Identity

Sound of Youth: “Beauty” การแต่งหน้าและความงามในมุมมองของวัยรุ่นชนบท

เชื่อว่าทุกคนที่มีความชื่นชอบด้านการแต่งหน้า ล้วนก็มีจุดเริ่มต้นและมุมมองเกี่ยวกับความงามที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับสังคม สภาพแวดล้อม และประสบการณ์ที่เคยได้พบเจอในชีวิต ยิ่งมาจากพื้นเพที่หลากหลายก็ยิ่งมีความต่าง วันนี้ EQ จึงได้พูดคุยกับเหล่าหญิงสาววัยรุ่นจากต่างจังหวัด 3 คน ถึงก้าวแรกที่ทำให้เริ่มหยิบจับเครื่องสำอางมาแต่งหน้า นิยามของความสวย และการปรับรูปลักษณ์เข้ากับไลฟ์สไตล์ในเมืองใหญ่

‘ดรีม – สุกฤตา ศรีนุกูล’ สาวหนองคายที่ตกหลุมรักการแต่งหน้าตั้งแต่แรกพบ ปัจจุบันตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในชลบุรี (IG : @dream_srinukul)

“น่าจะเป็นตอนมัธยมฯ ต้นที่เรารู้สึกว่าอยากจะสวยได้มากกว่านี้ เพราะเวลาได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนแต่งหน้ากันก็รู้สึกว่า “เฮ้ย ทำไมเขาสวยจัง ใช้เครื่องสำอางอะไร” เราก็อยากใช้ตาม จะได้สวยเหมือนเขา”

‘หยก – พิมนภา ใบสันต์’ เจ้าแม่แฟชั่นจากหาดใหญ่ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรีในกรุงเทพฯ และคุ้นเคยกับการแต่งหน้าเหมือนเป็นเพื่อนอีกคน (IG : __yokk)

“ตั้งแต่ช่วงอนุบาลฯ จนถึงประถมฯ เราได้เรียนรำไทยที่โรงเรียน ก็เลยได้รู้จักการแต่งหน้า แต่ตอนนั้นยังแต่งเองไม่เป็น และไม่รู้วิธีหรือรายละเอียด เพราะการแต่งหน้านางรำเป็นการแต่งแบบจัดเต็ม ที่เน้นคิ้วเข้ม ตาชัด และปากสีเด่น บางครั้งตอนเด็กๆ เราก็เอาเครื่องสำอางของแม่มาลองแต่งเล่น แต่พอโตขึ้นมาประมาณ ป.5-6 เราก็ได้มีสังคมเป็นของตัวเอง เพื่อนรอบตัวใช้บลัชออนไม่ก็ลิปบาล์มสีชมพูทั้งนั้น แล้วเวลาเดินห้างก็จะไปดูลิปฯ กัน เราเลยเริ่มที่จะแต่งหน้าอ่อนๆ ถึงจะยังแต่งส่วนตาไม่เป็น ก็ใช้ลิปฯ มัน แล้วปัดแก้มด้วยแป้งอัดแข็ง พอขึ้นมัธยมฯ ซึ่งเป็นช่วงที่มีอินเทอร์เน็ต เราก็ดูวิธีกรีดอายไลเนอร์และปัดมาสคาร่าจาก Facebook หรือ Hi5 และเริ่มพัฒนาขึ้น (หัวเราะ)”

‘ปรายฟ้า – ปฐมวรรณ เหมทิพย์’ เด็กสาวจากเมืองสงขลาที่มาศึกษามหาวิทยาลัยต่อในกรุงเทพฯ และมีความสนใจด้านความสวยความงามจากสังคมรอบตัว (IG : @pfahs)

“เราเริ่มใช้ลิปบาล์มมีสีตั้งแต่ ม.1 แต่ก็ใช้แค่นั้นเลย แป้งฝุ่นก็ไม่ใช้เพราะไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ตอนที่เริ่มแต่งหน้าจริงจังน่าจะเป็นช่วง ม.ปลาย ที่เราเริ่มใช้ลิปสติกไม่ก็ลิปกลอส แล้วก็เขียนคิ้วบ้าง แต่ว่าไม่บ่อย เพราะกลัวครูจับได้ ตอนนั้นคนรอบตัวเขาเริ่มแต่งหน้ากันแล้ว เราเลยรู้สึกว่าต้องเอาด้วย อยากลองดู จะได้รู้ว่ามันเป็นยังไง”

เครื่องสำอางชิ้นแรกในชีวิต

ดรีม: คงเป็นลิปสติก เพราะรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่เบสิคสำหรับเด็กทั่วไป เหมือนประโยคที่เขาว่า “ปากไม่แดง ไม่มีแรงเดิน” ตอนนั้นก็ซื้อจากร้านค้าทั่วไป เนื่องจากเราไม่ได้รู้จักแบรนด์อะไรมากมาย แล้วก็ยังไม่ได้มีเงินเยอะถึงขนาดที่จะไปซื้อลิปฯ แบรนด์ดังได้ เราเลยไปดูร้านค้าที่ขายเครื่องสำอางทั่วไป ซึ่งมีหลายยี่ห้อ หลายราคาให้เลือก และให้พนักงานช่วยแนะนำ

หยก: คงเป็นลิปสติก เราจำได้ว่าตอนนั้นเดินผ่านวัตสันก็เลยซื้อ เพราะเวลาแต่งหน้า สิ่งแรกที่นึกถึงก็จะเป็นลิปสติก ในวันที่ไปโรงเรียน ถ้าเราไม่ได้แต่งหน้าก็ต้องมีลิปฯ ซึ่งตอนเด็กๆ จะรู้แค่ว่าร้านค้าทั่วไปตามห้างหรือ 7-11 มีลิปมันขาย แต่ไม่ได้รู้จักพวกเคาน์เตอร์แบรนด์เลย

ปรายฟ้า: ลิปมันเปลี่ยนสี ไม่แน่ใจว่าซื้อมาจากร้านเครื่องสำอางโดยเฉพาะหรือเปล่า เพราะดูเหมือนว่าร้านจะรับของจากหลายแบรนด์หรือซื้อจากอินเทอร์เน็ตมาวางขาย แต่ตอนนี้ส่วนตัวชอบซื้อที่วัตสันมากกว่า เรารู้สึกว่ามันมีความน่าเชื่อถือ ไม่ต้องกลัวว่าเครื่องสำอางจะมีสารที่ไม่ปลอดภัยหรือเปล่า

คำนิยามของ ‘ความสวย’

ดรีม: สำหรับเรา ความสวยเป็นอะไรที่วัดไม่ได้ เราจะไปบอกว่าคนนี้สวยมาก คนนี้สวยน้อย คนนี้สวยแบบไหน ก็ไม่ได้ เราไม่สามารถให้คะแนนความสวยกับใครได้ เพราะว่ามันมีทั้งความสวยที่มาจากภายใน แล้วก็ความสวยที่เป็นบุคลิก ความเป็นตัวเอง หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนการแต่งหน้าเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเองว่า “ฉันแต่งเติมตรงนี้แล้ว ฉันจะมั่นใจมากขึ้น กล้าเฉิดฉายมากขึ้น” เราไม่ได้แต่งเพราะอยากจะสวยมากกว่าคนอื่น แต่แต่งเพื่อให้ตัวเองมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้

หยก: ความสวยคือการแต่งหน้าที่เข้ากับลุคของตัวเอง เพราะมันจะดูน่ามองและเป็นธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้ว แต่ละคนก็แต่งได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นสไตล์เกาหลี สายฝอ หรืออื่นๆ เราต้องดูที่บุคลิกด้วยว่าตัวเองเข้ากับการแต่งหน้าแบบไหน ถ้าไปกันได้กับบุคลิก ทุกอย่างก็จะดูดี สมมติว่าวันนี้เรามั่นใจเรื่องการกรีดตาและการแต่งตัว แล้วลุคเข้ากัน ก็โอเค แต่บางวันถ้าอยากแต่งหน้าจัดเต็มแล้วเสื้อผ้าไม่เข้ากัน ก็แต่งแบบนั้นไม่ได้ 

ปรายฟ้า: ถ้าเป็นตอนที่ยังเรียนมัธยมที่สงขลา เราจะมีหน้าตาแบบหนึ่งที่รู้สึกว่าสวย เพราะคนรอบตัวเขามองว่าแบบนั้นสวย ทำให้เรามีความคิดว่าต้องหน้าตาแบบนี้เท่านั้นถึงจะสวย ถ้าให้ยกตัวอย่างของตัวเอง เราก็ไม่ได้ตรงตาม beauty standard ซึ่งขอพูดก่อนว่า beauty standard ในความคิดของเราก็คือคนที่มีหน้าตาหมวยๆ ซึ่งคนในสังคมรอบตัวเรามองว่าสวย และให้โอกาสคนลักษณะนี้ในการทำกิจกรรมมากกว่า แต่พอเราได้ไปเจอโลกมากขึ้นก็รู้สึกว่า “ไม่ มันไม่ใช่แค่แบบนั้น” มันเป็นเพราะสังคมที่เราอยู่ ที่ทำให้คิดว่าความสวยมีเพียงแค่แบบเดียว พอเราออกมาจากตรงนั้นถึงได้รู้ว่า ‘ทุกคนสวยในแบบที่ตัวเองเป็น’ ไม่ได้มี pattern ว่าต้องหน้าตาแบบนี้เท่านั้นถึงจะเรียกว่าสวย

การปรับตัวในสังคมเมืองใหญ่

แน่นอนว่าพอก้าวเข้าสู่ต่างเมือง ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสังคมนั้นๆ เป็นธรรมดา เราจึงได้ถามพวกเธอว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ ได้มีการปรับตัวในด้านของความสวยความงามให้เข้ากับสถานที่ใหม่ๆ บ้างหรือเปล่า ซึ่งทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เปลี่ยน’ แต่ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและความคิดอ่านของพวกเธอแต่ละคน

ดรีม: ตรงนี้เราคิดว่าได้มีการปรับเปลี่ยนตัวเองบ้างเพื่อเข้าสังคม ฟีลแบบ “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” จากตอนมัธยมฯ ที่อาจจะทาแค่ลิปสติก พอขึ้นมหาวิทยาลัย แทบทุกคนรอบตัวก็แต่งหน้ากันหมดเลย แล้วพอเราไม่แต่งก็รู้สึกว่า “ทำไมหน้าฉันดูว่างๆ จัง มันดูไม่มีอะไรเลย” เวลาคนเดินผ่าน เขาก็จะดูคนที่แต่งหน้าก่อน เราเลยเปลี่ยนตัวเองด้วยการแต่งหน้าไปเรียนทุกวัน อีกเหตุผลที่ทำให้แต่งหน้าก็มีเรื่องของภาพลักษณ์ด้วย เราเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก็จะมีภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองว่าลีดฯ ต้องเป็นยังไง คนที่จะเป็นลีดฯ ได้ต้องมีลักษณะหรือบุคลิกแบบไหน เราแค่ถ่ายทอดมันออกมาผ่านการแต่งหน้า ถ้าสมมติเราบอกทุกคนว่าเป็นลีดฯ แต่เราหน้าโล้นๆ ไม่แต่งตัว เขาก็จะมีภาพจำที่ไม่ดีกับลีดฯ เราเลยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและดูแลตัวเองตลอดเวลา เพราะการดูสวยในทุกๆ วันคือการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง

หยก: ก็มีเปลี่ยนบ้าง เรื่องแต่งหน้ายังไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่การทำผมเปลี่ยนไปมาก ตอนอยู่หาดใหญ่เราไม่ได้ทำอะไรเยอะขนาดนั้น แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็จะหนีบผมบ้าง ม้วนผมบ้าง ให้มันดูดีขึ้นนิดนึง เพราะเพื่อนก็ทำ ก่อนเข้ามหา’ลัยก็ไปทำสีผม เพราะไม่อยากให้ตัวเองดูเด็ก ส่วนการแต่งตัวก็เปลี่ยนลุคให้ดูชิลขึ้น ปกติเราเป็นคนชอบแต่งตัวแบบจัดเต็ม แต่พออยู่มหา’ลัยก็ไม่อยากแต่งตัวให้ดูเด่น จะเน้นให้เข้ากับเพื่อนมากกว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความมั่นใจด้วย แต่ตอนแรกเรายังไม่ได้รู้จักใคร ก็เลยไม่อยากแสดงออกหรือแต่งให้ดูเป็นตัวเองขนาดนั้น นอกจากว่าอยู่กับเพื่อนสนิทหรือไปเที่ยว ถึงจะแต่งแบบจัดเต็มได้ เพราะมีคนเคยบอกว่า เราแต่งตัวมีสไตล์ชัดเจนเกินไป ไม่ก็เป็นคอมเมนต์ในเชิงลบ เราเลยรู้สึกว่า ถ้ามีเพื่อนที่เข้าใจการแต่งตัวของเราก็ค่อยสบายใจหน่อย (หัวเราะ)

ปรายฟ้า: อย่างที่ได้บอกไปว่ามาตรฐานความงามตอนอยู่สงขลาจะเป็นแบบหนึ่ง ที่พอเราไม่ได้มีหน้าตาแบบพิมพ์นิยม คนรอบตัวก็จะใช้คำว่า ’หน้าเก๋’ ในการชมเรา ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือมันไม่ดี ไม่รู้ว่าคำนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ เพราะถ้าคนไหนสวยหรือน่ารัก เขาก็จะพูดไปตรงๆ ทำให้เวลาโดนคนที่เพิ่งเจอกันชมด้วยคำว่าหน้าเก๋ เราก็จะไม่มั่นใจไปด้วย บวกกับว่าตอนนั้นกฎโรงเรียนเคร่งเรื่องระเบียบทรงผม เราจะต้องตัดผมสั้นเท่าติ่งหู ก็ยิ่งไม่มีความมั่นใจไปกันใหญ่ แต่พออยู่กรุงเทพฯ เราได้หันกลับมาคิดว่า หลายคนก็สวยหลายแบบ เราเลยไม่เปลี่ยนตัวเองตาม beauty standard ที่ใครกำหนด แค่อยากจะดูดีขึ้นในแบบของเราเอง เพื่อนรอบตัวที่กรุงเทพฯ ก็ดูแลตัวเองและสวยในแบบของเขาไปแล้ว เลยรู้สึกว่าอยากทำของเราบ้าง เราเริ่มแต่งหน้ามากขึ้น แล้วพอได้ทำทรงผมที่อยากไว้ เราก็มั่นใจมากขึ้นอีก รู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้นจริงๆ เพราะทรงผมเป็นประเด็นที่ทำให้ความรู้สึกเราเปลี่ยนไปด้วย