Auto

‘EV Car Thailand’ ผู้ที่มาก่อนกาลกระแสรถไฟฟ้าในเมืองไทย

หากย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีน้อยคนนักที่จะรู้จักรถ EV คำว่า ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สำหรับหลายคนในตอนนั้น ภาพที่ออกมาน่าจะเป็นแค่รถกอล์ฟคันเล็กๆ ที่มีไว้สำหรับวิ่งในหมู่บ้าน แต่ในมุมมองของคุณ ‘ไพศาล ตั่งยะฤทธิ์’ แห่ง ‘EV Car Thailand’ นั้นต่างออกไป เขาเห็นว่าพลังงานไฟฟ้าสำหรับรถยนต์นั้นมีความเป็นไปได้ และเป็นพลังงานสะอาดแห่งอนาคต เขาจึงเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ กลายเป็นผู้สร้าง สู่ฐานะอาจารย์ ผู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า

จบไฟฟ้ามาทำรถ EV

‘อาจารย์ไพศาล’ คือคำที่ผู้คนมักจะใช้เรียกคุณไพศาล ผ่านฐานะการเป็นอาจารย์ที่เปิดอบรบให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจในรถยนต์ EV ซึ่งถ้านับลูกศิษย์ของอาจารย์ ก็น่าจะมีราว 5-6 ร้อยคนได้เลย ซึ่งไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ยังมีต่างชาติในประเทศใกล้เคียงด้วย อาทิ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ

“คนที่มาเรียนก็จะเช่าห้องอยู่แถวอู่นี้เลย เราให้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นยันรถวิ่งและใช้งานได้จริง สอนหมดทั้งระบบเครื่องกลไฟฟ้า เน้นลงมือทำจริงไปพร้อมกับอาจารย์ หลักๆ ที่ต้องรู้คือ จะทำยังไงให้รถเครื่องยนต์ มาเป็นรถไฟฟ้าวิ่งได้”

“แรกเริ่มผมจบช่างกลไฟฟ้ามา ก็เริ่มต้นทำงานรับพันมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งเล็กใหญ่ ตั้งแต่มอเตอร์พัดลม จรดเจเนอเรเตอร์ไฟฟ้าในโรงงาน ผมพันมาหมดแล้ว จนต่อมาเปิดธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์เป็นของตัวเอง เป็นร้านไดนาโม ตอนนั้นเลยทำให้รู้เรื่องพื้นฐานรถยนต์ทั้งคัน ตั้งแต่เครื่องยนต์ยันช่วงล่าง ระบบขับเคลื่อนทั้งหมด”

“นับถอยไปน่าจะมาณ 40 ปีได้ ที่เริ่มทำรถยนต์มา ตั้งแต่เครื่องยนต์ดีเซล เบนซิน รถบรรทุกใหญ่ 18 ล้อ ผมทำมาหมด ต่อมาเริ่มให้บริการติดแก๊สรถยนต์ แล้วค่อยๆ มาทำรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มจากเราทำรถตัวเองก่อน พอทำออกมาก็ได้สื่อต่างๆ เข้ามาออกหมด ทั้งเดลินิวส์ ไทยรัฐ ฯลฯ เลยทำให้มีคนรู้จักเยอะ พอคนรู้จักเยอะ จึงทำให้มีหน่วยงานราชการมาเชิญเราไปออกงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับ EV innovation เราก็ไปให้ความรู้หมด”

บริการจาก EV Car thailand

“น่าจะต้องย้อนไปสัก 12-13 ปีที่แล้ว ที่เริ่มต้นมาเป็น EV Car thailand เราให้บริการดัดแปลงรถเครื่องยนต์สันดาปเป็นรถไฟฟ้า 100% รวมไปถึงการดูแลซ่อมบำรุง ถ้ารถที่ทำออกไปมีปัญหาอะไร เราก็พร้อมดูแลให้ตลอดชีพ ทั้งแก้ปัญหาเบื้องต้น จนสไลด์มาแก้ไขให้ที่ร้าน”

จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจรถ EV

ด้วยความที่อาจารย์ไพศาลเป็นคนชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอด ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าที่โทรศัพท์มือถือเริ่มเข้ามา เขาก็จะซื้อมาใช้ และยังสนใจพวกโน้ตบุ๊ก แพ็คลิงค์ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นพิเศษ ทำให้ไม่พลาดเรื่องรถไฟฟ้า! ยุคนั้นที่เห็นรถกอล์ฟหรือรถทามิย่าใส่ถ่านวิ่งแรงๆ ได้ ในรถยนต์ก็น่าจะทำได้ไม่ต่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศึกษาหาความรู้ก่อนใคร

“สมัยก่อนเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องบินไปดูของจริงที่จีนก่อน แล้วก็เริ่มค้นคว้ามากขึ้น บังเอิญด้วยว่าลูกเราเรียนอยู่ที่ประเทศจีน ช่วงไปเที่ยวหาเขา เราก็ให้เขาช่วยติดต่อเรื่องพวกชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากนั้นยังบินไปดูงานรถไฟฟ้ามาทั่ว ทั้งที่ประเทศญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, จีน, อิตาลี ยิ่งที่จีนรถไฟฟ้านี่เกลื่อนถนนเลย ตอนนั้นอาจก๊องแก๊งหน่อย แต่มันเริ่มมีให้เห็นบนท้องถนนเยอะขึ้น อารมณ์เหมือนรถไฟฟ้าราคาไม่แพงมากในตอนนี้เลย”

การเริ่มที่จะสร้างกับปัญหาที่ต้องเผชิญ

“ผมเริ่มจากรถจักรยานก่อน ในเว็บมันมีขายอยู่ ก็เลยซื้อเป็นชุดมาเสียบๆ ใช้งาน ค่อยๆ เรียนรู้ไป จากจักรยานก็เขยิบเป็นมอเตอร์ไซค์ จนใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นรถยนต์ ตอนแรกๆ วิ่งได้ราว 100 กิโลเมตรต่อชาร์จเต็มเท่านั้น”

“สิ่งที่ไม่ค่อยประทับใจในตอนแรกที่ทำก็คือ เรื่องระยะทางที่วิ่งใช้ได้ต่อการชาร์จเต็ม มันจะวิ่งได้ไม่ไกลเท่าไหร่ ในช่วงหลังราคาแบตฯ เริ่มถูกลง ทำให้เพิ่มระยะทางมาได้ จับต้องได้มากขึ้น ระยะทางที่วิ่งได้ไกลสุดตอนนี้ราว 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม แต่พื้นฐานตอนนี้ รถที่ลูกค้ามาทำจะนิยมใช้งานที่ 200 กิโลเมตร พื้นๆ เลย ราคาค่าใช้จ่ายก็จับต้องได้”

ช่วงเริ่มต้นกับคำวิจารณ์

“แรกๆ ยังไม่มีใครสนใจนะ มีคำวิพากษ์วิจารณ์หลายๆ ส่วน ทั้งที่บอกว่าเมืองไทยยังอีกนาน รถไฟฟ้ายังมาไม่ถึงหรอก ยังไม่พร้อมใช้ ปรากฏว่า 2-3 ปีให้หลังมา รถไฟฟ้าใหม่ๆ ออกมาเยอะ กลับกลายเป็นกระแสที่มาแรงมากๆ ในตอนนี้ คนเริ่มสนใจกันมากขึ้น”

“ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีกำลังทรัพย์หน่อยและอยากลองใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รถคันเก่าที่มีคุณค่าทางจิตใจ แต่ปัญหาเรื่องเครื่องยนต์หาอะไหล่ยาก ซ่อมไม่จบ ขับใช้งานไม่สมูธ เขาก็เลยต้องการเปลี่ยนหัวใจของมัน หมดห่วงเรื่องการขับเคลื่อนปัญหาจากเครื่องยนต์เดิมๆ เก่าๆ ไปได้เลย”

ค่าใช้จ่ายและเรื่องการจดทะเบียนเปลี่ยนรถเป็น EV

“เริ่มต้นที่ 350,000 บาท จะวิ่งใช้งานได้ราว 150 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม หากต้องการวิ่งได้ไกลกว่านั้นก็ราวๆ 400,000 บาท จะได้ประมาณ 200 กิโลเมตร ส่วนเรื่องการจดทะเบียน การเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปเผาไหม้เป็นมอเตอร์ จะต้องได้รับการอนุมัติจากวิศวรกรไฟฟ้า 2 คน ไปแจ้งกรมขนส่งตรวจเอกสารก็สามารถจดทะเบียนใช้งานได้ปกติ โดยในเล่มทะเบียนจะระบุตรงส่วนเครื่องยนต์ว่าเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าเลขที่เท่าไหร่ กว่าจะลงเล่มได้ก็จะมีขั้นตอนเยอะกว่าการยกเปลี่ยนเครื่องยนต์ทั่วไปมาก แต่สามารถแจ้งกรมขนส่งวิ่งใช้งานได้ปกติ ไม่มีปัญหา”

ความพร้อมของคนไทยที่มีต่อรถ EV

“มันอยู่ที่ภาพรวมเศรฐกิจนะ ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ ถ้ามีเงินก็จะซื้อได้มากกว่า แต่กลับกัน ถ้าภาครัฐรองรับก็จะทำให้เกิดการแพร่หลายมากขึ้น ราคารถจะถูกลง ไม่ได้อยู่ที่คนไทย แต่ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐฯ เป็นสำคัญ ผมว่าดีกว่าเอาเงินมาไล่แจก อย่างน้อยรถก็เป็นเครื่องมือทำมาหากินของทุกคน มนุษย์เงินเดือนขับรถไปทำงาน ถ้าเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้า จากค่าเดินทางที่ต้องจ่ายเดือนละเป็นหมื่น ก็อาจจะเหลือแค่ประมาณ 3000 ได้ ช่วยคนไทยประหยัดเยอะกว่าเงินที่แจกอีกด้วยซ้ำ”

ติดตาม ‘EV Car Thailand’ ได้ที่

Facebook: Ev Car Thailand