Identity

‘โปรไฟล์สีรุ้ง’ ตระหนักรู้จริงๆ หรือมาร์เกตติ้ง PRIDE MONTH?

ในเดือนแห่งไพรด์นอกจากงานไพรด์พาเหรดที่จัดขึ้นในหลายๆ เมืองทั่วโลกแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับงานไพรด์ก็คือ แบรนด์ต่างๆ ที่นอกจากจะเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้งแล้ว ยังมาพร้อมคอลเลกชั่น โปรโมชั่น สินค้าพิเศษ ฯลฯ อีกมากมายเพื่อต้อนรับเดือนแห่งธงสีรุ้งเดือนนี้

การเกิดขึ้นของ ‘สินค้า’ ในเดือนแห่งไพรด์ที่เริ่มจะมากเข้า ก่อให้เกิดกระแสตีกลับ ที่เรียกว่า ‘Rainbow Washing’ หรือความพยายามแอบอ้างการสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+ ใช้เดือนไพรด์ในการขายสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความตระหนักรู้ และเท่าทันว่าแบรนด์ต่างๆ ที่ออกสินค้าในเดือนไพรด์นั้นเป็นการย้อมสีรุ้งหรือไม่ โดยที่จริงๆ แล้วแบรนด์เหล่านั้นไม่เคยสนับสนุน LGBTQ+ มาก่อนเลย

แต่ใช่ว่าในปัจจุบัน Rainbow Washing จะดูออกง่าย

ด้วยความที่เดือนแห่งไพรด์เป็นเทศกาลระดับโลก และสร้างเม็ดเงินมหาศาล การย้อมสีรุ้งเพื่อให้เข้ากับเทศกาลยังคงมีต่อไป แต่แนบเนียนขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น เราจะเห็นประเด็น ‘รายได้ส่วนหนึ่งบริจาคแก่องค์กรที่ทำงานด้าน LGBTQ+’ มากขึ้นในการออกสินค้าสำหรับเดือนไพรด์ของแต่ละแบรนด์ เพื่อให้ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็น Rainbow Washing หรือแม้แต่นำเอา LGBTQ+ ที่มีชื่อเสียง มาร่วมแคมเปญเพื่อให้ดูว่านี่เป็นสินค้าที่สนับสนุน LGBTQ+ อย่างแท้จริง ไม่ได้ย้อมสีรุ้งแต่อย่างใด

การจะพิจารณาว่าสิ่งไหนเป็น Rainbow Washing หรือไม่ จึงยาก และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะในบางครั้งแคมเปญเดือนไพรด์ของสินค้าแบรนด์หนึ่งๆ ที่มีทั้งการบริจาค หรือตัวแม่ LGBTQ+ มาร่วมแคมเปญ ก็อาจจะไม่ได้บ่งบอกว่าแบรนด์นั้นสนับสนุน LGBTQ+ เสมอไป พวกเขาอาจจะสนับสนุนเพียงแค่ปีละครั้ง ในตอนที่จะขายสินค้าในเดือนไพรด์แค่นั้น

Photo Credit: Marketplace.org / Lifehacker

ที่ผ่านมาเรากลับไม่เห็นว่าแบรนด์ๆ หนึ่งใช้นายแบบ นางแบบที่เป็น LGBTQ+ ในสัดส่วนเท่าไร มีการทำงานกับองค์กรที่สนับสนุน LGBTQ+ อย่างยาวนานแค่ไหน หรือแม้แต่นโยบายของบริษัทต่อพนักงานที่เป็น LGBTQ+ เอง มีอะไรบ้าง เราจึงเห็นแต่ความใส่ใจในความเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ปีละครั้งในช่วงเดือนไพรด์ หรือแม้แต่การเลือกใช้นายแบบนางแบบ LGBTQ+ เพียงสักคนบนรันเวย์เพื่อเอาไว้เป็นคอนเทนต์ว่า แบรนด์สนับสนุน LGBTQ+ แต่ในจำนวนนั้นกลับไม่ได้สะท้อนความแตกต่างหลากหลายที่แท้จริง อย่างที่แบรนด์ควรจะดำเนินแนวทาง หากใส่ใจ และสนับสนุนควมแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ สีผิว หรือเชื้อชาติ

Rainbow Washing จึงมีระดับที่ซับซ้อน และบางครั้งก็ไม่ได้ง่ายที่จะมองออกตั้งแต่แรก

ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นเรื่อง Rainbow Washing เท่านั้นที่ซับซ้อน แต่ประเด็นเรื่องแคมเปญทางการตลาดที่ ‘สนับสนุน’ เดือนไพรด์ หรือความเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ ก็ซับซ้อนไม่แพ้กัน

ไม่นานมานี้ก็เกิดประเด็นที่ทำให้ชาวโซเชียลเสียงแตกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายมาแล้ว เมื่อแบรนด์ๆ หนึ่ง ออกแคมเปญในเดือนไพรด์ว่า ‘ขอไม่เปลี่ยนโปรไฟล์ (ในเฟซบุ๊ก) เป็นสีรุ้ง’ เพราะอยากทำให้เป็นเรื่องปกติไม่ว่าเดือนไหน และยังใช้คำว่า ‘มาสนับสนุน Pride Month อย่างเข้าใจ’

ซึ่งแน่นอนว่า นี่เป็นแคมเปญการตลาดในอีกรูปแบบหนึ่งในเดือนไพรด์เช่นเดียวกัน แต่เป็นแคมเปญในแบบ ‘Anti-campaign’ หรือมุมกลับ แต่สิ่งนี้ก็ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘มาสนับสนุน Pride Month อย่างเข้าใจ’

Photo Credit: CNN / Gay City News

เพราะหากเราเข้าใจประวัติศาสตร์แห่งเดือนไพรด์ เราก็จะรู้ว่ามันคือ การระลึกถึงเหตุการณ์ ‘จลาจลสโตนวอลล์’ ในสหรัฐอเมริกา ระลึกถึงชาว LGBTQ+ ทั้งที่บาดเจ็บล้มตาย หรือยังมีชีวิตที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งความเท่าเทียมมาตลอดหลายทศวรรษ จนทำให้ชาว LGBTQ+ มีสิทธิ เสมอภาค และได้รับการยอมรับทั้งในแง่กฎหมาย และสังคม การเปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง จึงไม่ใช่ ‘การสนับสนุน Pride Month อย่างไม่เข้าใจ’ แต่มันคือ ความเข้าใจ ระลึกถึง และสดุดีในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ LGBTQ+ ต่างหาก

ไม่เพียงแค่นั้นหากจะมองเรื่อง ‘ทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องปกติ’ ก็ยิ่งเป็นแคมเปญในรูปแบบ Anti-campaign ที่ไร้ซึ่งความเข้าใจในความเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ เป็นที่สุด เพราะในปัจจุบันนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่กฎหมาย ‘Sodomy Law’ (กฎหมายลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน) ยังคงอยู่ และในโลกนี้ก็มีเพียง 34 ประเทศเท่านั้นที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม

และประเทศไทยเองก็ยังไม่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งสิ่งนี้เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นในเดือนไพรด์ และเป็นข้อเรียกร้องในสังคมที่ยังไม่มีความปกติ การบอกว่า มาสนับสนุน Pride Month อย่างเข้าใจ โดยพวกแคมเปญแบบ Anti-campaign ขอไม่เปลี่ยนโปรไฟล์เป็นสีรุ้ง จึงเป็นแคมเปญที่มีความขัดแย้งในตัว และเป็นแคมเปญที่แม้จะไม่ใช่ Rainbow Washing แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในความเคลื่อนไหวของธงสีรุ้งแม้แต่นิดเดียว

Share