จริงๆ แล้วการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้ง (Abortion) นั้นดูเรื่องที่ห่างไกลตัวผู้เขียนอยู่พอสมควร แต่ด้วยเพศสภาพที่ยังคงเป็นผู้หญิงบวกกับวิถีชีวิตที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนหญิง จึงเข้าใจดีว่าทำไมหลายคนต้องเดินหน้าต่อสู้เพื่อผลักดันให้การทำแท้งเป็นสิทธิ์ที่ผู้หญิงพึงกระทำได้อย่างปลอดภัย และปราศจากบทลงโทษทางกฎหมายและทางสังคม จนทำให้วันนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิด ทั้งในแง่ของกฎหมายและแง่ของสังคมที่เปิดกว้างขึ้น ดังที่เห็นว่าเราพูดถึงเรื่องนี้ได้เปิดเผยมากขึ้น หรือกระทั่งมีการรีวิวกระบวนการทำแท้งให้เห็นอยู่บ่อยๆ
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่ใครหลายคนเห็นอยู่ตอนนี้จะดีขึ้นกว่าในอดีต แต่สำหรับ ตุ๊กตา - นิศารัตน์ จงวิศาล ตัวแทนจากกลุ่มทำทาง องค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อขับเคลื่อนสังคมที่ปราศจากอคติต่อการทำแท้งปลอดภัย และหนึ่งในผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้งมาก่อน มองว่า “มันยังดีกว่านี้ได้อีก และมีอีกหลายส่วนที่ยังต้องปรับเปลี่ยน”
รู้จักกลุ่มทำทาง
ถ้าพูดถึงกลุ่มทำทาง บางคนที่อยู่ห่างจากเรื่องทำแท้งอาจไม่รู้จักมากนัก งั้นเราจะลองเปลี่ยนเป็น “เพจคุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง” หรือ “พอดแคสต์ทำแท้งทอล์ค” ที่ได้พูดคุยกันไปถึง EP ที่ 37 แล้ว เชื่อว่าคงจะร้องอ๋อออ! เพราะคงต้องเคยไหลผ่านหน้าฟีดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์กันบ้างล่ะ
คุณตุ๊กตาเล่าว่ากลุ่มทำทางก่อตั้งโดยคุณชมพู่ สุพีชา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศและผู้มีประสบการณ์ทำแท้ง ที่รู้สึกไม่โอเคกับการตีตราผู้หญิงทำแท้ง จากข่าวเจอซากตัวอ่อนนับพัน ในวัดแห่งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ. 2553 เลยเริ่มเขียนบล็อกเล่าประสบการณ์ทำแท้งของตัวเอง แล้วจัดตั้งระบบให้คำปรึกษาทางอีเมล ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นโทรศัพท์ และปัจจุบันคือทางไลน์ ตอนนี้มีทีมงาน 10 กว่าคนแล้ว ซึ่งนอกจากการให้คำปรึกษา ก็มีการทำงานรณรงค์ ไปร่วมอีเวนต์ ไปม็อบ ทำสื่อให้ความรู้ลงโซเชียลมีเดีย มีพอดแคสต์ที่พูดถึงเรื่องทำแท้งในหลายมิติบนพื้นที่สาธารณะ และงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการผลักดันด้านกฎหมายทำแท้ง เพื่อร่วมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้หญิงทำแท้ง
เคสน้อยลงแต่โจทย์ยากขึ้น
เมื่อมาถึงยุคนี้ที่สังคมค่อนข้างเปิดกว้างมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลก็ง่ายขึ้น การทำงานของกลุ่มเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า
“พอกฎหมายทำแท้งผ่าน คนมาขอรับคำปรึกษาก็น้อยลง เพราะเว็บไซต์เครือข่าย RSA (เครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่เปิดเผยได้ เช่น รายชื่อคลินิกสวท. คลินิก PDA คลินิกเอกชน เป็นต้น ดังนั้นคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้และมีเงิน ก็สามารถไปทำแท้งได้ทันทีเลย ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่คนที่ยังมาหาเราอยู่จะเป็นคนที่มีปัญหามากขึ้น เช่น มีปัญหาเรื่องเงิน หรือคนที่ติดอยู่ในความสัมพันธ์ที่ขยับตัวได้ยาก เรียกได้ว่าเคสน้อยลงแต่ยากขึ้น หลังจากให้คำปรึกษาแล้วเราก็จะให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม เช่น ถ้าคุณไม่มีเงินเรามีกองทุนช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤตจากการท้องไม่พร้อม ถ้ามีปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เราจะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่”
กฎหมายดีขึ้นแต่ยังไม่ตอบโจทย์
จากที่เล่ามา แปลว่ากฎหมายทำแท้งในปัจจุบันมันโอเคกับผู้หญิงแล้วใช่ไหม?
“มันก็ดีขึ้นแล้วนะ วิธีการทำแท้งในปัจจุบันกฎหมายเปิดพอสมควร คือให้ทำได้แบบไม่มีเงื่อนไขถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่ถ้าเกินแล้วและไม่อยากมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ จะต้องทำกับแพทย์ภายใต้เงื่อนไข เช่น ถูกข่มขืน เงื่อนไขด้านสุขภาพกายและใจ ฯลฯ แต่คิดว่ามันยังดีกว่านี้ได้อีก”
“พี่รู้สึกว่ากฎหมายนี้มันไม่ได้เขียนมาเพื่อผู้หญิง แต่เขียนมาเพื่อเป็นหลักพิงให้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า เพราะถ้าเขียนขึ้นมาเพื่อผู้หญิงจริงๆ จะต้องไม่มีบทลงโทษเลย กฎหมายต้องยืนอยู่บนสิทธิ์ของผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร่างกาย อันนี้คือเรื่องของอนาคตที่เราจะต้องมาทำแคมเปญล่ารายชื่อกันอีกครั้งเพื่อยกเลิก ม.301 อย่างจริงจัง ส่วนตอนนี้เราก็กำลังมีแคมเปญขอให้กรมอนามัยเปิดเผยรายชื่อสถานบริการทำแท้งปลอดภัยบนสื่อสาธารณะอยู่ เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาสามารถเข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนของรัฐที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องนี้เลย ยกเว้นหมอวรชาติ โรงพยาบาลพิมาย ซึ่งการปิดบังข้อมูลมันจะทำให้การทำแท้งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนกลายเป็นเรื่องฉุกเฉิน”
กฎหมายยังติดขัดอาจเพราะสังคม
สิ่งหนึ่งที่มักจะเห็นเวลาใครออกมาขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งคือ “ความคิดต่าง” ซึ่งผู้เขียนคิดว่านี่อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กฎหมายเปิดกว้างสุดๆ ไม่ได้สักที โดยเหตุผลที่ถูกยกมาพูดถึงกันบ่อยมากคือ กฎหมายที่เปิดกว้างจะทำให้คนมีเซ็กส์แบบไม่รับผิดชอบกันมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาสังคมอย่างคุณแม่วัยใส คุณตุ๊กตามองเรื่องนี้อย่างไร
“1. อิทธิพลของสังคมชายเป็นใหญ่กำลังตีตราการท้องไม่พร้อมให้เชื่อมโยงกับความเป็นแม่ ทั้งๆ ที่ผู้ชายก็ควรมีส่วนรับผิดชอบ คุณต้องเอาค่านิยมนี้ออกไปแล้วมองใหม่ว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการแสวงหาความสุขทางเพศ 2. มันเป็นเรื่องของความคิดที่มองว่าการเป็นแม่คือบทลงโทษคนอายุน้อยที่มีเซ็กส์ 3. เงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน คุณรู้ได้ยังไงว่าเขาท้องเพราะไม่ป้องกัน เขาอาจท้องเพราะถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการฝังยาคุม หรืออยู่ในความสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่าก็ได้ ทั้งหมดนี้มันมาจากการที่คุณยังไม่รู้จักเขาดีเลย แต่ไปตัดสินว่าเขาแส่หาเรื่องเอง”
เธอตอบก่อนจะเล่าตัวอย่างเคสที่เงื่อนไขชีวิตทำให้เธอท้องไม่พร้อมว่า ผู้หญิงอายุ 19 ปีคนหนึ่งต้องการไปฝังยาคุมที่โรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลไม่ทำให้ เพราะเธอไม่เคยมีลูกมาก่อน ได้แต่แนะนำให้ฉีดยาคุมทุก 3 เดือนแทน ทำให้ร่างกายมีเอฟเฟคค่อนข้างน่ารำคาญ เช่น เลือดมาแบบกะปริดกะปรอยทุกวัน พอฉีดครบปีเขารู้สึกว่าไม่ไหวต้องหยุดแล้ว เลยกลับไปกินยาคุม สรุปว่าท้องขึ้นมา ซึ่งระหว่างนั้นก้มีปัญหาเรื่องอัลตราซาวด์ และการพูดจาไม่ดีตามมา เคสนี้น่าเห็นใจมาก เพราะเขามีความพยายามที่จะดูแลตัวเองแล้ว แต่ระบบและมายด์เซ็ทของบุคลากรไม่ดูแลเขาเลย
สังคมควรปรับ
“สังคมไทยชอบบีบให้ผู้หญิงทำแท้งต้องรู้สึกมีตราบาป เพราะชอบเอาความหวังดีมาลิดรอนสิทธิบนเนื้อตัวคนอื่น อันนี้อยากพูดกับหลายส่วนในสังคมเลยนะ โดยเฉพาะสื่อ หลายปีมานี้พี่เห็นความคืบหน้าแต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในละครหรือในการนำเสนอข่าวเลย เลิกได้ไหมกับการนำเสนอบาปกรรมจากการทำแท้ง ค่านิยมผู้หญิงดี หรือละครคุณธรรม เรื่องพวกนี้มันไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แต่กลับเป็นการตอกย้ำผู้หญิงทำแท้งว่าเฮงซวย ต่อมาคือสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว บางครั้งมันไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยเสมอไป การมีความคาดหวังต่อกันมากเกินไปก็จะมองการท้องไม่พร้อมว่าเป็นเรื่องน่าผิดหวัง อยากขอร้องให้ครอบครัวมองว่าผู้หญิงทำแท้งเป็นเพียงคนธรรมดาที่หกล้ม ซึ่งมันไม่เป็นไรเลย ก็แค่ช่วยกันทำแผล แล้วจะผ่านไปด้วยดี อย่าผลักไสเขาไปเผชิญปัญหาลำพัง”
การศึกษา – การเมืองสำคัญกว่าที่คิด
นอกจากนั้น คุณตุ๊กตายังบอกอีกว่า “การศึกษา – การเมือง” คือสิ่งสำคัญที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล ต้องเข้ามาช่วยแก้ไขไปพร้อมๆ การเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นของสังคม เพราะทำทางไม่สามารถทำทุกอย่างเองได้
“Sex Education ในประเทศไทยมันห่วยมาก ทุกวันนี้เรายังมาสอนกันอยู่เลยว่าใครต้องเป็นคนทำงานบ้าน ใครต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งมันไม่ใช่ข้อเท็จจริง ควรเลิกสอนได้แล้ว และหันไปสอนเรื่องที่ใช้ได้จริง เช่น การให้ความยินยอม (Consent) กับทุกๆ การกระทำ การเคารพสิทธิของผู้อื่น”
“เรื่องสุดท้ายคือประชาธิปไตยและสิทธิบนร่างกายอย่างการทำแท้งมันแยกจากกันไม่ได้ ถ้าสังคมมีประชาธิปไตยจริง มันจะไม่เป็นอย่างในทุกวันนี้ เพราะพื้นฐานของประชาธิปไตยคือการเห็นหัวเรา ได้ยินเสียงเรา พูดตามตรงว่าที่กฎหมายมันไปไม่สุด ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้แทนที่มาจากเผด็จการ ซึ่งสังคมเผด็จการอำนาจนิยมมองว่าการเผด็จการกับร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องปกติ การเมืองกับการทำแท้งเลยต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ถ้าถามว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มทำทางมีส่วนร่วมไหม ตอบว่ามีค่ะ เราเลือกข้างนะคะ”
ผู้หญิง (จะ) ทำแท้งควรเปลี่ยน
นอกจากสังคมที่เป็นปัจจัยภายนอกควรปรับแล้ว ผู้หญิงที่จะทำแท้งแต่ยังลังเลสายตาสังคม ควรทำอย่างไร
“การเลือกที่จะเก็บครรภ์เอาไว้เพราะแคร์สังคม ก็ต้องถามกลับว่าสังคมแคร์คุณไหม เพราะเวลาเจ็บท้องคลอด ให้นม อดหลับอดนอนเลี้ยงลูก มันไม่มีใครช่วยคุณได้เลย ฉะนั้นอย่าไปแคร์ที่สังคมด่าแต่ให้ด่าสังคมกลับด้วยการยุติการตั้งครรภ์ถ้าไม่อยากท้อง คุณไม่ผิดที่ท้องไม่พร้อม เพราะคนผิดคือสังคมที่ไม่พร้อมจะยอมรับทางเลือกของคุณต่างหาก และที่สำคัญเมื่อเข้าสู่กระบวนการทำแท้งแล้ว สถานบริการจะปิดเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ต้องกังวล”
จากที่พูดมา ดูเหมือนจะมีอีกหลายเรื่องที่คนอาจไม่รู้เกี่ยวกับการทำแท้ง ช่วยแชร์เพิ่มเติมอีกสักนิด “1. การทำแท้งปลอดภัยมาก ขอแค่ได้ยาที่มีคุณภาพ มีข้อมูลการใช้ยาถูกต้อง มีการสังเกตตัวเอง 2. คนทำแท้งไม่ได้มีชีวิตเฮงซวย คุณลองดูกลุ่มทำทางแบบพวกเราก็ได้ นี่คือคนเคยทำแท้งมาแล้ว แต่ยังมีความสุขดีตามอัตภาพ 3. การทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลมายืนยันการตัดสินใจเลย คุณจะทำแท้งเพราะไม่อยากท้องก็ได้”
สิ่งที่ต้องพร้อมเมื่อทำแท้ง
ถ้าอยากยุติการตั้งครรภ์ เรื่องแรกที่ต้องพิจารณาคือร่างกาย คุณควรทราบก่อนว่าตัวเองมีโรคประจำตัวไหม ถ้ามีจะต้องปรึกษาหมอก่อน ต่อมาเรื่องค่าใช้จ่าย ควรเตรียมเงินเอาไว้ตั้งแต่ก่อนท้องเลย อย่างน้อย 3,000 บาท
กำลังใจของทำทาง
การต่อสู้เพื่อยกเลิกม. 301 และการปรับเปลี่ยนความคิดของคนสังคมอาจจะต้องใช้เวลา รวมถึงแรงกายแรงใจ อีกสักพัก อะไรคือแรงผลักดันหรือกำลังใจที่ทำให้ทำทางยังคงสร้างทางที่ดีกว่าให้ผู้หญิงทำแท้งต่อไปได้
“กำลังใจของเราคือคำขอบคุณจากคนที่เคยคุยกับเราหรือได้พลังบวกจากพวกเรา บ่อยครั้งที่เขากลับมาขอบคุณที่ช่วยให้เขากลับไปใช้ชีวิตได้ดีกว่าเดิม มันทำให้เราทำงานต่อได้อีกเป็น 10 ปีเลย บวกกับคอนเทนต์ต่างๆ ที่เราทำมาตลอด ทำให้เห็นว่ามีคนอยู่ข้างเราและเข้าใจในประเด็นที่เราสื่อ เราไม่ได้โดดเดี่ยว”
ลงชื่อร่วมแคมเปญกรมอนามัยต้องเปิดชื่อสถานบริการทำแท้งปลอดภัย https://bit.ly/3t1UnpF
ติดต่อและอัปเดตข่าวสารของกลุ่มทำทางได้ที่
Facebook: