Identity

Sound of Youth: Porn โตแล้วดูหนังโป๊ได้!

ลามก โจ๋งครึ่ม และผิดกฎหมาย – เหล่านี้คือคำนิยามของ ‘หนังโป๊’ ที่มีมาอย่างยาวนาน และยังมีความหมายอื่นอีกมากมายสำหรับใครหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการผ่อนคลาย การระบายจินตนาการ หรือสิ่งที่ทำให้ได้ค้นพบตัวตน ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

หากย้อนเวลากลับไปอีกสักหน่อย (หรืออาจจะไม่ต้องย้อนเลยก็เป็นได้) หนังโป๊เป็นสิ่งที่ต้องแอบดูหรือพูดถึงอย่างลับๆ ไม่ต่างจากเรื่องเซ็กซ์หรือการช่วยตัวเองที่ถ้าหากพูดอย่างโจ่งแจ้งก็จะกลายเป็นหัวข้อบัดสีบัดเถลิงในทันที ซึ่งก็ไม่ผิดนัก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสบายใจกับบทสนทนานี้ เพียงแค่ในหลายๆ ครั้ง สังคมก็ได้สร้างภาพจำเชิงลบ จนเกิดเป็นชุดความคิดที่ว่า คนที่ดูหรือเล่นหนังโป๊คือคนสำส่อน หมกมุ่นเรื่องเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะถูกตีตราเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นเพศที่ไม่ควรคิดเรื่องใต้สะดือ ทั้งที่การเสพสื่อโป๊ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหากทำอย่างเหมาะสม และผู้เสพมีวุฒิภาวะ พร้อมทั้งวิจารณญาณในการรับชม

อย่างไรก็ตาม การมองว่าการดูหนังโป๊เป็นเรื่องน่าอายก็ค่อยๆ ลดลงตามยุคสมัย ด้วยความตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้น เกิดการแชร์และรีวิวหนังโป๊คุณภาพ ผู้สร้างสื่อและนักแสดงได้รับการยอมรับนับถือในวงกว้าง ความเห็นที่เคยย่ำแย่กลับเบาบางจนสามารถเชื่อได้ว่า มุมมองเกี่ยวกับสื่อลามกและการแสวงหาความสุขทางเพศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ EQ ก็ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเหล่านิสิตนักศึกษาในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้หัวข้อ ‘หนังโป๊’ มาดูกันเลยดีกว่าว่าเป็นอย่างไรบ้าง

คิดอย่างไรกับการดูหนังโป๊

“รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติมากที่ทุกคนจะดูหนังโป๊ เพราะว่าเราก็มีอารมณ์ทางเพศกันได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยระบายได้ก็คือหนังโป๊”

“ถ้าตัวหนังโป๊ถูกทำในแบบที่โอเคกันทั้งสองฝ่าย เราก็รู้สึกโอเคที่จะดู แต่ถ้ามันเป็นหนังโป๊ที่ไปแอบถ่าย บังคับคนอื่น หรือคลิปหลุด ก็ไม่ค่อยอยากสนับสนุน”

“ไม่เอาคลิปโป๊เถื่อน ขอแบบ Sex creator”

ความสัมพันธ์ของคุณกับหนังโป๊เป็นอย่างไร

“มันก็เหมือนสื่อหนึ่งที่เราสามารถเลือกดูได้ แล้วก็ไม่ได้ทำผลกระทบร้ายแรงกับใคร”

“การดูหนังโป๊ก็คือการจัดการตัวเองใช่ไหมคะ มันก็จะช่วยแก้ในจุดนั้นได้”

รู้จักภาวะซึมเศร้าหลังมีเซ็กซ์หรือช่วยตัวเองไหม

“มันอาจจะมาจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องของการช่วยตัวเอง ส่วนตัวก็เคยมีบ้าง แต่ไม่ได้เยอะขนาดนั้น พอพูดถึงแล้วก็รู้สึกได้ว่ามันมีนิดนึง”

“มีบ้างครับ มันจะรู้สึกซึมๆ หลังทำ ไม่รู้ว่าเราทำไปทำไม”

“เคยเห็นผ่าน X เขาบอกว่าผู้ชายมักจะมีมากกว่าผู้หญิง แต่ไม่รู้ว่าซึมหนักขนาดไหน”

คิดว่าการดูหนังโป๊จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไหม

“ไม่นะคะ เขาก็มีชีวิตของเขา มีอารมณ์ส่วนตัวของเขา เราก็มีอารมณ์ส่วนตัวของเรา”

“ดูไปเถอะ มันมีบางคนที่ชอบคิดว่าดูแล้วนอกใจ ซึ่งจริงๆ ก็ดูเป็นความบันเทิงได้”

“บางครั้งเราก็ไม่สามารถช่วยเขาได้ขนาดนั้น การดูหนังโป๊ก็ดีกว่าไปทำกับคนอื่นมากกว่า ถูกไหม”

จากการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะสังเกตได้ว่า ตัวแทนของเจเนอเรชัน Z เหล่านี้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเพศที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ไร้ซึ่งอคติปิดกั้น ด้วยความพร้อมที่จะเข้าใจ แต่สิ่งที่ยังอยู่นอกเหนือการควบคุมและยังต้องรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบ คือการไม่ตีตราบาปแก่สื่อโป๊ที่มีจรรยาบรรณ และทำให้นักขายบริการทางเพศ ทั้ง Sex creator และ Sex worker ถูกกฎหมายในที่สุด

ในปัจจุบัน หนังโป๊ที่เผยแพร่ในประเทศไทยยังจำต้องมีการเซนเซอร์จุดสงวน เช่น หัวนมและอวัยวะเพศ เพราะถ้าหากมีความ “อุจาดตา” ตามดุลยพินิจของศาล มันก็สามารถผิดกฎหมายได้ โดยมาตรา 287 ระบุเอาไว้ว่า การผลิต นำเข้า เผยแพร่ เพื่อการค้า หรือเพื่อแสดงสื่อลามกนั้นถือว่าผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เกิดเป็นความเห็นของจอมพล พิทักษ์สันตโยธิน อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้กล่าวว่า หนังโป๊ที่ถูกต้องตามมาตรฐานกฎหมายไทยนั้นจะต้องเป็นการร่วมเพศแบบปลอมๆ ไม่เห็นเครื่องเพศอย่างชัดเจน หรืออาจทำให้ดูมี “คุณค่าทางศิลปะ” เฉกเช่นเซ็กซ์ซีนในหนังละคร

ส่วนเรื่องของ Sex creator ที่ได้มีการถูกพูดถึงในสัมภาษณ์ครั้งนี้ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้กล่าวเอาไว้ว่า Sex creator จะถูกกฎหมายหรือไม่นั้น ต้องได้รับการพิจารณาในแต่ละกรณีเสียก่อน หากอยู่ในลักษณะของการถ่ายคลิปวิดีโอคู่กับคนรัก ไม่เข้าข่ายความผิดฐานค้าประเวณี ก็อาจจะไม่ตรงต่อนิยามความ “สำส่อน” ในข้อกฎหมาย แต่ถ้ามีการเชิญชวน นัดกันไปค้าประเวณี หรือมีการทำเพื่อค่าตอบแทน ก็อาจสุ่มเสี่ยงไม่ต่างจาก Sex worker เลยก็ว่าได้

ถ้าหากว่าในวันหนึ่งที่ข้อกฎหมายได้ถูกปรับให้ตรงต่อทัศนคติและบริบททางสังคม หนังโป๊ไทยก็อาจจะมีขอบเขตความเสรีที่กว้างขึ้น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เราก็ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าหนังโป๊เป็นสิ่งเลวร้าย หรือเป็นภัยต่อสังคม เพียงแค่ต้องได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งเมื่อดูจากการสัมภาษณ์เยาวชนคนรุ่นใหม่แล้ว แนวโน้มก็ถือว่าเอนเอียงไปในทางที่ดี ชวนให้มีความหวังมากเลยทีเดียว

อ้างอิง

iLaw

Chula Communication Center (CCC)