Identity

Sound of Youth: ค่าครองชีพสูงเสียดฟ้า ทว่าเงินที่ได้มากลับน้อยนิด

‘ค่าครองชีพสูงเสียดฟ้า ทว่าเงินที่ได้มากลับน้อยนิด’

ฝันร้ายที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของมนุษย์เงินเดือนในเมืองใหญ่

‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงอันศิวิไลซ์ที่เต็มไปด้วยแสงสี เสียง และโอกาสมากมาย ดึงดูดผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้หลั่งไหลเข้ามาแสวงหาความฝัน หนึ่งในนั้นคือ ‘พนักงานเงินเดือน’ กลุ่มคนทำงานที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง ทว่าวิถีชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ถูกปกคลุมไปด้วยความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การต่อสู้กับสภาพการจราจรที่แสนติดขัด การแข่งขันในการทำงานที่เข้มข้น ความเครียดจากภาระต่างๆ ที่จำต้องแบกรับ ตลอดจนค่าครองชีพที่สูงลิบลิ่ว แม้รายได้จากการทำงานจะดูเพียงพอสำหรับสายตาของคนบางกลุ่ม แต่เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบันที่ขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่ใช่เรื่องง่ายในการจะยกระดับคุณภาพชีวิต ซ้ำร้าย หากยิ่งเป็น ‘บัณฑิตป้ายแดง’ หรือ ‘เด็กจบใหม่’ ความท้าทาย การแย่งชิงพื้นที่ตลาดแรงงาน และหนทางในการสร้างรากฐานอนาคตที่มั่นคง และ ในสภาพเศรษฐกิจที่มีความผันผวนเช่นนี้ หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาคือ ‘เงินเดือน’

เห็นได้จากรายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการปี 2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุเอาไว้ว่า เงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานจบใหม่ ระดับปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา ทักษะความสามารถ และการพิจารณาของผู้ว่าจ้าง โดยสาขาที่ได้รับข้อเสนอเริ่มต้นสูงสุดคือ วิศวกรรมศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายงานล่าสุดอีกว่า ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีผู้ว่างงานที่เป็นเด็กจบใหม่จำนวนกว่า 2.3 แสนคน คิดเป็น 64.5% ของผู้ว่างงานทั้งหมดที่หางานแล้วแต่ยังไม่ได้งาน

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้ถึงปัญหาของตลาดแรงงานที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานล้นตลาดจนเกิดการว่างงาน กระทั่งปัญหารายได้ต่ำ แม้ว่าบัณฑิตป้ายแดงหลายรายจะสามารถชิงตำแหน่งและเข้าสู่บทบาทมนุษย์เงินเดือนได้สำเร็จ ทว่าราวกับหนีเสือปะจระเข้ พวกเขาเหล่านี้กลับยังต้องต่อสู้กับปัญหา ‘เงินเดือนสวนทางกับค่าครองชีพ’ ที่คอยกัดกินอยู่อย่างไม่จบไม่สิ้น

Exotic Quixotic ออกสำรวจเพื่อพูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ต่อประเด็นอันน่าหนักใจดังกล่าว ซึ่งมุมมองแทบทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเรื่องของ ‘เงินเดือนที่ได้ไม่คุ้มกับงานที่ทำ’ ‘ค่าจ้างต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ค่าครองชีพกลับสูงลิบ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ต้องยอมรับว่า เพียงก้าวขาออกจากบ้าน ทุกอย่างมีล้วน ‘ค่า’ ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ไปจนถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ซึ่งมีราคาแพงทั้งสิ้น ส่งผลให้รายได้ไม่เพียงพอและสอดคล้องต่อรายจ่ายในชีวิตประจำวัน ทำเอามนุษย์เงินเดือนหลายคนจำต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างสาหัส

“ทำงานมาประมาณ 2 ปี แต่กลับรู้สึกว่ายังบริหารเงินไม่ได้ ชักหน้าไม่ถึงหลังสักเดือน เพราะตอนนี้ค่าเดินทาง ค่าข้าวของเครื่องใช้สวนทางกับเงินเดือนที่ได้ไปเยอะมาก งานที่ทำอยู่ก็ค่อนข้างหนัก ในบางวันมีการทำล่วงเวลา แต่ค่าตอบแทนที่ได้ก็ยังไม่คุ้มกับสิ่งที่ทำอยู่ดี”

คุณเชอร์รี่ พนักงานธนาคาร ย่านใจกลางกรุง กล่าว

เช่นเดียวกันกับ คุณบิว ครูสอนหนังสือประจำสถาบันแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ณ ปัจจุบัน เงินเดือนที่ได้ ขณะที่ต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ยังถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายทุกอย่างมีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของค่าเดินทาง ที่แม้ขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์จะเป็นตัวเลือกที่มีราคาถูก แต่ในสถานการณ์เร่งรีบหรือฉุกเฉินก็ใช่ว่าจะตอบโจทย์เพื่อให้ประหยัดเงินในกระเป๋าได้เสมอไป

อย่างไรก็ตาม แม้หลายเสียงจะออกมาตัดพ้อและเรียกร้องต่อสถานการณ์อันยากลำบากที่เกิดขึ้น ทว่าหากผู้มีอำนาจในการดูแลบริหารปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญและยังปล่อยปะละเลยต่อไป ผลที่จะตามมาจะไม่ได้กระทบเพียงกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น แต่จะขยายขอบเขตและส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ออกไปเรื่อยๆ ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกที่จะช่วยให้เด็กจบใหม่สามารถสร้างอนาคตที่มั่นคง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวต่อไปได้อย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

สำหรับข้อเสนอแนวทางในการแก้ไข มีด้วยกันตั้งแต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลควรพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น การส่งเสริมการจ้างงาน รัฐบาลควรมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจในการสร้างงานใหม่ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรับเด็กจบใหม่เข้าทำงาน อีกทั้งยังต้องพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการหางาน นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้แก่เด็กจบใหม่ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘บัณฑิตจบใหม่ เงินเดือนต่ำ’ ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเฉพาะบุคคลเท่านั้น นี่คือปัญหาระดับชาติ เพราะอย่าลืมว่ากลุ่มคนเหล่านี้ก็เปรียบเสมือน ‘เมล็ดพันธุ์แห่งอนาคต’ การจะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ให้เติบโตงอกงาม ย่อมหมายถึงการสร้างอนาคตที่สดใสให้กับประเทศชาติ ส่วน ‘เงินเดือนต่ำ’ ก็เปรียบเสมือน ‘ดินที่แห้งแล้ง’ หากเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย อนาคตก็มิอาจไม่ผลิดอกออกผลได้อย่างที่หวัง