้เขารู้สึกแย่การตั้งคำถามในทัศนคติที่แง่ลบแบบนี้ มันคือการดูถูกว่า สิ่งที่เขาเป็นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้กระทั่งคำถามอยากเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ คิดจะเปลี่ยนใจเป็นผู้หญิงไหม คำถามเหล่านี้คือคำถามที่ไม่สร้างสรรค์ 

“การถามคำถามที่ไม่สร้างสรรค์พวกนี้มันสร้างความรู้สึกแย่ให้คนอื่นได้ ทำไมคนๆ หนึ่งต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองจากมุมมองของคนอื่นด้วย สิ่งสำคัญไม่ใช่ประเด็นคำถามหรอก แต่มันคือ ทัศนคติของคนถาม ที่ควรจะให้เกียรติคนอื่น ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่ LGBTQ+ แต่มันคือเรื่องพื้นฐานที่คนต้องให้เกียรติกับคนอื่นในโลกใบนี้ เพราะการตั้งคำถามที่ดีกับตัวเองยังสำคัญเลย ถ้าเราตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองผิด ชีวิตเราก็เปลี่ยนเหมือนกัน” – ไดญา

‘หึงโหด’ ‘โลเล’ ‘ไม่มีอนาคต’ ภาพจำของทอมไทย ที่ใช่ว่าจะเป็นกันทุกคน

แนน: เราไม่เคยโดน แต่ก็จะมีบ้างที่เจอจากแม่เราเอง เพราะเขาไม่โอเคกับ LGBTQ+ เท่าไร เขาจะชอบบอกว่า เป็นทอมมันไม่มีอนาคตหรอก ขนาดเขายังไม่รู้เลยว่า ชีวิตเขาจะป็นเพศอะไร เราก็ได้ทำแค่ฟัง แต่สำหรับเราใครจะเป็นอย่างไรมันขึ้นอยู่กับนิสัยเขามากกว่า ว่าเขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร เราก็พยายามอธิบายกับแม่นะ ว่ามันไม่ใช่ทุกคนที่ไม่มีอนาคต หรือมันเป็นเพราะการเลือกเพศไม่ได้ อัตลักษณ์ รสนิยมทางเพศมันไม่ได้เกี่ยวกันว่าจะมีอนาคตหรือไม่มีอนาคต ทุกวันนี้แม่เราก็เข้าใจเพิ่มขึ้นมานิดหน่อย

บิ๊ว: เราเคยมีประสบการณ์กับแฟนคนแรกๆ ที่แม่เขาหัวโบราณเหมือนเรื่องของน้องแนน ตอนแรกที่แม่แฟนรู้ว่าเขาคบกับเรา แม่เขาร้องไห้เลยนะ เขาก็แบบ ทำไมคบทอม ทอมมันหึงโหด รักแรง ทอมมันจะตบตีนะ ภาพจำเขาคือเห็นจากข่าว แล้วคิดว่าทอมทั้งหมดเป็นแบบนั้น จนกระทั่งเขาเริ่มมาเปลี่ยนแปลงตอนที่เราคบกับแฟนไปเรื่อยๆ เราดูแลแฟนของเราดี เขาก็เลยเข้าใจว่า ทอมทุกคนมันไม่ได้เป็นเหมือนภาพจำ พอเขาเจอเราเขาก็ดีขึ้น เพราะเรื่องแบบนี้มันอยู่ที่แต่ละบุคคล เราตัดสินภาพจำจากข่าว แล้วมาตัดสินทุกคนว่าจะต้องเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนเรามันแตกต่างหลากหลาย

เบตตี้: ของเรามีเคยเจอแบบหลักๆ ทั่วไปนะ เคยโดนบอกว่า ทอมมันไม่มั่นคง ไม่มีอนาคต คบกับคนที่เป็นทอมไปมันก็ไม่มีความมั่นคง เพราะมีลูกไม่ได้ ถ้าเป็นทอมอย่างนี้ช่วงบั้นปลายชีวิตจะอยู่อย่างไร สิ่งเหล่านี้มันคือความเชื่อที่ผู้ใหญ่เขาเชื่ออยู่อย่างนั้น แล้วความกลัวมันก็เกิดขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าสื่อทำให้เห็นว่าทอมก็คือคนๆ หนึ่งให้เห็นกันมากขึ้น การรับรู้พวกนั้นก็จะค่อยๆ หายไป

ไดญา: บางทีในเรื่องความรักที่เราไปคบกับผู้หญิงที่เรียกตัวเองว่าดี้ ในบางครั้งผู้หญิงที่คบกับทอมเขาก็จะมีความคาดหวังว่า ทอมจะต้องเป็นผู้ชาย ทอมจะต้องแข็งแรง ไม่ร้องไห้ เป็นผู้นำใดๆ ก็ตามแต่ ซึ่งบางครั้งผู้ชายเองก็มีมุมอ่อนแอ ร้องไห้ หรืออย่างเราเองก็ไม่ใช่คนที่จะแข็งแกร่งตลอดเวลา 

สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถ้าเราไปเจอคนที่โฟกัสเรื่องความคาดหวังบทบาทเพศมากเกินไป มันก็ส่งผลเสียในความสัมพันธ์ได้ คือเราอยากให้มองว่า ในวันแรกที่เราจะเลือกคบกับคนรัก เราควรยอมรับได้ในทุกๆ ด้านของเขา เราควรจะยอมรับให้ได้นะไม่ว่าจะความสัมพันธ์เพศไหนก็ตาม ว่าทุกคนมีมุมที่อ่อนแอ มีข้อเสีย ไม่ใช่มาโทษในภายหลังว่า เพราะเธอเป็นทอม เธอเป็นผู้หญิง เธอไม่เท่าผู้ชาย การทำแบบนี้มันไม่ใช่เลย 

“อยากฝากให้ทุกคนไปคิดว่าคนเราควรจะยอมรับกันให้ได้ตั้งแต่แรกที่ตัดสินใจจะคบกัน” – ไดญา

เพราะการยอมรับ ต้องการการสนับสนุนทางกฎหมาย

เบตตี้: ถ้าสมรสเท่าเทียมมันผ่าน ที่ไม่มีคำว่าชายหญิง แต่มันทำให้คนเห็นว่า ทุกคนก็คือคน คนคือบุคคล การยอมรับในสังคมก็จะมากขึ้นด้วย ทุกคนมันไม่มีใครแปลก คนเราควรจะมีสิทธิเลือกได้ว่า จะชอบใคร มีความสัมพันธ์ครอบครัวแบบไหน มันไม่ใช่แค่ว่า ทุกคนต้องมีลูกเท่านั้น เป็นผู้ชาย ผู้หญิง ชีวิตถึงจะสมบูรณ์ ครอบครัวมันหลากหลาย สุดท้ายแล้ว การผลักดันสังคมให้ยอมรับความหลากหลาย LGBTQ+ ได้มากขึ้นมันก็จะต้องมีส่วนช่วยเหลือมาจากทางกฎหมาย

ติดตามผลงานของทั้ง 4 คนต่อได้ที่

Instagram: xxdiyar / bbethv / biruto / n.nanst_92
YouTube: Betty’s Story