ปกติแล้ว NFT ส่วนใหญ่ที่เราเห็นในตลาด แม้ว่านักสะสมหรือนักลงทุนจะจ่ายเงินซื้อผลงาน ลิขสิทธิ์ก็ยังคงเป็นของครีเอเตอร์ การจะนำไปใช้เชิงพาณิชย์ เช่น สกรีนเสื้อ ทำสติ๊กเกอร์ หรือแม้แต่ทำของแจกจ่ายผู้อื่นแบบฟรีๆ ก็จำเป็นต้องขออนุญาตหรือบอกกล่าวกับครีเอเตอร์เสียก่อน เป็นเรื่องที่ทราบกันดีในวงการ แต่เมื่อตลาดคริปโตฯ เริ่มเข้าสู่สภาวะตลาดหมี (ตลาดในภาวะขาลง) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันทำให้คนเริ่มต้องการ NFT ที่มี ‘utility’ (ผลประโยชน์) มากขึ้น โดยเฉพาะกับการเป็นเจ้าของผลงาน ทั้งบนบล็อกเชนและโลกความจริง
‘Throwbackto80s’ เป็นหนึ่งในคอลเลคชั่น ที่ตอบโจทย์เรื่องราวในตอนต้น เพราะ ‘คุณเป็ด’ ครีเอเตอร์เจ้าของผลงานมักจะพูดอยู่เสมอว่า “ยกลิขสิทธิ์ให้คนถืองานไปเลย ถ้าอยากเอาไปใช้เชิงพาณิชย์หรือใดๆ ก็ตาม ไม่ต้องมาขออนุญาตทีหลัง” นั่นหมายถึง NFT ของเขามี utility เป็นการที่นักสะสมหรือนักลงทุนสามารถนำผลงานไปใช้ต่อได้ตามความต้องการ ไม่เสี่ยงกับการโดนฟ้องร้อง ซึ่งเรามองว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะ utility ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การเข้าถึงคอมมูนิตี้ การเข้าร่วมอีเวนต์ ฯลฯ แต่แทบจะไม่ได้ช่วยเพิ่มสิทธิ์ในการครอบครองผลงานเลย
Throwbackto80s คือ NFT แบบไหน ทำไมถึงมีสิทธิพิเศษนี้ เราและคุณเป็ดจะพาชาว EQ ไปหาคำตอบ แต่ทั้งนี้ขอเกริ่นก่อนว่า บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีครีเอเตอร์ที่ยึดมั่นในเรื่องลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงาน เพียงแค่อยากนำเสนอว่า ในโลกคริปโตฯ ที่ผลงานเป็นได้ทั้งศิลปะและการลงทุน การสร้าง utility เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
Throwbackto80s คือการพาตัวเองย้อนสู่วันวาน
คุณเป็ดเล่าให้เราฟังว่า Throwbackto80s เป็นคอลเลคชั่นภาพวาดที่มีคอนเซ็ปต์ตรงตามชื่อ คือ ‘การนึกย้อนถึงช่วงเวลาในอดีต’ ตัวเขาวาดรูปเหล่านี้เพราะถูกดึงดูดด้วยวันวาน
“งานของผมได้อิทธิพลมาจากลายเส้นของอาจารย์มิตซึรุ อาดาจิ (安達充) เพราะตอนเด็กๆ ผมอ่านการ์ตูนของเขาแล้วชอบความ slow burn ที่ไม่หวือหวา ไม่ได้มีแอ็กชั่นอะไรมากมาย และมีวิวของบ้านนอกญี่ปุ่นเป็นแบ็กกราวนด์อยู่ บวกกับการที่ผมคิดว่าตอนเด็กๆ เราเคยมีความสุขกว่านี้ แค่เล่นของเล่น หรือฟังเพลงจากซาวด์อะเบาท์ก็โอเคแล้ว แต่พอโตขึ้น ปัญหาชีวิตเยอะขึ้น เลยทำให้รู้สึกว่าอยากกลับไปเป็นเด็ก ซึ่งการย้อนวันวานในแบบของผมคือการกลับไปวาดรูปแนว 80’s”
เพราะเคยทุกข์ ความสุขจึงกลับมาพร้อมกับ Throwbackto80s
แม้ว่าจะเปิดบทสนทนามาแบบอบอวลไปด้วยกลิ่นอายของความสุข แต่จริงๆ แล้ว เส้นทางในการเป็นครีเอเตอร์ NFT ของคุณเป็ดไม่ได้แฮปปี้ตั้งแต่แรก เพราะมีจุดหักเหให้เขาต้องหายจากวงการไปเป็นปี ก่อนจะกลับมาเริ่มต้นใหม่กับ Throwbackto80s
“ความจริงผมทำ NFT มาตั้งแต่ปีที่แล้ว มีช่วงที่เหรียญตกเยอะๆ นักลงทุนเริ่มหายเลยเบรกไปประมาณ 1 ปี จำได้ว่างานชิ้นสุดท้ายคือ collaboration ที่ทำกับเพื่อน แต่ขายไม่ได้ จากเดิมที่เราเคยขายได้ทุกวัน แล้วอยู่ดีๆ มันก็ขายไม่ได้ เริ่มกลายเป็นว่า toxic ผมเลยเอาตัวเองออกจากวงการ ออกจากทุกกลุ่มที่เคยอยู่ แล้วไปใช้ชีวิต ไปเที่ยวทั่วประเทศ ออกไปทำนู่นนี่นั่นเยอะแยะไปหมด และเพิ่งจะกลับมาทำคอลเลคชั่น Throwbackto80s เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคมของปีนี้ (พ.ศ. 2565)”
หวนคืนวงการ ทั้งๆ ที่ Burn Out ไปแล้ว
“ผมแค่รู้สึกว่าตัวเองเที่ยวเยอะเกินไปแล้ว ตอนนั้นเที่ยวอยู่เกือบปี ไปทั่วประเทศเลยครับ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการวาดรูปเลย แค่ขับรถเที่ยว ถ่ายรูป ทำคลิปลง YouTube เขียนบทความลงเพจ (คุณเป็ดเป็นเจ้าของเพจ Be My BadAss) แล้วก็รู้สึกว่า “ไม่ได้แล้วว่ะ เราอยากวาดรูป” เพราะเมื่อก่อนผมโตมากับการวาดรูป การวาดรูปเป็นเหมือนการชุบชูใจตัวเองให้กลับมามีความสุข ผมเลยกลับมาวาดรูปอีก”
“พอวาดได้เยอะๆ ก็อยากหาที่เก็บรูปที่มันดูเป็นรูปธรรม สามารถคลิกเข้าไปดูได้เลย ตอนแรกจะเก็บไว้ใน Instagram แต่เพื่อนบอกว่าไหนๆ ก็ทำแล้ว ลองเอาไปแขวนบน OpenSea ดูสิ มันไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าคนสนใจเขาก็ซื้อ ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะแกลอรี่ของเราก็ยังอยู่ตรงนั้น ก็เลยลองดูครับ ปรากฏว่าแค่วันแรกก็ขายหมดแผง ตกใจเลย หลังจากนั้นเลยเริ่มกลับมาสู่วงการ NFT อีกครั้ง แต่กลับมาแบบไม่ได้ซีเรียสเรื่องยอดขายแล้ว”
แนวคิดของการสร้าง NFT ที่มี utility
“พอกลับมาทำ NFT อีกครั้งด้วยความสุข Throwbackto80s จึงมาพร้อม utility ที่ให้ผู้ซื้อมีความสุขด้วย” หลังจากสนทนากันมาได้สักระยะ เราขอสรุปจุดมุ่งหมายของคอลเลคชั่นนี้ไว้ง่ายๆ แบบนี้ เพราะเมื่อคุณเป็ดกลับมาทำ NFT อีกครั้งด้วยเหตุผลที่ว่า อยากวาดรูปเพื่อชุบชูใจตัวเอง มันก็ส่งผลให้เกิด utility ที่ดีต่อใจคนถืองาน
คุณเป็ดเชื่อว่าการที่ผู้ถือนำงานไปใช้ต่อในเชิงพาณิชย์ หรือใช้งานแบบใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่ครีเอเตอร์จะขาดทุนเลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน มันช่วยให้คนเห็นงานของเขามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลิขสิทธิ์ไม่ใช่ตัวงานศิลปะที่ผลิตออกไป แต่มันคือลายเส้น ลายเซ็น ที่คนดูแล้วรู้เลยว่านี่คืองานของใคร ซึ่งเขาบอกอีกว่าถ้าคนทำงานศิลปะคิดแบบนี้ได้เยอะๆ ก็จะพากันกระโดดข้ามโลกไปได้
การต่อยอดผลงานของผู้ถืองานตลอดเวลาที่ผ่านมา
“ผมไม่เคยถามเรื่องนี้กับคนที่ซื้อเลยครับ แต่ผมก็บอกเขาเสมอว่าคุณจะเอาตัวละครของเราไปเดบิวต์ใหม่ ไปรีไรท์ใหม่ หรือต่อยอดยังไงก็ได้ เพราะนั่นคือการเพิ่มคุณค่าให้งานของผม ไม่ต้องขออนุญาต ไม่ต้องกลัวผมตามไปฟ้อง”
ส่วนตัวคิดว่า NFT ที่มี utility สำคัญไหม?
“ถ้าเป็นตลาดช่วงนี้ ผมว่า utility สำคัญแค่กับ NFT โปรเจกต์ใหญ่ๆ ครับ เพราะสายป่านเขายาว การเชื่อมโยงกับผู้คน เช่น การเชิญเข้าคลับ นำไปแลกเครื่องดื่มต่างๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าเป็นโปรเจกต์เล็กๆ มันก็ไม่ได้สำคัญแล้ว เพราะตลาดมันเริ่มเข้าใกล้ภาวะฟองสบู่ ต่อให้มี utility นักลงทุนเขาก็ยังคิดเยอะอยู่ดี อาจต้องรอให้โลกคริปโตฯ มันวนลูปกลับมาเป็นปกติก่อนสิ่งนี้ถึงจะเป็นที่ต้องการ”
แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโลก NFT ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา
ก่อนจากกัน ในฐานะครีเอเตอร์ผู้เคย burn out และได้กลับมาพบความสุขระหว่างการทำ NFT อีกครั้ง เราอดไม่ได้ที่จะขอให้คุณเป็ดแชร์เรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาระหว่างทาง
“โลกคริปโตเคอร์เรนซีและ NFT มันเป็นอะไรที่ไม่มีความแน่นอนเลย ทุกอย่างที่เราพูดตอนนี้มันเป็นอดีตไปแล้ว และไม่มีทางที่จะเดาวินาทีต่อไปได้เลย อย่างผมที่เคยขายดีมาตลอด วอลุ่มเทรดไปถึง 9 ETH ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน อยู่ดีๆ วันหนึ่งนักลงทุนก็หายไปแบบงงๆ จากที่ DM มาคุยกัน ก็กลายเป็นคนแปลกหน้าที่เดินออกจากบ้านเราไป หรืออย่างมูลค่าเหรียญที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ครับ”
พูดคุยกับคุณเป็ดและติดตามคอลเลคชั่น ‘Throwbackto80s’ ได้ที่
OpenSea: Throwbackto80s
Twitter: Throwbackto80s
Instagram: throwbackto80s