มนุษย์ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ชีวิตและความคิดอ่านที่แตกต่างกันออกไป เราจึงเชื่อว่า ‘เรื่องที่พูดไม่ได้’ ของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน โดยที่บางอย่างได้ถูกปกปิดเอาไว้เพื่อป้องกันผู้พูดจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ได้ทำสิ่งที่ผิดก็ตาม เราจึงมานั่งคุยกับผู้หญิงทั้ง 3 คนถึงเรื่องราวที่พวกเธอเก็บซ่อนเอาไว้ บ้างก็ได้เปิดเผยออกมา บ้างก็ยังคงไม่ถูกรับฟัง
“เราเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มีงานอดิเรกเป็นการเต้นโพลแดนซ์ และส่วนตัวก็ค่อนข้างที่จะจริงจังกับมัน มีการถ่ายคลิปวิดีโอลงอินสตาแกรมบ้างค่ะ แต่ด้วยความที่เป็นอาจารย์ ก็เลยกลัวว่าการแสดงออกตรงนี้อาจจะไม่เหมาะสมหรือเปล่า เพราะหลายคนจะมีความคิดที่ว่าถ้าเป็นอาจารย์ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักศึกษา ซึ่งเราถือว่าเป็นตัวอย่างให้กับเขา แต่ไม่รู้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีแค่ไหน ทั้งที่การเต้นโพลแดนซ์ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย”
“เราเคยถูก sexual harassment ในที่ทำงานค่ะ เขาคือพี่ที่อยู่ในแผนกเดียวกัน มีอยู่หลายครั้งที่เขาลวนลามเราทั้งทางคำพูดและการกระทำ อย่างเช่นเวลาเดินด้วยกันเป็นกลุ่มแล้วลมพัดแรงๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า “กระโปรงน้องส้มจะเปิดไหมเนี่ย” ในแบบที่ไม่ใช่การแสดงถึงความเป็นห่วง ซึ่งตอนนั้นเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็อยู่ด้วย แต่ไม่ได้ทำอะไรนอกจากขำแห้งและปรามนิดๆ หน่อยๆ อีกครั้งหนึ่งก็คือเขาเอาตัวกับหน้าเข้ามาใกล้เรามากๆ ในตอนที่กำลังประชุมกันอยู่ ตอนนั้นรู้สึกไม่โอเคเลย แต่ก็ไม่กล้าเล่าให้ใครที่บริษัทฟังค่ะ”
“เราอยากลาออกจากงานแต่ยังไม่กล้าค่ะ สาเหตุก็เพราะรู้สึกว่าองค์กรวัดคุณค่าของเราแค่จากจำนวนเงินที่สามารถทำได้ เหมือนเราเป็นแค่หนึ่งในฟันเฟืองที่ทำงานให้นายทุนรวยขึ้น ได้ผลประโยชน์มากขึ้น ในขณะที่เรายังย่ำอยู่ที่เดิม แถมไม่มีความสุขกับงาน แต่ก็ไม่กล้าลาออกเหมือนกัน เพราะมันเป็นงานของธนาคารรัฐวิสาหกิจที่ให้สวัสดิการกับความมั่นคงทางการเงินกับเรา ถ้ายังทำงานนี้อยู่ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่หรือชีวิตหลังเกษียณ มันทำให้เราไม่ค่อยกล้าพูดกับที่บ้านเรื่องลาออกด้วยค่ะ”
เมย์: สำหรับเรา การเต้นโพลแดนซ์เป็นการออกกำลังกายค่ะ เพียงแค่ว่าภาพจำของมันเชื่อมโยงกับความเซ็กซี่ ด้วยความที่จำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นเพื่อให้ร่างกายยึดเกาะกับเสาได้ ก็เลยอาจจะดูไม่เหมาะสมสำหรับบางคน ทำให้ตอนที่เราเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยกล้าโพสต์คลิปที่ตัวเองเต้น เราจะปิดไว้ให้เห็นเฉพาะคนที่สนิทกันเท่านั้น ไม่ให้คนนอกรับรู้เท่าไหร่ค่ะ
ส้ม: ไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าคนจะโทษเหยื่อก่อนค่ะ ด้วยความที่เราใส่กระโปรงทรงเอที่ค่อนข้างจะเห็นขา คนในแผนกส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย และตัวเราในตอนนั้นก็คิดว่าอาจจะไม่มีใครเชื่อหรือมองมันเป็นเรื่องเล็กน้อย เราไม่อยากได้ยินประโยคอย่าง “พี่เขาก็แค่ทำแบบนั้นเอง” ก็เลยพูดเรื่องนี้ให้พี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ลาออกไปแล้วฟังแทน เพราะเขาไม่ใช่คนใกล้ตัว ทำให้สะดวกใจที่จะเล่ามากกว่า
เอ็มเจ: เราไม่อยากให้พ่อแม่ต้องกังวลถึงอนาคตที่ไม่มีสวัสดิการตรงนี้รองรับ ทั้งที่เราไม่ควรต้องทำงานกับรัฐเพื่อให้ได้มันมาด้วยซ้ำ ส่วนตัวไม่กล้าพูดเท่าไหร่ว่าอยากลาออก โดยเฉพาะกับคุณพ่อค่ะ เราคิดว่าเขาสบายใจแล้วกับจุดนี้ที่เรามีหน้าที่การงานมั่นคง หาเลี้ยงตัวเองได้สบาย ก็เลยกลัวว่าตัวเราจะทำลายความหวังของพ่อแม่ที่หมดห่วงแล้ว ทั้งที่ใจจริงเราก็ไม่ไหว อยากจะทำงานที่มีคุณค่าต่อตัวเราด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายแล้ว การจะพูดมันออกไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับความกล้าและน้ำหนักของสิ่งที่เก็บซ่อนเอาไว้ จึงมีทั้งคนที่ได้เปิดเผย ได้รับความช่วยเหลือ หรือยังคงแบกรับปัญหาเอาไว้กับตัวเอง
เมย์: หลังๆ มานี้เราเปิดเผยเรื่องงานอดิเรกนี้แล้วค่ะ อยากอวด อยากโชว์ (หัวเราะ) เพราะว่ามันยากแล้วก็เหนื่อย แถมความเซ็กซี่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้ามีใครมาถามว่าเต้นโพลแดนซ์เหรอ เราก็คงตอบไปว่า “ใช่ รู้ไหมว่ามันยากมาก” คือสมัยนี้คนก็เริ่มเปิดรับกันมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ การเต้นแบบนี้ก็เหมือนเป็น acrobatics แค่มี connotation ของความเซ็กซี่อยู่สูงมาก แต่เราก็สามารถพูดได้เต็มปากว่าเต้นโพลแดนซ์ หรือจะถามเกี่ยวกับการเรียนเต้นเราก็ยินดีตอบค่ะ เพราะต่อให้เป็นอาจารย์ เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน บางคนทำอะไรที่แย่กว่ามาก อย่างการใช้สารเสพติด แต่เราแค่ใส่ชุดที่คล้ายกับบิกินี่ไปเต้นบนเสาเท่านั้น ไม่ได้เดือดร้อนใครด้วยค่ะ
ส้ม: ไม่ได้พูดให้คนใกล้ตัวฟังเลยค่ะ ตอนนั้นคิดว่าจะแจ้ง HR หรือรองประธานแล้ว แต่ก็ไม่กล้าพูดออกไป ทั้งที่พอเป็นเรื่องของคนอื่นก็จะนึกถึงความถูกต้องและสนับสนุนให้เขาแจ้งไปเลย จนกระทั่งได้ยินจากเพื่อนที่สนิทกันว่าพี่คนนั้นโดนเรียกไปตักเตือน เพราะพี่ผู้หญิงคนที่เราเล่าให้ฟังทักไปแจ้งเอง หลังจากนั้นพี่ผู้ชายเขาก็ไม่มายุ่งกับเราอีกเลยค่ะ
เอ็มเจ: คิดว่าสักวันก็คงพูดค่ะ จริงๆ แล้วเคยเปรยกับคุณแม่ไปบ้างว่าจิตใจเราค่อนข้างจะไม่ไหว เขาก็แนะนำให้เราลองขอย้ายแผนกดูก่อน เผื่อว่าจะดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเราด้วยค่ะว่าจะกล้าลาออกไหม เคยอ่านพวก money coach ที่บอกว่าต้องเก็บเงินให้ได้เท่าเงินเดือน 6 เดือนถึงจะลาออกได้หายห่วง ซึ่งต่อให้ทำได้ก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่ดีค่ะ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง กลัวล้มแล้วไม่มีอะไรมารองรับ ประเทศไทยมันอยู่ยากนะคะ วันดีคืนดีจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ ยิ่งไม่กล้าลาออกเข้าไปใหญ่
เมย์: เราก็คงยังเปิดเผยเรื่องการเต้นโพลแดนซ์อยู่เหมือนเดิมค่ะ เพราะอย่างที่บอกไปว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด อาจารย์เองก็เป็นคน และถ้ามองการเต้นแบบนี้ให้เป็นเรื่องอกุศล ทั้งที่จะมองเป็นการออกกำลังกายหรือศิลปะก็ได้ มันก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแล้วล่ะค่ะ
ส้ม: ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คงจะลองบอกเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ดูค่ะ หรือไม่ก็โต้ตอบเขาไปเลย อาจจะแกล้งๆ ด่าแล้วขำ ประมาณว่า “ทำไมพี่ถึงสนใจเรื่องของส้มจังเลย แปลกใจนะเนี่ย” ตอนนั้นคิดในใจอยู่หลายรอบเลยค่ะว่าจะทำดีหรือเปล่า แต่มันก็ยากสำหรับเราที่ไม่สู้คน ไม่รู้ด้วยว่าตัวเองจะโดนอะไรไหม ก็เลยไม่ได้ทำ แต่ตอนนี้อยากจะลองดูสักตั้งค่ะ
เมย์: ที่แน่ๆ เรารู้จักหมอหรือนักกฎหมายที่เต้นโพลแดนซ์และไม่ต้องการให้คนที่ทำงานรู้ เราก็รู้สึกว่าเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกใจของแต่ละคนว่าจะเปิดเผยหรือเปล่า แค่อยากให้ทุกคนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ค่ะ ไม่ต้องอายที่จะทำ เพราะมันเป็นสิทธิของเราและไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น อีกอย่างที่อยากบอกคือ โพลแดนซ์ไม่เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ค่ะ มันแค่คล้ายกับการเต้นของ stripper แต่คือการออกกำลังกายที่ empower ผู้หญิงให้มีความมั่นใจมากกว่า ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับความเย้ายวนเสมอไป
ส้ม: ไม่กล้าบอกให้ใครสู้เลย เพราะส่วนตัวก็ไม่กล้าทำ (หัวเราะ) ถึงอย่างนั้นก็อยากให้คนที่โดนเหมือนเราพูดมันออกมา เริ่มจากคนที่ไว้ใจก่อนก็ได้ค่ะ ซึ่งก็น่าเศร้าเหมือนกัน เราว่าสังคมปัจจุบันไม่ได้มีความตระหนักในเรื่องนี้มากพอที่เหยื่อจะกล้าพูดออกมาว่าตัวเองโดนกระทำได้ ส่วนใหญ่ก็คงไม่กล้าพูดเพราะกลัวโดนตำหนิเหมือนเรานี่ล่ะค่ะ แต่หวังว่าการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ของเราจะมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เชื่อว่ามีอีกหลายคนที่โดน sexual harassment เหมือนกัน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการเดินตาม แอบมองใต้กระโปรง หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีความกล้ามากพอที่จะพูดค่ะ
เอ็มเจ: เราเชื่อว่าทุกคนมีภาระที่แตกต่างกัน ก็คงต้องลองชั่งน้ำหนักดูว่าถ้าลาออกแล้วเราจะสามารถจัดการกับชีวิตหลังจากนั้นได้ไหม เราก็เข้าใจและเป็นกำลังใจให้ค่ะ เข้าใจว่าประเทศของเราไม่เอื้อให้ทุกคนทำตามความฝันขนาดนั้น แล้วก็เป็นกำลังใจให้สำหรับคนที่รู้สึกว่าไม่ไหวและไม่กล้า มันไม่ใช่ความผิดของพวกเราเลยที่สวัสดิการรัฐไม่เอื้อให้เราได้ทำอะไรที่อยากทำขนาดนั้นค่ะ