What makes us ‘family’? - ‘ครอบครัว’ คือคำที่เคยมีนิยามถึงกลุ่มคนที่มีความผูกพันทางสายเลือด และมีภาพจำว่าต้องมีสมาชิกเป็นพ่อแม่ลูก ตามบรรทัดฐานที่เคยตั้งเอาไว้มาตั้งแต่สมัยก่อน แต่คำว่าครอบครัวในความหมายของ LGBTQ+ นั้นไม่ได้มีความหมายตายตัว ตามภาพจำในแบบของครอบครัวรักต่างเพศอีกต่อไป แล้วอะไรคือสิ่งที่กำหนดคำว่า ‘ครอบครัว’ ครอบครัวเควียร์ที่มีความหลากหลายนั้นเป็นอย่างไร ในบทความนี้เราอยากชวนทุกคนมาอ่านกันว่าครอบครัวที่เลือกเองนั้น ไฉนถึงสำคัญต่อ LGBTQ+
ครอบครัวที่เลือกเองตามความหมายของนักมานุษยวิทยา ‘เคท เวสตัน’ (Kate Weston) ได้ให้ความหมายไว้ว่า "ครอบครัวที่เลือกสมาชิกเอง คือมีได้ตั้งแต่ เพื่อน คนรัก อดีตคนรัก เด็กทั้งจากทางชีววิทยาและไม่ผูกพันทางชีววิทยา ไปจนถึงใครก็ตามที่ให้ความสนับสนุน ห่วงใยแบบเครือญาติ"
ครอบครัวที่เลือกเอง (Chosen Families) เกิดขึ้นมาด้วยความจำเป็นต่อการมีชีวิตของ LGBTQ+ เพราะว่าในอดีตที่ไม่ได้มีการยอมรับการสมรสเท่าเทียมและแนวคิดของครอบครัวที่ต่างจากครอบครัวขนบรักต่างเพศนั้น เมื่อโลกไม่ยอมรับเพศที่หลากหลายนอกกรอบชายหญิง LGBTQ+ ก็ต้องพบกับปัญหาความรุนแรงต่างๆ ทั้งถูกไล่ออกจากบ้าน ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกปฏิเสธงาน ถูกเหยียดเพศ และสังคมต่อต้านปิดกั้น ดังนั้น พวกเขาจึงต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ สร้างบ้านใหม่ รวมตัวกันเพื่อความอยู่รอดและความปลอดภัย
ภาพตัวอย่างของครอบครัวที่เลือกเองนั้นได้มีภาพตัวอย่างที่ชัดเจนใน ‘Ballroom Culture’ ที่ LGBTQ+ หลายคนเลือกไปอยู่ ‘House’ บ้านที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นครอบครัวด้วย เพื่อแข่งขันในงานบอลและดูแลกันเองอย่างเช่น “House Labeija” ครอบครัวไอคอนในวัฒนธรรมบอลที่ย่านฮาร์เล็มของเมืองนิวยอร์ก ที่เคยปรากฎตัวในสารคดีดัง “Paris is Burning” ที่ถ่ายทอดชีวิต Ballroom และ House ของ LGBTQ+ ในยุค 80s
Queer Families คือครอบครัวที่ไม่ได้มีคำนิยามและข้อจำกัดที่ผูกมัดตามระบบเพศชายหญิงอันมีความจำเป็นต้องมีพ่อแม่ลูกอีกต่อไปแล้ว ครอบครัวเควียร์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ มีใครก็ได้ และกี่คนก็ได้ที่นับว่าเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวพ่อ-พ่อ แม่-แม่ ครอบครัวคนข้ามเพศ พี่น้อง LGBTQ+ ก็นับว่าได้ทั้งหมด
ก้าวถัดไปของครอบครัวที่หลากหลายคือการถูกยอมรับในทางโครงสร้างมากขึ้น และตอนนี้ทั่วโลกกำลังมองเห็นครอบครัวที่หลากหลาย ปี 2019 ที่สหรัฐอเมริกา รัฐนิวเจอร์ซี เป็นรัฐแรกที่ออกกฎหมายอนุญาตให้บุคคลสามารถลางานได้สูงสุดถึง 12 สัปดาห์ เพื่อไปดูแลครอบครัวที่เลือกเองได้ และหลายๆ รัฐในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครอบครัวทุกรูปแบบ
ในประเทศไทยเองก็เริ่มเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หลายบริษัทเริ่มมีการปรับเปลี่ยนสิทธิลาคลอดที่เคยให้เฉพาะแก่ผู้หญิง กลายเป็นสิทธิลาเพื่อไปดูแลครอบครัว ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนทุกเพศลาไปดูแลครอบครัวตนเองได้ เพื่อความเท่าเทียมแก่ทุกเพศ ด้วยทุกวันนี้เอง ทุกครอบครัวที่มีความหลากหลายนั้นก็ยังคงต่อสู้เพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการ เพราะคำว่าครอบครัวในยุคนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ท้ายที่สุดแล้ว คำถามที่ว่า “อะไรคือสิ่งที่กำหนดครอบครัวของเรา?” ก็คงมีแต่เราเองที่จะเลือกคำตอบนั้นได้ว่า ครอบครัวของเรานั้นเป็นอย่างไร แต่ไม่ว่าทุกคนจะมีความหมายของคำว่าครอบครัวอย่างไรก็ตาม ทุกครอบครัวที่มีความหลากหลายก็คือครอบครัวที่สมบูรณ์ ที่สามารถมีความสุข ความฝัน และรับสิทธิทุกประการอย่างเท่าเทียม
อ้างอิง
FairyGodBoss: https://bit.ly/3tr4296
PsychologyToday: https://bit.ly/3Q5veE6
Talkpoverty: https://bit.ly/3mwdoN9
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ จากพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic