Life

SELF-LOVE TALK with Kiat: ภาวะไม่รักตัวเองเกิดขึ้นได้ และมันก็จะผ่านไป

‘รักคือการปล่อยวางหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้น เวลาเกิดภาวะที่ไม่รักขึ้นมาและปล่อยไม่ได้ จะทำอะไรดี’ ในบทสัมภาษณ์นี้ เราได้ชวนศิลปินในชื่อ Kiat มาพูดคุยถึงมุมมองความรักตัวเองในช่วงวัยรุ่น ที่กำลังคาบเกี่ยวช่วงของการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ว่า ทุกวันนี้ การรักตัวเองในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร สื่อมีผลต่อการรักตัวเองไหม และเขามีเสียงอะไรที่อยากสะท้อนไปถึงเพื่อนๆ GEN Z กันบ้าง

รู้สึกยังไงกับคำว่า Self-Love

เราเปิดบทสนทนาด้วยการเล่าให้เขาฟังว่า ทุกวันนี้ วัยรุ่นเริ่มสนใจเกี่ยวกับการรักตัวเองมากขึ้น มันเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากเจนฯ ก่อนเพราะว่าในหมู่วัยรุ่น GEN Z พวกเขาพูดถึงการดูแลสุขภาพจิต การรักตัวเอง การกลับมาที่ปัจเจกมากขึ้น ถ้าอย่างนั้น นิยามของคำว่ารักตัวเองในคนรุ่นใหม่ก็คงจะแตกต่างจากคนรุ่นก่อนด้วย เราก็เลยเริ่มถามเขาว่า เขารู้สึกยังไงกับคำว่า ‘รักตัวเอง’

“Self-Love สำหรับเรามันคือการที่เราเข้าใจตัวเอง และตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ มันคือช่วงเวลาที่นิ่งสงบที่เราเข้าใจตัวเอง มันคือภาวะที่เราพอใจ เข้าใจตัวเอง และไม่เกลียดตัวเอง ถ้า self-love ที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย สำหรับผม มันก็คือการทำอาหารที่อยากกินนะ พอเราอยากกินอะไร เราก็ลงมือทำมัน มันทำให้ผมรู้สึก fullfill”

Self-Love ในความรู้สึกของ Kiat แตกต่างจากของคนรุ่นก่อนหน้ายังไงบ้าง

“ผมคิดว่าคนเดี๋ยวนี้น่าจะให้ความสำคัญกับการรักตัวเอง และชีวิตตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ค่านิยมของยุคสมัยมันเปลี่ยนจากแต่ก่อนที่มักจะพูดถึงส่วนใหญ่มากกว่าส่วนเล็ก แต่ทุกวันนี้ เราพูดกันเรื่องการดูแลจัดการส่วนเล็ก ก่อนที่จะไปดูแลภาพรวม” 

คิดว่า ‘การรัก’ และ ‘การปล่อย’ เกี่ยวข้องกันไหม

“ผมคิดว่ามันอยู่ที่ความสบายใจนะ ถ้าปล่อยไม่ได้ก็ไม่สบายใจ มันอยู่ที่แอคชั่นแต่ละคน เราจะไปบอกว่าถ้ารักตัวเองต้องปล่อยนะ มีอะไรต้องปล่อย ถ้าเขาทำไม่ได้ มันก็ไปฝืนเขา บางครั้งมันก็คือการไปควบคุมคนอื่นให้เขาเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ ระดับของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน”

มีความขัดแย้งข้างในตัวเอง ในการรักตัวเองบ้างไหม

“สำหรับผม ผมไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกับการรักตัวเองไหมนะ แต่ผมรู้สึกว่าผมทำทุกอย่างไม่พอ ผมยังทำอะไรที่พาตัวเองไปไม่ถึงจุดที่รู้สึกว่าเก่งพอ อย่างเช่นการทำเพลง มันก็รู้สึกว่ายังไปไม่ถึงจุดที่พอ ถ้าถามผมว่ามันเกี่ยวกับความรักตัวเองไหม ก็อาจจะเกี่ยว มันเป็นความขัดแย้งข้างในอยู่ แต่ผมยังอยากที่จะทำเพลงต่อ”

ถ้าทำงานไม่ดีจะรู้สึกว่าไม่มีค่า ไม่รักตัวเองหรือเปล่า

“สำหรับผม มีอยู่แล้วนะ มันรู้สึกแย่ถ้าทำได้ไม่ถึงอย่างที่หวัง ผมชอบเพลงของ Björk มากเลยที่มันจะมีท่อน “Best way to start-a-new is to fail miserably. Fail at loving and fail at giving” ถ้าเราทำอะไรพลาดสุดๆ ก็โละทิ้งไปเลย แล้วก็เริ่มต้นใหม่ ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยว เพราะผลงานที่ออกมาทำให้การแสดงผลงาน มันคือการโชว์ด้านของเราที่ถูกขัดเกลา สำหรับผม ผมไม่ได้วางเป้าหมายอะไรมากในการทำเพลง นอกจากทำแล้วรู้สึกดีนะ การทำเพลงมันเลยเป็นเหมือนการรักตัวเอง และเป็นเหมือนบำบัดตัวเองไปในตัวด้วย ตอนที่ผมทำเพลง มันก็ทำให้จิตใจผมดีขึ้น”

แล้วจะอยู่กับตัวเองยังไง ในช่วงเวลาที่ไม่ชอบมันขึ้นมา 

“ผมคิดว่าสภาวะไม่ชอบตัวเองจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และรู้สึกว่าถ้ามันเกิดขึ้น เราก็ไม่จำเป็นต้องจริงจังกับตรงนี้มากจนเกินไป เพราะว่าเดี๋ยวมันจะผ่านไปได้ การไม่ชอบตัวเองมันเกิดขึ้นได้ เพราะเราก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้สมบูรณ์แบบ ส่วนใหญ่ผมจะทำตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นนะ แล้วมาจัดการตัวเองในภายหลังด้วยการไตร่ตรองว่าเราทำอะไร ไปทำไม เรามานั่งฟีดแบคตัวเอง เพื่อให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น” 

ถ้ามีช่วงเวลาที่ต้องการ Comfort จะทำอะไรเพื่อเยียวยาให้ตัวเองสบายใจได้บ้าง

“ปกติผมจะทำอะไรที่ทำให้ตัวเองไม่ต้องคิด นั่นคือการเยียวยาตัวเองของผม บางครั้งผมก็จะไปค้นดูอะไรเก่าๆ ในชีวิตวัยเด็ก เพื่อที่จะไม่ได้คิดอะไร แล้วก็ปล่อยเวลาไป บางทีเราก็ปล่อยทุกอย่างไป ไม่ต้องหาคำตอบให้ทุกอย่าง อะไรแก้ไม่ได้ ตอนนี้ก็ปล่อยไปก่อน อีกวิธีหนึ่งของผมก็คือการทำอะไรสักอย่างที่รู้สึกว่ามันมีแรงบันดาลใจ ทุ่มเทกับสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจ ทำมันให้เต็มที่ แล้วพอเราไม่ได้คิดถึงเรื่องตัวเองมากนัก มันก็จะทำให้เราสบายใจ”

สื่อโซเชียลมีเดียส่งผลต่อการรักตัวเองไหม

เราชวน Kiat คุยถึงอิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียที่ GEN Z หลายคนเติบโตมากับมันว่า มันมีส่วนเป็นแรงกดดันให้ทุกคนต้องนำเสนอตัวตนที่สมบูรณ์แบบ ต้องรักตัวเองตลอดเวลา และต้องใช้ชีวิตที่ดี ต้องทำทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา ต้องวิ่งตามฝัน ต้องสำเร็จ เราถามเขาว่า ภาพเหล่านี้มีส่วนทำให้คนรักตัวเองน้อยลงหรือเปล่า ในฐานะวัยรุ่นที่เติบโตมากับสื่อ เขาเห็นอะไรบ้าง และมีอะไรที่อยากสะท้อนไปถึงเพื่อนๆ GEN Z ไหม ในเรื่องของการรักตัวเอง ภายในสังคมที่เต็มไปด้วยสื่อ ที่เหมือนสะกดให้ทุกคนต้องทำตัวสมบูรณ์แบบและสำเร็จแทบจะตลอดเวลา

“สื่อมันมีผล เพราะพวกเรามีสื่ออยู่ในมือตลอดเวลา ผมคิดว่าทุกวันนี้สื่อต่างๆ ทำให้ทุกคนรู้สึกถูกกดดันให้ต้องมีภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์แบบ มีความกดดันบางอย่างที่ต้องเป็น ต้องทำอะไรสักอย่าง ต้องไม่ผิดพลาด แต่สำหรับผม รู้สึกว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ และไม่จำเป็นจะต้องใจร้ายกับตัวเองมาก ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นสามารถกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเรียนรู้ได้”

ท้ายที่สุดนี้ มีอะไรอยากส่งเสียงไปถึง GEN Z ในเรื่องของการรักตัวเองไหม

“ผมอยากจะบอกทุกคนว่าให้ทำอะไรในระดับที่พอดีกับตัวเอง เอาที่ตัวเองสบายใจ เพราะคนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ 100% ยิ่งเราพยายามจะทำให้ตัวเองสมบูรณ์แบบ มันยิ่งเป็นการเฆี่ยนตัวเอง พวกเราไม่จำเป็นต้องทำตัวตามความคาดหวังของสังคมมากจนเกินไป แต่ถ้าเป็นความคาดหวังจากตัวเอง ผมก็อยากจะบอกว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องสู้ ความอยากมันไม่ได้ผิดอะไร มันไม่ใช่กิเลส ถ้าอยากได้อะไรก็ลงมือทำ หรือต่อให้ทำแล้วไม่ได้สิ่งที่ต้องการ มันก็ไม่ได้ผิดอะไรเหมือนกัน”

ติดตาม ‘Kiat’ ได้ที่

YouTube: Kiat

Facebook: Kiat

Instagram: kiatofficial

Twitter: Kiat