Identity

'แซฟฟิค' จักรวาล identity 'หญิงรักหญิง' ที่ไม่ได้มีแค่เลสเบี้ยน

”Sapphic” หรือ “แซฟฟิค” เป็นคำศัพท์ที่มีอยู่มาอย่างยาวนานแต่เพิ่งเริ่มถูกนำมาใช้ให้เห็นผ่านตาบ่อยครั้งขึ้นในการกล่าวถึงหนัง และซีรีส์ที่มีตัวละครหญิงรักหญิง หรือศิลปินเพลงที่แต่งเนื้อหาเพลงรักเพลงอกหักถึงบุคคลเจ้าของสรรพนามว่า She/Her

      แล้วเพราะอะไรคำว่าแซฟฟิคถึงถูกนำมาใช้มากขึ้นในปัจจุบันในเมื่อคำที่คุ้นตามากกว่าอย่าง เลสเบี้ยน (Lesbian)  สื่อความหมายถึงผู้หญิงที่มีแรงดึงดูดต่อผู้หญิงด้วยกันอยู่แล้ว?

“Sweet mother, I cannot weave – slender Aphrodite has overcome me with longing for a girl.” — Sappho (Sappho: A New Translation of the Complete Works, Trans. Diane J. Rayor)

ย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราชในยุคที่กวีบุรุษเพศมีบทบาทต่อแนวความคิดในสังคมนั้นได้ปรากฏกวีหญิงผู้มีฝีมือการประพันธ์โดดเด่นเห็นเป็นประจักษ์จนเป็นที่น่าจับตามองนามว่า Sappho เมื่ออิงจากหลักฐานตามประวัติศาสตร์บทกลอนที่ค้นพบว่าประพันธ์ด้วยมือเธอนั้นมีเนื้อหากล่าวถึงความรักและความปรารถนาอย่างลึกซึ้งระหว่างสตรีเพศคำที่เราคุ้นเคยอย่างคำว่า Lesbian จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีที่มาจากชื่อเกาะ Lesbo อันเป็นถิ่นกำเนิดและเติบโตของ Sappho นั่นเอง ส่วนคำว่า Sapphic ที่มาจากชื่อของ Sappho โดยตรงนั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นอีกคำเพื่อเรียกผู้หญิงที่มีใจรักผู้หญิง เพียงแต่มีบทบาทเป็นร่มคันใหญ่ (umbrella term) ที่ครอบคลุมชาวหญิงรักหญิงทั้งในกลุ่มของ lesbian, bisexual, pansexual, queer, asexual อีกทั้งยังเป็นพื้นที่โอบรับทั้ง non-binary และ trans women เข้าร่วมคอมมูนิตี้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียง cisgender เท่านั้นที่มีสิทธิ์นิยามตนว่าเป็นแซฟฟิค โดยคำว่า Sapphic นี้เชื่อว่าถูกเริ่มนำมาใช้ในยุค 1800s จากหลักฐานการค้นพบในบันทึกในยุโรป

แม้ว่าจุดประสงค์ของการนิยามคำว่าแซฟฟิคในยุคปัจจุบันจะช่วยสร้างขอบเขตใหม่ของการรู้จัก และเข้าใจตัวตนทางเพศได้กว้างและชัดแจ้งขึ้น กระนั้นการทำความเข้าใจกับคำ ๆ นี้อย่างถ่องแท้กลับยังเป็นประเด็นโต้แย้งให้เห็นผ่านตาอยู่ไม่ขาด

 

    "เราเป็นเลสไม่คบไบนะ เพราะเดี๋ยวก็ทิ้งไปคบผู้ชาย”

      “ไบเซ็กชวล ไม่ใช่แซฟฟิค”

      อาจเป็นเรื่องที่อาจจะฟังดูชวนน่าสงสัย แต่แม้ว่าคำอธิบายของแซฟฟิคจะรับหน้าที่เป็นร่มคันใหญ่ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ชาวหญิงรักหญิงแล้ว คอมมูแซฟฟิคเองยังมีประเด็นที่ต้องถกกันอยู่ตลอด บางกลุ่มอย่างผู้ที่เรียกตนว่าเลสเบี้ยนอาจจะมีความเห็นแตกต่างต่อชาวหญิงรักหญิงที่ไม่นิยามตนว่าเป็นเลสเบี้ยน เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวเลสเบี้ยนบางกลุ่มมีมุมมองว่า โดยอาจมีต้นเหตุมาจากประสบการณ์ comphet ที่เลสเบี้ยนหลายคนเคยผ่านกันมาก่อนจะรู้ใจที่แท้จริงของตัวเอง

     

คำว่า Comphet ย่อมาจาก Compulsory Heterosexuality อธิบายอย่างง่าย ๆ คือการที่บุคคลหนึ่งมีความรู้สึกถูกกดดันให้ปฏิบัติตนตาม Heteronormative ที่สร้างบรรทัดฐานว่า เพศชายเกิดมาคู่กับเพศหญิง ซึ่งเริ่มได้รับความสนใจจากสังคมจากบทความของ Adrienne Rich ที่เผยแพร่ในปี 1980 ในชื่อว่า ‘Compulsory Heterosexuality and Lesbian Existence’ บทความนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการเกิดการตระหนักรู้ถึงประสบการณ์ชองเลสเบี้ยนในความสัมพันธ์ Heterosexual อย่างเป็นวงกว้าง แล้วส่งผลไปถึงข้อถกเถียงเรื่องการมีตัวตนของคนที่เป็นไบ หรือที่เรียกว่า Bi Erasure ที่ยังมีอยู่ในคอมมูนิตี้นี้ด้วย นั่นเป็นการลบการมีอยู่ของ bisexual (รวมถึง pansexual) ไปโดยปริยายนั้น

Heartstopper (2022-Now)

แต่ก็ใช่ว่าใครจะสามารถใช้เรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นธรรมให้ biphobia และผลักไสคนที่ไม่ใช่เลสเบี้ยนออกจากร่มแซฟฟิคได้อยู่ดี

การมี preference ชัดเจน หรือไม่ชัดเจนไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการออกตัวไม่คบไบนั้นก็มีส่วนส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของชาวไบเซ็กชวล ก่อให้เกิดความรู้สึก internalized biphobia เกิดความคิดเกลียดชังตัวเองที่ยัง “เกย์ไม่พอ” ที่จะมีตัวตนในคอมมูนิตี้ Queer ได้ เข้าใจไปตามความเชื่อของสังคมว่าตนเองเพียงแค่ ‘สับสน (confused)’

     

นอกจากนี้ในปี 2020 ทางเว็บไซต์ Stonewall ของอังกฤษได้ศึกษาพบว่า “คนเป็นไบเซ็กชวลมีแนวโน้มเปิดตัวกับคนในครอบครัวน้อยกว่าเกย์และเลสเบี้ยนถึง 3 เท่า” ซึ่งเป็น 1 ในข้อพิสูจน์ว่าอาจเป็นเรื่องง่ายกว่ามากเมื่อถึงคราวเปิดตัว (coming out) ไบเซ็กชวลจำนวนไม่น้อยจึงเลือกประกาศตัวเป็นเลสเบี้ยนหรือเกย์กับคนใกล้ตัวมากกว่าที่จะยอมรับว่าตนเป็นไบ เพื่อลดแนวโน้มอคติและคำวิจารณ์ทั้งจากฝั่ง heterosexual และ homosexual ที่อาจจะตามมาติด ๆ

สุดท้ายแล้วการนิยามอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของใครจะเป็นแบบใด ก็เป็นเรื่องปัจเจกที่ขึ้นอยู่กับความสบายใจส่วนบุคคล หากในช่วงเวลานั้นเจอคำที่ความหมายใช่และตรงเป็นตัวเราที่สุด เราก็มีสิทธิ์ที่จะใช้คำนั้น และหากแม้วันไหนที่ไม่รู้สึกว่าตัวตนสอดคล้องกับคำคำนั้นอีกต่อไป ก็ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามที่จะขอเปลี่ยนนิยามตัวตนเราตามความรู้สึกของเรา

อ้างอิง

Rayor, Diane J., translator. Sappho: A New Translation of the Complete Works.

By Sappho, Cambridge University Press, 2014.

Rich, Adrienne, Blood, Bread, and Poetry: Selected Prose 1979-1985. W.W. Norton, 1986.

etymonline

stonewall