‘The Myth of Tropical Jungle(2019)’ คือโปรเจกต์เล่านิทานพื้นบ้าน (Folklore) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เห็นแล้วติดตาจนต้องไปค้นหาโปรเจกต์ของช่างภาพ เท็น - ภูมิภัทร อุษาประทุมบาน คนนี้ต่อว่ามีผลงานอะไรบ้างและอีกผลงานหนึ่งที่น่าสนใจของเขาก็คือ Eternal Conversation (2021) ที่เขาถ่ายเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนทรงเจ้าที่ไทย เมื่อเห็นทั้งสองผลงานที่น่าสนใจและมีธีมของตำนานเมืองพื้นบ้าน ความเชื่อทางเอเชีย เราจึงชวนเขามาคุยกันเรื่อง ความเชื่อเอเชีย วัฒนธรรมความเชื่อที่เป็นแรงบันดาลใจ ผลงานการถ่ายภาพ และแนะนำผลงานของเขาให้รู้จักกันในบทความนี้
เราเริ่มบทสนทนาด้วยการย้อนไปวัยเด็กว่ามันมีความเชื่ออะไรในไทยที่สนใจมาตั้งแต่เด็กๆ และคิดว่าเจ๋ง
“เท่าที่จำได้ตั้งเเต่เด็ก ย่าจะชอบเล่านิทานให้ฟังโดยที่ครอบครัวผมเป็นคนมุกดาหาร นิทานหรือเรื่องเล่าต่างๆ ที่เคยฟังจึงเป็นนิทานที่มี background เป็นอีสานอยู่หลายเรื่อง เช่นตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ หรือเรื่องคลาสสิคก่องข้าวน้อยฆ่าเเม่ เเต่เรื่องที่จำได้เเละรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตมาตลอดคือเรื่องตำนาน พญานาค
มันเป็นเรื่องเล่าที่รู้สึกพิเศษสำหรับผมมากจริงๆ จากที่ว่าครอบครัวที่มุกดาหารมีโรงเเรมอยู่เเละห้องหนึ่งในโรงเเรมนั้นอยู่ดีๆ วันหนึ่งบนผ้าม่านก็มีรอยเกล็ดพญานาคคล้ายรอยเลื้อยปรากฏขึ้นมา เรื่องตำนานพญานาคจึงเป็นเรื่องที่รู้สึกไกล้ตัวผมมากเเละเกี่ยวข้องกับผมเป็นการส่วนตัว มันทั้งน่าสนใจน่ากลัวเเละหาคำตอบไม่ได้ เผลอๆ อาจจะ influence ความสนใจในเรื่องราวความเชื่อพื้นบ้านที่มีในตอนนี้ก็อาจจะใช่ครับ”
ในปี 2019 เขาได้เล่าว่าโปรเจกต์ The Myth of Tropical Jungle ภาพถ่ายที่นำกระดาษมาสร้างภาพในหัวของเรื่องราวนิทานพื้นบ้านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ออกมาเป็นภาพถ่ายที่เหมือนฉากหนึ่งในเรื่องเล่านิทานที่ผสมผสานด้วยรายละเอียดของวัฒนธรรมจากหลากหลายที่มาผสมเข้าด้วยกันทั้ง สีสัน ผู้คน บรรยากาศ หรือรูปทรงที่พอมาประกอบกันเเล้วเเฝงไปด้วยความรู้สึกเเละเรื่องราวของนิทานพื้นบ้าน
ต่อมาในปี 2021 เขาก็เริ่มถ่ายโปรเจกต์ชื่อ ‘Eternal Conversation’ ที่เขาได้ถ่ายร่างทรงในระหว่างที่เขากลับมาอยู่ที่ไทย เขาเล่าสิ่งที่ค้นพบคร่าวๆ จากโปรเจกต์นี้ว่า
“สำหรับผมเเล้วยังคิดว่าไม่สามารถตอบได้มากว่าค้นพบอะไรบ้างเพราะยังเพิ่งเริ่มโปรเจกต์นี้ ยังไม่ได้ไปถ่ายเเละลงลึกกับโปรเจกต์มากพอที่จะสามารถเข้าใจความเป็นไปของวงการคนทรงเจ้าได้อย่างที่ต้องการ เเต่สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือหน้าที่คนทรงเจ้านั้นไม่ได้ซับซ้อน ไม่ว่าจะด้วยพิธีกรรมใดก็ตามหน้าที่ของเขาคือการบรรเทาทุกข์เเละปัญหาชีวิตให้ผู้ที่มาหา อาจจะไม่สำคัญว่าพิธีกรรมเหล่านั้นช่วยเเก้ทุกข์ได้จริงหรือไม่เเต่ถ้าคนที่มาหาสบายใจขึ้น รู้สึกเห็นทางออก ก็คงเรียกได้ว่าหน้าที่นั้นสำเร็จ”
คิดอย่างไรกับเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อเรื่องดวง มูเตลูในเมืองไทยบ้าง
“สำหรับผมเเล้วรู้สึกว่าเรื่องดวง มูเตลู หรือความเชื่อเรื่องโชคลาภเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยเสมอมาครับ ผมไม่รู้สึกว่าก่อนหน้าการบูมขึ้นมาของสายมูเรื่องราวความเชื่อจะถูกมองเป็นเรื่องงมงายหรือ myth เพราะลึกๆ เเล้วมันเป็นหนึ่งในรากฐานของสังคมไทยในเเทบทุกระดับชั้นของสังคม การเติบโตของวงการมูเตลูจึงเป็นเพียงเเค่สิ่งที่ทำให้เราเห็นกันชัดขึ้นว่าชีวิตคนไทยนั้นอ้างอิง เกี่ยวพัน เเละขึ้นอยู่กับความเชื่อเหล่านี้ขนาดไหน”
มีอะไรในเมืองไทยด้านความเชื่อที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานบ้างไหมตั้งแต่ที่ได้ถ่ายภาพมา
“ถ้ามีอะไรในเมืองไทยด้านความเชื่อที่เป็นเเรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานก็คงจะเป็นเรื่องตำนานพญานาคครับ ถึงเเม้จะไม่เคยทำงานเกี่ยวกับเรื่องตำนานนี้โดยตรงเเต่สำหรับผมเเล้ว นอกจากที่เรื่องพญานาคจะมีความเกี่ยวข้องกับผมเป็นการส่วนตัวอย่างที่บอกไปเเล้ว ตำนานนี้มันเป็นตัวอย่างของความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเหนือธรรมชาติของคนไทย มันเป็นการที่คนนำเอาเรื่องเล่าจากศาสนา มาเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่จริงเเละปรากฏการทางธรรมชาติ
ผลลัพที่ได้นั้นเป็นมากกว่านิทานพื้นบ้านเเต่เป็นตำนานที่มีผลต่อความเชื่อเเละการใช้ชีวิตของคนในหลายมิติ สำหรับผมเเล้วตำนานความเชื่อจึงน่าสนใจมากเพราะมันเป็นมากกว่าเรื่องเล่าเเต่เป็นบันทึกความคิดความเชื่อเเละค่านิยมต่างๆ ของคนจากอดีต เหมือนหน้าบันทึกประวัติศาสตร์”
ติดตามและอัปเดตผลงานภาพถ่ายของ เท็น ภูมิภูทร ได้ที่ pumipattt