“หากเลือกได้ ก็คงไม่มีใครอยากอยู่ไกลบ้าน แต่เพราะความเจริญมารวมอยู่ในจุดศูนย์กลางของประเทศ หลายๆ คนจึงเลือกที่จะจากมันมา” คือสิ่งที่นักเขียนได้ยินจากเสียงของเยาวชนทั้ง 3 คนจากจังหวัดต่างๆ ภายใต้หัวข้อ ‘คนต่างจังหวัดที่อาศัยในกรุงเทพฯ’
ผู้คนจากทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้หลั่งไหลกันเข้ามาสู่เมืองหลวงเพื่ออะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่ดี หน้าที่การงานที่ยั่งยืน หรือกระทั่งความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ โดยการจะไขว่คว้ามันมานั้น ก็ต้องพึ่งพาสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ และ ‘ความเจริญ’ ซึ่งหาได้ง่ายกว่าหากย้ายมาอยู่ในเมือง ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะจากบ้านเกิดมา เราจึงต้องการที่จะฟังเสียงของพวกเขา และนำมาตีแผ่ลงในบทความนี้ให้ทุกคนได้อ่านกัน
‘เอิร์น’ ชาวสงขลาและนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปการละคร ที่อยากเห็นศิลปะเจริญงอกงามทั่วประเทศเข้าสักวัน (IG: everybluerhyme)
“ตอบแบบตรงๆ ก็คือเราสอบติดมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ ก็เลยต้องย้ายมา ไม่มีอะไรเป็นพิเศษค่ะ ตอนที่ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แรกๆ ก็ถือว่าไม่มีปัญหาเรื่องการปรับตัวเลย เพราะเราเป็นคนปรับตัวง่าย การใช้ชีวิตในตัวเมืองสะดวกสบายกว่าการอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดในหลายๆ ด้านด้วยซ้ำ แล้วก็พอจะมีญาติที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็เลยมีคนคอยช่วยเหลือในช่วงแรกๆ แค่จะรู้สึกคิดถึงบ้านบ้างเวลาเหงาหรืออยู่คนเดียว สิ่งที่คิดถึงมากที่สุดก็เลยเป็นครอบครัว เพราะเราสนิทกับที่บ้านมาก ถึงจะมีเพื่อนอยู่ด้วยบ่อยๆ ก็คิดถึงคนในครอบครัวอยู่ดี”
‘อลิซ – วิศิ อังศุมาลิน’ นักศึกษาวิทยาลัยการออกแบบเครื่องแต่งกายจากนครศรีธรรมราช ผู้หลงใหลในแฟชั่น แม้จะถูกมองว่าแตกต่าง (IG: wisi_angsumalin)
“เราย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาต่อค่ะ เพราะว่ามหา’ลัยในภาคใต้ไม่มีหลักสูตรวิชาเรียนที่ถูกใจเราสักเท่าไหร่ และส่วนตัวก็เข้ากันไม่ค่อยได้กับทัศนคติของคนที่บ้านเกิดด้วย เท่าที่รู้จักมาคือเขาจะไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องแฟชั่น แล้วก็ยังคิดว่ามันเป็นเรื่องแปลก แค่ย้อมสีผมก็โดนมองว่าประหลาดแล้วค่ะ มีหลายครั้งที่เราโดนพูดใส่ว่า “แต่งตัวอะไร น่าเกลียด” ก็เลยคิดว่าไปเรียนต่อในเมืองดีกว่า จะได้ไล่ตามความฝัน และทำในสิ่งที่ชอบโดยที่ไม่โดนใครต่อว่า มันตอบโจทย์ความต้องการของเรามากกว่าค่ะ
ซึ่งพอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีบ้างที่คิดถึงบ้าน สิ่งที่คิดถึงมากที่สุดคืออาหารค่ะ อย่างเช่นขนมจีนกับแกงฝีมือแม่ มีหลายครั้งเวลาเราไปร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่เขียนว่าอาหารใต้แท้ๆ แต่พอลองชิมแล้วก็…แท้ยังไง (หัวเราะ) อาหารในภาคกลางค่อนข้างติดหวานค่ะ ไม่ใช่รสชาติเค็มมันกะทิคั้นสดแบบที่คนใต้อย่างเราคุ้นเคย ส่วนรองลงมาที่คิดถึงก็คือบรรยากาศ เพราะแถวบ้านเราล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ ทำให้อากาศดีมากๆ มีความเป็นธรรมชาติแบบสุดๆ ค่ะ ต่างจากเมืองกรุงที่หันไปทางไหนก็เห็นตึกอาคาร”
‘เปรียว — ปวีณ์กร ชาวบางน้อย’ Learning Designer ที่จากลาธรรมชาติของสระแก้วมาไล่ตามโอกาสและความฝันในเมืองหลวง (IG: prach.nxp)
“ตอนแรกผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่เชิงว่าอยู่ในตัวเมืองครับ ออกมาแถวชานเมืองหน่อยๆ แต่พอได้งานทำก็ย้ายมาอยู่ในเมืองเลย ก็สะดวกสบายดีนะครับ มีทุกอย่างครบ การขนส่งก็ดี แค่แออัดหน่อยๆ
ส่วนตัวผมเป็นคนปรับตัวเร็วก็เลยไม่ค่อยลำบากตอนย้ายมาอยู่แรกๆ แต่คิดถึงบรรยากาศของที่บ้านครับ กรุงเทพฯ มีแต่ตึกสี่เหลี่ยมกับรถ ต่างจากบ้านที่มีป่า ลำธาร กับทุ่งนา คอนทราสต์กันสุดๆ ทำให้คิดถึงความธรรมชาติในสระแก้วอยู่บ่อยๆ ครับ แต่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงที่ตกตะกอนกับตัวเอง เพราะผมชอบความสะดวกสบายในกรุงเทพฯ แต่ก็คิดถึงบ้านกับครอบครัวด้วยเหมือนกัน”
ความแตกต่างระหว่างบ้านเกิดและเมืองกรุง
เมื่อบทสนทนาเดินทางมาถึงช่วงกลาง เราก็ได้ขอให้พวกเขาบอกเล่าถึงมุมมองว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างจังหวัดบ้านของตนกับกรุงเทพฯ คืออะไร น่าสนใจตรงที่ถึงแม้แต่ละคนจะให้คำตอบต่างกันออกไป จุดร่วมของมันก็คือ ‘คุณภาพชีวิต’
เอิร์น: ความเจริญของกรุงเทพฯ มันมีเยอะกว่ามากๆ ไม่ได้หมายความว่าบ้านเกิดเราไม่เจริญเลย แต่กรุงเทพฯ ก็ยังเจริญกว่าอยู่ดี และถึงแม้ว่ามันจะไม่เจริญเท่ากับเมืองนอก แต่ก็พร้อมจะมอบโอกาสให้กับคนในพื้นที่นั้นมากกว่าต่างจังหวัด ที่เห็นได้ชัดคือการคมนาคมที่ทั่วถึง ต่อให้การคมนาคมในกรุงเทพฯ จะแพงมากในหลายๆ ส่วน มันก็ยังมีรถสาธารณะมากกว่าบ้านเกิดเราหรือหลายๆ จังหวัด ที่ต้องมีรถส่วนตัวถึงจะเดินทางได้ แถมโอกาสในหน้าที่การงานก็มีมากกว่า เพราะทุกบริษัทใหญ่รวมตัวอยู่ในโซนกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงศิลปะ อย่างเราที่เรียนละครก็ไม่เคยได้มีโอกาสดูละครเวทีจริงๆ จนกระทั่งมาอยู่กรุงเทพฯ แม้แต่ตัวเมืองสงขลาที่เจริญพอสมควรก็เพิ่งจะมีหอศิลป์ที่เล็กมากๆ ก็เมื่อตอนเราอยู่มัธยมปลาย ทั้งที่กรุงเทพฯ มีสิ่งนี้มาโดยตลอด และอีกอย่างที่เห็นชัดก็คือการศึกษา เด็กจากต่างจังหวัดพยายามสอบเข้ามหา’ลัยในกรุงเทพฯ เยอะมากๆ เพราะทุกคนรู้ว่าการศึกษาที่นี่มันดีกว่า ตอนเราเรียนมัธยมปลาย เนื้อหาที่ได้เรียนถือว่าธรรมดามากๆ เทียบกับหลักสูตรในกรุงเทพฯ ซึ่งเหนือขั้นไปกว่า อาจจะด้วยคุณภาพของการศึกษาที่ไม่เท่ากัน ทั้งคุณภาพการสอน สภาพสังคม หรืออะไรก็ตาม กรุงเทพฯ เจริญกว่าที่อื่นมาโดยตลอด ไม่อย่างนั้นทุกคนก็คงไม่เข้ามากระจุกกันอยู่ที่นี่
อลิซ: ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือไลฟ์สไตล์ของผู้คนค่ะ คนแถวบ้านเราตื่นกันตั้งแต่ตี 3-4 มากวาดขยะ ทำงานบ้าน แล้วก็ออกไปทำงานที่สวน เที่ยงๆ ถึงจะกลับมาทานข้าว นอนกลางวัน สังสรรค์กับเพื่อน ไปที่สวนอีกทีตอนช่วงค่ำๆ และเข้านอนตั้งแต่ 1-2 ทุ่มค่ะ ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าตอนกลางวันอากาศร้อนมาก แต่กับคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ส่วนมากอาจจะตื่นสัก 7-8 โมง ไปทำงาน กว่าจะเสร็จงานก็ 5-6 โมงเย็น ฝ่ารถติด ยืนเบียดกันบนรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ กว่าจะเดินทางถึงบ้านก็มืดแล้ว คงจะเพราะความวุ่นวายและแออัดของเหมืองหลวงค่ะ อีกอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของความเชื่อ เท่าที่สังเกตคือคนกรุงเทพฯ หลายคนจะเป็นสายมูเตลู ชอบดูดวง ใส่เสื้อสีมงคล ตั้งวอลเปเปอร์เรียกโชคลาภ แต่คนต่างจังหวัดจะเชื่อในศาสนามากๆ เลยค่ะ อยากให้ได้มาเห็นงานบุญหรือพิธีกรรมทางศาสนาของจริงที่นี่ เขาจัดกันอย่างยิ่งใหญ่มาก เพราะที่ยึดเหนี่ยวจิตใจหลักๆ คือศาสนาค่ะ
เปรียว: อย่างแรกในกรุงเทพฯ ที่ทำให้รู้สึกแปลกตาก็คือ ‘แท็กซี่’ ครับ เพราะที่จังหวัดสระแก้วไม่มีแท็กซี่ การขนส่งสาธารณะจะเป็นรถสองแถว และพอนึกถึงตรงนี้ก็ทำให้คิดได้ว่าหนึ่งในความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดคือความสะดวกของผู้พิการ ผมรู้สึกว่าผู้พิการในกรุงเทพฯ ดูได้ใช้ชีวิตกันมากกว่า และส่วนตัวก็ไม่ค่อยเห็นคนกลุ่มนี้ในสระแก้ว อาจจะเพราะมันไม่ง่ายสำหรับเขาที่จะออกจากบ้านเท่าไหร่ครับ ขนาดตัวผมเอง แค่จะออกไปข้างนอกแต่ไม่มีรถก็ลำบากแล้ว สำหรับเขามันคงยากกว่ามาก และอีกอย่างก็คือเรื่องของความสงบครับ อย่างที่บอกไปว่าบ้านของผมมีความชนบท ก็เลยจะเคยชินกับธรรมชาติและความสงบตรงนี้ แต่กรุงเทพฯ วุ่นวายมาก ผู้คนแข่งกันใช้ชีวิต จนบางครั้งก็สงสัยว่าทำไมคนเราต้องพยายามขนาดนั้น เพื่อที่จะใช้ชีวิตให้ผ่านไปในแต่ละวัน
สักวันหนึ่งที่ความเจริญกระจายออกไปจากเมืองหลวง เส้นทางที่เลือกก็คงไม่เหมือนในปัจจุบัน
อย่างที่ได้เกริ่นไปเมื่อตอนต้นว่า หากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากไปจากบ้านที่คุ้นเคย และเราก็เชื่อว่าแต่ละคนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกันสักเล็กน้อย ก่อนจะต้องแยกย้ายเพื่อทำตามหน้าที่และความฝันกันต่อไป
เอิร์น: ถ้ามันเจริญเท่ากันหมดจริงๆ อยู่ที่ไหนก็คงเหมือนกันในแง่ของความเจริญ แต่ในแง่ของสภาพสังคมและวัฒนธรรมก็ยังคงแตกต่าง ซึ่งเราก็คงเลือกที่จะอยู่บ้านเหมือนเดิม เพราะการจะย้ายไปไหนมาไหนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเยอะมากๆ การอยู่บ้านมันประหยัดกว่าเยอะ อีกอย่างคือเราได้อยู่กับครอบครัวที่เรารัก ได้อยู่ในที่ที่เราคุ้นชินมาตั้งแต่เกิด อยู่กับอะไรที่เราสบายใจจะอยู่ด้วย
อลิซ: ถ้าความเจริญกระจายมาถึงบ้านเราแล้วก็คงดีค่ะ แต่อีกคำถามที่ตามมาก็คือ “ทัศนคติของคนที่นี่เปลี่ยนไปแล้วหรือยัง” จริงๆ แล้วเราไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้คนของเมืองนั้นจะยอมรับความชอบและตัวตนของเราได้หรือเปล่า อย่างตัวเราที่ชอบแฟชั่นก็เลือกมาเรียนในกรุงเทพฯ เพราะคนที่นี่ไม่ค่อยสนใจว่าเราจะแต่งตัวยังไง แถมยังมีคนที่ชอบเหมือนเราอยู่เยอะแยะ การเรียนการสอนด้านแฟชั่นก็จะเน้นด้านการตามเทรนด์ด้วยค่ะ แต่ถ้าเรียนที่ภาคใต้ก็จะเน้นไปทางหัตถกรรมมากกว่า แถมเวลาแต่งตัวจัดก็จะโดนมองว่าประหลาดด้วย ถ้าทัศนคติของคนแถวบ้านเปลี่ยนไปในทางที่ดี และความเจริญเข้ามาถึงด้วย เราก็คงไม่ไปกรุงเทพฯ ค่ะ จะได้อยู่บ้านที่มีทั้งของกินอร่อยๆ กับธรรมชาติที่ชอบ
เปรียว: ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่บอกว่า “กรุงเทพฯ จะทำให้ความฝันของเราเป็นจริงได้ แต่มันไม่ได้ทำให้เข้าใกล้ความสำเร็จ แค่มีโอกาสมาเสริม” ทุกวันนี้โอกาสในต่างจังหวัดมันน้อยมากครับ งานก็น้อย ทั้งในแง่ของจำนวนแล้วก็ความหลากหลาย ทั้งที่สิ่งนี้มาพร้อมกับความเจริญ และมันก็ไปกระจุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งพอมาอยู่ที่นี่แล้วผมได้รับโอกาสมากขึ้นก็จริง แต่ไม่ได้ทำให้มันง่ายขึ้นเลย โดยเฉพาะสำหรับ first jobber ที่การเก็บเงินเป็นเรื่องยากมาก มันต้องดิ้นรน ต่อสู้กับอะไรก็ไม่รู้ ทำให้ชีวิตที่เราวาดฝันไว้ว่าจะอยู่อย่างสงบสุขแลดูเป็นเรื่องยากไปเลย สมมติว่าความเจริญและหน้าที่การงานมันกระจายออกมานอกกรุงเทพฯ บ้าง ถ้าสระแก้วมีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ผมก็ไม่อยากไปจากบ้านนะ หลายๆ คนคงตอบเหมือนกัน เพราะยังไงเราก็รู้จักและคุ้นชินกับบ้านของตัวเองมากกว่า
สิ่งที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อคุณภาพชีวิตของคนในบ้านเกิดที่ดีขึ้น
เอิร์น: เราอยากให้มันมีการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ ทุกประเด็นเลย ขอสรุปสั้นๆ ว่าเราอยากให้ความเจริญมันเดินทางไปถึงทุกพื้นที่ของประเทศ อยากให้ทุกคนในประเทศที่เสียภาษีเหมือนกันได้รับอะไรที่เท่าเทียมและดีกว่านี้ สิ่งที่สำคัญสุดๆ ก็คือการศึกษาที่มีมาตรฐาน การคมนาคมขนส่งที่ทั่วถึง การมีสาธารณสุขที่ดี การได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเท่าเทียม หรืออะไรก็ตามที่เราทุกคนสมควรได้รับ เราอยากให้ทุกๆ พื้นที่รวมถึงกรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนามากกว่านี้ ทุกคนจะได้ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาล คุณภาพชีวิตของทุกคนจะได้ดีขึ้น
อลิซ: เราอยากให้มีการส่งเสริมอาชีพการงานให้กับคนต่างจังหวัดค่ะ เพราะแต่ละท้องที่ก็มีจุดเด่นของมัน อย่างเช่นงานคราฟต์ สินค้าทำมือ อาหาร ขนม หรืออะไรก็ตาม ถ้ามีการสนับสนุนตรงนี้จริงๆ ก็จะสร้างอาชีพให้คนได้อีกมาก เราเองก็อยากเรียนให้จบด้านการออกแบบเสื้อผ้า และนำตรงนี้มาพัฒนาผ้าทอท้องถิ่น ให้มีการค้าขายแล้วก็พัฒนาชุมชน สร้างความเจริญตรงจุดนี้ขึ้นมา ลูกหลานคนต่างจังหวัดจะได้ไม่ต้องไปดิ้นรนในเมืองหลวงที่การแข่งขันและค่าครองชีพสูงค่ะ เราเชื่อว่าหลายๆ คนก็ไม่อยากไกลบ้าน แค่ไม่มีทางเลือก ถ้าอยากทำตามความฝัน
เปรียว: ผมยังไม่เคยเห็นภาพคนมีอำนาจเข้ามาพูดคุยกับเราที่บ้าน เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองหรือคุณภาพชีวิตคนโดยตรง จนอายุ 22 แล้วก็ยังไม่เคยเห็น หรือได้คุยกับคนที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ถ้าเรามีคนๆ นั้นที่จะคอยใส่ใจเรื่องความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มันก็คงจะดีขึ้นครับ ผมอยากให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ที่ตัวเองอยู่ อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าและมองมันมากกว่าแค่ที่อยู่อาศัย จะได้อยากพัฒนามันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ครับ เราจะได้เห็นผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อชุมชนหรือบ้านของตัวเอง ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจะดีแค่ไหน