‘เคยเห็นภาพอีโรติกอาร์ตแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นบ้างไหม?’
‘แล้วภาพหมึกยักษ์กำลังทำบางอย่างกับหญิงสาวล่ะ?’
‘เคยสงสัยไหมว่าในบรรดาสัตว์มากมาย ทำไมหมึกยักษ์ถึงถูกพูดถึงมากที่สุด?’
ด้วยความสงสัยใคร่รู้นี้เอง ที่พาเราไปรู้จักกับสไตล์การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอีโรติกของศิลปินญี่ปุ่นยุคเก่า กับจินตนาการไร้ที่สิ้นสุด ผ่านการหยิบสิ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงมาถ่ายทอดเป็นงานศิลป์สุดแปลก หลายคนอาจเคยเห็นผลงานเหล่านี้จากสื่อกันอยู่บ้างแล้ว ทั้งภาพถ่ายที่จับนางแบบมาคู่กับหมึกยักษ์ การ์ตูน ภาพวาด งานศิลป์อื่นๆ ไปจนถึงการถูกเอ่ยถึงสั้นๆ ในภาพยนตร์เรื่อง The Handmaiden (2016)
บทความนี้จะพาทุกคนไปสำรวจประวัติศาสตร์ศิลปะญี่ปุ่น พร้อมสัมผัสแง่มุมความอีโรติกในงานอาร์ตญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งขึ้น
ชุงงะ เซ็กซ์ และ ‘ความฝันของเมียชาวประมง’
ย้อนกลับไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ญี่ปุ่นในยุคเอโดะมีศิลปะประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วทั้งเมือง เรียกว่า ‘อูกิโยะ’ (Ukiyoe) ที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่า ‘ภาพพิมพ์แกะไม้’ (Woodcut) ศิลปะการพิมพ์แบบนูนที่จะทำลงบนแผ่นไม้
อูกิโยะที่ฮิตมากๆ ในสมัยนั้นมักเป็นภาพวิวทิวทัศน์ ธรรมชาติ ภูเขา ทะเล และหนึ่งในอูกิโยะที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘คลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานางาวะ’ (The Great Wave off Kanagawa) ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นภาพเกลียวคลื่นที่สวยที่สุดในโลก ของ ‘คัตสึชิกะ โฮกุไซ’ (Katsushika Hokusai) ศิลปินผู้สร้างการจดจำผ่านผลงานหลากหลายแนว
เหตุผลที่ต้องเกริ่นเรื่องราวของโฮกุไซ เป็นเพราะเขาไม่ได้สร้างสรรค์แค่ภาพทิวทัศน์ หรือคลื่นทะเลเท่านั้น แต่งานของเขามีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผลงานแบบที่อิงไปกับธรรมชาติ ไปจนถึงงานที่เหนือธรรมชาติที่สุด เพราะศิลปะแบบอูกิโยะยังมีหมวดย่อยที่เรียกว่า ‘ชุงกะ’ (Shunga) หรือภาพพิมพ์แกะไม้เชิงสังวาส ที่เล่าเรื่องเซ็กซ์ของชายหญิง, นางโลม, โสเภณี, ซามูไรเด็กหนุ่มฝึกหัดกับซามูไรวัยกลางคน ไปจนถึงการเสพสมเหนือจริงระหว่างคนกับสัตว์ประเภทต่างๆ และโฮกุไซก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่สร้างชื่อจากงานหมวดนี้เช่นกัน
ผลงานชุงกะอันลือลั่นของโฮกุไซอยู่ในคอลเลกชั่นภาพพิมพ์แกะไม้ชื่อชุด ‘ต้นสนวัยเยาว์’ (Kinoe no Komatsu) ในปี 1814 และผลงานหนึ่งชิ้นในคอลเลกชั่นนี้ที่โด่งดังจวบจนปัจจุบันคือ ‘ความฝันของเมียชาวประมง’ (The Dream of the Fisherman’s Wife)
ภาพของสาววัยเจริญพันธุ์เปลือยกายคล้ายกับบิดเร้าไปมา ขณะมีหมึกยักษ์ตัวใหญ่อยู่ตรงหว่างขา ส่วนหมึกตัวจิ๋วอีกตัวรัดรึงรอบกายหญิงสาวทั้งท่อนบนและล่าง ส่วนพื้นหลังมีตัวอักษรญี่ปุ่นถูกเขียนแบบหวัดๆ จนเต็มพื้นที่ เป็นการบรรยายความรู้สึกสุขสมจากการสำเร็จความใคร่ของทั้ง 3 ชีวิต ผสมผสานความนุ่มนวลของร่างกายสตรีและความเย้ายวนกับเซ็กซ์เหนือจินตนาการเข้าด้วยกัน
กลายเป็นว่าผลงานดังกล่าวของโฮกุไซได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง ผู้คนต่างชื่นชอบเรื่องเหนือจินตนาการนี้ และกลายเป็นต้นแบบให้กับชุงกะของศิลปินรุ่นหลังๆ ที่อยากจะลองทำตามโฮกุไซ ด้วยการวาดหญิงสาวกับสัตว์ประเภทอื่นๆ
‘ทว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังคงพูดถึงหญิงสาวกับหมึกยักษ์ ในภาพความฝันของเมียชาวประมงเสมอมา’
หลายร้อยปีผ่านไป หมึกยักษ์ยังคงอยู่ในศิลปะร่วมสมัย
ภาพหญิงสาวผู้เปี่ยมสุขที่เสพสมกับปลาหมึก ถือเป็นผลงานศิลปะที่ห่างไกลจากการเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก แม้ว่าในยุคเอโดะงานแนวอีโรติกจะได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง มีศิลปินญี่ปุ่นจำนวนมากในศตวรรษที่ 17-18 พรรณนาถึงการมีเพศสัมพันธ์ เซ็กซ์ของผู้ชาย, ผู้หญิง, สุนัขจิ้งจอก, ผี, ปีศาจ, หรือกระทั่งสัตว์ทะเลอย่างปลากระเบน และหมึกยักษ์
หลังสิ้นสุดยุครุ่งเรืองของเอโดะ ญี่ปุ่นเกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่ด้วยการออกกฎหมายมาตรา 175 กับการเซนเซอร์ควบคุม ห้ามมิให้บุคคลใดแจกจ่าย จำหน่าย หรือแสดงสื่อลามกอนาจาร ศิลปะอีโรติกจึงถูกผลักลงสู่ใต้ดิน กลายเป็นวัฒนธรรมกระแสรองที่จะต้องหลบๆ ซ่อนๆ และถูกมองเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์
‘ถึงอย่างนั้นความฝันของเมียชาวประมงก็ยังคงเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซ ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในหมู่งานภาพพิมพ์แกะไม้’
ปัจจุบันเรายังเห็นผลงานศิลปะยุคหลังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหมึกยักษ์และหญิงสาว ทั้งในรูปแบบภาพถ่าย ภาพวาด ไปจนถึงการซ่อนนัยบางอย่างไว้ในภาพยนตร์
มาโกโตะ ไอดะ / ส่วนหนึ่งจากภาพ ‘The Giant Member Fuji vs King Gidora’
Photo Credit: Wikipedia / Contemporary Art Curator Magazine
‘มาโกโตะ ไอดะ’ (Makoto Aida) ศิลปินชาวญี่ปุ่น ก็โด่งดังขึ้นมาจากผลงานศิลปะที่มีมังกรสามหัวอย่าง ‘คิงกิโดราห์’ กับหญิงสาววัยแรกรุ่นเป็นตัวหลัก ภาพที่ว่านั้นมีชื่อว่า ‘The Giant Member Fuji vs King Gidora’ (1993) ที่เมื่อพินิจดูแล้วจะเห็นว่ามุมมองของการสร้างสรรค์ผลงานก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความฝันของเมียชาวประมง
“มีบางสิ่งที่เย้ายวนมากเกี่ยวกับหมึก ไม่ว่าคุณจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม”
‘ไมเคิล ฮอปเพน’ (Michael Hoppen) นักจัดอาร์ตแกลเลอรี แสดงความคิดเห็นต่อศิลปะอีโรติกของญี่ปุ่น โดยมองว่าผลงานสไตล์นี้เป็นมากกว่าเรื่องของรสนิยมทางเพศ เพราะยังชวนให้ขบคิดถึงความเหนือจริง และจินตนาการที่ล้อไปกับชีวิตประจำวันอันแสนเรียบง่ายของมนุษย์
ผลงานที่ทำให้หลายคนต้องขมวดคิ้ว รู้สึกลักลั่น พิลึกพิลั่น และไม่สะดวกใจที่จะมองเห็นของ ‘ไดกิชิ อามาโนะ’ (Daikichi Amano) ช่างภาพที่มักนำสัตว์ประเภทต่างๆ ทั้งสัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์น้ำ, สัตว์ทะเล มากระทำบางอย่างคู่กับนางแบบในเฟรม โดยใช้ชื่อคอลเลกชันนั้นว่า ‘Human Nature’
เราจะเห็นกบ, คางคก, ปลาไหล, แมลงหลากหลายชนิดกระจายอยู่ตามตัวของนางแบบ บ้างก็สื่อให้เห็นว่าปลาไหลพยายามพัวพันกับส่วนล่างของมนุษย์ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การนำหมึกยักษ์มาอยู่บนร่างของหญิงสาว พันรอบแขนขา และโฟกัสอยู่กับเครื่องเพศของพวกเธอ ก่อนจะทิ้งร่องรอยความสัมพันธ์เร่าร้อนไว้ตามร่างกาย
นักวิจารณ์ศิลปะ และผู้จัดแกลเลอรีศิลปะหลายคนลงความเห็นตรงกันว่า ผลงานของอามาโนะปรารถนาจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่สงบในจิตใจ ไม่สบายใจ และต้องตั้งคำถามกับความเซอร์เรียลที่เห็นอยู่ตรงหน้า
‘เหมือนอย่างเคยความฝันของเมียชาวประมงก็ยังคงปรากฏอยู่ในสื่อปัจจุบัน’
หลายครั้งที่หมึกยักษ์ปรากฎอยู่บนสื่อกระแสรองอย่างคอลเลกชั่นภาพถ่าย นิทรรศการศิลปะประเภทต่างๆ แต่ก็มีบางครั้งที่พวกมันปรากฏตัวอยู่ในสื่อกระแสหลัก
หากยังคงจำกันได้ ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Handmaiden’ (2016) ที่เล่าเรื่องเซ็กซ์ การหักหลัง ชนชั้น โดยมีพื้นหลังเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีในช่วงปี 1930 ก็เคยได้หยอดเกร็ดเล็กๆ เกี่ยวกับความฝันของเมียชาวประมงเอาไว้ด้วย
Photo Credit: Of Leather and Lace
เหล่าชายชนชั้นกลางที่ภายนอกดูเป็นสุภาพบุรุษ ให้เกียรติสตรี และพึ่งพาได้ ในบางเวลาพวกเขาก็มีมุมที่ไม่อยากให้ใครรู้นอกจากกลุ่มเพื่อนผู้ชายที่มีรสนิยมเดียวกัน พวกเขาจะนัดหมายกันใช้เวลาอยู่ในห้องสมุดที่รวบรวมศิลปะอีโรติกจากยุคสมัยก่อน แล้วให้หญิงสาวจากตระกูลผู้ดีแต่งตัวตามแบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น นั่งอ่านข้อความเชิงสังวาสเพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้กับกลุ่มชายฉกรรจ์ ทั้งยังมีการสาธิตเทคนิควิธีการร่วมรักที่แปลกประหลาด
เราจะเห็นว่าชายแก่ที่เป็นเจ้าของห้องสมุด ต้องการเติมเต็มจินตนาการเรื่องเซ็กซ์ ด้วยการเลี้ยงหมึกยักษ์ไว้ในตู้เลี้ยงปลา แล้วไม่แน่ว่าเขาอาจกำลังรอวันที่จะได้ใช้หมึกยักษ์กับหลานสาว ตามภาพความฝันของเมียชาวประมงก็เป็นได้
“เป็นความจริงว่าตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ศิลปินหลายคนพยายามนำสิ่งมีชีวิตที่มีหนวดแปดเส้น หนีออกจากเซนเซอร์ทางศีลธรรมที่เข้มงวด แล้วแสดงให้เห็นถึงแรงผลักดันที่อยากให้จินตนาการนี้ได้ถูกเล่าต่อ”
เส้นแบ่งระหว่าง ‘จินตนาการ’ กับ ‘รสนิยมเฉพาะกลุ่ม’
ใช่ว่าการจัดแสดงศิลปะชุงกะในหลายพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ มีรายงานว่าในปี 2013 ศิลปะชุงกะถูกพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นมากกว่า 10 แห่ง ปฏิเสธให้พื้นที่จัดแสดง ก่อนที่พิพิธภัณฑ์เอเซบุงโกะจะยอมให้จัดงานในปี 2015 ซึ่งใช้เวลานานถึงสองปี
เป็นเรื่องยากที่สังคมจะมองว่างานอีโรติกกับสัตว์เป็นเรื่องปกติ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเฉพาะทาง เป็นรสนิยมเฉพาะกลุ่ม และมีเสียงต่อต้านอยู่ไม่น้อยเพราะ เรื่องราวประเภทนี้ผิดไปจากความเชื่อหลัก และความเข้าใจของสังคม
แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมชาวญี่ปุ่นถึงเปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่าหลายพื้นที่ ซึ่งคำตอบที่เข้าท่าที่สุดคำตอบหนึ่งคือ ‘ลัทธิชินโต’ กับประเพณี ความเชื่อ และวัฒนธรรมพื้นเมืองเก่าแก่ของญี่ปุ่น ที่บูชาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ มุ่งความสนใจไปที่เรื่องธรรมชาติ เทพธิดา ความเป็นแม่ ในหลายพื้นที่ปลีกย่อยก็บูชารูปเคารพที่มีลักษณะเป็นอวัยวะเพศชายและเพศหญิง เหมือนกับประเทศแถบเอเชียใต้อย่าง อินเดีย
ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางกลุ่มระบุว่า ในยุคโบราณหลายพื้นที่ก็มีความเชื่อเรื่องการนับถือธรรมชาติ, การเกิด และสตรี เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ทว่าส่วนใหญ่ถูกประเพณีปิตาธิปไตยในยุคหลัง เช่น ศาสนาคริสต์ ขงจื๊อ หรือแม้กระทั่งศาสนาพุทธ เข้ามาฝังรากความเชื่อทับลงไปในความเชื่อดั้งเดิมของคนพื้นที่ ถึงอย่างนั้นการเคารพในธรรมชาติของญี่ปุ่นกลับไม่เคยหายไปจริงๆ เรายังได้เห็นผู้คนเดินทางไปลูบลึงค์ไม้ที่ศาลเจ้าชินโตเพื่อขอให้มีลูก หรือบางพื้นที่ก็มีการแห่วัตถุรูปร่างคล้ายลึงค์กับโยนีไปตามถนนช่วงเทศกาล
กลุ่มคน ศิลปิน และนักวิจารณ์ศิลปะบางส่วนมีความเห็นว่า สังคมไม่ควรมองภาพศิลปะโป๊เปลือย และการเล่าเรื่องเพศที่ดึงสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นรสนิยมทางเพศที่แปลกประหลาด หรือเป็นรสนิยมเฉพาะกลุ่มของคนในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตสื่อทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้มองถึงอีกมุมเล็กๆ เรื่องกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน และความกล้าที่จะฉีกออกจากกรอบเดิมๆ แล้วเริ่มเล่าเรื่องที่เปิดเผยถึงบางสิ่งซึ่งแฝงเร้นในจิตใต้สำนึกอันไม่กล้าเปิดเผยของใครหลายคน
อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายครั้งที่มีการนำสัตว์หลากชนิดมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะนั้น ก็เกิดการทรมาน หรือทำร้ายสัตว์ จนบางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตายไปจริงๆ จึงไม่แปลกที่จะเกิดเสียงวิจารณ์แตกออกเป็นสองฝั่ง และไม่ว่าเมื่อไรเรื่องนี้ก็จะยังคงเป็นที่ถกเถียงต่อไปเรื่อยๆ ได้อีก
อ้างอิง