รู้หรือไม่ว่า…หลังจากเปิดตัว Tesla ประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ทำให้ 2 โมเดลที่เปิดขาย สามารถกวาดยอดจองไปได้กว่า 7 พันคัน แม้บางคนที่จองจะยังไม่เคยเห็นรถตัวจริงเลยด้วยซ้ำ! เป็นหนึ่งสิ่งที่ต้องยอมรับว่า รถแบรนด์นี้ 'ชื่อเสียงเรียงนามมาก่อนตัวรถ'
ด้วยชื่อเสียงนี้ รวมเข้ากับความใหม่ (ในบ้านเรา) พ่วงด้วยความเป็นรถ EV ที่ตอบสนองบริบทของการใช้รถยนต์ในไทย ที่น้ำมันแพงแสนแพง แถมยังคาดเดาไม่ได้ อีกทั้ง Tesla ยังมีภาพลักษณ์เป็นเหมือน Gadget ติดล้อที่ตอบโจทย์เหล่าคนรักเทคโนโลยี หรือแม้แต่การเป็นรถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยคุณสมบัติการปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกค้าจะจับจองกันทั้งที่ยังไม่เคยแม้แต่ได้สัมผัสรถเลยสักครั้ง
เมื่อบริษัทแม่ลุยเอง ราคาค่าตัวจึงลดลงมาในระดับที่จับต้องได้ง่ายขึ้น และสมเหตุสมผลมากขึ้น การมาของ Tesla ประเทศไทย จะส่งแรงกระเพื่อม หรือ Disruption อย่างไรต่อวงการรถยนต์ในบ้านเรา จากที่เอะอะก็ Toyota Honda ฯลฯ EQ จะพาคุณไปหาคำตอบกัน
Disruption #1: ความต้องการของผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา Tesla ประกาศศักดาความสำเร็จด้วยตัวเลขการผลิต และจัดจำหน่ายรถยนต์ได้สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ของแบรนด์ กับยอดขายรวมทั่วโลกกว่า 1.31 ล้านคัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าถึง 40% และยังสามารถผลิตรถออกสู่ตลาดได้มากกว่า 1.37 ล้านคัน ซึ่งสูงขึ้น 47%
เมื่อมองถึงเรื่องยอดขายของรถยนต์ทั่วโลกพบว่า ปี 2022 รถยนต์ EV (รวมทุกแบรนด์) ขายได้ไปกว่า 7.8 ล้านคัน คิดเป็น 10% ของยอดขายรถทั้งหมด 80.6 ล้านคัน สูงขึ้นถึง 68% เทียบกับปี 2021 และเป็นตัวเลขสูงสุดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
จากผลสำรวจโดย Deloitte ระบุว่า เหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่พูดถึงข้อดีในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV หลักๆ แล้วผู้ใช้รถต้องการ 'ความประหยัด' ทั้งค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ารถเครื่องยนต์สันดาป, ค่าชาร์จไฟที่จ่ายประหยัดกว่าการเติมน้ำมัน, ค่าบำรุงรักษาที่ชิ้นส่วนจุกจิกก็น้อยกว่า ไม่ต้องคอยกังวลเรื่องน้ำมันเครื่อง หรือระบบหล่อเย็นของเครื่องยนต์ และอีกข้อที่สำคัญคือ ประสบการณ์ใหม่ๆ ของการขับรถพลังมอเตอร์ ที่ฟีลลิ่งแตกต่างจากพลังเครื่องยนต์เชื้อเพลิงอย่างชัดเจน
Disruption #2: เพราะนี่คือ ‘Tesla’
เป็นไปได้แค่ไหนที่สาวกรถแบรนด์หรูอย่าง BMW หรือ Mercedes-Benz ในบ้านเราจะเปลี่ยนใจหันมาเลือกซื้อ Tesla แทน? ด้วยราคาขายอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นที่ 1.759 ล้านบาท เชื่อว่าคนที่กำลังจะตัดสินใจซื้อรถหรูราคา 2-3 ล้านบาท ต้องมีชะงักแล้วไตร่ตรองกันอีกทีเป็นแน่แท้
เพราะรถหรูราคาเริ่มต้น ก็ให้ฟีเจอร์ หรือฟังก์ชั่นมา 'แบบกั๊กๆ' ไม่ค่อยสุด แต่ไปแพงตรงค่าโลโก้ ค่าแบรนด์ เสียมากกว่า ในขณะที่ Tesla ให้ความรู้สึกเหมือนคุณได้ใช้ Apple ในโลกของยานยนต์ ราคาที่จ่ายแพงขึ้น แลกมากับระยะทางที่วิ่งได้ไกลกว่า (ต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเท่านั้น) นอกจากนี้เทคโนโลยี และความฉลาดที่ถูกใส่เข้ามาในรถ EV แบรนด์นี้ ยังนำสมัย โดดเด่นเสียจนหลายๆ ค่ายตามไม่ทันกันเลยทีเดียว
ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้ Tesla เป็นคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นกับนวัตกรรมยานยนต์ EV โดยที่เมื่อเรามองลึกลงไป จะเห็นว่าคนที่เติบโต และเปลี่ยนแปลงไปกับโลกออนไลน์อย่าง ชาว Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ที่มีกำลังซื้อมากที่สุด
แม้จะมีใครบอกว่า แบรนด์รถไฟฟ้าจีนก็มีเหมือนกัน ทั้งหน้าจอใหญ่ๆ และการควบคุมจัดการภายในรถยนต์ได้ แต่เพราะนี่คือ Tesla เชื่อสิว่าแตกต่าง และยังคงเหนือกว่าแน่นอน แม้ Tesla จะไม่ใช่เจ้าตลาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมด แต่ก็เป็นผู้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV จนทำให้เหล่าเจ้าตลาดทั้งหลาย ต้องเปลี่ยนแผนบริษัทตามกันจ้าละหวั่น หันมาเดินตามรอย Tesla ทั้งที่มองย้อนกลับไป บางเจ้าแทบจะไม่มีแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอยู่เลย
Disruption #3 : แบรนด์เจ้าตลาดในไทยเชื่องช้า
ปฎิเสธwไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของการตัดสินใจซื้อรถสำหรับคนไทยคือ 'แบรนด์ และศูนย์บริการ' ลองหลับตาแล้วนึกถึงยี่ห้อรถยอดนิยมในไทยแบบเร็วๆ ดูสิ คุณนึกถึงยี่ห้อใดบ้าง? Toyota, Honda, Isuzu ฯลฯ คำถามต่อมาคือ 3 แบรนด์หลักๆ ในบ้านเรานี้ มีแบรนด์ไหนบ้างที่ทำการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%? คำตอบคือ ‘ไม่มีเลย’
ถึงบางแบรนด์จะมีมาเกาะกระแส EV บ้าง เช่น Toyota bZ4X หรือ Nissan LEAF แต่ก็เปิดให้จองในจำนวนจำกัด ประมาณว่า เอามาขายสร้างกิมมิกเเฉยๆ ยังไม่มีรุ่นไหนที่สามารถเดินเข้าซื้อได้เลยที่โชว์รูม เพราะ แต่ละแบรนด์ต่างต้องการขายรถน้ำมันของตัวเองให้ได้คุ้มกับต้นทุนการออกแบบ และผลิตก่อน
ฟากฝั่งของ Toyota และ Honda บอกว่า อีกราวๆ 5 ปี จึงจะพร้อมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายรถไฟฟ้าในไทย ส่วน Isuzu ก็กำลังอยู่ในกระบวนการพัฒนา โดยทางผู้ผลิตส่วนใหญ่ระบุว่า เมืองไทยยังไม่พร้อมใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลเรื่องของสถานีชาร์จที่ยังไม่เพียงพอ ทั้งที่เมื่อมีการใช้รถ EV มากขึ้น สถานีชาร์จก็จะเพิ่มขึ้นตามไปเอง ทำให้คนไทยที่จะเลือกใช้รถ EV ในตอนนี้ ต้องมองไปหาค่ายใหม่ๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทยอย่าง MG, GWM, BYD และ Tesla
ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกับการตัดสินใจซื้อรถของคนไทยในเรื่องบริการหลังการขาย และจำนวนศูนย์บริการ แต่ด้วยกระแสความต้องการของผู้ใช้รถ EV ที่สูงขึ้น บวกกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นแบบวางใจไม่ได้ ผู้ซื้อจึงต้อง 'วัดใจ' ไม่เอาเหตุผลเรื่องศูนย์บริการ ของแบรนด์ มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจแล้ว เมื่อแบรนด์เจ้าตลาดจากญี่ปุ่นไม่เปิดตลาดทางเลือกแบบนี้ ถ้าคนไม่หันไปซื้อรถแบรนด์จีน ก็คงจะเลือก Tesla ไปเลย
ผนวกกับ Tesla ที่มีผู้ใช้จากทั่วโลกให้ได้เห็นภาพการพัฒนา ปัญหาการใช้งานก็สามารถหาข้อมูลได้จากอินเทอร์เน็ต เทียบกับรถแบรนด์จีนที่เพิ่งจะเปิดตัว แบบที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าคร่าตามาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่ผู้ใช้ที่มีกำลังทรัพย์ขึ้นมาหน่อยจะยอมจิ้มเลือก Tesla โดยไม่ลังเล
หากวันหนึ่งเริ่มมีสถานี Tesla Supercharger เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งค่อยๆ มีศูนย์บริการตามหัวเมืองต่างๆ ได้ก่อนที่แบรนด์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดจะคลอดรถยนต์ไฟฟ้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง เจ้า Gadget ติดล้อที่ชื่อ Tesla นี้ คงได้ disrupt ตลาดรถยนต์ในบ้านเราไปแล้วจริงๆ
Disruption #4 : พฤติกรรมซื้อรถของคนไทย
แม้การมาถึงของ Tesla จะส่งแต่พลังบวกให้กับผู้บริโภคตามที่กล่าวมาข้างต้น พร้อมช่วยให้ผู้ใช้คนไทยได้สัมผัสกับเทคโนโลยีรถยนต์ EV ระดับโลก ด้วยมาตรฐานที่ไม่น้อยหน้าใคร แต่ในทางกลับกัน แรงกระเพื่อมลูกใหญ่นี้ ก็สั่นคลอนขนบเดิมๆ ที่คนไทยเคยชินในการซื้อรถยนต์ด้วยเช่นกัน
จากข้อมูลของผู้ที่ได้จอง และซื้อรถจาก Tesla ประเทศไทย ล็อตแรกๆ จะเห็นว่า ขั้นตอนการซื้อรถยนต์เจ้านี้นั้น 'แตกต่าง' จากรถแบรนด์อื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะต้องซื้อผ่านระบบออนไลน์ที่หน้าเว็บไซต์เท่านั้น เหมือนการ 'ขายตรง' ไม่ผ่านตัวแทน ไม่ผ่านดีลเลอร์ disrupt พฤติกรรมการซื้อรถเดิมๆ อย่างการไปซื้อตามโชว์รูม หรือดีลเลอร์ต่างๆ พอสมควร
เมื่อซื้อรถยนต์โดยไม่ผ่านดีลเลอร์ ผนวกกับการเป็นแบรนด์ใหม่ในตลาด 'แบบนี้ก็สนุกสิครับ!' เรื่องบริหารจัดการทำใจไว้ได้เลย อย่าคาดหวังว่าจะดีตามราคารถที่สูงแตะ 2 ล้านบาท ทั้งยังส่งผลไปถึงเรื่องการดูแลลูกค้า และการบริการต่างๆ ในแบบที่คุณอาจไม่เคยได้รับจากการซื้อรถแบรนด์อื่นๆ อีกด้วย
เริ่มตั้งแต่เรื่อง 'การรับรถ' ที่คนจำนวนหนึ่งยังยึดถือพิธีรีตรอง ฤกษ์งามยามดี และความเป็นสิริมงคล ที่แบรนด์รถยนต์ส่วนใหญ่เปิดให้ผู้ซื้อเลือกเวลาได้ตามสะดวก แต่เมื่อเป็น Tesla ให้ทำใจไว้เลยว่าวัฒนธรรมนี้ของคุณจะถูก disrupt ด้วยวันรับรถที่เฉพาะเจาะจงจากทาง Tesla เท่านั้น โดยตอนรับรถจะมีเพียงคำแนะนำการใช้มาให้ผ่านคลื่นวิทยุในรถซึ่ง 'ทำได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ต้องได้' เพราะมีเวลากำหนดไว้ ต้องรีบรับรีบออกไป ให้ผู้รับรอบต่อไปเข้ามา
เรื่องป้ายทะเบียนก็เช่นกัน รถยนต์จาก Tesla ประเทศไทย จะไม่มีคำว่า ‘รถป้ายแดง’ อย่างแน่นอน เพราะรถทุกคันที่ส่งถึงมือลูกค้า จะทำการจดทะเบียนเป็นป้ายขาวไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ใครที่คิดว่าจะขับป้ายแดงอวดสวยๆ เชิดๆ ว่าฉันขับรถใหม่ อดไปได้เลย
2 เรื่องที่ว่านี้อาจดู disrupt การซื้อรถของคนไทยพอสมควรแล้ว แต่ยังมีที่หนักกว่านั้น และอาจต้องปรับปรุงในอนาคตคือ หากวันที่มารับรถแล้วตรวจพบว่า ‘ตัวรถมีตำหนิ’ สีเป็นรอยตรงนั้น งานประกอบไม่เรียบร้อยตรงนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรับรถขับออกมาก่อน จะเลือกไม่รับไม่ได้ เพราะรถได้จดทะเบียนเป็นชื่อของคุณเรียบร้อยแล้ว จะมาเคลมประกัน หรือแก้ไขอย่างไร ก็ต้องมาตามงานเอาในภายหลัง เชื่อเลยว่า ในอนาคตต้องมีลูกค้าบางคนที่ไม่ยอมในข้อนี้แน่ๆ
ตอนนี้ Tesla ประเทศไทย มีศูนย์บริการเพียงหนึ่งเดียวคือ TESLA Showroom & Service Center ตั้งอยู่ที่ The Paseo รามคำแหง โดยสามารถนัดหมายทดลองขับ หรือสั่งซื้อรถได้ที่เว็บไซต์ https://www.tesla.com/th_TH
อ้างอิง
Financial Express
Market Think
Auto Deft
Make Use Of
Auto Life Thailand
Twitter: @iGimme