“รักตัวเองมันคืออะไร” ในวันที่โลกเต็มไปด้วยกระแสของการบอกรักตัวเอง “กลับมารักตัวเองนะ” “รักตัวเองมันดีที่สุดแล้ว” “ทุกคนต้องรักตัวเองนะ” ทั้งจากเพลง ภาพยนตร์ โซเชียลมีเดีย คำคมสอนใจ และปรัชญาชีวิตของเหล่าวัยรุ่นเจนฯ ใหม่ที่ให้ความใส่ใจกับการรักตัวเองมากกว่าคนวัยอื่น แต่ทว่าหากมีบางวันที่ทำไม่ได้และไม่รู้จะเยียวยาตัวเอง มันจะเป็นอย่างไร วันนี้เราได้ชวน ‘มีมี่ - ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์’ นักกิจกรรมเยาวชน ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนเสียงวัยรุ่น GEN Z มาร่วมพูดคุยกับเราเรื่องการรักตัวเอง และการเยียวยาตนเองด้วยรัก ในสังคมที่ไม่เคยสอนให้เราได้รู้จักรัก เพื่อหวังว่าบทสนทนาจะเป็นเสียงสะท้อนที่ช่วยจุดประกายอะไรสักอย่างให้ผู้อ่านได้พบความชัดเจน กำลังใจ หรือคำตอบบางอย่างข้างในตัวเอง ที่จะช่วยพาพวกเขากลับไปหาแก่นข้างในแห่งรัก
ความรู้สึก ‘รักตัวเอง’ มันเป็นอย่างไร
คำถามแรกที่เราชวนมีมี่คุยคือคำว่า ‘รักตัวเอง’ ในความรู้สึกของมีมี่มันเป็นอย่างไร ภาพของความรักตัวเองในมุมมองและประสบการณ์ของมีมี่คืออะไร เพื่อทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น มีมี่เล่าให้ฟังว่า ความรู้สึกของการรักตัวเองคือการโอบกอดตัวเองในวันที่ไม่สมบูรณ์แบบในทุกวัน ทั้งสุขและเศร้า
“สำหรับเรา การรักตัวเองคือการโอบกอดตัวเองในวันที่ไม่สมบูรณ์แบบ มันคือการอยู่กับตัวเองทั้งในวันที่เศร้า สุข เสียใจ ส่วนตัวเราเดินทางเพื่อจะรักตัวเองมาหลายปีแล้ว เราเป็นคนที่ทำงานกับตัวเองหนักมาก และเราก็ค้นพบว่าการจะรักตัวเองนั้นเจ็บปวดมาก เพราะมันต้องยอมรับตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราทำอะไรลงไป เราเคยกระทำความรุนแรงกับคนอื่นไหม เราเคยทำเรื่องที่ผิดพลาด เราเคยทำให้คนอื่นเสียใจไหม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับว่าเราเคยทำสิ่งเหล่านี้จริงๆ และให้อภัยตัวเอง แล้วมันก็จะนำไปสู่ความรักให้ตัวเองได้”
การรักตัวเองมีความเชื่อมโยงกับการไม่ทิ้งตัวเองไหม
“คำว่าไม่ทิ้งตัวเองเป็นหนึ่งในการตีความได้จากคำว่ารักตัวเอง มันมีความหมายหลากหลายมาก ถ้าถามว่าการไม่ทิ้งตัวเองเป็นยังไง สำหรับเรา มันคือการการกลับมาอยู่กับตัวเองในสถานการณ์ที่ลำบาก รู้เท่าทันตัวเองในสถานการณ์ที่รู้สึกแย่ และขั้นต่อไปก็หาพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้ไม่จมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ”
‘ความไว้วางใจตัวเอง’ มีความสัมพันธ์กับการรักตัวเองไหม
“ความไว้วางใจมันก็มีส่วนนะ ตอนที่เราเคลื่อนไหวทางสังคมช่วงแรกๆ ประมาณ 2020-2021 เรามีความไว้วางใจตัวเองสูงมาก เราเชื่อว่า “ฉันทำได้ ฉันมีความสามารถ” แต่หลังจากที่เรียนรู้ความเจ็บปวดในปีก่อนๆ มันทำให้เรามั่นใจในตัวเองน้อยลงนะ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ก็คือ ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราบอกตัวเองว่า “ปล่อยมันไปเถอะ” สำหรับเรานะ มันเป็นอะไรที่ spiritual มากๆ ถ้าพวกเราหาแก่นข้างในของตัวเองเจอ เราจะไม่หวั่นไหวกับสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบเลย ความไว้วางใจในการรักตัวเองคือการรอคอย ทั้งเราและคนรอบข้างเรา”
เคยมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในตัวเอง ในเส้นทางของการรักตัวเองบ้างไหม
มีมี่เล่าให้เห็นภาพว่า เธอเชื่อว่าการรักตัวเองไม่ใช่เส้นทางที่มีเส้นชัย การรักตัวเองไม่ได้มีจุดหมายให้ไปถึงหรือจุดที่ต้องผ่าน บางครั้ง การรักตัวเองก็เป็นเหมือนวงกลม มันเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีจุดจบ สามารถหลงทางได้ กลับไปกลับมาได้ เกิดความขัดแย้งขึ้นได้ และความขัดแย้งก็สามารถถูกคลี่คลาย เยียวยาได้หลายวิธี และใช้เวลาต่างกัน ทุกอย่างของความรักตัวเองเป็นเหมือนวัฏจักร
“ทุกอย่างในกระบวนการรักตัวเองมันเป็นวัฏจักร เราต้องยอมรับว่ามีช่วงเวลาที่ไม่ดี แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันจะผ่านไป เรารู้มาว่าสังคมสอนให้เราเรียนรู้ ถ้าเราไม่โทษคนอื่น ก็ให้กลับมาโทษตัวเอง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่ดีเลย แต่ก็ต้องใช้เวลา ค่อยๆ ให้อภัยตัวเองให้ได้”
แล้วความขัดแย้งในวงกลมของการรักตัวเองที่เห็นในวัยรุ่น GENZ ล่ะ
“ส่วนตัวเราเอง ถ้าพูดถึงความขัดแย้งภายในของการรักตัวเอง เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับที่เจอในกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนมากกว่าวัยรุ่น GEN Z ในภาพใหญ่ สิ่งที่เราพบเห็นก็คือ ในกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำงานเคลื่อนไหว เมื่อพวกเขาสวมหมวกว่าจะทำงานเพื่อสังคมแล้ว มันก็จะมีความคิดว่า พวกเราต้องคิดถึงคนอื่นก่อนตลอดเวลา เพราะมันคือการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แต่เราคิดว่าการกลับมาดูแลตัวเองก็คือการเปลี่ยนแปลงสังคมในตัวเองเหมือนกัน การกลับมาเยียวยาตัวเองก็มีประสิทธิภาพในตัวของมันเอง โดยเฉพาะในสังคมที่สอนให้เรารักตัวเองให้น้อย และรักคนอื่นให้เยอะ เรารู้สึกว่าการกลับมารักตัวเอง เยียวยาตัวเอง มันไม่ผิดอะไรเลย เพราะการกลับมารักตัวเองก็คือการเปลี่ยนแปลงสังคมในตัวของมันอยู่แล้ว”
ถ้าอย่างนั้น พวกเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อกลับมาดูแลตัวเอง
มีมี่เล่าให้ฟังว่า ในโลททุนนิยมสมัยนี้ กิจกรรมเยียวยาตัวเองและการสร้างความสุขหลาย อย่างเช่น การไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า การช็อปปิ้ง การรับประทานอาหารหรูหรา หรือใช้เงินเพื่อความสุขนั้น แม้จะช่วยเยียวยาได้จริง แต่มันก็ให้ได้เพียงแค่ความบันเทิงระยะสั้นที่ตื้นเขิน สิ่งเหล่านี้ที่โลกทุนนิยมนำเสนอให้นั้นไม่ยั่งยืนในการเยียวยาตัวเอง
เธอเล่าให้ฟังผ่านการตระหนักรู้จากประสบการณ์ของตัวเองว่า บางครั้ง กิจกรรมที่ทำเพื่อเยียวยาตัวเองมันก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นในชีวิตอยู่ใน cycle แบบไหน บางครั้ง การไม่ทำอะไรเลย การอยู่เฉยๆ การเล่นเกม ทำงานอดิเรกที่เติมเต็มโลกข้างใน บางครั้งก็ออกไปอยู่กับธรรมชาติหรือเล่นกับน้องหมา แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเยียวยาตัวเองที่ทำแล้วได้ผลคือการกลับมาหายใจ มีสติ รู้ตัวว่ากำลังหายใจอยู่
“เราเพิ่งจะได้อ่าน ‘The Promise of Happiness’ ของ ‘Sara Ahmed’ มันทำให้เราตระหนักว่า กิจกรรมทุกอย่างในโลกทุนนิยมที่ทำเพื่อเยียวยาตัวเอง มันเป็นกิจกรรมที่หลอกลวง อย่างเช่น การออกไปเที่ยว การจะออกไปเดินห้างเพื่อเยียวยาตัวเองก็ต้องผ่านปัญหารถติด ผ่านคนไร้บ้าน ผ่านม็อบ ผ่านการเห็นปัญหาและความทุกข์ในสังคม ซึ่งกว่าเราจะเดินทางไปถึงห้างตรงนั้น มันก็ทำให้เราไม่มีความสุขแล้ว กิจกรรมนี้เป็นแค่ความบันเทิงที่ตื้นเขิน
สำหรับวิธีเยียวยาตัวเอง มันหลากหลายมาก บางวิธีก็ไม่เวิร์คกับเรา บางช่วงเราก็อยู่เฉยๆ บางช่วงเราก็เล่นเกม บางช่วงออกไปเจอธรรมชาติ แต่มันก็มีบางช่วงที่กิจกรรมเยียวยาหลายอย่างช่วยเราไม่ได้เลย มันแล้วแต่ช่วงเวลาด้วย ถ้าถามว่าพอจะมีอันไหนที่คิดว่าแนะนำได้ ส่วนตัวแล้ว มันก็คือการกลับมาหายใจ และรู้ตัวว่ากำลังหายใจ”
พวกเรากำลังอยู่ในสังคมที่ขาดความรักหรือเปล่า
จากที่เล่ามา มีมี่บอกให้เรารับรู้ถึงปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลให้คนไม่รักตัวเอง ไม่มีความสุข เธอเล่าให้ฟังว่า พวกเรากำลังอยู่ในสังคมที่ไม่เคยอนุญาตให้ได้รักตัวเอง ตอนนี้พวกเราทุกคนกำลังอยู่ในสังคมที่ขาดความรัก
“สังคมที่ขาดความรักจะทำให้คนไม่รู้ว่าความรักแท้จริงคืออะไร สังคมนี้คือสังคมที่คนจะมานั่งตั้งคำถามว่า อันนี้คือความรักหรือเปล่า สิ่งที่บ่งบอกว่าพวกเรากำลังอยู่ในสังคมที่ขาดความรักคือการเกิดกระแสที่มี self-help และ self-love แทบจะทุกที่ ซึ่งเราเห็นด้วยกับกระแสนี้นะ แต่ว่าการจะกลับมาเยียวยาตัวเองและรักตัวเองนั้น มันต้องมองเห็นโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยว่า ปัญหาโครงสร้างทำให้เราไม่มีความสุข ต้องยอมรับว่าเราทำความรุนแรง เพราะเราเจอสังคมที่หล่อหลอมอะไรมาบ้าง ต้องยอมรับว่าเราก็เป็นคนที่ทำความรุนแรง ทำผิดพลาดได้ เราแค่ต้องยอมรับและให้อภัยตัวเอง”
สังคมที่ไม่ขาดความรักและสนับสนุนให้คนรักตัวเองเป็นอย่างไร
“ก่อนอื่นเลยก็คือ การรักตัวเองไม่ใช่แค่เรื่องปัจเจก สภาพแวดล้อมมีผล การรักตัวเองเป็นปัญหาทางการเมือง และเป็นปัญหาทางสังคม สังคมที่คนรักตัวเองก็คือสังคมที่คนมีสุขภาวะดี มีสุขภาวะทางเพศ การเมือง สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ที่ดี ทุกอย่างนี้สำคัญหมด ถ้ารักแต่ตัวเองอย่างเดียว สังคมมันก็จะไม่ไปไหน เวลาเหนื่อย กลับไปเยียวยาตัวเองได้ แต่พอเยียวยาแล้ว เราก็กลับมาเยียวยาสังคมด้วยกันต่อ เพื่อช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปต่อกันได้ สำหรับเรา สังคมที่สนับสนุนให้คนรักตัวเอง คือ สังคมที่ทุกคนถูกสอนให้ไม่ตีตรากัน ไม่ตัดสิน ให้การสนับสนุน และรับฟังกันเมื่อมีคนที่อยากจะพูด แต่ในสังคมของเรา แค่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่รอดกันมาได้ถึงทุกวันนี้ก็สุดยอดแล้วนะ”
ทำไมการรับฟังถึงเป็นตัวช่วยให้เกิดความรัก
“เราเชื่อว่ามนุษย์ สรรพสิ่ง และทุกอย่างมีปัญญาของตัวเอง สามารถหาคำตอบด้วยตัวเองได้ เขาอาจจะเพียงต้องการแค่การรับฟัง สังคมทุกวันนี้มีการหยิบยื่นโอกาสมากมายให้คนชายขอบนะ แต่สิ่งที่พวกเขายังไม่เคยได้รับการหยิบยื่น คือ โอกาสที่จะได้รับการรับฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาจริงๆ การรับฟัง การรอคอยอย่างใจเย็น คือส่วนหนึ่งในสังคมที่สนับสนุนให้คนรักตัวเอง เพราะถ้าหากวันหนึ่ง คนในสังคมนั้นรู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะทำอะไรสักอย่าง เขาก็มีสังคม มีคอมมูนิตี้ที่รับฟัง สนับสนุนให้พักผ่อน และรอคอยให้เขาใช้เวลาดูแลตัวเองได้ การรับฟังจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้รักเติบโต”
อะไรคือสิ่งที่ทำให้มีมี่รู้สึกสบายใจ
“ความสบายใจของเราคือหมานะ หมาคือสิ่งมีชีวิตที่ฮีลเราได้ เพราะหมามีพลังฮีลลิ่งจากธรรมชาติ มันทำให้เราชอบเล่นกับหมา และเรารักน้องหมาของเรามากเลย เพราะพวกเราผ่านอะไรด้วยกันมาเยอะมาก ถ้าพูดถึงความรัก ความสบายใจ เราก็จะชอบเล่าเรื่องราวของน้องหมาตลอด”
ท้ายที่สุดแล้ว มีมี่มีอะไรที่อยากส่งเสียงสะท้อนเรื่องการรักตัวเองไปถึงเพื่อนๆ GEN Z หรือทุกคนที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้บ้างไหม
“เราอยากจะบอกว่า ไม่มีใครต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะได้รับความรัก ทุกคนสมควรที่จะถูกรัก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน เป็นคนที่ดื้อ เป็นคนที่ถูกสังคมตีตรา เป็นคนที่โดนพ่อแม่บอกว่าไม่เอาไหน ไม่ว่าจะขี้เกียจ ขยัน อดทน หรือไม่อดทน สำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ทุกคนมีคุณค่าพอนะ พวกคุณคู่ควรที่จะถูกรักอยู่แล้ว”