Identity

‘รักใดเล่าจะเท่ารักตัวเอง’ Status Single ชุมชนคนโสด และการเฉลิมฉลองแด่ความโสด

“ทำไมถึงยังไม่มีแฟน”

“อายุก็ปูนนี้แล้ว หาแฟนได้แล้วนะ”

“คบๆ เลิกๆ บ่อยมาก ชีวิตรักล้มเหลวตลอด”

“คนนั้นเป็นแม่ม่าย น่าสงสารมาก”

หลายครั้งหลายหนที่คนโสดมักจะได้ยินเสียงบ่นปนความห่วงใยที่ไม่ต้องการ จากทั้งครอบครัว ป้าข้างบ้าน คนรอบข้าง กับความกังวลที่มาพร้อมคำถามว่าทำไมถึงยังครองตัวเป็นโสด ทำไมถึงยังไม่มีแฟน ทำไมไม่แต่งงาน ไปจนถึงการตั้งคำถามเวลาหย่าร้างกับอดีตคนรัก ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ

หากมองในแง่ดี อย่างน้อยเสียงบ่นของป้าข้างบ้าน เสียงเป็นห่วงจากบรรดาญาติๆ คนในครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน ก็ยังเป็นแค่การบ่นแล้วปล่อยผ่านไปได้ ถ้ายังไม่ถึงขั้นบังคับกดดันให้ต้องหาคู่ หรือจับคลุมถุงชนแบบที่คนรุ่นก่อน 

ถ้ามองในแง่ดี เสียงบ่นเหล่านี้เมื่อพูดจบแล้ว ก็หายไปกับสายลม แต่กับผู้หญิงอินเดียจำนวนมาก พวกเธอกำลังเผชิญหน้ากับค่านิยม ที่เหมือนกำลังสร้างความรู้สึกผิดให้กับคนที่ยังเป็นโสด ควบคู่กับการพร่ำสอนว่าจะต้องรีบแต่งงานแล้วเป็นภรรยาที่ดี มีลูกแล้วก็ต้องเป็นแม่ที่ดี 

นอกจากหญิงโสดแล้ว หญิงที่สามีตาย สามีทิ้ง ขอแยกทาง เปลี่ยนคู่แต่งงาน สถานะทางสังคมของหญิงเหล่านี้ก็จะหายไปจากสังคมทันที กลายเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า หรือมีความหมายเท่าเดิมอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นความผิดของพวกเธอแม้แต่น้อย  

Photo Credit: The Conversation

อินเดียยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีค่านิยมและจารีตที่จำกัดกรอบสตรีที่เข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะหญิงโสดและหญิงม่าย บ่อยครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวชีวิตแม่ม่ายในอินเดียที่ถูกกีดกันจากชุมชน พวกเธอจะไม่สามารถร่วมงานรื่นเริงหรืองานมงคล เพราะตามความเชื่อในแบบฮินดูโบราณระบุว่าหญิงม่ายเป็นที่อับอายของครอบครัว ถึงขั้นที่ว่าหากเงาของเธอไปตกที่ไหน ก็จะทำให้พื้นที่นั้นๆ หรืองานมงคลกลายเป็นงานที่ไม่มงคลอีกต่อไป  

Photo Credit: The Hindu

ค่านิยมแบบกดทับนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญทำให้เกิด ‘Status Single’ คอมมูนิตี้ด้านสิทธิสตรีในอินเดียที่กำลังขยายไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก พวกเธอพร้อมจะเฉลิมฉลองให้กับความโสด ยินดีให้กับการมีสิทธิเสรีภาพ และความภาคภูมิใจในตัวเอง แม้จะยังต้องอยู่ภายใต้กรอบสังคมแบบปิตาธิปไตยก็ตาม

จุดเริ่มต้นของสตรีผู้สร้างชุมชนสาวโสดในอินเดีย

ศรีมญี ปี คุนดู (Sreemoyee Piu Kundu) อดีตนักข่าวที่ปัจจุบันผันตัวเป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีจากเมืองโกลกาตา ผู้ต้นคิดที่จะสร้างชุมนุมคนโสดเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไปจนถึงพื้นที่เพื่อปลอบโยนผู้หญิงในอินเดีย

Photo Credit: BBC

ประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของเธอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอสนใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และไม่ควรมีใครก็ตามต้องถูกดูหมิ่น และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์จากแค่การเป็นหญิงโสด หรือหญิงม่าย 

วัยเด็กของศรีมญีอาจเป็นชีวิตที่เศร้าโศกสำหรับหลายคน พ่อของเธอตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม เหลือเพียงเธอกับแม่ ที่กลายเป็นหญิงม่าย ทันทีทีข่าวการสูญเสียของครอบครัวเธอแพร่กระจายไปทั่วชุมชนอย่างรวดเร็ว แม่ของศรีมญีถูกห้ามเข้าร่วมงานมงคล เช่น งานแต่งงาน งานที่เฉลิมฉลองให้กับเด็กแรกเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ ตามความเชื่อที่กล่าวมาข้างต้น 

“เมื่อแม่ของฉันอายุ 44 ปี เธอตกหลุมรักอีกครั้งกับผู้ชายจากอีกหมู่บ้าน เขาอายุน้อยกว่าแม่ 13 ปี ตอนนั้นเองที่แม้แต่เพื่อนๆ ของแม่ยังรู้สึกอิจฉา และฉันสงสัยมากว่าหลังจากสูญเสียสามีไป อะไรที่ทำให้แม่มี ‘ความกล้า’ พบรักอีกครั้งในตอนที่อายุมากขึ้น”

แม่ของศรีมญีที่มีสถานะเป็นหญิงม่าย ไม่ได้สนใจเสียงของคนในชุมชน ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่แม่ของเธอเจอมาตลอดหลายปีนั้นหนักหนามากพอดู และกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศรีมญีมองว่าการเป็นโสดน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานี้

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ตอกย้ำว่าเธออาจคิดถูก เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปยังเมืองบังคาลอร์ เพื่อเป็นผู้บรรยายในงานเสวนาสื่อและไอที อยู่ๆ เธอมีอาการคล้ายกับเป็นลมชัก ศรีมญีถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชน ก่อนจะพบกับความรู้สึกไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า 

“ตอนกำลังนอนพักฟื้น เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลหรูเอาแต่ถามฉันว่ามาที่เมืองนี้กับใคร แล้วถามย้ำๆ ว่าทำไมฉันถึงตัวคนเดียว หนักสุดคือแพทย์คนหนึ่งบอกให้ฉันรีบหาคนมาอยู่เคียงข้าง เร่งเร้าให้ฉันรีบแต่งงานเพื่อจะได้รอรับมรดกก้อนโต”

Photo Credit: The Hindu

ในตอนนั้นเอง ตอนที่กำลังจรดปากกาติ๊กสถานภาพในแบบฟอร์มเข้ารับการรักษา ศรีมญีจ้องสองคำระหว่าง ‘โสด’ กับ ‘สมรส’ อยู่พักหนึ่ง กลายเป็นว่าเอกสารแสนธรรมดาที่หาจากที่ไหนก็ได้รวมเข้ากับประสบการณ์หลากหลายที่ได้พบเจอมา ทำให้เธอเกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือชื่อว่า ‘Status Single’ ที่ต่อมากลายเป็นชื่อชุมชนออนไลน์สำหรับสาวโสดทั่วประเทศ

สำรวจความเหลื่อมล้ำทางเพศที่สตรีในอินเดียต้องพบเจอ 

พักเรื่องชุมชนออนไลน์เพื่อคนโสดไว้ชั่วคราว แล้วแวะสำรวจเรื่องราวน่าตกใจที่ผู้หญิงอินเดียต้องเจอไปพร้อมกัน สถิติจากการสำรวจสำมะโนประชากรพบว่า ในปี 2011 ผู้หญิงอินเดียกว่า 71 ล้านคน มีสถานะเป็นโสด เพิ่มขึ้นจากปี 2001 มากถึง 39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความโสดนี้ครอบคลุมถึงหญิงที่ยังไม่แต่งงาน แม่ม่ายหย่าร้าง สามีตาย และผู้หญิงที่ถูกสามีของตนทอดทิ้ง 

ความโสดในอินเดียนั้นค่อนข้างน่ากลัวและหดหู่กว่าที่หลายคนคาดคิดรัฐฌารขัณฑ์ทางตะวันออกของอินเดีย มีชุมชนที่เชื่อว่าผู้หญิงโสดเป็นคนที่มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าคนกลุ่มอื่นๆ พวกเขาจะเข้ามาวุ่นวายกับการจัดการทรัพย์สินของผู้หญิง และบางกรณีก็หยิบเอาประเด็นความเชื่ออย่างไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ท่องคาถาอาคมเพื่อทำให้ดูน่าศรัทธาเชื่อถือแกมบังคับให้พวกเธอหยุดพูด หยุดขัดขืน หยุดต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ไปจนถึงการตราหน้าว่าเป็นพวกนอกรีต เป็นแม่มด ท้ายที่สุดผู้หญิงบางคนถูกสังคมคว่ำบาตร ถูกรุมประชาทัณฑ์จนตาย และร่างของพวกเธอก็ถูกทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อยตามธรรมชาติ ไม่มีการเผา ฝัง หรือทำพิธีกรรมตามความเชื่อใดๆ แม้ว่าในยุคสมัยนี้ ที่เป็นยุคแห่งการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน 

Photo Credit: TheSundayGuardian

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญก็ยังขึ้นอยู่กับนโยบายระดับภาครัฐเกี่ยวกับความเท่าเทียม ที่ไม่มีความแน่นอน เห็นได้จากปี 2020 รัฐฌารขัณฑ์ยังคงตอกย้ำค่านิยมกดขี่สตรี ด้วยการยกเลิกนโยบายสนับสนุนให้สตรีได้มีสิทธิลงทะเบียนทรัพย์สินที่รัฐบาลชุดก่อนวางไว้ โดยอ้างว่านโยบายนี้กำลังถูกใช้ไปในทางที่ผิด แง่ของการรับสวัสดิการจากภาครัฐ หญิงม่ายจำนวนมากถูกบีบให้ออกจากระบบเพราะพวกเธอจำเป็นต้องใช้เอกสารที่มีชื่อสามีเพื่อรับเงินสวัสดิการ หรือบางคนที่ได้รับเงินบำนาญ เมื่อสามีตายหรือถูกทิ้ง พวกเธอก็จะถูกตัดชื่อออกทันที

Photo Credit: The Conversation

ในปี 2016 กระทรวงพัฒนาเด็กและสตรี พยายามจัดระบบการกระจายสวัสดิการรัฐใหม่ ด้วยการตรวจสอบรายชื่อประชากรเพศหญิงที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียสามี ให้ยังคงได้รับสวัสดิการตามที่พวกเธอควรจะได้รับ

ทว่าแผนดังกล่าวก็ยังคงพบปัญหาติดขัดอีกครั้ง เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอย ธนาคารหลายแห่งเปลี่ยนข้อกำหนดให้ผู้หญิงโสดที่มีฐานะทางสังคมต่ำ หรือเป็นผู้ที่ฐานะทางการเงินที่ไม่มั่นคง จะต้องใช้ชื่อพ่อแม่เป็นหลักประกันเสียก่อน ถึงจะทำให้พวกเธอสามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือทำเรื่องขอกู้เงินได้ กลายเป็นว่าผู้หญิงอินเดียบางคนไม่ได้ทั้งสวัสดิการรัฐ หรือแม้กระทั่งเปิดบัญชีธนาคารเป็นของตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ  

“อินเดียมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิง”

ปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศก็นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พบบ่อยในอินเดีย The New York Times เคยระบุตัวเลขคดีข่มขืนในปี 2021 มี 31,677 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2012 มากถึง 24,923 คดี โดยตัวเลขคดีความที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามปราบปรามความรุนแรงต่อเพศหญิงมากขึ้น ให้ตรงตามการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่เข้มงวดขึ้น 

Photo Credit: Outlook India

สิทธารถ ดูบีย์ (Siddhartha Dubey) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Medill School of Journalism มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) กล่าวกับสำนักข่าว Fox News ช่วงหลังมานี้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีความรุนแรงสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมือง ถ้าอ่านข่าวจะเห็นว่ามีข่าวการทำร้ายร่างกายและข่มขืนทุกวัน และส่วนใหญ่เหยื่อจะเป็นหญิงสาวที่กำลังเดินทางกลับบ้านหลังเลิกงาน

เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ คนรุ่นใหม่จากพื้นที่ห่างไกลที่เข้าเมืองใหญ่เพื่อทำงาน ต้องพึ่งพาการเช่าห้องพักกับหอพักหญิงแบบกำหนดเวลา ที่จะควบคุมการเข้า-ออก เช่น บางหอกำหนดว่าห้ามเข้าหลังเวลา 21.30 น. และยังมีการใช้กฎห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามสูบบุหรี่ หรือห้ามพาผู้ชายเข้าห้อง ผู้หญิงต้องยอมลดเสรีภาพของตัวเองลง เพื่อความปลอดภัยในชีวิต 

“จริงๆ แล้วเคอร์ฟิวไม่ใช่ทางออก สังคมจะต้องทำความเข้าใจและเคารพต่อความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงมากกว่านี้”

Photo Credit: Fund for The Global Human Rights

เพราะสังคมมันเห่ย เลยทำให้เกิด ‘Status Single’ ชุมชนคนโสดแด่คนโสด

ไม่นานหลังจากหนังสือ Status Single ของศรีมญีถูกตีพิมพ์ เธอได้พบกับผู้หญิงมากหน้าหลายตาจากงานเซ็นหนังสือและจากการเขียนคอลัมน์ Below the Belt ให้กับเว็บไซต์ DailyO ที่สัมภาษณ์ผู้หญิงโสดกว่า 3,500 คน 

ผู้หญิงแต่ละคนมีเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง เช่น สาวโสดที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในบ้าน ผู้หญิงที่ถูกสังคมขับไล่เพราะเป็นแม่ม่าย เด็กสาวในเมืองใหญ่ที่ถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานโดยไม่เต็มใจ ไปจนถึงหญิงข้ามเพศที่มีชีวิตแสนยากลำบากไม่แพ้กัน และคนส่วนใหญ่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน Status Single

ปัจจุบัน Status Single มีกลุ่มทั้งในเฟซบุ๊ก และ WhatsApp แบบเฉพาะแบ่งตามเมืองต่างๆ เช่น กลุ่มแชตในมุมไบ บังคาลอร์ เดลี ลัคเนา และโกลกาตา ก่อนจะขยายกลายเป็นมูลนิธิที่ให้คำปรึกษาแก่สตรีทั้งด้านกฎหมาย การเงิน และการแพทย์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ก็ล้วนเป็นสมาชิก Status Single ที่รู้สึกว่าอยากใช้ความถนัดหรือความสามารถของตัวเองทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือคนที่เจอเรื่องราวคล้ายกัน  

แนวคิดการสร้างกลุ่มที่เชื่อมโยงผู้หญิงในอินเดียเข้าด้วยกัน เกิดขึ้นเพราะไม่อยากให้ใครก็ตามรู้สึกโดดเดี่ยว 

“ตราบใดที่ฉันมีความมั่นคงทางการเงินและเป็นอิสระ ครอบครัวก็จะไม่ยุ่งกับฉัน”

ประโยคนี้มาจาก สวารุป (Swarup) หญิงสาวที่พอใจจะบอกแค่นามสกุลของตัวเอง เธอเป็นคนในกลุ่ม Status Single ที่แสดงความคิดเห็นต่อมุมมองเรื่องเพศว่าตัวเองไม่ได้รู้สึกต่อต้านเพศชาย เธอมีความสัมพันธ์กับผู้ชายดีๆ หลายคน แต่ไม่เคยรู้สึกว่าจำเป็นจะต้องแต่งงาน รู้สึกดีที่พ่อแม่ไม่ได้ก้าวก่ายการตัดสินใจของเธอ ตราบใดที่เธอยังคงมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง 

ตลอด 20 ปี สวารุปเดินทางคนเดียวไปยังพื้นที่ต่างๆ เคยพิชิตเทือกเขาหิมาลัย ล่องเรือในกรุงเวนิส และหวงแหนการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เที่ยวทั่วโลกคนเดียว เพราะหลงใหลในความสะดวกสบาย การตัดสินใจเด็ดขาด ลงมือทำทันทีถ้าตัวเองพร้อมโดยไม่ต้องรอคนอื่น 

ความโสดไม่ใช่เครื่องการันตีว่าสตรีไม่มีคุณค่า 

นักวิเคราะห์หลายคนมองการเกิดของกลุ่ม Status Single ว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ สังคมอินเดียส่วนใหญ่ยังคงยึดติดกับวัฒนธรรมดั้งเดิม ผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว หากบ้านไหนมีลูกสาว พอแต่งงานลูกสาวก็จะย้ายเข้าบ้านสามีและอยู่กับครอบครัวของสามี เป็นระบบครอบครัวร่วม ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับอินเดีย แต่ยังเห็นได้ในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย 

Photo Credit: BBC

ตอนนี้โครงสร้างทางสังคมในอินเดียกำลังเปลี่ยนไป ผู้หญิงเริ่มมีการศึกษามากขึ้น พวกเธอพึ่งพาตัวเองได้ หาเงินเองได้ หลายคนเริ่มยืดระยะเวลาการแต่งงานออกไปเรื่อยๆ แล้วให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานของตัวเองก่อน ควบคู่กับการรณรงค์ของศรีมญีที่ย้ำว่าผู้หญิงไม่จ�