Identity

จำเป็น หรือ จุกจิก? ทำไมเวลาจะเรียกใครถึงต้องใส่ใจ ‘PRONOUNS’

“สรรพนาม คือคำที่ใช้แทนชื่อ คำนาม หรือข้อความที่เข้าใจกันอยู่แล้ว หรือกล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก เช่น แก มัน ฉัน ท่าน”

เชื่อว่าเมื่อ 2 ปีก่อน ผู้ใช้อินสตาแกรมทุกท่านคงกำลังเห่อฟีเจอร์ใหม่ที่สามารถใส่สรรพนามบนไบโอของแพลตฟอร์มเพื่อแสดงจุดยืนว่า แพลตฟอร์มนี้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ โดยการให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกระบุ หรือไม่ระบุสรรพนามที่สบายใจให้ผู้อื่นใช้เรียกในบทสนทนาบนหน้าไบโอของแอ็กเคานต์

Photo Credit: Los Angeles Times

อีกกรณีล่าสุดคือ นักร้องสาวเสียงทรงพลัง ‘Demi Lovato’ เจ้าของบทเพลงฮิต ‘Cool for The Summer’ และ ‘Heart Attack’ ได้ออกมาพูดผ่านสื่อหลังจากที่สองปีก่อนเธอประกาศตนเองว่าเป็น non-binary ด้วยใจความว่า เธอจะขอกลับไปใช้สรรพนาม she/her ร่วมกับ they/them เพราะเธอเหนื่อยหน่ายกับการตัดสินว่า เธอใช้สุขาหญิงที่ยัดเยียดสรรพนาม she/her ให้กับเธอเหลือเกิน มันขนาดนั้นเลยหรอแม่กับแค่สรรพนาม! วันนี้ EQ จึงอยากจะพาทุกคนเข้าไปเจาะเรื่องกลไกของสรรพนาม และความหลากหลายกัน

Photo Credit: NPR

เเค่เรื่องชื่อเรียกแทนบุคคลมีความละเอียดอ่อนจุกจิกขนาดนั้นเชียวหรือ? ในภาษาอังกฤษ สรรพนามส่อให้เห็นอัตลักษณ์ทางเพศเมื่อเราพูดถึงบุคคลที่สาม ซึ่ง he/him/his จะสื่อว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเพศชาย และ she/her/hers ก็จะสื่อว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเพศหญิง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันที่โลกมีความเปิดกว้างในความหลากหลาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษาที่มีรายละเอียดในการใช้สรรพนามเพิ่มขึ้น จึงมีการตระหนักถึงการใช้สรรพนามที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงความเคารพอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลนั้นๆ ได้ เทียบกับภาษาไทยก็เหมือนกับการใช้สรรพนามที่สื่อถึงระดับของผู้ที่ถูกกล่าวถึงได้อย่างถูกต้องนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีสรรพนาม ze/hir/hirs/zir/zirs และ xe/sem/xyr เพื่อรองรับผู้ที่ไม่ต้องการระบุตัวตนทางเพศ ที่อาจจะดูใหม่แปลกตาสำหรับเรา แต่จริงๆ แล้วมันมีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว อาจจะตีความได้ว่า การที่กลุ่ม LGBTQ+ ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเปิดเผยในยุคนั้น และเพิ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายขึ้น เมื่อเริ่มได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง

Photo Credit: CNN

อ้างอิงจาก Journal of Adolescent Health ของ Stephen T. Russell ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนามนุษย์ และครอบครัววิทยา (Human Development and Family Science) ได้ทำการสุ่มสัมภาษณ์วัยรุ่นที่เป็น Transgender จากหลากหลายรัฐทั่วสหรัฐอเมริกาพบว่า การเลือกใช้สรรพนามที่เหมาะสมสามารถลดอัตราเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นที่เป็น Transgender โดยเสริมว่า การยัดเยียดสรรพนามจะทำให้เกิดความเครียด และอาจะนำพาให้วัยรุ่นเกิดอาการซึมเศร้า ไม่มั่นใจในตัวเองได้

ทาง GLSEN องค์กรจากดินแดนแห่งเสรีภาพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ และแบ่งแยกในโรงเรียน อีกทั้งยังมุ่งเน้นในการสนับสนุนวัยรุ่น LGBTQ+ ให้ได้มีสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาที่เป็นมิตร จึงจัดสรรแผนการเรียนรู้ และบทเรียนเรื่อง LGBTQ+ ของทุกระดับชั้นในการศึกษาภาคบังคับ เพื่อผลักดันให้ประชาชนได้รับการปลูกฝังเรื่องความหลากหลายตั้งแต่เด็ก หลักสูตรจะครอบคลุมเรื่องความหลากหลายทางเพศทั้งในเชิงสังคม และวิทยาศาสตร์

ว่าแต่ในภาษาไทยที่เราใช้นั้นมีความละเอียดอ่อนของภาษาอย่างนั้นบ้างไหม? คำตอบง่ายๆ เลยคือ มี แต่ไม่ใช่ เขา เธอ หล่อน มัน อย่างสรรพนามภาษาอังกฤษนะ เป็นการเรียกเพื่อสื่อถึงอัตลักษณ์นี่แหละ แต่ปัญหาของฝั่งเราคงเป็นการเรียกโดยไม่ให้เกียรติกัน จนทำให้รู้สึกว่า การเรียกชื่อเเทนตัวตนทางเพศของบุคคลนั้นๆ เป็นคำที่ค่อนข้างมีความรุนแรง และไม่ควรพูดออกมา เช่น ตุ๊ด ทอม รวมถึงที่เรียกด้วยรูปลักษณ์ที่เห็น เช่น อ้วน ดำ สิว ซึ่งสรรพนามเหล่านี้อาจจะเป็นบาดแผล และลดทอนความมั่นใจของผู้ถูกกล่าวถึงได้ เมื่อพูดถึงเรื่องสรรพนาม

Photo Credit: GDH

ผู้เขียนก็นึกถึงหนึ่งซีนที่อาจเคยผ่านตาหลายๆ คน นั่นคือ ฉากจากซีรีส์ดังเรื่อง ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ เดอะ ซีรีส์ ซีซั่น 2 ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า คุณยายเลือกที่จะให้ความเคารพด้วยการเรียกผู้ชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าว่าหนุ่ม และแทนตัวเองว่ายายอย่างสุภาพ เพราะรู้ว่าตนเองนั้นมีอายุแล้ว แต่ผู้ชายคนนั้นเลือกจะเรียกคุณยายว่า อีแก่ รวมถึงเรียกผู้หวังดีสองคนที่เข้ามาตักเตือนว่า ไอ้หนวด และอีตุ๊ด ด้วยคำพูด และอารมณ์ที่ฉุนเฉียว ทำให้คุณยายถึงกับปรี๊ดแตกเอาถุงหมูสับที่ถือมาฟาดหัวหนุ่มเข้าให้เลย

ในมุมมองของผู้เขียนจึงเห็นควรว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และเห็นอกเห็นใจกันให้มากขึ้น เพราะตอนนี้สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาไม่ใช่สรรพนาม แต่เป็นการไม่ให้ความเคารพอัตลักษณ์กันเสียมากกว่า

การใช้ภาษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน มันยากที่จะหารูปแบบที่ถูกต้องได้ตลอดไป เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวันอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอาจจะมีสรรพนาม หรือประเด็นใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเพื่อรองรับความหลากหลายของโลกนี้อีกก็ได้ แต่สิ่งที่สามารถทำให้ถูกต้องได้ตลอดไปคือ ‘การเคารพกัน’ เพราะมันดูเป็นไปไม่ได้ และแปลกอย่างสุดโต่งมากที่จะต้องมาพร่ำบอกคนอื่นว่า เรียกฉันอย่างนี้นะ อย่าเรียกฉันด้วยคำอื่น ทั้งที่จริงๆ เราก็แค่เรียกกันอย่างเคารพเท่านั้นเอง สุดท้ายนี้ทางผู้เขียนขอทิ้งคำสอนดีๆ ของ ’พ่อเกรซ เกริกพล’ (รับบทโดย ชาย – ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ) คุณพ่อ LGBTQ+ จากเรื่อง มาตาลดา ที่สอนเรื่องความเคารพซึ่งกันและกันทิ้งท้ายบทความนี้ไว้

“ตุ๊ด ไม่ใช่คำหยาบ ถ้าใจเราไม่ได้เหยียด” – เกรซ เกริกพล, มาตาลดา (2023)

อ้างอิง

The University of Texas at Austin
Independent
Them